อ.อาลี เสือสมิง : ถามตอบปัญหา

สารบัญปัญหาคาใจ => หมวด : การละหมาด => ข้อความที่เริ่มโดย: บิน อัยยูบ ที่ มกราคม 17, 2014, 10:46:26 pm

หัวข้อ: ละหมาดย่อกับอีหม่ามละหมาดวันศุกร์
เริ่มหัวข้อโดย: บิน อัยยูบ ที่ มกราคม 17, 2014, 10:46:26 pm
 salam ยาเชค หากผมจะละหมาด ยะเมาะตักดีม โดยตามอีหม่ามที่ละหมาดวันศุกร์แต่เราเนียตย่อดุฮรี่สองรอกาอะห์ทำได้หรือป่าว  และฮูก่มการตามอีหม่ามที่เนียตละหมาดไม่เหมือนกันมีฮูก่มอย่างไรบ้าง(เช่น อีหม่ามละหมาดตะรอเวาะห แต่เราละหมาดอีชา หรือ อีหมามละหมาดอีชาสี่ แต่เราละหมาดย่อสอง เป็นต้น)    ญะซากัลลอฮครับ
หัวข้อ: Re: ละหมาดย่อกับอีหม่านละหมาดวันศุกร์
เริ่มหัวข้อโดย: อาลี เสือสมิง ที่ มีนาคม 14, 2014, 03:07:45 pm
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

อิมามอัช-ชีรอซียฺ (ร.ฮ.) กล่าวไว้ในตำราอัล-มุฮัซซับของท่านว่า : ไม่อนุญาตให้เกาะศ็อรฺ (ละหมาดย่อ) สำหรับบุคคลที่ละหมาดตามมุกีม (ผู้ที่มิได้เดินทาง) ...และถ้าหากบุคคลต้องการละหมาดเกาะศ็อรฺซุฮฺริตามหลังบุคคล (อิมาม) ที่ละหมาดวันศุกร์ก็ไม่อนุญาต เพราะบุคคล (ที่ละหมาดเกาะศ็อรฺซุฮฺริ) นั้นเป็นผู้ละหมาดตามผู้ที่มิได้เดินทาง (มุกีม-ผู้ละหมาดเต็ม) และเป็นเพราะการละหมาดวันศุกร์เป็นละหมาดเต็ม (صَلَاةٌتَامَّةٌ) บุคคลผู้นั้นจึงเป็นเหมือนผู้ละหมาดตามผู้ที่จะละหมาดซุฮฺริเต็ม....”


อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) อรรถาธิบายตัวบทข้างต้นว่า : คำกล่าวของอิมามอัช-ชีรอซียฺ (ร.ฮ.) ที่ “ไม่อนุญาติให้เกาะศ็อรฺ (ละหมาดย่อ) สำหรับบุคคลที่ละหมาดตามมุกีม “คำว่า มุกีม” (ผู้ที่มิได้เดินทาง) ที่ดีกว่าน่าจะกล่าวว่า : มุติมฺ (ผู้ที่ละหมาดเต็ม) เพราะครอบคลุมกว่า


และในทำนองเดียวกัน คำกล่าวของอิมามอัช-ชีรอซียฺ (ร.ฮ.) ที่ว่าถึงการละหมาดวันศุกร์ซึ่งให้เหตุผลว่า เพราะผู้ละหมาดเกาะศ็อรฺ (ซุฮฺริ) เป็นผู้ตามมุกีม ที่ดีกว่าน่าจะกล่าวว่า “มุติม” (مُتِمٌّ) และคำกล่าวที่ว่า : เพราะการละหมาดวันศุกร์เป็นการละหมาดเต็ม นี่เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด (อัล-อะเศาะหฺ) บ้างก็ว่า (قِيْلَ) ละหมาดวันศุกร์คือละหมาดซุฮฺริที่ถูกย่อ (มักศูเราะฮฺ) ...


