การลูบบนถุงรองเท้า ลูบบนฮิญาบ  (อ่าน 11141 ครั้ง)

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
การลูบบนถุงรองเท้า ลูบบนฮิญาบ
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 12, 2011, 10:23:44 pm »
สมุติว่าผมจะละหมาดแต่ตอนนั้นผมใส่ถุงเท้าอยู่ถ้าผมอาบน้ำละหมาดโดยลูบถุงเ้ท้า แทนการล้างเท้าได้หรือไม่มีเงื่อนไขอะไรบ้าง เคยได้ยินมาว่าถ้าเราจะละหมาดที่ทำงานจะลูบถุงเท้าแทนการล้างเท้าต้องอาบน้ำ ละหมาดมาก่อนออกไปทำงานหรือกรณีผู้หญิงจะลูบน้ำบนหิญาบแทนการเช็ดศรีษะก็ ต้องอาบน้ำละหมาดก่อนจะออกไปข้างนอก อยากทราบว่าถูกต้องหรือไม่และมีเงื่อนไขอย่างไร

ขอบคุณครับ

ถามโดย วัยรุ่น

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : การลูบบนถุงรองเท้า ลูบบนฮิญาบ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 12, 2011, 10:25:49 pm »
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد...؛

คำถามนี้แบ่งเป็น 2 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 การลูบบนถุงรองเท้า นักวิชาการมีทัศนะในเรื่องนี้เป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งถือว่าเป็นที่อนุญาตในการลูบบนถุงรองเท้า ฝ่ายนี้คือปวงปราชญ์ ฝ่ายที่สองระบุว่าไม่อนุญาตให้ลูบบนถุงรองเท้า ซึ่งเป็นทัศนะของอัล-มาลิกียะฮฺ กลุ่มหนึ่งจากอัล-หะนะฟียะฮฺและอัช-ชาฟีอียะฮฺบางส่วน (อะหฺกามุฏเฏาะฮาเราะฮฺฯ ; ดร.อบูสะรีอฺ มุฮำมัด อับดุลฮาดียฺ หน้า 183)


และดร.อบูสะรอฺ ระบุว่า ทัศนะที่มีน้ำหนักคือ อนุญาตให้ลูบบนถุงรองเท้าทั้ง 2 ข้างได้ เพราะถุงรองเท้าทั้ง 2 ข้างเหมือนกับรองเท้าคุ๊ฟทั้ง 2 ข้างโดยมีลักษณะเหมือนกันคือถูกสวมใส่ที่เท้า ปกปิดตำแหน่งที่วาญิบต้องล้าง และสามารถเดินไปพร้อมกับถุงรองเท้าทั้งสองข้างนั้นได้ตามปกติ จึงอนุญาตให้เช็ดหรือลูบบนถุงรองเท้าทั้ง 2 ข้างได้เช่นเดียวกับรองเท้าคุ๊ฟ (โค๊ฟ)  (อ้างแล้ว หน้า 184)


และทัศนะที่ถูกต้อง (เศาะฮีหฺ) ในมัซฮับอัช-ชาฟีอียฺถือว่าถุงรองเท้านั้นถ้าหนาและสามารถเดินไปพร้อมกับถุงรองเท้านั้นก็อนุญาตให้เช็ดหรือลูบบนถุงรองเท้านั้นได้ ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น (เช่น บางจนเห็นสีผิวและหลุดเวลาเดิน) ก็ไม่อนุญาต


ทั้งนี้ อิบนุ อัล-มุนซิรได้เล่าถึงการอนุญาตให้ลูบบนถุงรองเท้าจากเศาะหาบะฮฺจำนวน 9 ท่าน คือ ท่านอะลี, อิบนุมัสอู๊ด, อิบนุอุมัร, อนัส, อัมม๊าร อิบนุ ยาสิรฺ, บิล้าล, อัล-บะรออฺ, อบูอุมามะฮฺ และ สะฮฺล์ อิบนุ สะอีด ตลอดจนสะอีด อิบนุ อัล-มุสัยยิบ, อะฏออฺ, อัล-หะสัน, สะอีด อิบนุ ญุบัยรฺ, อัน-นะเคาะอียฺ, อัล-อะอฺมัช, อัษ-เษารียฺ, อะหฺมัด, อิสหาก, อบูเษาริน, อบูยูสุฟ และมุฮำมัด ส่วนมุญาฮิด อัมรฺ อิบนุ ดีนารฺ, มาลิก, อัล-เอาซาอียฺ ถือว่ามักรุฮฺและมีรายงานจากอุมัรและอะลียฺ ว่าอนุญาตให้ลูบบนถุงรองเท้าได้ถึงแม้ว่าจะบางก็ตามที (กิตาบ อัล-มัจญมูอฺ เล่มที่ 1 หน้า 527)


