การแสดงความเคารพ  (อ่าน 3458 ครั้ง)

นายก้อนดิน

  • บุคคลทั่วไป
การแสดงความเคารพ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 20, 2010, 09:41:26 pm »
salam  
ผมติดตามอ่านบทความของอาจารย์อยู่เนืองๆครับ อาจารย์เขียนเล่าเรื่องมุสลิมสยาม ประกอบกับเมื่อไม่กี่วันมานี้ผมได้ดูหนังสุริโยทัยอีกรอบ เลยมีความสงสัยว่า มุสลิมที่เป็นขุนนางในสมัยการปกครองแบบเทวราชา ที่เวลาเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวต้องก้มกราบตามโบราณราชประเพณี มีการบันทึกไว้บ้างไหมครับว่า ขุนนางมุสลิมทำความเคารพพระเจ้าอยู่หัวกันอย่างไร การวางตัวต่อเพื่อนขุนนางด้วยกันและพระเจ้าอยู่หัวในสมัยนั้น เขามีแนวคิดและวิธีการปฏิบัติกันอย่างไร รวมทั้งการยอมรับจากพระเจ้าอยู่หัวและเพื่อนขุนนางเป็นอย่างไร
ถามเพื่อเป็นเกร็ดความรู้น้อยๆนะครับ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : การแสดงความเคารพ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 04, 2011, 10:48:42 pm »
وعليكم السلام وحمة الله وبركاته
الحمد لله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد :-
 

สิ่งที่ถามมาก็น่าคิดอยู่ แต่เนื่องจากในขณะที่ตอบคำถามนี้ไม่มีตำราอ้างอิงเกี่ยวกับข้อมูลในส่วนนี้เพราะเป็นเรื่องของธรรมเนียมปฏิบัติในราชสำนักซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎมณเฑียรบาล และการออกว่าราชการของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งตำราที่เขียนเฉพาะเรื่องเช่นนี้ค่อนข้างหายาก


แต่เท่าที่พอจะแสดงความเห็นเอาไว้ ณ ที่นี้คือ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังบางแห่งที่เคยผ่านหูผ่านตา เป็นภาพเข้าเฝ้าของเหล่าข้าราชการในท้องพระโรง ขุนนางส่วนใหญ่จะหมอบอยู่ แต่มีภาพของคนโพกศีรษะ ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นขุนนางแขกนั่งในท่าปกติเพียงแต่มองเบื้องต่ำ ไม่ได้เงยหน้าขึ้นมองพระพักตร์ของพระเจ้าแผ่นดิน ลางที่อาจจะเป็นข้อยกเว้นพิเศษสำหรับขุนนางแขก ซึ่งในสมัยอดีตถือว่า เป็นต่างชาติต่างภาษาเป็นขุนนางฝ่ายชำนาญการจึงอนุโลมให้ว่าไม่ต้องกราบและก้มหมอบต่อหน้าพระพักตร์  


ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเหตุที่ว่า ขุนนางแขกเหล่านี้ มีส่วนสำคัญในการกำหนดรูปแบบและธรรมเนียมของราชสำนักแก่พระเจ้าแผ่นดินสยามด้วยส่วนหนึ่ง ดังเช่น ขุนนางแขกที่สังกัดกรมขันทีในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อย่างออกพระศรีมโนราช เจ้ากรมขันทีก็เป็นแขกเปอร์เซียมีชื่ออย่างแขกว่า อากา มุฮัมมัด บุคคลผู้นี้มีบทบาทสำคัญในการวางแบบระเบียบ และธรรมเนียมแก่ราชสำนักของอยุธยาซึ่งถือปฏิบัติกันสืบมาแม้ในชั้นหลัง การกราบจึงน่าจะเป็นข้อยกเว้น


ส่วนการถวายบังคมนั้น ก็คงจำต้องกระทำตามปกติ และดูเหมือนว่าราชสำนักของสยามก็รู้ธรรมเนียมปฏิบัติกับแขกต่างชาติต่างภาษาที่เข้ามาเป็นคณะทูตกับสยามเป็นอย่างดี ว่าอะไรที่พวกต่างชาติทำได้ อะไรทำไม่ได้ และผู้ที่ให้คำปรึกษาแก่พระเจ้าแผ่นดินเป็นอย่างดีในเรื่องนี้ก็คงไม่พ้นขุนนางแขก ทั้งในสังกัดกรมท่าขวา ซึ่งดูแลพวกต่างชาติที่มาจากตะวันตกทั้งแขกเปอร์เซีย อาหรับ มัวร์ มะหงุ่น และแขกเมืองฝรั่งทั้งหลาย ซึ่งมุสลิมรู้จักพวกนี้ดีมาแต่เดิม ตลอดจนขุนนางแขกในกรมขันทีก็เช่นกัน


สิ่งหนึ่งที่ยืนยันว่าพวกแขกต่างชาติได้รับข้อยกเว้นในเรื่องธรรมเนียมนี้ ก็มีปรากฏอยู่ในภาพวาดเขียนของคณะทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ในภาพพวกทูตฝรั่งเศสยืนอยู่เบื้องล่าง แล้วนำเอาพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสใส่พานมีขาจับยื่นทูลเกล้าถวายแก่สมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งเสด็จออก ณ สีหบัญชร ซึ่งนั่นก็เป็นธรรมเนียมตามแบบจักรพรรดิโมกุลของอินเดียนั่นเอง เอาเป็นว่าเรื่องนี้น่าสนใจ คงจะได้ศึกษาค้นคว้าต่อไปให้ชัดเจนว่ามีรายละเอียดเช่นใด


والله اعلم بالصواب