สงสัย (ความคลาดเคลื่อนพระนามของอัลลอฮ ซุบฮานาฮุวาตะอาลา)  (อ่าน 3800 ครั้ง)

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ข้อความต่อไปนี้ผมได้จากFWmailครับ.......

พี่น้องรู้ไหม ว่าพระนามต่างๆที่เราคุ้นเคยกัน ท่องๆกันตั้งแต่ครั้นที่เราเรียนฟัรฎูอีน หรือที่เรารับฟังอยู่ตามสื่อต่างๆที่เป็นในรูปแบบของอนาชีด ณ ตอนนี้นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นพระนามที่มีจำนวน ที่ไม่ถูกต้องตายตัวนัก และบางพระนาม หาได้เป็นพระนามของอัลลอฮซุบฮานาฮุวาตะอาลาแต่อย่างใดไม่  หากเรานำหลักเกณฑ์ในการพิจารณาตรวจสอบว่า ในแต่ละพระนามนั้น ตามอัลกุรอานและหะดิษแล้วนั้น บรรดาสลัฟหรือนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านอัลกุรอานและหะดิษเค้ารับรองไว้ไหม ว่า พระนามที่ถูกอ่านขึ้นกับเราในทุกวันนี้นั้น เป็นพระนามของอัลลอฮซุบฮานาฮุวาตะอาลา โดยแท้จริง หรือเป็นเพียงนามหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่พระนามของอัลลอฮ ซุบฮานาฮุวา ตะอาลาแต่อย่างใดครับ..หรือเป็นเพียงการผันของหลักทางภาษาครับ...พี่น้อง


           คงจะงง และคงจะสับสนกันแล้วใช่ไหม  เป็นไปได้หรือ ว่าชื่อที่ถูกระบุไว้ อันเรียกว่า เป็นพระนามของอัลลอฮ ซุบฮานาฮุวาตะอาลา ที่เราคุ้นๆหูอยู่ทุกวันนี้นั้น มีความคลาดเคลื้อนอยู่ครับ...

............................................................
ความจริงเป็นอย่างไรกันครับช่วยอะบายหน่อยครับ

ถามโดย - วัยรุ่น  « เมื่อ: มิถุนายน 26, 2009, 03:46:47 pm »

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد...؛

ท่านร่อซู้ล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ได้บอกให้เราทราบว่า  แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  ทรงมีพระนาม  99  พระนามที่ผู้ใดเรียนรู้ถึงความหมายของแต่ละพระนามแล้วดำรงไว้ซึ่งสิทธิของ แต่ละพระนามตลอดจนปฏิบัติตามข้อชี้ขาดของแต่ละพระนามนั้น  ผู้นั้นจะได้เข้าสู่สวนสวรรค์ของพระองค์  (มุคตะซ๊อร  มะอาริญิล  ก่อบู้ล,  ชัยค์  ฮาฟิซ  อะฮฺหมัด  อาลฮุกมีย์  หน้า  36)

มีรายงานใน ซ่อฮีฮฺ  อัลบุคอรีย์  และมุสลิมจากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ  (ร.ฎ.)  ว่าท่านร่อซู้ล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  กล่าวว่า  :

(إنَّ للهِ تِسْعَةً وَتِسْعِيْنَ اسْمًامَنْ احصاهادَخَلَ الْجَنَّةَ   الحديث)

“แท้จริงสำหรับพระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  มี  99  พระนาม  ผู้ใดนับเนื่องมันได้  ผู้นั้นเข้าสู่สวรรค์”


หะ ดีษบทนี้บ่งชี้ว่าสำหรับพระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  มีจำนวนแน่นอนจากพระนามของพระองค์โดยระบุว่ามี  99  พระนาม  แต่ปัญหาอยู่ตรงที่มีรายงานของท่านอิบนุ  มัสอู๊ด  (ร.ฎ.)  จากท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ว่า  :  (ส่วนหนึ่งจากตัวบท)

(أسْألكَ بِكُلِّ اسْمٍ هُوَلَكَ ٬ سَمَّيْتَ بِه نَفْسَكَ ٬ أوأنزلته
فى كتابك ٬ أوَعلمتَه أحدًامن خلقِكَ أواسْتأثرتَ به فى علم الغيبِ عِنْدَكَ ... الحديث)

“ฉันขอวิงวอนต่อพระองค์ท่านด้วยพระนามทั้งหมดของพระองค์ท่าน  ที่พระองค์ทรงเรียกขานนามนั้นแก่พระองค์เอง  หรือพระนามที่พระองค์ทรงประทานลงมาในคัมภีร์ของพระองค์  หรือพระนามที่พระองค์ทรงสอนพระนามนั้นแก่ผู้หนึ่งจากสรรพสิ่งถูกสร้างของ พระองค์  หรือพระนามที่พระองค์ทรงสงวนเอาไว้ในความรู้อันเร้นลับ  ณ  พระองค์ท่าน...”