แล้วอิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ก็กล่าวว่า : อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และบรรดาอัล-อัศหาบ (เราะหิมะฮุมุลลอฮฺ) กล่าวว่า : เงื่อนไขของการละหมาดเกาะศ็อรฺ (ละหมาดย่อ) คือผู้นั้น (ผู้ละหมาดย่อ) จะต้องไม่ละหมาดตามผู้ที่ปฏิบัติละหมาดเต็ม (มุติม) ...และหากว่าผู้นั้นตั้งเจตนา (นียะฮฺ) ละหมาดซุฮฺริเป็นละหมาดย่อ (มักศูเราะฮฺ) ข้างหลังการละหมาดวันศุกร์ –ไม่ว่าอิมามนำละหมาดวันศุกร์จะเป็นผู้เดินทาง (มุสาฟิรฺ) หรือมิใช่ผู้เดินทาง (มุกีม) ก็ตาม- ก็มี 2 แนวทาง (เฎาะรีกอนี่) ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ


แนวทางที่ถูกยึดถือเป็นมัซฮับและเป็นตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ในตำราอัล-อิมลาอฺ ซึ่งนักวิชาการส่วนมากในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้ คือไม่อนุญาตให้ (ผู้นั้นตั้งเจตนาละหมาดซุฮฺริเป็นละหมาด) เกาะศ็อรฺ เพราะผู้นั้นเป็นผู้ละหมาดตาม (อิมามที่เป็น) ผู้ละหมาดเต็ม


ส่วนแนวทางที่สอง หากเรากล่าวว่า : ละหมาดวันศุกร์เป็นละหมาดซุฮฺริที่ถูกย่อ (มักศูเราะฮฺ) ก็อนุญาตให้ผู้นั้น (ตั้งเจตนา) ละหมาดเกาะศ็อรฺ (ซุฮฺริของตนได้) เช่นเดียวกับกรณีของการละหมาดซุฮฺริที่ถูกย่อตามหลังการละหมาดอัศริที่ถูกย่อ หากไม่เป็นเช่นนั้นการละหมาดวันศุกร์ก็เหมือนกับละหมาดศุบหิ (ที่ถูกบัญญัติให้ละหมาด 2 รอกอะฮฺเป็นละหมาดเต็ม) ....(กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 233-234)



สรุปก็คือ ถ้าถือตามแนวทางที่ถูกยึดถือ (มุอฺตะมัด) ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ก็ไม่อนุญาตให้ผู้ที่เดินทางตั้งเจตนา (นียะฮฺ) ละหมาดซุฮฺริย่อเป็น 2 รอกอะฮฺตามอิมามที่ละหมาดวันศุกร์ เพราะการละหมาดวันศุกร์ตามประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนี่) เป็นละหมาดเต็มที่มี 2 รอกอะฮฺมิใช่ละหมาดซุฮฺริที่ถูกย่อ (อ้างแล้ว 4/402)



ดังนั้นจึงส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้ผู้ที่เดินทางปฏิบัติละหมาดวันศุกร์ (ตามปกติคือไม่ต้องตั้งเจตนาว่าละหมาดซุฮฺริย่อ) เพื่อออกจากข้อขัดแย้งของนักวิชาการ และเป็นเพราะการละหมาดวันศุกร์นั้นสมบูรณ์กว่า ทั้งนี้ในกรณีที่สามารถละหมาดวันศุกร์ได้ (อ้างแล้ว 4/351)


ส่วนเมื่อละหมาดวันศุกร์แล้ว (โดยในขณะละหมาดวันศุกร์มีเจตนาละหมาดรวมโดยนำเอาเวลาอัศริมาทำก่อน (ญัมอฺ ตักดีม) ในเวลาซุฮฺริหรือวันศุกร์) ก็ย่อมสามารถละหมาดอัศริหลังจากนั้นได้ โดยพิจารณาถึงเงื่อนไขของการละหมาดรวมที่เอาเวลาหลังขึ้นมาทำในเวลาหน้า (ญัมอฺ ตักดีม)

ส่วนหุก่มการตามอิมามที่ตั้ง (นียะฮฺ) ละหมาดไม่เหมือนกันนั้น รายละเอียดอยู่ในเรื่องละหมาดญะมาอะฮฺที่อยู่ในลิงค์นี้ http://alisuasaming.org/main/?p=4030  ซึ่งบอกไว้หมดแล้ว ลองเปิดดูครับ

والله أعلم بالصواب