อ.อาลี เสือสมิง : ถามตอบปัญหา

สารบัญปัญหาคาใจ => หมวด : อัล-กุรอาน และ อัล-หะดีษ => ข้อความที่เริ่มโดย: ซอและ ที่ พฤษภาคม 11, 2013, 02:29:27 pm

หัวข้อ: ขอความกระจ่าง
เริ่มหัวข้อโดย: ซอและ ที่ พฤษภาคม 11, 2013, 02:29:27 pm
 salamท่านอาจารย์ ขอให้ท่านอาจารย์มีสุขภาพที่แข็งแรง มีพลังที่จะทำงานศาสนาต่อไป ผมมีประเด็นขอถามปัญหา ดังนี้
๑ ซูเราะอันนะล อายะที่๔๓ และซูเราะอัมบิยะ อายะที่ ๗ มีความคล้ายคลึงที่สุด ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายที โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนหนึ่งของอายะที่ถูกแปลความว่า จงถามบรรดาผู้รู้เถิด หากพวกเจ้าไม่รู้ มีกลุ่มบุคคล ๒ กลุ่มที่อธิบายไม่เหมือนกัน กลุ่มที่ต้องการให้คนอาวัมสังกัดมัสฮับ ก็บอกว่า นี่เป็นหลักฐานหนึ่งที่พวกเราต้องสังกัดมัสฮับ แต่อีกกลุ่มหนึ่งบอกว่า นี่ไม่ใช่หลักฐานดังกล่าว ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายให้เข้าใจละเอียดด้วยเถิด ยาซากัลลอฮ
๒ ซูเราะอันนิซา อายะที่๕๙ ผมอยากทราบสาเหตุการประทานอายะนี้ และเมื่อเราตออัตกับอัลเลาะและรอซูลแล้ว เมื่อมีการขัดแย้งกัน ให้เรากลับไปหาอัลเลาะและรอซูลอีก ผมไม่เข้าใจ กลับไปอย่างไร ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายให้เข้าใจละเอียดด้วยเถิด ยาซากัลลอฮ
หัวข้อ: Re: ขอความกระจ่าง
เริ่มหัวข้อโดย: อาลี เสือสมิง ที่ มิถุนายน 28, 2013, 01:01:49 am
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

وَمَا أَرْسَلْنَا مِن قَبْلِكَ إِلَّا رِجَالًا نُّوحِي إِلَيْهِمْ ۚ فَاسْأَلُوا أَهْلَ الذِّكْرِ إِن كُنتُمْ لَا تَعْلَمُونَ ﴿٤٣

بِالْبَيِّنَاتِ وَالزُّبُرِ ۗ وَأَنزَلْنَا إِلَيْكَ الذِّكْرَ لِتُبَيِّنَ لِلنَّاسِ مَا نُزِّلَ إِلَيْهِمْ وَلَعَلَّهُمْ يَتَفَكَّرُونَ ﴿٤٤

“และเรามิได้ส่ง (ศาสนทูต) จากก่อนหน้าท่านนอกเสียจากบรรดาบุรุษเพศที่เราได้มีวะหิยฺไปยังพวกเขา -ฉนั้นพวกเจ้าจงถามอะฮิลัซซิกร์ (เหล่าปราชญ์แห่งคัมภีร์เตารอตและอินญีล) หากปรากฏว่าพวกเจ้าไม่รู้ – (เราส่งบรรดาศาสนทูตเหล่านั้น) พร้อมกับปาฏิหาริย์อันแจ้งชัดและบรรดาคัมภีร์แห่งธรรมบัญญัติและศาสนกิจ และเราได้ประทานบทรำลึก (อัลกุรอาน) ลงมายังท่านเพื่อที่ท่านจะได้สร้างความกระจ่างแก่ผู้คนถึงสิ่งที่ถูกประทานลงมายังพวกเขาและหวังว่าพวกเขาจะได้ขบคิด”  (อัน-นะหฺล์  43-44)


وَمَا أَرْسَلْنَا قَبْلَكَ إِلَّا رِجَالًا نُّوحِي إِلَيْهِمْ ۖ فَاسْأَلُوا أَهْلَ الذِّكْرِ إِن كُنتُمْ لَا تَعْلَمُونَ ﴿٧

“และเรามิได้ส่ง (ศาสนทูต) มาก่อนหน้าท่านนอกเสียจากบรรดาบุรุษเพศที่เราได้มีวะหิยฺไปยังพวกเขา ฉะนั้นพวกเจ้าจงถามอะฮิลัซซิกร์ (เหล่าผู้มีความรู้ในบรรดาคัมภีร์ของเหล่านบีในยุคก่อน) หากปรากฏว่าพวกเจ้าไม่รู้” (อัล-อัมบิยาอฺ : 7)


