มัซฮับทั้ง 4 มีบทการสอนที่ผิดจากซุนนะห์และกีตาบุลลอฮ์หรือไม่  (อ่าน 11016 ครั้ง)

halim

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 38
salam  อ.อาลี ผมมีข้อสงสัยอยู่หลายอย่างเกี่ยวกับศาสนา
การสงสัยของผมไม่รู้จะเป็นเราะห์มัต หรือ บาลาหรือไม่
ตอนนี้ผมจะเอาน้ำละหมาดและละหมาดก็ไม่รู้ว่าจะเอาแบบไหน เรียนมาตอนสมัยเด็กๆก็เรียนจากกีตามมัจมูอ หรือมูศอลลี พอตอนนี้ได้ฟังรายการจากโทรทัศน์บ้าง วิทยุบ้าง ทำให้งง ก็ที่เสนอแบบซุนนะนาบีก็สอนตามแบบซุนนะนาบี ถ้าไม่ทำตามที่เค้าบอกก็แสดงว่าไม่ได้ตามซุนนะห์นาบี ถ้าตามกีตาบมีหลายแบบเค้าก็บอกว่าไม่มีใครผิดเพราะมีบันทึกไว้ในกีตาบหมด แต่ถ้าให้ถูกตามซุนนะห์มีอยู่แบบเดียว ก็เลยอยากจะรู้ว่าแล้วการเอาน้ำละหมาด การละหมาด แบบซุนนะนาบีและมีคนยอมรับมากที่สุดเป็นแบบไหน ถ้ามีภาพประกอบก็ดีเหมือนกันนะครับ แล้วใน
อีกเรื่องผมเคยได้ยินในไฟล์เสียงของท่านอาจารย์อาลีเกี่ยวกับการเสียละหมาดในเรื่องการสัมผัสกับเพศตรงข้าม ระหว่างซอฮาบะห์ทั้งสองท่าน อิบนุอุมาร์ กับ อิบนูอับบาส มีความเห็นแตกต่างกันเกิดหลักฐานอันเดียวกันหรือเปล่าครับ ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายหน่อยครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับ วัสลาม

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
وعليكم السلام ورحمة الله و بركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد...؛


ถ้าเป็นคำถามที่จั่วหัวข้อเรื่องก็ตอบได้ว่า \"มี\" เหตุที่ว่า \"มี\" นั้นก็เพราะว่าเราจำต้องแยกระหว่างเรื่องสองเรื่องออกจากกัน กล่าวคือ


กิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺที่มีรายงานมาอย่างถูกต้อง (السُّنَّةُ الصَّحِيْحَةُ) นั้นเป็นสัจธรรมและถือเป็นหลักมูลฐานของศาสนาที่สำคัญที่สุด  กิตาบุลลอฮฺคือพระดำรัสของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่บริสุทธิ์จากสิ่งโมฆะทั้งปวง ถูกรายงานมาแบบมุตะวาติรฺและเป็นอัล-วะหฺยู ที่ถูกอ่านและการอ่านถือเป็นอิบาดะฮฺ


ส่วนสุนนนะฮฺนั้นต้องถูกกำกับด้วยเงื่อนไขที่ว่า มีการรายงานมาจากสายรายงานที่เชื่อถือได้และถูกต้องตามกระบวนการพิจารณาในวิชาอัล-หะดีษ หากมีเงื่อนไขครบถ้วนสมบูรณ์นั้นคือสัจธรรม เป็นอัล-วะหฺยุที่ไม่ถูกอ่าน คือไม่เป็นอิบาดะฮฺด้วยการอ่านแต่เป็นหลักฐานอันดับสองของศาสนา นี่เรื่องหนึ่ง


การวิเคราะห์โดยใช้การทุ่มเทพลังทางสติปัญญาในการดึงหลักการของศาสนาออกมาจากกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺซึ่งเป็นที่มาของมัซฮับนั้น ข้อนี้เป็นเรื่องของมนุษย์ซึ่งมีผิด มีถูก มีใกล้เคียง มีห่างไกล เป็นธรรมดา  


