อ.อาลี เสือสมิง : ถามตอบปัญหา

สารบัญปัญหาคาใจ => หมวด : การทำฮัจย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: อาลี เสือสมิง ที่ กันยายน 27, 2010, 07:17:26 am

หัวข้อ: อยากไปทำฮัจย์แต่ไม่สบายใจ
เริ่มหัวข้อโดย: อาลี เสือสมิง ที่ กันยายน 27, 2010, 07:17:26 am
salam อาจารย์ อาลี ครับ

     ผมอยากเรียนถามอาจารย์ ดังนี้ครับ  

    ผมอยากไปทำฮัจย์มากเนื่องจากได้รับเงินพิเศษหรือโบนัสมา พอที่จะสามารถเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำอัจย์ได้ตามราคาที่เขากำหนดทั่วๆไป
      แต่ว่าผมหนี้สินที่ต้องผ่อนชำระบ้านอยู่เป็นรายเดือน เป็นระยะเวลา 15 ปี แต่ผมมีเงินเดือนประจำ และมีหนี้สินที่เคยยืม ม๊ะและพี่น้องอยู่ตอนสมัยไปซื้อบ้านใหม่ๆ ก็ทยอยใช้แก เป็นรายเดือนอยู่ แต่ยังไม่หมดครับ ประมาณ 3หมื่นบาท
     1. จึงอยากเรียนถามอาจารย์ ว่า ผมสามารถไปได้ไหมครับ คือมีหนี้สินอยู่ครับ แต่ไม่ได้เบี้ยวเขานะครับ ถ้าต้องรอผ่อนหมดคงนานมาก ถ้าไปก็ไม่สบายใจ รู้สึกโกหกตัวเองอย่างไรไม่รู้ กรอปกับช่วงปีที่ผ่านมากิจการของบริษัทผมพอมีกำไรจึงได้เงินโบนัสเพียงพอ ถ้ารอไปถึงตอนนั้นอาจไม่มีเป็นก้อนเหมือนตอนนี้ครับ จะต้องบอกเจ้าหนี้อย่างไร และภาคผลบุญที่เราตั้งใจนั้นจะถูกต้องตามหลักของศาสนาหรือเปล่าครับ ไม่อยากเลี่ยงๆเพื่อให้ได้ไปครับ

    2. ผมแต่งงานแล้วมีลูกชาย 1 คน อายุตอนนี้ 5 ขวบ ถ้าผมรอไปพร้อมกันทั้งครอบครัว ลูกชายต้องอายุเท่าไรถึงจะได้ฮัจย์ครับ(จำเป็นบนตัวเขา หรือใช้ได้ครับ) คือจะได้ตั้งมั่นเก็บเงินและขอต่อพระองค์ครับ โดยมีเงื่อนไขด้านบนเป็นปัจจัยด้วยครับ
   
   3. อาจารย์ครับ มีข้อแนะนำเกี่ยวกับโรงเรียน นานาชาติ ที่สอนศาสนาบ้างไหมครับ หรือโรงเรียนทั่วไปก็ได้ครับ บอกหลักเกณในการเปรียบเทียบหรือปัจจัยสำคัญในการเลือกโรงเรียนเหล่านั้นครับ เนื่องจากอยากเลือกโรงเรียนให้ลูกครับในระดับประถม
  หรือเรียนตามโรงเรียนประจำชุมชนสุเหร่าแถวๆบ้านไปก่อนแล้วค่อยไปเน้นตอนโตครับ
 
ขอรบกวนอาจารย์เท่านี้ก่อนครับ    
และขอให้พระองค์ทรงประทานพรให้อาจารย์มีสุขภาพที่แข็งแรงเพื่อดำเนินการทางด้านศาสนาเพื่อเป็นประโยชน์แก่พวกเราทุกๆคน

ถามโดย - IMRAN BIN MUHAMMAD « เมื่อ: พฤศจิกายน 14, 2008, 03:06:06 pm »
หัวข้อ: อยากไปทำฮัจย์แต่ไม่สบายใจ
เริ่มหัวข้อโดย: อาลี เสือสมิง ที่ กันยายน 27, 2010, 07:18:09 am
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد...؛

กรณีการไปทำฮัจญ์ของผู้มีหนี้สินนั้น  สามารถไปกระทำฮัจญ์ได้โดยมีเงื่อนไขดังนี้
1. ให้ทำบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร  (พินัยกรรมหรือคำสั่งเสีย-วะซียะฮฺ)  เอาไว้ถึงส่วนที่เป็นภาระหนี้สินนั้นว่ามีอะไรบ้าง  โดยให้มีพยานรับรู้ในการทำบันทึกนั้น

2. ให้มอบหมาย  (เตากีล)  ผู้ทำหน้าที่แทนในการชำระหนี้สินนั้นโดยเฉพาะหนี้สินที่จำต้องชำระในขณะนั้น  ถือว่าการมอบหมายดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็น  (วาญิบ)  และถือเป็นเรื่องที่ส่งเสริมให้กระทำ  (มันดูบ)  ในกรณีของหนี้สินที่ผ่อนชำระตามกำหนดเวลา


