อิสลามมีคำว่า \"แฟน\" หรือ \"ระบบแฟน\" หรือไม่?  (อ่าน 19247 ครั้ง)

as-satuly

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 9
อัสสลามุอะลัยกุม
ผมอยากทราบว่า ในศาสนาอิสลามอนุญาตให้มี \"แฟน\" และมี \"ระบบแฟน\" ได้หรือไม่? อย่างไร? เพราะในปัจจุบันนี้ ลูกหลานอิสลามของเราเองมีการใช้คำว่า \"แฟน\" กันอย่างแพร่หลายและเป็นที่นิยมกัน ดังนั้น ในฐานะอาจารย์เป็นคนลุยน้ำลุยไฟมาก่อน ก็อยากให้ช่วยชี้แจงประเด็นดังกล่าวด้วย (หากเป็นไปได้ อยากได้ที่มาที่ไปของหลักฐานด้วย ว่าได้หรือไม่ได้? อย่างไร?) หรือว่าหากไม่อนุญาต สมควรแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไรดี? (ตามมุมมองของการทำงานของอาจารย์)...วัสสลามุอะลัยกุ้ม

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : อิสลามมีคำว่า \"แฟน\" หรือ \"ระบบแฟน\" หรือไม่?
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 10, 2011, 07:04:29 pm »
وعليكم السلام ورحمة الله و بركاته

คำว่า \"แฟน\" เป็นคำที่เรียกเพี้ยนเสียงมาจากคำอังกฤษว่า Friend เฟรนด์ มีความหมายว่า เพื่อ มิตร สหาย คนที่สนับสนุน พรรคพวก หรือคนรัก โดยปริยายหมายถึงเพื่อนสนิทต่างเพศที่มีความสนิทสนมรักใคร่ชอบพอกันจะเป็นเพื่อนต่างเพศที่คบกันโดยยังไม่แต่งงานกันหรือแต่งงานกันแล้วก็ได้  เช่น แฟนฉันชื่อมานี เรียนอยู่ชั้น ป.3, นายมานะถามนายเพชรว่า \"แฟนนายไม่ได้มาด้วยเหรอ\" มานะตอบว่า : แฟนของฉันไม่ค่อยสบาย เพราะแพ้ท้องลูกคนที่สองจึงไม่ได้มาด้วย\" เป็นต้น


เทียบคำว่า \"แฟน\" ในภาษาอาหรับได้ว่า หมายถึง ศอหิบะฮฺ-ศอหิบ (صَاحِبَةٌ - صَاحِبٌ), เศาะดีก-เศาะดีเกาะฮฺ (صَدِيْق - صَدِيْقَة), หะบีบ-หะบีบะฮฺ (حَبِيْبٌ - حَبِيْبَةٌ) และเซฺาวญุน-เซาวฺญฺะฮฺ (زَوْجٌ - زَوْجَةٌ) เป็นต้น


การคบแฟนก็คือการคบเพื่อนเอาเป็นคนสนิทซึ่งต่างเพศก็ได้หรือเพศเดียวกันก็ได้ในความหมายของคำว่าเพื่อนหรือมิตรสหาย บรรดาเศาะหาบะฮฺ (صَحَابَةٌ) ก็คือมิตรสหายผู้ร่วมอยู่กับท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) บุคคลที่เป็นมิตรสหายของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ที่อัล-กุรอานระบุเอาไว้ก็คือ ท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมเดินทางอพยพไปกับท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)  (อัต-เตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 40) เหตุนี้นักวิชาการจึงระบุว่าผู้ใดปฏิเสธความเป็นเพื่อน (เศาะหาบะฮฺ) ของท่านอบูบักรที่มีต่อท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)  ผู้นั้นเป็นกาเฟร (วัลอิยาซุบิลลาฮฺ) เพราะผู้นั้นปฏิเสธอัล-กุรอาน! นั่นเอง  นบียูสุฟ (อ.ล.) ก็มีเพื่อนร่วมห้องขังสองคนซึ่งท่านก็เรียกบุคคลทั้งสองว่า “สหายร่วมคุกของฉันทั้งสอง” (يا صَاحِبَيِ السِّجْنِ) - ดู ยูสุฟ อายะฮฺที่ 44)  เพื่อนคนหนึ่งของนบียูสุฟ (อ.ล.) ที่พ้นคดีออกไปเป็นมหาดเล็กคอยถวายน้ำจัณฑ์ให้กษัตริย์อิยิปต์ก็เรียกนบียูสุฟ (อ.ล.) ว่า “ยูสุฟ สหายเอ๋ย” (ยูสุฟ : 46)