ดังนั้นทัศนะความเห็นของนักวิชาการที่เกิดจากการวิเคราะห์ตัวบททั้ง 2 คือ กิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺนั้น ซึ่งเราเรียกว่า \"การอิจติฮาดฺ\" หรือ \"อิสติมบาฏ\"  ย่อมมีทั้งถูกต้อง และผิดพลาดได้เพราะมนุษย์อาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนได้เป็นธรรมดาจึงต้องแยกสารัตถะและสถานภาพระหว่างตัวบทของศาสนากับการวิเคราะห์ตัวบทของศาสนาออกจากกัน จึงได้คำตอบว่า ตัวบทไม่มีผิด แต่ที่ผิดคือคนที่พิจารณาตัวบทซึ่งเป็นมนุษย์ปุถุชน  หากเข้าใจตามนี้ก็จะไม่อาจหาญและไม่กล้าพูดแบบสโลแกนติดปากที่มีคนบางกลุ่มนิยมใช้กัน คือ \"ทุกสิ่งที่ตนเข้าใจ ทุกสิ่งที่ตนพูด ทุกสิ่งที่ตนปฏิบัติ และทุกสิ่งที่ตนชี้ขาดเป็นสัจธรรม เป็นความถูกต้อง เพราะตามกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ!\"


ทำไมจึงถือว่าคำพูดเช่นนี้เป็นการอาจหาญ? ก็เพราะกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺนั้นเป็นสัจธรรมแน่นอน เป็นสิ่งที่ถูกต้องไม่มีผิดอยู่แล้ว  แต่คนที่พูดเช่นนั้นอาจจะเข้าใจผิดก็ได้!  กี่มากน้อยมาแล้วที่คนไม่มีความรู้อย่างแท้จริงอ้างถึง 2 สิ่งนั้นเพื่อสนับสนุนความคิด ความเชื่อความเข้าใจของตน ทั้งๆ ที่เป็นการอ้างที่ผิดพลาดและไกลจากความถูกต้องแบบสุดกู่  พวกที่กระทำอุตริกรรมจำนวนมิใช่น้อยต่างก็อ้างกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺมาเป็นหลักฐานสนับสนุนความคิด ความเชื่อของตน  ทั้งๆ ที่เป็นการอ้างที่ผิดพลาดและไกลจากความถูกต้องแบบสุดกู่ พวกที่กระทำอุตริกรรมจำนวนมิใช่น้อยต่างก็อ้างกิตาบุลลอฮฺและสุนนฮฺมาเป็นหลักฐานสนับสนุนความคิด ความเชื่อ และการปฏิบัติของพวกตน  แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วกลายเป็นคนละเรื่องไปเลย เช่น พวกมัวอฺตะซิละฮฺก็อ้างอัล-กุรอานและอัล-หะดีษ พวกเคาะวาริจญ์ พวกเราะวาฟิฎ ก็อ้างเช่นกัน


ดังนั้นเราจะเห็นว่าบรรดาอิหม่ามเจ้าของมัซฮับทั้งสี่ท่านไม่มีผู้ใดเลยอาจหาญกล่าวอ้างว่าการวิเคราะห์ของพวกท่านถูกต้องทั้งหมด เป็นสัจธรรมที่ไร้ความผิดพลาด ทั้งๆ ที่ท่านเหล่านั้นเป็นพหูสูตรคือรอบรู้ศาสตร์ทุกแขนงที่เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ และเข้าถึงตัวบทจากกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ  ความถูกต้องความใกล้เคียงของพวกท่านย่อมมีเปอร์เซนต์มากกว่าคนรุ่นเราแบบชนิดไม่ติดฝุ่น  แต่พวกท่านก็รู้สถานะของตัวเองว่าเป็นมนุษย์ปุถุชน มิใช่มะอฺศูมที่ไร้ผิดพลาด  คนรุ่นเราเสียอีกที่อาจหาญกล้าพูดจนกลายเป็นคำเกร่อติดปากด้วยคำพูดทำนองนั้น


และที่หนักข้อเข้าไปอีกก็คือ สงวนลิขสิทธิ์การตามกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺเอาไว้เฉพาะหมู่ตนแต่ถ่ายเดียว  และกล่าวหาผู้ที่มีความเห็นต่างจากหมู่ตนว่า \"ไม่ตามกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ\" ซึ่งบอกได้โดยไม่อ้อมค้อมว่า คนที่ไม่ตามกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺคือไม่เอาอัลลอฮฺและรสูลนั้นมีพวกเดียวคือกาฟิร!  