หะดีษบทนี้บ่งชี้ว่า  ส่วนหนึ่งจากบรรดาพระนามของพระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  คือพระนามที่พระองค์มิได้ทรงประทานลงมาในคัมภีร์ของพระองค์  หากแต่ว่าพระองค์ทรงให้บ่าวของพระองค์บางส่วนได้รู้เป็นการเฉพาะ  หรือพระองค์ทรงสงวนสิทธิเอาไว้  โดยมิให้ผู้ใดได้รู้ถึงพระนามนั้น  ในขณะที่หะดีษของอบูฮุรอยเราะฮฺ  (ร.ฎ.)  บ่งชี้ว่าพระนามของพระองค์ทั้ง  99  พระนามทั้งหมดถูกประทานลงมาและเป็นที่รู้กัน  โดยมีข้อความที่ว่า  “ผู้ใดนับเนื่องมันได้” เป็นสิ่งบ่งชี้


ดังนั้นสิ่งที่ควรจะเป็นก็คือ  จำนวนของพระนามที่พระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  ทรงบอกให้เราได้รู้ในคัมภีร์หรือที่ร่อซู้ล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ระบุเอาไว้มี  99  พระนาม  ไม่เกินจากจำนวนนี้ตามการระบุเป็นตัวบทของท่านร่อซู้ล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ส่วนที่เกินจากจำนวน  99  พระนามนี้เป็นสิ่งที่เราไม่รู้  เพราะเป็นความเร้นลับที่พระองค์ทรงสงวนเอาไว้  หรือทรงให้บ่าวของพระองค์รู้เป็นกรณีพิเศษ


พระนามที่พระองค์ทรง ประทานเอาไว้ในคัมภีร์และเราสามารถรู้ได้ตลอดจนนับเนื่องได้นั้นมี  99  พระนาม  กระนั้นก็ไม่มีหะดีษที่ซ่อฮีฮฺให้รายละเอียดของพระนามทั้ง  99  พระนามเอาไว้อย่างชัดเจนเด็ดขาดว่ามีพระนามอะไรบ้าง  จะมีก็เป็นหะดีษที่อ่อนระบุรายละเอียดของพระนามทั้ง  99  พระนามเอาไว้  (ดูฎ่ออีฟ  อัลญามิอฺ  อัซซ่อฆีร  1943,1944 / พิมพ์ครั้งที่  2  อัลมักตับ  อัลอิสลามีย์)


พระนามส่วนใหญ่มีรายงานกระจัดกระจาย กันไปในคัมภีร์อัลกุรอ่าน  และในซุนนะฮฺของท่านร่อซู้ล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  อายะฮฺหนึ่งอาจจะระบุพระนามเอาไว้  หนึ่งหรือสองหรือมากกว่า  หรืออายะฮฺหนึ่งอาจลงท้ายด้วยพระนามหนึ่งหรือมากกว่า  ในขณะที่หลายอายะฮฺระบุพระนามเอาไว้เป็นกลุ่มก็มี  ดังเช่น  ในบทอัลฮัชฺร์  อายะฮฺที่  22-24  เป็นต้น


นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความสนใจใน การรวบรวมพระนามของพระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  เอาไว้  ทั้งจากคัมภีร์อัลกุรอ่านและซุนนะฮฺ  ตลอดจนทำการอรรถาธิบายพระนามเหล่านั้นอีกด้วย  เช่น  ท่านอิหม่ามอัลกุรฏุบีย์,  อิบนุญะรีร  อัฏฏอบรี่ย์  อบูบักร  อิบนุ  อัลอะรอบีย์  และอิบนุ  ฮะญัร  อัลอัสก่อลานีย์  เป็นต้น  ซึ่งบรรดานักวิชาการเหล่านี้เห็นพ้องกันในการนับจำนวนของพระนามจำนวนมาก  และมีความเห็นต่างกันในส่วนน้อย  ซึ่งบางคนอาจจะนับว่าพระนามนั้นเป็นหนึ่งจากพระนามของพระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  ในขณะที่บางส่วนอาจจะโต้แย้งไม่เห็นด้วย  (ตัลคีซฺ  อัลหะบีร  4/172)


สาเหตุที่มีความเห็นต่างกันเป็นเพราะว่านักวิชาการบาง ท่านเข้าใจว่าทุกสิ่งที่อัลกุรอ่านเรียกขานพระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  ก็ย่อมอนุญาตให้นับเป็นนามหนึ่งของพระองค์ได้ เช่น  ท่านอบูบักร  อิบนุ  อัลอะรอบีย์  (ร.ฮ.)  นับคำว่า  :  رَابِعُ ثلاثة  และ  سادِسُ خَمسَة  ว่าเป็นส่วนหนึ่งจากพระนามของพระองค์  โดยเอามาจากอายะฮฺที่  7  จากบทอัลมุญาดะละฮฺ  ซึ่งจริง  ๆ  แล้วมิใช่พระนามของพระองค์แต่อย่างใด  (อัลอะกีดะฮฺ  ฟิลลาฮฺ  ;  ดร.อุมัร  สุลัยมาน  อัลอัชก๊อร  หน้า  186-187)