อย่างไรก็ตาม เมื่ออนุญาตให้ลูบบนถุงรองเท้าแทนการล้างเท้าขณะอาบน้ำละหมาดได้แต่ก็มีเงื่อนไขว่า ไม่อนุญาตให้ลูบถุงรองเท้านอกจากว่าผู้นั้นได้สวมถุงรองเท้าในสภาพที่อาบน้ำละหมาดอย่างสมบูรณ์มาก่อนแล้ว กล่าวคือ เมื่อบุคคลอาบน้ำละหมาดเสร็จโดยล้างเท้าทั้งสองแล้วต่อมาเขาก็สวมถุงรองเท้า ภายหลังบุคคลผู้นั้นเสียน้ำละหมาด เขาก็อาบน้ำละหมาดใหม่ พอมาถึงการล้างเท้าก็อนุโลมให้เช็ดหรือลูบไปบนถุงรองเท้าได้ แต่ถ้าหากเขาสวมถุงรองเท้าโดยไม่ได้อาบน้ำละหมาดอย่างสมบูรณ์ (คือล้างเท้าทั้งสอง) ก็ไม่อนุญาตให้ลูบบนถุงรองเท้าเมื่ออาบน้ำละหมาดใหม่


เงื่อนไขที่ว่ามาเป็นทัศนะของมัซฮับอัช-ชาฟีอียฺ และตามนี้ มาลิก, อะหฺมัด ใน 2 ริวายะฮฺที่ถูกต้องที่สุดและอิสหากกล่าวเอาไว้ แต่อบูหะนีฟะฮฺ, สุฟยาน อัษ-เษารียฺ, ยะหฺยา อิบนุ อาดัม, อัล-มุซะนียฺ และดาวุดไม่ถือในเงื่อนไขนี้ซึ่งเทียบจากเรื่องการเช็ดรองเท้าคุ๊ฟนั่นเอง (อ้างแล้ว 1/541) ก็พิจารณาเอาว่าจะถือตามทัศนะของฝ่ายไหน


ประเด็นที่ 2 กรณีการลูบบนผ้าหิญาบแทนการเช็ดศีรษะสำหรับมุสลิมะฮฺ กรณีนี้จะมีความแตกต่างจากประเด็นที่ 1 ของคำถามที่ 2 กล่าวคือการลูบบนผ้าหิญาบหรือผ้าสะระบั่นหรือหมวกขณะอาบน้ำละหมาดนั้นมีเงื่อนไขว่าขณะอาบน้ำละหมาดมาถึงตอนจะลูบศีรษะต้องลูบน้ำที่บริเวณศีรษะเสียก่อน คือ สอดมือที่เปียกน้ำยังบริเวณตีนผมด้านหน้าก่อนแล้วค่อยลูบไปบนผ้าหิญาบนั้น ถ้าหากไม่สอดมือลูบบริเวณตีนผมด้านหน้าก่อนแต่ลูบไปบนผ้าหิญาบเลยถือว่าใช้ไม่ได้ตามทัศนะของนักวิชาการส่วนมาก เพราะผ้าคลุมหิญาบหรือผ้าสะระบั่นไม่ใช่ศีรษะ และศีรษะเป็นอวัยวะที่วาญิบต้องลูบหรือเช็ดโดยตรง จึงไม่อนุญาตให้เช็ดหรือลูบไปบนสิ่งที่ปิดกั้นหรือคลุมศีรษะเอาไว้


แต่นักวิชาการอีกกลุ่มระบุว่าอนุญาตให้จำกัดการลูบไปบนผ้าสะระบั่นหรือหิญาบได้เลย เช่น อัษ-เษารียฺ, อัล-เอาซาอียฺ และอะหฺมัด เป็นต้น และนักวิชาการบางส่วนก็หนดเงื่อนไขว่า อนุญาตให้เช็ดหรือลูบไปบนผ้าหิญาบหรือสะระบั่นโดยเฉพาะได้ต่อเมื่อก่อนสวมนั้นได้ลูบหรือเช็ดศีรษะขณะอาบน้ำละหมาดมาแล้วคล้ายประเด็นที่ 1 ในขณะที่นักวิชาการบางส่วนไม่กำหนดเงื่อนไขนี้ (ดู อ้างแล้ว 1/438)


และนักวิชาการสังกัดมัซอับ อัช-ชาฟีอียฺระบุว่า ถ้าสตรีวางมือของนางที่เปียกน้ำลงบนผ้าคลุมศีรษะของนางก็ให้พิจารณาว่า ถ้าน้ำที่เปียกนั้นไม่ซึมผ่านผ้าคลุมถึงผมก็ถือว่าใช้ไม่ได้ แต่ถ้าน้ำซึมไปถึงผมก็ถือว่าใช้ได้ตามทัศนะที่ถูกต้องในมัซฮับ (อ้างแล้ว 1/440)


ก็พิจารณาดูเอาครับว่าจะเลือกแนวทางและวิธีใดในการปฏิบัติ และสิ่งที่ระบุว่าเคยได้ยินมาว่า เขาว่าอย่างนั้น เขาว่าอย่างนี้ก็ล้วนแล้วแต่มีมูลทั้งสิ้น แต่ถ้าอยากปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่จั่วหัวข้อเอาไว้ก็ให้ถือเอาทัศนะของนักวิชาการส่วนมากหรือที่มีน้ำหนักมาปฏิบัติ นั่นแหละดีที่สุด


والله أعلم بالصواب