ฉะนั้นการกล่าวหามุสลิมด้วยกันที่เห็นต่างกับพวกตนว่าไม่ตามกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺแบบเหมารวม-ยกเข่งนั้นก็คือการยัดเยียดข้อหากาฟิรให้แก่พี่น้องมุสลิมด้วยกันนั่นเอง!  เพราะเงื่อนไขของการเป็นมุสลิมอยู่ที่การยอมรับและปฏิบัติตามคำสั่งคำห้ามของอัลลอฮฺและรสูลซึ่งเป็นผลมาจากนัยของประโยคที่ว่า : لا اله الا الله محمد رسول الله นั่นเอง และคำสั่งคำห้ามนั้นก็ปรากฏอยู่ในกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺซึ่งเป็นหลักมูลฐานของศาสนา


กระนั้นความเห็นอันเกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่มีต่อกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺก็ย่อมเกิดขึ้นได้  ปัจจัยที่ทำให้เหล่าเศาะหาบะฮฺและบรรดาอะอิมมะฮฺในระดับมุจฺตะฮิดมีความเห็นต่างกันก็อาทิเช่น

1. ภาษาอาหรับที่เป็นภาษาของกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺมีลักษณะเฉพาะที่ส่งผลต่อการอธิบายและการทำความเข้าใจกับข้อชี้ขาดของตัวบท คำในภาษาอาหรับบางคำมีความหมายมากกว่าหนึ่งความหมาย การมีความหมายแท้ (มะอฺนา หะกีกียฺ) การมีความหมายในเชิงสำนวนโวหาร (มะญาซียฺ) เช่นคำว่า قَرْؤٌ  มีความหมายว่าการมีเลือดประจำเดือนก็ได้ หรือการเกลี้ยงและหมดประจำเดือนก็ได้   คำว่า لاَمَسَ  แปลว่าสัมผัสโดยทางผิวหนังระหว่าง 2 ฝ่ายก็ได้ หรือหมายถึงการมีเพศสัพันธ์ก็ได้ คำว่า نِكَاحٌ มีความหมายว่าการมีเพศสัมพันธ์ก็ได้หรือการทำข้อตกลงสมรสก็ได้ เป็นต้น


2. นัยของถ้อยคำที่ถูกใช้ในกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺตามหลักเดิม เช่น ทุกคำสั่งใช้เป็นวาญิบทั้งหมดหรือไม่ ทุกคำห้ามบ่งถึงหะรอมทั้งหมดใช่หรือไม่ เช่น คำสั่งใช้ใดที่มีมาภายหลังคำสั่งห้ามบ่งนัยว่าวาญิบหรืออนุญาต เป็นต้น


3. การรับรู้และการไปถึงของหลักฐาน  เนื่องจากอัล-หะดีษที่มีรายงานจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีมากมาย บรรดาผู้รายงานในรุ่นสะลัฟศอลิหฺก็มิได้กระจุกตัวอยู่ในหัวเมืองหนึ่งหัวเมืองใดเป็นการเฉพาะ  ภายหลังสมัยของท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร (ร.ฎ.) แต่ได้ย้ายถิ่นฐานไปพำนักในหัวเมืองต่างๆ เช่น ยะมัน อิรัก ชาม อิยิปต์ เป็นต้น


4. การยอมรับสถานภาพของหลักฐานที่มาถึงซึ่งมีความแตกต่างกันตามเงื่อนไขและความเคร่งครัดในการตรวจสอบหลักฐาน บางท่านยอมรับหะดีษมุรสัล บางท่านยอมรับในความน่าเชื่อถือของผู้รายงานของหลักฐานนั้นๆ  ในขณะที่บางท่านไม่ให้ความน่าเชื่อถือ เป็นต้น  ทั้งหมดที่ว่ามานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัจจัยที่ทำให้เกิดทัศนะและความเห็นที่มีต่อหลักฐานและตัวบทต่างกันและเป็นที่มาของการเกิดสำนักทางความคิดในเชิงนิติศาตร์ที่เรียกว่า \"มัซฮับ\" ซึ่งได้รับการถ่ายทอด จดบันทึก อรรถาธิบาย และวางกฏทางนิติศาสตร์โดยนักวิชาการผู้สันทัดกรณีสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้  


