อ.อาลี เสือสมิง : ถามตอบปัญหา

สารบัญปัญหาคาใจ => หมวด : หนังสือ ภาษา ประวัติศาสตร์ และความรู้ทั่วไป => ข้อความที่เริ่มโดย: อบูมุอาซ ที่ กรกฎาคม 13, 2014, 08:34:33 pm

หัวข้อ: อยากทราบหนังสือ كتار فروكونن ملايو بسر
เริ่มหัวข้อโดย: อบูมุอาซ ที่ กรกฎาคม 13, 2014, 08:34:33 pm
 salam
อยากทราบหนังสือكتار فروكونن ملايو بسر
คือที่ผมถามเพราะช่วงร่อมาดอนมัสยิดที่บ้านผมจะตอรอแวะห์โดยอ่านซูเราะห์สั้นๆ และทุกร่อกาอัตที่สองจะอ่านกุลฮุู แต่มีพี่น้องอยากเปลี่ยนบรรยากาศ คืออยากให้อ่านซูเราะห์อื่นบ้าง แต่กรรมการมัสยิดบอกว่าไม่ได้มันไม่เหมือนหนังสือ ซึ่งผมก็คิดว่าน่าจะเป็นหนังสือكتار فروكونن ملايو بسر เล่มนี้แหละที่โต๊ะอีหม่ามใช่สอนชาวบ้าน ซึ่งผมเองก็ไม่ค่อยเข้าใจภาษามาลายูสักเท่าไรหรอกแต่ก็ลองไปเปิดดูบ้างแล้วไม่เห็นมีหลักฐานอ้างอิงเลย ก้อเลยมีข้อสงสัยว่ามีความน่าเชื่อถือแค่ไหนครับ แล้วผู้แต่งเป็นใครครับ ถูกต้องตามหลักการแค่ไหน ญาซากั้ลลอฮ์ครับ
หัวข้อ: Re: อยากทราบหนังสือ كتار فروكونن ملايو بسر
เริ่มหัวข้อโดย: อาลี เสือสมิง ที่ กันยายน 21, 2014, 06:59:45 am
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد


หนังสือ فروكونن سمبهيڠ   เป็นหนังสือภาษามลายูเขียนด้วยอักษรญาวียฺ  (توليسن جاوى) ปกในของหนังสือเล่มนี้ใช้ชื่อว่า (كتاب فروكونن بسر) ของหัจญี อับดุรฺเราะซีด บันญัรฺ (باڬى حاج عبدالرشيد بنجر) และระบุว่าเอาเนื้อหาบางส่วนมาจากหนังสือที่ ชัยคฺ มุฮัมมัด อัรฺชัด บัณญัรฺ (شيخ محمد ارشد بنجر) ที่ได้แต่งเอาไว้ และมีการเพิ่มเติมเนื้อหาว่าด้วย ศิฟัต 20 ประการ , คุฏบะฮฺญุมอะฮฺ , คุฏบะฮฺนิกาหฺ , รอติบ หัดดาด , ตัลกีนมัยยิต , บทเกี่ยวกับเลือดหัยฎฺ , บทขอพรต่างๆ , บทว่าด้วยการทำหัจญ์ และหลักพื้นฐานของศาสนาอิสลาม (أساس الاسلام)


เนื้อหาส่วนใหญ่จะกล่าวถึงเรื่องการละหมาดประเภทต่างๆ ทั้งองค์ประกอบ (รุกน์) และเงื่อนไข (ชัรฏ์) ตลอดจนวิธีการปฏิบัตินิยมใช้สอนกันตามปอเนาะเพื่อเป็นคู่มือในการปฏิบัติศาสนกิจขั้นพื้นฐาน และเรื่องที่ควรรู้สำหรับเด็กปอเนาะและโต๊ะละบัย หนังสือเล่มนี้ถูกจัดอยู่ในหมวดตำราแบบเรียนขั้นพื้นฐานสำหรับผู้เรียนภาษามลายูและเป็นหนังสือที่รวบรวมเรื่องที่เป็นหญ้าปากคอก หมายถึง เรื่องใกล้ตัว มีเนื้อหาคล้ายกับหนังสือมลายูบางเล่ม เช่น กิฟายะตุลมุบตะดียฺ และ เปอร์ฮิมปูนันอิบาดัต