3. ให้บอกกล่าวและขออนุญาตผู้เป็นเจ้าหนี้ในการเดินทางไปทำฮัจญ์  ซึ่งในกรณีของผู้ถาม  คือ  คุณแม่และพี่น้องซึ่งไม่น่าจะมีปัญหา  หากผู้เป็นเจ้าหนี้อนุญาต  ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดเมื่อกระทำเงื่อนไข  2  ประการแรกที่กล่าวมา  แต่ถ้าไม่อนุญาตก็ถือว่าเป็นที่ต้องห้ามในการเดินทาง  แต่การประกอบพีธีฮัจญ์นั้นถือว่าใช้ได้  ถ้ากระทำครบถ้วนตามหลักพิธีกรรมที่กำหนดไว้  เพียงแต่การเดินทางในกรณีนี้เป็นสิ่งที่มีโทษ  นักวิชาการระบุว่า  หากผู้ที่จะไปประกอบพิธีฮัจญ์มีภาระหนี้สินที่จำต้องชำระในขณะปัจจุบันโดยผู้นั้นมีความสามารถจะชำระหนี้สินได้  ผู้เป็นเจ้าหนี้มีสิทธิห้ามไม่ให้ผู้นั้นออกเดินทางและกักเขาเอาไว้ได้  และถ้าหากผู้นั้นเป็นผู้ขัดสน  ผู้เป็นเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิร้องขอผู้นั้น  (เพราะจำเป็นที่เจ้าหนี้ต้องประวิงเวลาหรือผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้)  และผู้นั้น  (ลูกหนี้)  มีสิทธิเดินทางโดยไม่ต้องคำนึงถึงความพอใจของเจ้าหนี้ได้  และทำนองเดียวกันถ้าหากหนี้สินเป็นประเภทผ่อนชำระ  (مُؤَجَّلٌ)  ลูกหนี้ก็มีสิทธิเดินทางได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความพอใจของเจ้าหนี้ได้  แต่ส่งเสริมให้ลูกหนี้อย่าเดินทางจนกว่าจะมอบหมายผู้ทำหน้าที่  (ว่ากีล)  ในการชำระหนี้แทนตนเสียก่อนเมื่อครบกำหนดการชำระหนี้  (กิตาบ  อัลอีฎอฮฺ  ฟี  มะนาซิก  อัลฮัจญ์  วัลอุมเราะฮฺ  ; อิหม่ามอันนะวาวีย์  , มักตะบะฮฺ  อัลอิมดาดียะฮฺ  มักกะฮฺ  (1996)  หน้า  49-50)


สรุปก็คือ  กรณีหนี้สินของคุณ Imran  เป็นหนี้สินประเภทผ่อนชำระ  (دَيْنٌ مُؤَجَّل)  ซึ่งกินระยะเวลาถึง  15  ปี  คุณจึงเป็นลูกหนี้ประเภทที่มีข้ออนุโลมมากกว่าลูกหนี้ประเภทอื่น  ดังนั้นถ้าคุณพร้อมสำหรับเงื่อนไขในการประกอบพิธีฮัจญ์ก็สามารถเดินทางได้ครับ  กอรปกับเจ้าหนี้คือคุณแม่และพี่ ๆ น้อง ๆ ของคุณเองก็ย่อมสามารถขออนุญาตบุคคลเหล่านี้  ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ไม่น่าจะมีปัญหา  แต่ที่ดีก็ให้คุณกระทำตามเงื่อนไขที่กล่าวมาข้างต้นด้วย  หรือให้กำหนดวงเงินที่จำต้องชำระตามรายเดือนเอาไว้ในช่วงของการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์โดยชำระล่วงหน้าก่อน 1 ถึง 2 เดือน  หรือมอบให้แก่ผู้ทำหน้าที่เพื่อชำระแทนก็จะเป็นการดี  ทำอย่างนี้ก็จะไม่มีปัญหาและคุณก็จะได้สบายใจ  เจ้าหนี้ก็ไม่ต้องกังวล  เมื่อถึงกำหนดการชำระหนี้รายเดือน  อนึ่งการประกอบพิธีฮัจญ์ของผู้มีหนี้สินไม่ว่าจะเป็นหนี้สินที่จำต้องชำระในทันทีหรือผ่อนชำระนั้นไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่วาญิบต้องกระทำ  เนื่องจากขาดเงื่อนไขเกี่ยวกับความสามารถ (اسْتِطَاعَة)  ซึ่งประเด็นหนึ่งจากรายละเอียดของเงื่อนไขข้อนี้ก็คือ  ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเสบียงในการเดินทางนั้นต้องเหลือจากการชำระหนี้ที่เป็นภาระต้องจ่ายไม่ว่าจะเป็นหนี้ที่จำต้องจ่ายในทันทีหรือผ่อนชำระก็ตาม  (อ้างแล้ว  หน้า  96-97)  กระนั้นถึงแม้ว่าการประกอบพิธีฮัจญ์ในกรณีนี้ยังไม่ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น  (วาญิบ)  เพราะประวิงเวลา  (اَلتَّرَاخِىْ)  ได้  แต่ถ้าผู้นั้น(ผู้มีหนี้สิน)จะประกอบพิธีฮัจญ์ก็ย่อมทำได้  และถือว่าใช้ได้  (เซาะฮฺ)  เมื่อกระทำครบถ้วนตามหลักพิธีกรรมที่ศาสนบัญญัติกำหนดและถือว่าได้ฮัจญ์ที่จำเป็น 1 ครั้งในชีวิต  (حَجَّةُ الإِسْلاَم)  อีกด้วย  (หมายความว่าพ้นฟัรฎูในข้อนี้แล้วนั่นเอง)