ทั้งสองอายะฮฺนี้เป็นหลักฐานยืนยันถึงคุณลักษณะของผู้เป็นนบีและรสูลว่าเป็นบุรุษเพศที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงมีวะหิยฺไปยังพวกเขา ส่วนกรณีของนบีเพียงอย่างเดียวนั้นมีนักปราชญ์บางท่านมีทัศนะว่าพระนางมัรยัม (อ.ล.) เป็นนบี และบางส่วนยังมีทัศนะว่า พระนางหะวาอฺ , ท่านหญิงซารฺเราะฮฺ , มารดาของนบีมูซา (อ.ล.) , พระนางฮาญัร และพระนางอาซียะฮฺ เป็นนบีด้วยเช่นกัน แต่ทัศนะที่ถูกต้องและมีน้ำหนัก คือบรรดาสตรีเหล่านั้นมิใช่นบี


อัล-กอฎียฺ อิยาฏได้ถ่ายทอดจากปวงปราชญ์ฟุเกาะฮาอฺว่าพระนางมัรยัม (อ.ล.) มิใช่นบี อัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ระบุไว้ในอัล-อัซการฺจากอิมาม อัล-หะเราะมัยนฺว่ามีอิจญ์มาอฺว่าพระนางมัรยัม (อ.ล.) มิใช่นบี และมีรายงานจากท่านอัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ (ร.ฮ.) ว่า “ในหมู่สตรีนั้นไม่มีนบี และไม่มีนบีในหมู่ญิน” (อัร-รุสุล วัรฺริสาลาตฺ ; ดร.อุมัร สุลัยมาน อัล-อัชก็อรฺ หน้า 89)


การที่บรรดานบีและรสูลนับแต่อดีตเป็นบุรุษเพศทั้งสิ้นถือเป็นสิ่งที่บรรดานักปราชญ์ , ปุโรหิต และธรรมาจารย์ซึ่งมีความรู้ในคัมภีร์อัต-เตารอต และอัล-อินญีล มีองค์ความรู้ในเรื่องนี้ กล่าวคือ นบีและรสูลเป็นมนุษย์เพศชายที่ได้รับวะหิยฺจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) มิใช่ มะลักหรือมะลาอิกะฮฺซึ่งมุชริกีนมักกะฮฺกล่าวตู่ว่าเป็นบุตรหญิงของอัลลอฮฺ (ซุบฮานัลลอฮฺ!)


ฉะนั้น หากพวกมุชริกีนมักกะฮฺสงสัยและคลางแคลงในเรื่องนี้ก็จงถามบรรดานักปราชญ์ชาวคัมภีร์ดูว่าจริงหรือไม่ ประโยคที่ว่า “ฉะนั้น พวกเจ้าจงถามอะฮฺลัซซิกร์ หากปรากฏว่าพวกเจ้าไม่รู้” ตามท้องเรื่องจึงหมายถึงการสอบถามปราชญ์ของชาวคัมภีร์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงในเรื่องคุณลักษณะของบรรดานบีและรสูลในยุคอดีตซึ่งมีคุณลักษณะเช่นเดียวกับนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวคือ เป็นมนุษย์เพศชายมิใช่มะลักและได้รับวะหิยฺจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.)


แต่เนื่องจากนักปราชญ์มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอายะฮฺอัล-กุรอานว่า

(اَلْعِبْرَةُ بِعُمُوْمِ اللَّفْظِ لَابِخُصُوْصِ السَّبَبِ)

“การพิจารณานั้นพิจารณาตามนัยกว้างๆ ของถ้อยคำ มิใช่พิจารณาตามการจำกัดความของเหตุที่เป็นเรื่องเฉพาะ”


กล่าวคือ ถึงแม้ว่าประโยคของอายะฮฺจะมีนัยเกี่ยวกับการถามปราชญ์แห่งชาวคัมภีร์ในสิ่งที่ไม่รู้แต่ถ้อยคำของประโยคก็มีนัยกว้างและครอบคลุมถึงกรณีทั่วไปด้วย คือเมื่อไม่รู้สิ่งใดก็ให้ถามผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้น โดยเฉพาะปราชญ์แห่งคัมภีร์อัล-กุรอานที่พวกเขามีความเข้าใจในตัวบทและมีภูมิรู้ในการวิเคราะห์นัยและข้อชี้ขาดของตัวบทอย่างเอกอุโดยเฉพาะประเด็นปัญหาข้อปลีกย่อยทางศาสนาที่อนุญาตให้ทำการวิเคราะห์ด้วยพลังทางสติปัญญา (อัล-อิจญ์ติฮาด)