ในส่วนของแฟนที่มีความหมายว่าเพื่อนคู่ครองที่ร่วมชีวิตฉันท์สามีภรรยานั้นในคำสอนอิสลามมีระบุไว้อย่างมากมายโดยเฉพาะหลักการครองเรือน (أَحْكَامُ الأُسْرَةِ) แต่คำว่า “แฟน” ในความหมายเพื่อนต่างเพศที่รักใคร่ชอบพอกันฉันท์ชู้สาวนั้น  กรณีนี้เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่อัลลอฮฺทรงกำหนดวางเอาไว้ คือพระองค์ทรงสร้างชายและหญิงซึ่งต่างเพศกัน  ดังนั้นการที่ผู้ชายจะรักชอบพอกับผู้หญิงคนหนึ่งจึงเป็นเรื่องปกติ  ซึ่งความรักใคร่ที่เกิดขี้นมีปัจจัยหลายประการเช่น ความงามของรูปโฉม ความมีฐานะ และทรัพย์สิน ความมีชาติตระกูลดี และความเป็นกุลสตรีศรีศาสนา คือเป็นหญิงที่มีศาสนาและศีลธรรมอันดีงาม  


เมื่อเรื่องของการรักใคร่ชอบพอกันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ อิสลามก็กำหนดกรอบและวิถีทางในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงนี้ว่า การจะมีแฟนทั้งทีก็ให้เลือกดูคุณสมบัติและคุณลักษณะเป็นสำคัญ เช่น เป็นคนดีมีศาสนา หากเป็นหญิงก็ดูว่าเป็นหญิงที่ไม่มีความใกล้ชิดทางเชื้อสายจนถึงระดับต้องห้ามในการแต่งงานระหว่างกัน ซึ่งเรียกว่า มะหฺร็อม หลานชายแท้ๆ จะไปคบกับน้าสาวแท้ๆ เป็นแฟนก็คงไม่ได้ หรือมีความเป็นเครือญาติที่ใกล้ชิดแต่ไม่ห้ามแต่งงานระหว่างกันก็ไม่ควรเพราะจะทำให้สายโลหิตอ่อนแอ แต่ให้มองหญิงที่มิใช่ญาติใกล้ชิด ดูว่าเป็นโสดมั๊ย (ให้ดูใบหน้าซึ่งเป็นที่รวมของความงาม และมือซึ่งจะบ่งถึงเลือดลมและความเป็นแม่ศรีเรือน) เป็นต้น


เมื่อตกลงปลงใจแล้วก็สู่ขอและหมั้นหมายซึ่งเรียกว่า คิฏบะฮฺ (الخِطْبَةُ) หญิงที่ถูกสู่ขอหมั้นหมายก็เรียกว่า คู่มั่น (المَخْطوبَةُ) ซึ่งเป็นแฟนที่ฝ่ายชายหมายจะเอาเป็นคู่ชีวิตและภรรยา (زَوْجَة) ต่อไป อย่างไรก็ตามการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง ซึ่งจะเป็นเพียงแฟนที่ชอบกันหรือหมั้นหมายเอาไว้แล้ว ศาสนาก็วางกรอบเอาไว้เพื่อรักษาเกียรติของฝ่ายหญิงซึ่งยังถือเป็นหญิงอื่นที่มิใช่ภรรยาและเป็นการป้องกันฝ่ายชายซึ่งยังถือเป็นชายอื่นที่มิใช่สามีในการก้าวล่วงสิ่งต้องห้ามที่ศาสนาบัญญัติเอาไว้  เรียกว่ายังมีระยะห่างระหว่างบุคคลทั้งสอง ซึ่งเป็นคนต่างเพศที่ยังมีสถานะเป็นคนอื่นที่มิใช่สามีภรรยาการปกปิดเอาะราะฮฺยังต้องมีความเคร่งครัดระหว่างกัน


การมอง การพูดคุย ก็ยังต้องมีขอบเขตที่รัดกุม การอยู่ในที่ลับตาคนสองต่อสองหรือการที่ฝ่ายหญิงออกไปไหนมาไหนเพียงลำพังกับฝ่ายชายโดยไม่มีมะหฺร็อมไปด้วย ยังคงเป็นสิ่งต้องห้าม ดังนั้นเราะจะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่าศาสนาจะมองว่าการรักใคร่ชอบพอกันระหว่างหญิงชายเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ปุถุชน กระนั้นความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายที่เป็นเพียงแฟนในความหมายว่าคนรักหรือแฟนในความหมายว่าคู่หมั้นก็เป็นสิ่งที่ศาสนากำหนดขอบเขตและระยะห่างของบุคคลทั้งสองเอาไว้ไม่ต่างกับความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างเพศทั่วไป


