ไ่ม่มีน้ำละหมาด จับอัลกุรอ่าน อ่านอัลกุรอ่านได้หรือไม่  (อ่าน 11951 ครั้ง)

บัดรี่

  • บุคคลทั่วไป
สลามครับ
   ช่วงนี้ฟังวิทยุหลายสถานีแล้วงง จนกลายเป็นคำถามนี้คือ หากเราไม่มีน้ำละหมาด ห้ามจับกระทบถือทูนอัลกุ่รอ่าน แต่พอฟังบางสถานีเขาบอกว่า จับอัลกุรอ่านได้แม้ไม่มีน้ำละหมาดก็ตาม เพราะไม่มีตัวบทห้ามเอาไว้ เลยงงหลายงงเข้าไปใหญ่
       ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไรถูก อาจารย์ช่วยให้ความกระจ่างทางวิชาการด้วยนะครับ
                         ขอบคุณมากครับ

zcache

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 4
Waalaikomsalam
เป็นเรื่องสมัยที่ท่านอูมัรยังไม่ได้รับอิสลาม และจะขอดูจารึกของคอยบาบ (ไม่แน่ใจว่าเป็นน้องสาวมั้ย) แต่ผู้เป็นน้องก็ปฏิเศษ และบอกว่า พี่นั้นยังไม่สะอาด จะจับต้องไม่ได้ ก็ประมาณว่าทะเลาะกันจนท่านอูมัรยอมไปทำความสะอาดร่างกาย และเริ่มอ่านจารึกนั้น คือซูเราะฮ์ตอฮา อ่านตั้งแต่ต้น แล้วด้วยฮีดายัติจากอัลลอฮ์ ท่านอุมัรก็เปลี่ยนเป็นคนละคน เมื่อเขาอ่านถึงอายะฮนี้ ( เเท้จริงข้าคืออัลลอฮ ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่เที่ยงเเท้นอกจากข้า ดังนั้นเจ้าจงเคารพภักดีต่อข้าและจงดำรงนมาซเพื่อรำลึกถึงข้า) (ตอฮา 20:14)

ก็หากยังงัยแล้วรออ.อาลียืนยันความถูกต้องอีกทีน่ะครับ แล้วก็ยังไม่ทราบว่าใครเป็นคนรายงานด้วย อิอิ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
وعليكم السلام ورحمة الله و بركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد...؛

เรื่องที่ถามมาแยกประเด็นดังนี้
1.- คนที่มีหะดัษเล็ก (ไม่มีน้ำละหมาด) อนุญาตให้อ่านอัล-กุรอ่านได้โดยอิจญมาอฺ (มติเอกฉันท์) แต่ถือว่าผู้ที่อ่านอัล-กุรอ่านโดยไม่มีน้ำละหมาดละทิ้งสิ่งที่ดีที่สุด (อัฟฎ้อล)  ซึ่งไม่ถึงขั้นมักรูฮฺ  กรณีนี้คือการอ่านอัล-กุรอ่านจากความจำ (ปากเปล่า)

2.- คนที่มีหะดัษใหญ่ (มีญุนุบ-หัยฎ์) ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺถือว่าต้องห้ามในการอ่านอัล-กุรอ่าน  แม้เพียงส่วนหนึ่งจากอายะฮฺก็ตาม  แต่อนุญาตให้อ่านในใจโดยไม่เปล่งถ้อยคำออกมา  ส่วนทัศนะที่ถูกต้องที่สุดในมัซฮับหะนะฟียะฮฺถือว่าไม่เป็นอะไรในการเรียนอัล-กุรอ่านของผู้มีหะดัษใหญ่  ถ้าหากว่าอ่านทีละคำๆ  ส่วนฝ่าย อัล-มาลิกียะฮฺ อนุญาตให้อ่านอัล-กุรอ่านได้ตลอดจนการจับอัล-กุรอ่านเพื่อการอ่านเนื่องจากมีความจำเป็นในการเรียนและเกรงว่าจะหลงลืม