ดังนั้นผู้รู้ที่นำเสนอเรื่องราวทางนิติศาสตร์ทั้งในภาคอิบาดาตฺ และมุอามะลาต ในปัจจุบันนี้ต่างก็อาศัยแนวทางของบรรดานักวิชาการรุ่นก่อนในการวเคราะห์และเข้าถึงตัวบทจากกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺทั้งสิ้น  สิ่งที่พวกเขานำเสนอก็คือสิ่งที่พวกเขาร่ำเรียนมาทั้งจากครูผู้สอนและตำราอ้างอิงที่นักวิชาการแต่งและรวบรวมเอาไว้ทั้งสิ้น  อาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่พวกเขากล่าวว่าเป็นสุนนะฮฺนั้นมิได้เกิดจากความรู้ความเข้าใจอันเกิดจากการวิเคราะห์ด้วยกำลังสติปัญญา (อิจญฺ์ติฮาด) ของตนเองเพียวๆ แต่เกิดจากการอ่านตำราที่มีผู้รู้ซึ่งพวกเขามีความนิยมชมชอบและเห็นด้วยกับข้อเขียนอธิบายเอาไว้นั่นเอง  


เช่นชอบแนวทางของมุฮัมหมัด นะศิรุดดีน อัล-อัลบานียฺ (ร.ฮ.) ก็ติดตามงานเขียนของนักวิชาการผู้นี้ แล้วก็ตอบหรืออธิบายตามแนวทางและสิ่งที่นักวิชาการผู้นี้แต่งเอาไว้ในตำราผลงานของเขา  แล้วก็ยึดว่านั่นแหล่ะคือสุนนะฮฺ อื่นจากนี้ไม่ใช่ (คือ ทัศนะความเห็นที่ไม่สอดคล้องกับที่อัล-บานียฺว่าไว้) โดยฟันธงว่านั่นคือสุนนะฮฺที่แท้จริงและเป็นสุนนะฮฺอันเดียวเท่านั้น (ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงก็คือ สุนนะฮฺตามความเข้าใจและการวิเคราะห์ของอัล-บานียฺนั่นเอง)


ทั้งนี้ในความเป็นจริงนักวิชาการคนอื่นๆ อาจจะมองเป็นอีกอย่างก็ได้ อย่างกรณีของชัยคฺ บินบ๊าซฺ (ร.ฮ.) มีความเห็นว่าเมื่อเงิยศีรษะจากการก้มรู่กัวอฺขึ้นมายืนตรง (อิอฺติด้าล) ก็ให้เอามือกอดอกเหมือนเดิมและระบุว่านี้คือสุนนะฮฺ (คือเป็นสุนนะฮฺตามความเข้าใจของชัยคฺ บิน บ๊าซ)  แต่ชัยคฺ อัล-อัลบานีย์มีทัศนะว่าการกระทำเช่นนี้เป็นบิดอะฮฺคือไม่มีปรากฏในสุนนะฮฺ (ตามความเข้าใจของอัล-บานีย์อีกเช่นกัน) ผู้รู้ในบ้านเราที่เห็นด้วยกับคำอธิบายของชัยคฺบินบ๊าซ (ร.ฮ.) ก็ถือว่านั่นคือสุนนะฮฺ  ใครไม่ทำตามนี้ก็ถือว่าไม่ตามสุนนะฮฺนบีหรือไม่รู้สุนนะฮฺ (ทั้งๆ ที่ นั่นเป็นสุนนะฮฺตามความเข้าใจของชัยคฺ บิน บ๊าซฺ)


แต่ในขณะที่ผู้รู้ในบ้านเราพูดและตอบคำถามออกสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หรืออินเตอร์เน็ท ก็จะไม่อ้างว่านั่นเป็นสุนนะฮฺที่เกิดจากความเข้าใจของผู้รู้อย่างชัยคฺทั้งสองท่านนั้น  แต่จะกล่าวแบบเหมารวมว่า นั่นแหล่ะคือสุนนะฮฺของนบี คือสูตรของนบี อื่นจากนี้ไม่ใช่เป็นสุนนะฮฺ แต่เป็นทัศนะของนักวิชาการที่มีอยู่ในตำราซึ่งมีความเห็นต่างกัน  จึงตัดทิ้งเสียแล้วก็รวบรัดว่า เราไม่พูดถึงเรื่องทัศนะและความเห็น  แต่เราจะพูดและตอบตามกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺเท่านั้น (ซึ่งในความจริงก็คือตามทัศนะของนักวิชาการที่ตนเห็นชอบและอ่านตำราของพวกเขามาก่อนนั่นเอง)