คนที่เป็นแฟนหรือคู่หมั้นอาจจะไปมาหาสู่และทำความรู้จักนิสัยใจคอระหว่างกันได้ แต่ต้องมีขอบเขตและระยะห่างตามที่ศาสนากำหนดไว้ ส่วนปรากฏกรณีที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าคนที่เป็นแฟนกันได้ก้าวล่วงขอบเขตและไม่คำนึงถึงระยะห่างที่ศาสนากำหนดเอาไว้ บางรายเป็นแฟนกันแล้วก็อยู่ด้วยกันฉันท์สามีภรรยาแบบทดลองโดยไม่มีการแต่งงาน บางคนมีภรรยาแล้วแต่ก็ยังมีหญิงอื่นเป็นแฟนเรียกว่า กิ๊ก! ซึ่งบางทีนี้มากกว่าหนึ่ง


บางรายคบเพื่อนชายมากรายแล้วก็เปลืองตัว ในขณะที่บางรายก็เปลี่ยนแฟนที่มิใช่เพียงแค่เพื่อนสนิทแต่เป็นคู่นอน เปลี่ยนได้บ่อยเหมือนเปลี่ยนเสื้อผ้าก็ไม่ปาน  การคบแฟนในลักษณะที่ว่ามานี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักการของศาสนา เพราะในท้ายที่สุดก็จะลงเอยด้วยการชิงสุกก่อนห่าม เสียตัว เสียเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นลูกผู้หญิง บางรายตกล่องปล่องชิ้นกันหลังจากคบกันประเดี๋ยวประด๋าว ผู้ชายได้สนุก แต่ฝ่ายหญิงที่เผลอตัวเผลอใจไปกับได้แต่ความทุกข์และน้ำตาเช็ดหัวเข่า!


การคบแฟนแบบตามแฟชั่นนิยมที่ไร้หลักการของศาสนาเป็นตัวควบคุม จึงกลายเป็นต้นเหตุของปัญหาสังคมในทุกวันนี้ จึงขอทิ้งท้ายเอาไว้ว่าการเป็นแฟนระหว่างมุสลิมกับมุสลิมะฮฺ ต้องเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่บนหลักการสำคัญดังต่อไปนี้

1-     اَلْوُدُّอัล-วุดดุ  มีความรักใคร่และยินดีที่ประกอบด้วย วิกอยะฮฺ คือการเกราะป้องกันด้วยหลักคำสอนของศาสนา และ دِلَالَةٌ على الخَيْرِ    ดิลาละฮฺ อะลัล คอยริ คือ การชี้นำสู่ความดีมิใช่ชักจูงสู่สิ่งผิด และ دَعْوَةٌ ดะอฺวะฮฺ หมายถึงวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺให้ทรงปกป้อง


2-    اَلْحُبُّ อัล-หุบบุ้ มีความรักและความปรารถนาดี ซึ่งประกอบด้วย اَلْحِجَى   อัล-หิญา คือปัญญารู้คิด และ اَلْبَذْلُ   อัล-บัซลุ้ หมายถึงการเสียสละตลอดจน اَلْبِرُّ อัล-บิรฺรุ้ คือความดีงามไม่สร้างความเสื่อมเสียให้แก่อีกผ่าย


3-     اَلْصَّدَاقَةُอัศ-เศาะดาเกาะฮฺ คือความเป็นมิตรเป็นเพื่อนที่จริงใจอันประกอบด้วย الصِّدْقُ    คือซื่อสัตย์ต่อตัวเอง และต่ออีกฝ่าย และالدَّعْمُ  อัด-ดะอฺมุ้ หมายถึง ค้ำจุนและสนับสนุนซึ่งกันและกัน และالقُوَّةُ  อัล-กูวะฮฺ คือ พลัง อันหมายถึงรู้จักใช้ความรักที่มีให้ต่อกันเป็นพลังขับเคลื่อนสู่การสร้างสรรค์และกำลังใจที่เข้มแข็ง หากขาดหลักข้อหนึ่งข้อใดไป การมีแฟนก็จะกลายเป็นสิ่งที่ชักนำไปสู่ความเสื่อมเสียและความผิดได้ทุกขณะเลยทีเดียวเชียวแหล่ะ คุณอัส-สตูลีย์ !

والله ولي التوفيق والهداية