เมื่อไม่มีตัวบทที่เด็ดขาดซึ่งคนทั่วไป (เอาวาม) ไม่มีความรู้หรือขาดคุณสมบัติในการวิเคราะห์ตัวบท จากจุดนี้จึงเกิดสภาวะ 2 อย่าง คือ การวิเคราะห์ด้วยพลังสติปัญญา (อิจญ์ติฮาด) และภาวะของการถือตาม (ตักลีด) ซึ่งบรรดานักวิชาการมีความเห็นต่าง


ในกรณีนี้ มีทัศนะที่สำคัญๆ 3 ทัศนะด้วยกัน คือ

1. การวิเคราะห์ (อิจญ์ติฮาด) ด้วยการทุ่มเทและพากเพียรในการใช้ศักยภาพทางปัญญาเป็นสิ่งจำเป็นและการถือตาม (ตักลีด) เป็นสิ่งที่ไม่อนุญาต กล่าวคือผู้เข้าเกณฑ์บังคับทางศาสนา (มุกัลลัฟ) ทุกคนจำต้องพากเพียรในการใช้กำลังสติปัญญาสำหรับการวิเคราะห์หลักฐานทางศาสนบัญญัติและปฏิบัติตามผลที่ได้รับจากการวิเคราะห์นั้น ทัศนะนี้เป็นคำกล่าวของปราชญ์ฝ่ายอัซ-ซอฮิริยะฮฺ , กลุ่มนักคิดอัล-มุอฺตะซิละฮฺแห่งนครแบกแดด และกลุ่มหนึ่งจากชีอะฮฺ อิมามียะฮฺ


อิบนุ หัซฺมิน กล่าวว่า “การถือตาม (อัต-ตักลีด) เป็นสิ่งต้องห้าม และไม่อนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดยึดถือคำพูดของผู้อื่นจากท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) โดยไม่มีหลักฐาน



2.การพิจารณาและการวิเคราะห์เป็นสิ่งที่ไม่อนุญาต และการถือตาม (อัต-ตักลีต) เป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) หลังยุคของบรรดาอิมามมุจญ์ตะฮิด ทัศนะนี้เป็นคำกล่าวของกลุ่มอัล-หัชวียะฮฺ และอัต-ตะอฺลีมียฺ


3.การวิเคราะห์  (อิจญ์ติฮาด) มิใช่เป็นสิ่งต้องห้าม และการถือตาม (อัต-ตักลีด) เป็นที่ต้องห้ามสำหรับมุจญ์ตะฮิด แต่เป็นสิ่งจำเป็นเหนือคนทั่วไป (เอาวาม) คือผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติครบถ้วนในการวิเคราะห์ถึงแม้ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้รู้ก็ตาม ทัศนะนี้เป็นคำกล่าวของนักวิชาการส่วนใหญ่ที่ถือตามบรรดาอิมามทั้ง 4 และนักวิชาการผู้เจนจัดในการตรวจสอบ (มุหักกิก) จำนวนมากเลือกทัศนะนี้ (อุศูลลฟิกฮิ อัล-อิสลามียฺ ; ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซ-ซุหัยลียฺ เล่มที่ 2 หน้า 1126-1127)


หลักฐานของนักวิชาการกลุ่มที่ 3 นี้ก็คือ อายะฮฺอัล-กุรอานที่ว่า

(فاسئلواأهل الذكرإن كنتم لاتعلمون)

โดยอธิบายว่า อายะฮฺนี้เป็นตัวบทที่ครอบคลุมผู้ที่ถูกโต้ตอบ (มุคอฏ็อบ) ทั้งหมด และครอบคลุมในทุกๆ เรื่องที่ไม่รู้ เพราะคำสั่ง (คือจงถาม) ถูกกำหนดเงื่อนไขเอาไว้กับเหตุ (คือความไม่รู้)


ฉะนั้น ทุกครั้งที่มีความไม่รู้เกิดขึ้น บุคคลก็ถูกใช้ให้ถาม ซึ่งระดับของคำสั่งที่ใช้ให้ถามนั้นอย่างน้อยก็บ่งว่าอนุญาต (ญะวาซฺ) อย่างไรก็ตามคำอธิบายเกี่ยวกับอายะฮฺนี้ว่าเป็นหลักฐานในการถือตาม (อัต-ตักลีด) และการสังกัดมัซฮับก็ถูกซักค้าน (อิอฺติรอฏ) จากนักวิชาการที่มีทัศนะว่าไม่อนุญาตให้ถือตามและจำเป็นต้องวิเคราะห์ (อิจญ์ติฮาด) ตามกำลังสติปัญญาอีกเช่นกัน