นอกจาก นี้ยังมีคำในรูปของกริยาต่าง ๆ (الأفعال)  ที่พระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  ทรงเรียกพระองค์เองในเชิงการตอบแทนหรือการตอบโต้แบบหนามยอกเอาหนามบ่ง  เช่น  (إن المنافقين يخادعون الله وهوخادعهم)  (ويمكرون ويمكرالله)  (الله يستهزئ بهم)


ดังนั้นจะไม่มีการเรียกหรือให้พระนามแก่พระองค์ว่า  مستهزئ ٬ ماكر ٬ مخادع  โดยไม่มีสิ่งจำกัด  (الإطلاق)  และส่วนหนึ่งจากพระนามของพระองค์ก็คือพระนามที่จะไม่ถูกเรียกนอกจากต้องมีคำ ที่ตรงกันข้ามกันควบคู่กันมา  เพราะถ้าเรียกนามนั้นเพียงลำพังอาจก่อให้เกิดความบกพร่องได้  เช่น  المانع  ต้องเรียกคู่กับนามว่า  الضار , المعطى   ต้องเรียกคู่กับนามว่า  النافع  เป็นต้น



และดูเหมือนว่า  ท่านอิบนุฮะญัร  อัลอัสกอลานีย์  (ร.ฮ.)  จะมีความใกล้เคียงกับความถูกต้อง  ในการนับพระนามทั้ง  99  พระนามโดยนำเอามาจากอัลกุรอ่าน  (อัลอะกีดะฮฺ  ฟิลลาฮฺ  ;  อ้างแล้ว  หน้า  191-192  /  มะอาญิรุ้ลก่อบู้ล  หน้า  32)  ซึ่งการนับจำนวนของพระนามทั้ง  99  พระนามของท่านอิบนุฮะญัร  (ร.ฮ.)  เป็นการอิจฺญ์ติฮาดของท่าน  ซึ่งมิใช่สิ่งที่เด็ดขาดแต่ก็มีความใกล้เคียง  เหตุที่ว่าไม่เด็ดขาดก็เพราะว่า  ในขณะที่ท่านอิบนุฮะญัร  (ร.ฮ.)  นับคำว่า  (ذوالقوة المتين)  เป็นพระนามหนึ่งจาก  99  พระนาม ท่านก็มิได้นับคำว่า  (ذوالرحمة) เข้ามาด้วยทั้ง ๆ ที่คำ ๆ นี้ก็มีระบุในอัลกุรอ่านเช่นเดียวกัน  (อัลกะฮฺฟิ  อายะฮฺที่  58)



ดังนั้นถ้อยความที่ระบุมาในคำถามที่ว่า  :  “ล้วนแล้วแต่เป็นพระนามที่มีจำนวนที่ไม่ถูกต้องตายตัวนัก  และบางพระนาม  หาได้เป็นพระนามของอัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  แต่อย่างใดไม่”  ก็มีส่วนถูก  แต่ก็ยังมีนัยที่ก่อให้เกิดความสับสนได้ในระดับหนึ่ง  กล่าวคือ  การใช้สำนวนว่า  “ล้วนแล้วแต่”  แสดงว่าทั้งหมดใช่หรือไม่?  ทั้ง ๆ  พระนามส่วนใหญ่ที่ระบุในหนังสือฟัรฎูอีนนั้นเป็นพระนามของพระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  จริง ๆ มิใช่เป็นคำที่ถูกผัน  (تصريف)  ตามหลักภาษาแต่อย่างใด  (ดูแบบเรียนศาสนาประถมศึกษา  สำหรับชั้นปีที่  4  วิชาเตาฮีด  ฟิกฮฺ  สมาคมคุรุสัมพันธ์  2525,  หน้า  4-10)


คำว่า  “บางพระนาม  หาได้เป็น...” ก็ควรจะระบุมาให้ชัดเจนว่าคำไหน  เพราะอะไร?  และพระนามที่บรรดาสะลัฟหรือนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านอัลกุรอ่านและหะดีษ รับรองเอาไว้  นั้นมีพระนามอะไรบ้าง  ก็น่าจะระบุมาด้วยจะได้ชัดเจน  การนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับหลักศรัทธาควรจะต้องมีการอธิบายที่ ชัดเจน  และมุ่งในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง  ในกรณีที่อาจจะมีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นในการรับรู้เดิมของผู้คน  มิใช่นำเสนอแบบวัยรุ่นจำพวกแอ๊บแบ๊ว  เช่น  ใช้สำนวนว่า  คงจะงง  และคงจะสับสนกันแล้วใช่ใหม?  อย่างนี้เป็นต้น


والله أعلم بالصواب