รูปแบบการเขียนจะลงในเนื้อหาที่สำคัญในแต่ละเรื่อง และกล่าวถึงขั้นตอนโดยละเอียด ไม่เน้นหลักฐานอ้างอิงจากอัล-กุรอานและอัล-หะดีษ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีหลักฐานประกอบเลย มีเหมือนกัน เช่น หลักฐานประกอบจากอายะฮฺอัล-กุรอานเรื่องศิฟัตของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เรื่องการอาบน้ำละหมาดและการทำตะยำมุม เป็นต้น ส่วนหลักฐานประกอบที่ว่าด้วยความประเสริฐของการทำละหมาดสุนนะฮฺบางประเภท ดุอาอฺหรือการกล่าวซิกรุลลอฮฺบางบทมักอ้างจากหนังสือของชัยคฺในเฏาะรีเกาะฮฺศูฟียฺ หรือหนังสือนุซฮะตุลมะญาลิส เป็นต้น


หนังสือ فروكونن سمبهيڠ และหนังสือภาษามลายูที่มีเนื้อหาคล้ายๆ กันนี้มีอิทธิพลต่อชาวมลายูในภาคพื้นเอเซียตะวันออกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคนคณะเก่า (โกมตุวอ) เพราะเป็นเสมือนคู่มือในการประกอบศาสนกิจและความรู้เบื้องต้นสำหรับคนมุสลิมในอดีต ประโยชน์ของหนังสือเล่มนี้ก็คือ ทำให้คนมุสลิมรุ่นก่อนซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเราทำละหมาดเป็น ถือศีลอดเป็น รู้เรื่องหลักพื้นฐานในการดำเนินชีวิตแบบมุสลิมมลายูและสืบทอดตกมาถึงคนรุ่นหลัง


ประโยชน์ของหนังเล่มนี้จึงมีอยู่และมิอาจปฏิเสธได้ กระนั้นก็ใช่ว่าทุกสิ่งที่ถูกรวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้จะถูกต้องไปเสียทั้งหมด การยืนกรานของกรรมการมัสญิดที่ว่า ไม่สามารถเปลี่ยนรูปแบบของการละหมาดตะรอวีหฺอย่างที่เคยปฏิบัตินั้นได้ เพราะมีเหตุผลว่ามันไม่เหมือนหนังสือที่เขียนไว้ (หน้า 67 – 69) กรณีนี้ถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะเจ้าของหนังสือเขานำเสนอรูปแบบและรายละเอียดเอาไว้เฉยๆ เจ้าของหนังสือไม่ได้บอกว่าจำเป็นต้องยึดตามนี้และห้ามเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น


กอปรกับหนังสือเล่มนี้ก็ไม่ใช่หนังสือใหญ่หรือมิใช่ตำรามาตรฐานที่มุอฺตะมัดในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺใหญ่ๆ เช่น อิอานะตุฏฏอลิบีน , มุฆนี อัล-มุหฺตาจญ์ เป็นต้น และจะพบว่าวิธีการที่ถูกระบุไว้ในหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด (คิลาฟุลเอาลา) และที่สำคัญในตำราฟิกฮฺใหญ่ๆ ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด


กระนั้นหากทางคณะกรรมการมัสญิดจะถือเคร่งครัดในรูปแบบการปฏิบัติตามที่หนังสือเล่มนี้ระบุเพื่อความเรียบร้อยและพร้อมเพรียงของสัปปุรุษก็ย่อมสามารถกระทำได้ แต่จะต้องไม่ยึดมั่นแข็งขันว่านั่นเป็นสุนนะฮฺของนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮะวะสัลลัม) และไม่ยึดติดกับตำราเล่มนี้จนเพิกเฉยต่อตำราใหญ่ๆ ในมัซอับอัช-ชาฟิอียฺ คือต้องเปิดกว้างในเรื่องนี้!

والله ولي التو فيق