ผมอาจจะไม่ได้ตอบคำถามเรื่องอาบน้ำละหมาดและความเห็นที่แตกต่างของเศาะหาบะฮฺทั้งสองท่านที่คุณถามมา  แต่ถ้าคุณเข้าใจในสิ่งข้างต้นที่ผมอธิบายมาคุณก็จะได้คำตอบไปโดยปริยายสำหรับคำถาม 2 ประเด็นนั้น  คุณ Halim คงจะสังเกตุได้ว่าทำไม่เว็บไซด์นี้ไม่ขึ้นข้อความตัวโตๆ หน้าเว็บว่า \"เว็บไซด์นี้เผยแผ่ตามกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ\" เหมือนอย่างบางเว็บไซด์หรือรายการวิทยุโทรทัศน์ประกาศอย่างนั้น  การไม่ประกาศข้อความเช่นนั้นมิได้หมายความว่าเว็บไซด์นี้เผยแผ่ตามแนวทางของอะหฺล้ลอะฮฺวาอฺวัลฺบิดะอฺ  แต่เพราะเว็บไซด์นี้เป็นเว็บที่ทำโดยมุสลิมซึ่งต้องปฏิบัติตามกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺอยู่แล้วโดยไม่ต้องโฆษณาชวนเชื่อ


อย่างไรก็ตามโดยข้อเท็จจริงคนทำเว็บนี้โดยเฉพาะตัวผมเป็นปุถุชนธรรมดา มิใช่มุจญฺ์ตะฮิดไม่ใช่พหูสูตร สิ่งที่เขียน ที่ตอบ ที่สอน และบรรยายอาจมีผิดพลาดและคลาดเคลื่อนได้เป็นธรรมดาสามัญ  เราจึงไม่กล้าและไม่อาจหาญที่จะประกาศว่าข้อมูลและสิ่งที่มีอยู่ในเว็บไซด์นี้คือสัจธรรม ดังเช่น กิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ เพราะเราเป็นเพียงมนุษย์ที่มีถูกและผิด และเราก็ไม่กล้าที่จะประกาศว่าเราตามกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺทุกกระเบียดนิ้วโดยสมบูรณ์ เพราะเรารู้ตัวและยอมรับถึงสถานภาพอันต่ำต้อยและบกพร่องของเรา  กิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺคือหลักชัยคือเป้าหมายสูงสุดที่ปลายทาง เราคือผู้เพียรผู้พยายามดำเนินไปให้ถึงหลักชัยนั้นเพียงเท่านั้น  ตราบใดที่เรายังดำเนินไปไม่ถึงตราบนั้นก็ย่อมมีระยะห่างปรากฏอยู่  ระยะห่างจากหลักชัยที่ปลายทางนั้นแลคือสิ่งที่เตือนสติเราอยู่เสมอว่าเราอยู่ ณ จุดใดเพราะเราจะไม่หลงตัวเองว่าเราเข้าถึงหลักชัยนั่นแล้วโดยสมบูรณ์  


ดังนั้นการกล่าวอ้างก็คือการกล่าวอ้าง! ใครจะอ้างว่าอย่างไรก็ได้ สำคัญอยู่ที่ว่าสิ่งที่ตนอ้างนั้นเป็นความจริงหรือไม่? และการตามกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺก็มิใช่เป็นเพียงแค่คำกล่าวอ้าง แต่เป็นหลักอะกีดะฮฺพื้นฐานของมุสลิมทุกคนที่ต้องดำเนินตามอยู่แล้ว และต้องสำแดงออกมาในการปฏิบัติของตน ส่วนว่าจะปฏิบัติได้ตรงหรือใกล้เคียงมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับการเตาฟีกของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และความมุ่งมั่นของผู้นั้น คนบางคนอาจจะยกยอตัวเองว่าเป็นคนดีประเสริฐเลิศศรี แต่ข้อเท็จจริงอาจมิใช่เช่นนั้นก็ได้ อย่างน้อยคนที่ดีจริง เขาก็ย่อมไม่ตัซฺกียะฮฺ (تزكية) ตัวเอง และการที่คนดีจริงๆ เขาไม่ตัซฺกียะฮฺตัวเองก็มิได้หมายความว่า เขาไม่ใช่คนดีตามสถานภาพความเป็นจริง เพียงแต่เขาไม่กล่าวอ้างเท่านั้นเอง  ดังนั้นคนที่กล่าวอ้างสิ่งหนึ่งให้กับตัวเองทั้งๆ ที่ตนไม่มีสิ่งนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่โกหกตัวเอง ซึ่งรู้ดีอยู่แก่ใจตน!


والله ولي التوفيق والهداية