จึงมีข้อสรุปว่า อายะฮฺอัล-กุรอานที่สั่งให้ให้ถามผู้รู้ในกรณีที่ไม่รู้นั้น ฝ่ายหนึ่งถือเอาอายะฮฺนี้เป็นหลักฐานในการตักลีดผู้รู้สำหรับบุคคลทั่วไป (เอาวาม) และการสังกัดมัซฮับของอิมามมุจญ์ตะฮิดทั้ง 4 ท่าน สำหรับผู้ที่ขาดคุณสมบัติในการอิจญ์ติฮาด ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ถือว่าอายะฮฺนี้เป็นหลักฐานในเรื่องการตักลีดและสังกัดมัซฮับ ทั้งสองฝ่ายมองตัวบทอัล-กุรอานอายะฮฺนี้คนละมุมมองกัน จึงอธิบายและได้ผลลัพธ์ต่างกัน เรื่องก็เป็นเช่นนี้แหล่ะครับ



อายะฮฺที่ 59 สูเราะฮฺอัน-นิสาอฺ นั้นมีเหตุแห่งการประทาน (สะบับ อัน-นูซูล) ลงมาเกี่ยวกับกรณีของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ หุซาฟะฮฺ อิบฺนิ ก็อยฺส์ (ร.ฎ.) ที่นำทัพแล้วมีเรื่องที่ท่านไม่พอใจที่เกิดขึ้น จึงสั่งให้จุดไฟและมีคำสั่งให้ทหารกระโจนเข้ากองไฟ ทหารบางส่วนปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่ง ในขณะที่บางส่วนมีเจตนาจะทำตามจึงเกิดการถกเถียงกัน (ตามรายงานของอิมามอัล-บุคอรียฺ จากอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.))


อีกกรณีหนึ่งเป็นเรื่องการพิพาทกันระหว่างท่านอัมมารฺ อิบนุ ยาสิร (ร.ฎ.) กับท่านคอลิด อิบนุ อัล-วะลีด (ร.ฎ.) ซึ่งท่านคอลิดเป็นผู้นำ (อะมีร) แต่ท่านอัมมาร (ร.ฎ.) กระทำการบางอย่างโดยพละการ ทั้งสองจึงถกเถียงกัน แล้วอายะฮฺนี้ก็ถูกประทานลงมา (ตามที่ อิบนุ ญะรีรฺ อัฏ-เฏาะบะรียฺ รายงาน)


ถึงแม้ว่าอายะฮฺนี้จะมีมูลเหตุแห่งการประทาน แต่ก็ให้พิจารณานัยกว้างๆ ของถ้อยคำที่บ่งชี้หุก่มจากอายะฮฺนี้ในเรื่องทั่วไปด้วย กล่าวคือ จำเป็นที่ผู้ศรัทธาต้องฏออะฮฺ เชื่อฟังโดยสิ้นเชิงต่ออัลลอฮฺและรสูล ซึ่งหมายถึง น้อมนำปฏิบัติตามตัวบทของอัล-กุรอานและอัล-หะดีษที่ชี้ขาดตัดสินเอาไว้ เรียกว่า การฏออัตเชื่อฟังโดยไร้เงื่อนไข (إطَاعَةٌمُطْلَقَةٌ)


และผู้ศรัทธาก็จำเป็นต้องฏออะฮฺเชื่อฟังบรรดาผู้นำ (วะลียุลอัมร์) ในการปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่ขัดต่อตัวบทของอัล-กุรอานและอัล-หะดีษ การฏออัตเชื่อฟังต่อผู้นำจึงเป็นการปฏิบัติตามแบบมีเงื่อนไข  (إطَاعَةٌمُقَيَّدَةٌ)  กล่าวคือ วาญิบต้องตามในเรื่องที่ดี (มะอฺรูฟ) และไม่ต้องปฏิบัติตามในสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืน (มะอฺศิยะฮฺ)