ส่วนกรณีการทำฮัจญ์ของเด็กนั้น  ถ้าเด็กผู้นั้นยังไม่บรรลุศาสนภาวะและขาดคุณสมบัติตามเงื่อนไขของผู้ที่จำเป็นต้องประกอบพิธีฮัจญ์  การประกอบพิธีฮัจญ์ก็ไม่วาญิบสำหรับเด็กผู้นั้น  และการประกอบพิธีฮัจญ์ตามขั้นตอนต่าง ๆ โดยตรง (مُبَاشَرَه)  (คือเด็กที่ทำด้วยตัวเอง) ของเด็กที่ยังไม่รู้เดียงสา  (มุมัยยิซฺ)  ถือว่าใช้ไม่ได้  แต่ถ้าเป็นเด็กที่รู้เดียงสาแล้ว  ถือว่าใช้ได้  (อ้างแล้ว หน้า 95)

แต่ถ้าผู้ปกครอง (วะลีย์)  ของเด็กทำการเหนียตและครองเอียะฮฺรอมให้แก่เด็กก็ถือว่าใช้ได้  ส่วนบางขั้นตอนที่เด็กไม่สามารถกระทำได้  (เช่นการขว้างเสาหิน)  ก็ให้ผู้ปกครองทำแทนแก่เด็กนั้น  และจำเป็นที่ผู้ปกครองต้องห้ามเด็กจากการกระทำสิ่งต้องห้ามในขณะครองอิฮฺรอม  กล่าวโดยสรุป  ตามมัซฮับอัชชาฟิอีย์ถือว่าการทำฮัจญ์ของเด็กนั้นใช้ได้  แต่ไม่จำเป็นเหนือเด็กนั้น  และไม่ถือว่าเด็กนั้นได้ฮัจญ์ฟัรฎู  (ฮัจญะตุ้ลอิสลาม)  ที่จำเป็น  1  ครั้งในชั่วชีวิต  กล่าวคือ  ไม่พ้นฟัรฎูเมื่อเขาบรรุลุศาสนภาวะและมีเงื่อนไขครบตามคุณสมบัติที่ศาสนากำหนดไว้  และผลบุญนั้นเกิดกับเด็กและผู้ปกครองของเด็ก  ส่วนข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเด็กไม่มีการจดบันทึกแต่อย่างใด  (เก็บความจากอัลมัจญ์มูอฺ  ชัรฮุ้ลมุฮัซซับ  เล่มที่ 7  หน้า  37,38,39)  เอาเป็นว่าคุณ Imran  รอให้ลูกชายบรรลุศาสนภาวะ  (คือฝันเปียกหรือมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์)  เสียก่อน  ค่อยพาครอบครัวไปทำพร้อมกันเลยเสียทีเดียว  ลูกชายก็จะได้ฮัจญ์ฟัรฎูด้วย  ซึ่งเด็กสมัยนี้บรรลุศาสนภาวะเร็วครับ  อาจไม่ถึง  15  ปีด้วยซ้ำไป  ความจริงผมตอบเพียงตรงนี้อย่างเดียวก็คงได้ แต่ที่ตอบเสียยืดยาวเพื่อเป็นวิทยาทานนะครับ


ส่วนเรื่องโรงเรียนนานาชาติที่สอนศาสนานั้นหายากครับ  ที่มีโดยส่วนใหญ่ก็จะเน้นสามัญเสียมาก  ที่เคยทราบก็มีโรงเรียนนานาชาติอัรรอยฮาน , ร.ร.อิกเราะฮฺสามัญศึกษา  อยู่แถว ๆ กรุงเทพกรีฑา  เป็นร.ร.ระดับประถมและมีมัธยมต้นด้วย  ก็ลองสอบถามดูเอา  แต่ถ้าจะเลือกระดับประถมที่เป็นเอกชนและเป็นร.ร.มุสลิมก็พอหาได้  เขามีอิสลามศึกษาสอนด้วย  ที่บางกอกศึกษาหรือสันติชนก็มี  แต่ทีนี้ผมไม่ทราบว่าคุณ Imran อยู่ละแวกไหน  จึงไม่มีข้อมูลที่จะแนะนำให้  เอาเป็นว่า  คุณลองให้ข้อมูลที่อยู่ของคุณมาใหม่จะได้แนะนำให้ถูกงัยละครับ

والله ولي التوفيق