3.- การจับอัล-กุรอ่านสำหรับผู้ที่มีหะดัษทั้งเล็กและใหญ่ นักวิชาการมีความเห็นต่างกัน  ฝ่ายหนึ่งถือว่าต้องห้าม ยกเว้นในกรณีจำเป็น เช่น เกรงว่าอัล-กุรอ่านจะตกไปในที่สกปรกหรือจะถูกไฟใหม้ เป็นต้น  อีกฝ่ายหนึ่งถือว่าไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด

4.- ประเด็นในข้อที่ 3 ซึ่งนักวิชาการมีความเห็นต่างกันเกิดจากการรับหลักฐานที่ระบุห้าม  ฝ่ายที่ถือว่าห้ามจับในกรณีของผู้มีหะดัษนั้นเพราะรับหลักฐานที่ระบุห้ามมาและตีความนัยของอัล-กุรอ่านที่ระบุเอาไว้ในเรื่องนี้ว่าบ่งถึงการห้ามจับอัล-กุรอ่าน เช่น อายะฮฺที่ว่า
لا يَمَسُّهُ إِلَّا المُطَهَّرونَ
\"จะไม่สัมผัสอัล-กุรอ่านนอกจากบรรดาผู้ชำระกายให้สะอาดจากหะดัษ\"
โดยถือว่าอายะฮฺนี้ (อัลวากิอะฮฺ/79) เป็นประโยคบอกเล่าตามรูปคำแต่มีความหมายในเชิงห้าม (اَلْجُمْلَةُ خَبَرٌ بِمَعْنَى النَّهْى)

ส่วนฝ่ายที่อนุญาตให้จับอัล-กุรอ่านได้สำหรับผู้ที่มีหะดัษนั้นถือว่าตัวบทที่ระบุห้ามมีปัญหาเกี่ยวกับระดับความถูกต้องของสายรายงานจึงไม่รับหลักฐานที่ระบุห้ามและตีความอายะฮฺในสูเราะฮฺ อัล-วากิอะฮฺ ข้างต้นว่าเป็นการบอกเล่าถึงอัล-กุรอ่านที่อยู่ในเลาหิล-หะหฺฟู๊ซฺ  ซึ่งผู้ที่สัมผัสนั้นคือบรรดามะลาอิกะฮฺผู้บริสุทธิ์


สิ่งที่สรุปได้ก็คือ  ประเด็นของเรื่องที่ถามมานักวิชาการมีความเห็นต่างกัน  ซึ่งมีเหตุมาจากการรับหรือไม่รับหลักฐานและมุมมองในการตีความนัยของอายะฮฺอัล-กุรอ่าน  สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ นักวิชาการที่นำเสนอเรื่องดังกล่าวไม่นำเสนอข้อมูลทั้งหมดของนักวิชาการผู้สันทัดกรณีในแต่ละทัศนะ  หากแต่มุ่งยึดเอาทัศนะหนึ่งที่นักวิชาการฝ่ายหนึ่งมีความเห็นเอาไว้แล้วก็ฟันธงจนดูเหมือนว่าทัศนะของอีกฝ่ายเป็นทัศนะที่ไม่มีหลักฐานมาสนับสนุน  


ซึ่งนี่เป็นความบกพร่องของนักวิชาการที่นำเสนอข้อมูลไม่ครบถ้วนและไม่เผื่อเอาไว้หรือไม่พูดถึงสิ่งที่ดีที่สุดซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องนั่นคือ  การอ่านอัล-กุรอ่านหรือจับสัมผัสอัล-กุรอ่าน ในสภาพที่มีความสะอาดจากหะดัษทุกประเภท  ทั้งนี้เพราะอัล-กุรอ่านคือพระดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺ เป็นสิ่งที่มีเกียรติสูงส่ง  ดังนั้นเมื่อจะอ่านอัล-กุรอ่านหรือถือคัมภีร์อัล-กุรอ่านก็ควรอยู่ในสภาพที่ดีที่สุดซึ่งนั่นแหล่ะคือการให้เกียรติพระดำรัสของอัลลอฮฺ

والله أعلم بالصواب