อ.อาลี เสือสมิง : ถามตอบปัญหา

สารบัญปัญหาคาใจ => หมวด : อะกีดะฮฺ และกลุ่มต่างๆ => ข้อความที่เริ่มโดย: ABU NAZZARAH ที่ มิถุนายน 24, 2014, 03:02:32 am

หัวข้อ: เกี่ยวกับการออกดะอวะฮ
เริ่มหัวข้อโดย: ABU NAZZARAH ที่ มิถุนายน 24, 2014, 03:02:32 am
السلام عليكم ورحمة الله وبﻻكاته
ถึงอาจารย์ที่เคารพครับ พอดีผมอยากทราบว่าหากว่าเราจะไปร่วมกลุ่มการออกดะอวะฮกับชาวตับลีฆนั้นจะได้ไหมครับ เพราะผมเห็นว่าพวกเขาก็ดีนะครับ แต่งตัวใส่โต๊บใส่ผ้าโพกหัว แต่บังเอิญที่ผมได้ยินมาว่าการไปออก 3 วัน 40 วัน 4 เดือน ไม่มีแบบอย่างที่นบีได้ทำใว้ และ หนังสือเล่มเขียวที่คนตับลีฆใช้ในการเรียนการสอนเกี่ยวกับคุณค่าของอะม้าลต่างๆนั้นมีเรื่องโกหกและฮาดิษปลอมเยอะ ผมจึงเข้ามาขอความรู้จากอาจารย์ที่เคารพตรงนี้ว่าตกลงว่าการไป 3 วัน 40 วัน หรือ 4 เดือนนั้นไม่มีแบบอย่างจากนบีและเราไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ดังอาจารย์บางคนว่าใช่ไหมครับและหนังสือเล่มเขียวนั้นจริงๆแล้วเราสามารถอ่านได้หรือเปล่าครับ ญะซากั้ลลอฮคอยรอนครับ
หัวข้อ: Re: เกี่ยวกับการออกดะอวะฮ
เริ่มหัวข้อโดย: อาลี เสือสมิง ที่ สิงหาคม 18, 2014, 01:01:13 pm
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته

กลุ่มญะมาอะฮฺดะอฺวะฮฺหรือญะมาอะฮฺตับลีฆเป็นกลุ่มพี่น้องมุสลิมที่เน้นการปฏิบัติ (อะมัล) เป็นหลัก เช่น การอิอฺติก๊าฟที่มัสญิด การฟังบะยาน (ปาฐกถา) ในเรื่องศาสนา การละหมาดญะมาอะฮฺฟัรฎู 5 เวลา การละหมาดสุนนะฮฺ การซิกรุลลอฮฺ และการกุศลกิจอาสาทั่วไป รวมถึงมีระเบียบเรื่องการแต่งกาย และการปฏิบัติตนที่เคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน การออกเดินทางไปยังมัสญิดต่างถิ่น เป็นเวลา 3 วัน หรือมากกว่านั้น ก็ถือเป็นระเบียบและแนวทางที่ทางญะมาอะฮฺกำหนดเอาไว้


ในแต่ละช่วงเวลาที่กำหนดนั้นก็มีหิกมะฮฺ (เหตุผล) ที่สามารถอธิบายได้มารับรอง ถึงแม้ว่าจะไม่มีตัวบทซึ่งเป็นแบบอย่างจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มากำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนเป็นกรณีเฉพาะ แต่ก็ไม่มีข้อห้ามในการที่จะถือปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวเป็นเหมือนหลักสูตรภาคปฏิบัติที่มีการทดลองแล้วว่ามีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคล


หากเราเข้าใจว่าการออกเดินทางไปยังต่างถิ่นตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดเป็นเรื่องของระเบียบปฏิบัติเฉพาะกลุ่มหรือเป็นเหมือนหลักสูตรภาคปฏิบัติ ก็ย่อมไม่มีข้อห้ามตราบใดที่ระเบียบหรือหลักสูตรนั้นไม่ขัดต่อตัวบททางศาสนา และไม่มีการบกพร่องในภาระกิจจำเป็นสำหรับครอบครัวหรือสังคม


ส่วนหนังสือเล่มเขียวนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะมีเนื้อหาที่เป็นหิกายะฮฺ (เรื่องเล่า) หรือมีหะดีษที่อ่อน (เฎาะอีฟ) หรือเมาวฺฎูอฺปะปนอยู่บ้างเป็นธรรมดา เพราะไม่ใช่ตำราหะดีษเศาะหิหฺอย่างตำราหะดีษเศาะหิหฺของอิมามอัล-บุคอรียฺและมุสลิม และในปัจจุบันมีการตรวจสอบ (ตัครีจญ์) สายรายงานอัล-หะดีษในหนังสือเล่มนี้โดยนักวิชาการผู้ชำนาญการแต่อาจจะยังไม่เป็นที่รับรู้กันมากนัก


การที่จะกล่าวว่า ห้ามอ่านหนังสือเล่มเขียวโดยเด็ดขาด หรือหนังสือเล่มนี้มีแต่หะดีษปลอมและเรื่องโกหก คงมิอาจกล่าวเช่นนั้นได้ เพราะเรื่องจริงก็มีระบุอยู่ และอัล-หะดีษโดยส่วนใหญ่ก็รับฟังได้ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่หะดีษเศาะหิหฺทั้งหมดก็ตาม

والله أعلم بالصواب