อ.อาลี เสือสมิง : ถามตอบปัญหา

สารบัญปัญหาคาใจ => หมวด : หะล้าลหะรอม และมุอามะลาต => ข้อความที่เริ่มโดย: บ่าวน้อย ที่ พฤศจิกายน 20, 2015, 10:42:49 pm

หัวข้อ: การจับมือกับผู้หญิงกาฟิรเพราะจำเป็น
เริ่มหัวข้อโดย: บ่าวน้อย ที่ พฤศจิกายน 20, 2015, 10:42:49 pm
 salam
อยากทราบว่ามีการอนุโลม หรือทัศนะอุลามาอุท่านใดไม ที่อนุญาติให้แตะต้องคนกาฟิร หรือผู้ไม่ใช่มะรอมเมื่อมีเหตุจำเป็น หรืออยู่ในช่วงสถานการณ์บังคับ ตัวอย่าง เช่น ตัวเองเป็นผู้นำประเทศ และต้องมีการทักทายด้วยการจับมือกับแขกบ้านแขกเมืองที่เป็นผู้หญิง ในกรณีเช่นนี้หลักการว่าอย่างไรคับ
หัวข้อ: Re: การจับมือกับผู้หญิงกาฟิรเพราะจำเป็น
เริ่มหัวข้อโดย: อาลี เสือสมิง ที่ พฤษภาคม 16, 2016, 10:49:46 pm
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

คนกาฟิรฺมิใช่นะญิส เพราะคนกาฟิรฺเป็นคนเหมือนกัน ทั้งคนเป็นและคนตายไม่ใช่นะญิส การสัมผัสจับต้องระหว่างคนมุสลิมกับคนกาฟิรฺจึงเป็นสิ่งที่ศาสนามิได้บัญญัติห้าม ส่วนการสัมผัสจับต้องระหว่างคนต่างเพศนั้น หากมิใช่มะหฺรอม (ผู้ที่ห้ามแต่งงานด้วย) ก็ห้ามในการสัมผัสถูกเนื้อต้องตัวกันจะมีอารมณ์กำหนัด (ชะฮฺวะฮฺ) หรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตาม แม้กระทั่งคนที่เป็นมะหฺร็อมเอง หากการสัมผัสถูกเนื้อต้องตัวเป็นไปด้วยอารมณ์กำหนัด ก็ถือว่าเป็นที่ต้องห้ามเช่นกัน และแม้กระทั่งคนเพศเดียวกัน หากสัมผัสถูกเนื้อต้องตัวกันด้วยอารมณ์กำหนัดก็ถือว่าต้องห้าม จะเป็นมุสลิมด้วยกันหรือไม่ก็ตาม


ดังนั้น ถ้าเป็นคนเพศเดียวกัน เช่น ชายกับชาย หญิงกับหญิง สัมผัสมือหรือจับมือระหว่างกัน ก็ย่อมเป็นที่อนุญาตในกรณีที่ไม่มีอารมณ์กำหนัด แต่ถ้ามีก็ไม่อนุญาต ส่วนถ้าเป็นคนต่างเพศ เช่น ชายกับหญิง ซึ่งมิใช่มะหฺรอมแต่เป็นคนที่แต่งงานกันได้ การสัมผัสหรือจับมือระหว่างบุคคลทั้งสองที่ต่างเพศ ก็ย่อมเป็นที่ต้องห้าม จะมีอารมณ์กำหนัดหรือไม่ก็ตาม


ศาสนาอนุโลมในกรณีที่เป็นที่ต้องห้ามเฉพาะเมื่อมีความจำเป็นในขั้นอุกฤษณ์ (เฏาะรูเราะฮฺ) เช่น การรักษาทางการแพทย์ การช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ หรือประสบภัย เท่านั้น


ส่วนกรณีที่อนุโลมให้นี้ก็มีขอบเขตเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนกรณีการจับมือกับแขกบ้านแขกเมืองที่เป็นคนต่างเพศกับผู้นำประเทศซึ่งเป็นมุสลิมนั้น ไม่ถือว่าเป็นเหตุจำเป็นในขั้นอุกฤษณ์ (เฏาะรูเราะฮฺ) ศาสนามิได้อนุโลมให้เพราะมิใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่อาจกล่าวได้ว่าเพราะสถานการณ์บังคับเนื่องจากการจับมือเป็นเรื่องของความสมัครใจ คงอ้างไม่ได้ว่า อีกฝ่ายบังคับให้จับมือ ไม่จับไม่ได้


ส่วนที่ว่า เมื่อจับมือแล้ว ไม่มีอารมณ์กำหนัดและไม่มีเจตนาพร้อมกับอารมณ์กำหนัดในขณะนั้น ก็เป็นบาปเล็กเพราะเป็นสิ่งต้องห้าม หรือถ้าเป็นบาปใหญ่ก็ไม่ถึงขั้นบาปใหญ่อย่างการทำซินา (ผิดประเวณี) และเมื่อจับมือไปแล้วในกรณีดังกล่าว ผู้กระทำก็ต้องขอลุแก่โทษ (อิสติฆฟารฺ) ในกรณีเป็นบาปเล็ก หรือต้องเตาบะฮฺตัวกรณีเป็นบาปใหญ่


ดังนั้น การสัมผัสมือของผู้นำหรือใครก็ตาม (เช่น คนธรรมดาสามัญ) กับคนต่างเพศ จะเป็นมุสลิมหรือกาฟิรฺก็ตามจึงไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องถูกประณามหรือถูกโจมตีเป็นเสมือนความผิดมหันต์ติดตัวไปจนวันตาย เพราะบางทีผู้ที่กระทำเช่นนั้นได้ขอลุแก่โทษหรือเตาบะฮฺตัวแล้วจากความผิดดังกล่าว และผู้ที่สำนึกผิดจากบาปก็เหมือนกับผู้ที่ไม่มีบาปในเรื่องนั้นแล้ว ที่สำคัญการจับมือกับคนต่างเพศมิใช่การผิดประเวณี (ซินา) ที่เป็นบาปใหญ่แน่นอน และหากจะมีความผิดก็เป็นความผิดของเขา มิใช่ของเรา!

والله ولي التوفيق