อ.อาลี เสือสมิง : ถามตอบปัญหา

สารบัญปัญหาคาใจ => หมวด : การถือศีลอด และเดือนเราะมะฎอน => ข้อความที่เริ่มโดย: อาลี เสือสมิง ที่ กันยายน 27, 2010, 06:58:53 am

หัวข้อ: รอมฎอนสำหรับผู้อยู่ต่างแดน
เริ่มหัวข้อโดย: อาลี เสือสมิง ที่ กันยายน 27, 2010, 06:58:53 am
อัสสลามุอะลัยกุมวะเราะฮฺมะตุลลอฮฺ

     การละศีลอดของชาวต่างประเทศ เช่นแถบยุโรป ซึ่งมีช่วงเวลาการศีลอดที่ยาวนานกว่าบ้านเรามาก

เช่น นอร์เวย์ เนเธอแลนด์ เยอรมัน เขามีเกณฑ์ในการละศีลอดอย่างไรคะ

เพราะเคยมีเพื่อนบอกว่า สามารถยึดเวลาตามซาอุได้ ข้อเท็จจริงเป็นเช่นไรคะ

ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยชี้แนะด้วยคะ

วัสสลามุอะลัยกุมวะเราะฮฺมะตุลลอฮฺ

ถามโดย - คุณนายคิม  « เมื่อ: กันยายน 01, 2009, 04:08:03 pm »
หัวข้อ: รอมฎอนสำหรับผู้อยู่ต่างแดน
เริ่มหัวข้อโดย: อาลี เสือสมิง ที่ กันยายน 27, 2010, 06:59:32 am
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد...؛

ในตำราฟิกฮฺของมัซฮับ  อัชชาฟิอีย์  ระบุว่า  ในกรณีที่คล้ายกับที่ถามมาให้  ผู้คนในดินแดนดังกล่าวกำหนดระยะเวลากลางคืนของพวกเขา  ตลอดจนเวลากลางวันในการถือศีลอดด้วยการอาศัยเวลาของดินแดนใกล้เคียงที่สุดกับดินแดนของพวกเขาเป็นตัวกำหนด  ในส่วนกำหนดเวลาละหมาด  การหมดเวลามัฆริบและเข้าเวลาอิชาอฺก็ให้ใช้เวลาของดินแดนใกล้เคียงกับพวกเขาเป็นตัวกำหนดเช่นเดียวกัน  (ดู  ตุฮฺฟะฮฺ  อัลมุฮฺตาจญ์  ;  อิบนุ  ฮะญัร  อัลฮัยซะมี่ย์  1/419-425,มุฆนีย์  อัลมุฮฺตาจญ์  1/123-125,นิฮายะตุ้ล  มุฮฺต๊าจญ์  2/351)  

หรือให้ใช้การคำนวณ  (อัลฮิซาบ)  เช่น  ถือศีลอดในวันที่ยาวเหมือน  1  ปี  ก็ให้พิจารณากำหนดการมาของรอมาฎอนด้วยการคำนวณ  และให้ถือศีลอดในเวลากลางวันส่วนหนึ่งตามขนาดระยะเวลาของกลางวันด้วยการคำนวณเช่นกัน  และให้ละศีลอด  หลังจากนั้นก็ให้ถือศีลอดต่อไป  ในกรณีที่วันมีเวลาเท่ากับ  1  เดือน  ให้ถือศีลอดตลอดทั้งวันนั้น  โดยกำหนดขนาดการมาของเวลากลางคืนด้วยการคำนวณ  ในช่วงเวลาที่สั้นมากๆก็ให้ถือศีลอดเฉพาะในตอนกลางวันเท่านั้น  และถือว่าได้  1  วันเต็ม  ถึงแม้ว่าวันนั้นจะมีเวลาสั้นมากก็ตาม  และเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าก็ให้ละศีลอด  และเมื่อแสงอรุณปรากฏก็ให้ถือศีลอด  การมีเวลาที่สั้นไม่มีผลแต่อย่างใด  (อัลฮาวีย์  ลิล  ฟะตาวี,  อัสสุยูฏีย์  1/40-44)

ท่าน  ชัยด์  ญาดัลฮักฺ  อะลี  ญาดัลฮักฺ  ชัยคุลอัซฮัร  (ร.ฮ.)  ได้ระบุว่า  ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบที่ว่านี้  มีทางเลือกอยู่  2  ข้อ  คือ

1. ให้ยึดเอาเวลาของดินแดนที่มีเวลาปกติซึ่งหลักของศาสนาถูกประทานลงมาในดินแดนนั้น  นั่นก็คือ  มักกะฮฺ-มะดีนะฮฺ  เป็นมาตรฐาน  ดังนั้นให้ผู้คนในดินแดนที่ว่านั้นถือศีลอดตามกำหนดเวลาหรือจำนวนชั่วโมงที่ชาวมุสลิมในหนึ่งจากสองเมืองนั้นได้ถือศีลอด

2. ให้คำนวณเวลาการถือศีลอดโดยพิจารณาเวลาการถือศีลอดในดินแดนที่ใกล้เคียงที่สุดกับพวกเขาหลังจากนั้น  ท่าน  ชัยคุลอัซฮัร  (ร.ฮ.)  ก็ระบุว่า  ท่านมีความโน้มเอียงไปยังการเรียกร้องให้ชาวมุสลิมในดินแดนดังกล่าวถือศีลอดตามจำนวนชั่วโมงที่บรรดามุสลิมในนครมักกะฮฺ-มะดีนะฮฺ  ทำการถือศีลอด  โดยเริ่มถือศีลอดนับจากเวลาแสงอรุณจริงปรากฏตามที่ตั้งดินแดนของพวกเขาบนพื้นโลก  โดยไม่ต้องพิจารณาหรือนับตามชั่วโมงของเวลากลางวันหรือกลางคืนและโดยการละศีลอดนั้นไม่ต้องขึ้นอยู่กับการที่ดวงอาทิตย์ตกดินหรือแสงสว่างของมันหายไปด้วยการเข้าสู่เวลากลางคืนจริงๆ  (บุฮูซ  ว่า  ฟะตะวา  อิสลามี่ยะฮฺ  ฟี  กอฎอยา  มุอาซิเราะฮฺ  ;  ชัยด์  ญาดัลฮัก  (ร.ฮ.)  เล่ม  2  หน้า  52-55)  

สรุปคือ  ถ้าถือตามเวลาดินแดนใกล้เคียงที่มีระยะเวลากลางวันและกลางคืนปกติ  การจะเริ่มถือศีลอด  และการละศีลอดก็ให้คำนวณตามเวลาของดินแดนใกล้เคียง  หรือไม่ก็ให้ใช้เวลาของนครมักกะฮฺและม่าดีนะฮฺ  เป็นมาตรฐาน  ดังที่กล่าวมาแล้ว

والله أعلم بالصواب