การขัดแย้งใดๆ ที่เกิดขึ้นในกรณีของการฏออัตเชื่อฟังผู้นำว่าจะตามผู้นำหรือไม่ และเรื่องที่ผู้นำสั่งใช้เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่จึงต้องยึดบรรทัดฐานของอัล-กุรอานและอัล-หะดีษเป็นตัวตัดสินว่าจำเป็นต้องตามหรือห้ามตาม  และอัล-กุรอานรวมถึงอัล-หะดีษจะเป็นตัวชี้วัดว่าเรื่องที่ผู้นำสั่งใช้เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือผิดต่อหลักศาสนา เพราะการฏออัตเชื่อฟังต่อคำสั่งของผู้นำมีเงื่อนไขผูกพันอยู่กับความถูกผิดตามคำตัดสินของอัล-กุรอานและอัล-หะดีษ


และนี่คือความหมายที่ว่าให้นำประเด็นที่ขัดแย้งกลับไปสู่อัลลอฮฺและรสูล คือกลับไปสู่บรรทัดฐานของอัล-กุรอานและอัล-หะดีษที่ตัดสินชี้ขาดเอาไว้ซึ่งเป็นที่กลับที่ดีที่สุดสำหรับการหาข้อยุติเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างผู้นำกับผู้ตาม


สำหรับอีกมุมมองหนึ่งที่สามารถอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ก็คือ การฏออัตต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ก็คือการน้อมนำปฏิบัติตามตัวบทที่ชัดเจนเด็ดขาดของคัมภีร์อัล-กุรอาน การฏออัตต่อท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็คือการน้อมนำปฏิบัติตามตัวบทของอัล-หะดีษที่ถูกต้องเด็ดขาด


การฏออัตเชื่อฟังต่อท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เป็นคำสั่งที่เด็ดขาดซึ่งผู้ศรัทธาจำต้องปฏิบัติตาม ซึ่งผูกพันกับข้อชี้ขาดของตัวบทในคัมภีร์อัล-กุรอานที่มีคำสั่งให้ผู้ศรัทธาต้องฏออัตเชื่องฟังท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) การฏออัตต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ผูกพันอยู่กับการฏออัตต่อท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และการฏออัตต่อรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็คือการฏออัตต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) เป็นความจำเป็นที่ผูกพันแบบไร้เงื่อนไข


ต่อมาก็คือการฏออัตต่อผู้นำหรืออิจญ์มาอฺของเหล่าเศาะหาบะฮฺซึ่งไม่อนุญาตให้ผู้ศรัทธาแหวกแนวหรือปฏิบัติสิ่งที่ขัดกับอิจญ์มาอฺอันเป็นบรรทัดฐานในลำดับที่ 3 รองจากอัล-กุรอานและอัล-หะดีษ ต่อมาเมื่อเกิดความขัดแย้งหรือมีทัศนะที่เห็นต่างในกรณีข้อปัญหาที่ไม่มีตัวบทชัดเจนเด็ดขาดจากคัมภีร์อัล-กุรอานและอัล-หะดีษตลอดจนอิจญ์มาอฺมาเป็นตัวตัดสินชี้ขาด ก็ให้นำประเด็นที่ขัดแย้งนั้นกลับไปสู่อัลลอฮฺและรสูล


คือนำไปเทียบเคียงกับตัวบทในอัล-กุรอานและอัล-หะดีษโดยวิเคราะห์หาเหตุผลร่วม (อิลละฮฺ) ระหว่างประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวบทจากแหล่งทั้งสอง การกลับไปหาตัวบทเพื่อเทียบเคียงนี้เรียกว่า การกิยาส นั่นเอง และการกิยาสจะกระทำได้เฉพาะในกรณีที่ปัญหาซึ่งเกิดความเห็นต่างหรือขัดแย้งกันนั้นไม่มีตัวบทที่ชี้ขาดจากอัล-กุรอานและอัล-หะดีษเท่านั้น


เพราะหากมีตัวบทเด็ดขาดจากแหล่งมูลฐานทั้ง 3 ระดับ คือ อัล-กุรอาน อัล-หะดีษ และอิจญ์มาอฺแล้วก็จะไม่มีความขัดแย้งหรือเห็นต่างในลักษณะเป็นปฏิปักษ์กัน แต่เป็นความเห็นต่างที่มองต่างมุมแบบหลากหลาย (อิคติลาฟ ตะเนาวุอฺ) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในประเด็นปัญหาข้อปลีกย่อย ดังนั้น การหาข้อยุติในประเด็นปัญหาที่ไม่พบตัวบทหลักฐานจึงเป็นเรื่องการนำเอาประเด็นปัญหานั้นๆ กลับไปเทียบเคียงกับตัวบทที่มีเหตุผลร่วม (อิลละฮฺ) ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการกิยาสนั่นเอง

والله اعلم بالصواب