الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد ....؛
คุณ ฮัซซาน ถามมาถึง 8 ข้อ เต็มหน้าพอดีเฉพาะคำถาม หากจะตอบโดยละเอียดคงเขียนหนังสือได้เล่มหนึ่งทีเดียว! เอาเป็นว่าขอเลือกตอบโดยไม่เรียงลำดับข้อแล้วกัน
8. ถูกต้องครับ! อะฮฺลิซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺจะตัดสินตามตัวบทเป็นอันดับแรกในกรณีที่มีตัวบท ชัดเจนและถูกต้อง และเมื่อมีแบบจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)รายงานมาอย่างชัดเจนและถูกต้องก็ต้องเลือกแบบ ที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวหรือกระทำเอาไว้ครับ
แต่ ต้องเข้าใจว่า บางกรณีท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็กระทำเอาไว้ให้เป็นแบบมากกว่าหนึ่งแบบก็มี เช่น วิธีการละหมาดวิตร์ สำนวนการอ่านดุอาอฺอิฟติตาฮฺ สำนวนการตัสบีฮฺในละหมาด การนั่งตะชะฮฺฮุดแบบอิฟติรอชฺหรือตะวัรรุก การตักบีรในละหมาดญะนาซะฮฺ เป็นต้น
บางกรณีท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)กล่าวเอาไว้ (ซุนนะฮฺ เกาลียะฮฺ) แต่นักวิชาการระดับมุจตะฮิดหรือชนรุ่นซอฮาบะฮฺอธิบายความเข้าใจจากตัวบทด้วย มุมมองที่แตกต่างกันก็มีหรือมีมุมมองต่อสถานภาพของหะดีษที่รายงานมาแตกต่าง กันอันเป็นผลให้การให้น้ำหนักในประเด็นนั้น ๆ แตกต่างกันก็มี
กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อมีตัวบทระบุมาแล้วทำไมนักวิชาการจึงมีมุมมองต่างกัน เรื่องนี้กลับไปยังสาเหตุใหญ่ ๆ 4 ประการ คือ
1. การมีความเห็นต่างกันว่า ตัวบทนั้นเป็นที่ยืนยันในการเป็นหลักฐานหรือไม่? รวมถึงการที่ตัวบทนั้น ๆ ไปถึงอิหม่ามท่านนี้และไปไม่ถึงอิหม่ามท่านนั้นด้วย เป็นต้น
2. การมีความเข้าใจตัวบทต่างกัน
3. การมีความแตกต่างของวิธีการรวมหลักฐานและการให้น้ำหนักระหว่างบรรดาตัวบทที่ขัดกัน
4. การมีความแตกต่างกันในบรรดากฎมูลฐานและที่มาของการวินิจฉัย (แหล่งอ้างอิง)
7. การตัดสินปัญหาศาสนามีกฎระเบียบและคุณสมบัติของผู้ทำหน้าที่ตัดสินปัญหา ศาสนาที่นักวิชาการระบุเอาไว้ เรียกว่า (อาดาบุ้ลมุฟตีย์ วัล มุสตัฟตีย์) ผม มิใช่มุฟตีย์หรือผู้ตัดสิน (หรือผู้วินิจฉัยปัญหา) แต่เป็นคนกลางที่ถ่ายทอด (นักฺล์) คำวินิจฉัยของนักวิชาการที่มีระบุเอาไว้ในตำรับตำราอ้างอิงเท่านั้น ยกเว้นบางประเด็นข้อปัญหาที่ไม่สามารถค้นหาจากตำราอ้างอิงได้ ก็จะตอบตามความเห็นความเข้าใจซึ่งเป็นไปตามภูมิความรู้ที่ร่ำเรียนมา
หาก ผิดพลาด ผมก็ต้องรับผิดชอบเอาเองถึงผลที่จะตามมา ซึ่งก็ต้องบอกตามตรงว่า อาจจะผิดและแย้งกับความเห็นของผู้รู้ท่านอื่นก็ได้ การที่ผมเปิดกระดานถามตอบในเว็บไซด์นี้ ผมก็ต้องเตรียมใจเอาไว้แล้วต่อความรับผิดชอบทางวิชาการ มีเจตนาในการสร้างความเข้าใจอันดีแก่ผู้เข้ามาใช้บริการ มิได้มีเจตนาเพื่อโอ้อวดภูมิความรู้และทำเพื่อชื่อเสียงหรือหาแนวร่วมแต่ อย่างใด พระองค์อัลลอฮฺทรงเป็นพยาน
ส่วนตัวอย่างที่ถามมาในการเรียงลำดับการตอบปัญหาศาสนานั้น อาทิเช่น ข้อชี้ขาดว่าด้วยการบัญญัติการอะซาน
อัลกุรอาน : ซูเราะห์อัลญุมุอะฮฺ อายะฮฺที่ 9 (ตัวบท)
ซุนนะฮฺ : ตัวบท) ความหมาย เมื่อการละหมาดมาถึง คนหนึ่งในหมู่พวกท่านจงทำการอะซานให้แก่พวกท่าน... (รายงานโดย อัลบุคอรีย์และมุสลิม)
อิจญ์มาอฺ : ถ่ายทอดการอิจญ์มาอฺจากการระบุของนักวิชาการ
(ส่วน กิย๊าสนั้น เมื่อมีตัวบทระบุมาชัดเจนเด็ดขาดก็จะไม่มีการกิย๊าส เพราะ (لاقياس مع النص) อย่างนี้ เป็นต้น) หลังจากนั้นอาจจะมีการนำเสนอมุมมองของนักวิชาการที่มีต่อคำสั่งในตัวบท ประกอบด้วยก็ได้ เช่น การอะซานในวันศุกร์ช่วงใดที่จำต้องละทิ้งการซื้อขาย การซื้อขายในขณะช่วงเวลานั้นใช้ได้หรือไม่? และห้ามตั้งแต่เวลาไหนถึงไหน สำนวนที่ระบุในหะดีษว่า จงทำการอะซาน บ่งว่ามีข้อชี้ขาดอย่างไร? เป็นต้น
ส่วน การกิย๊าส ซึ่งหมายถึง การผนวกเรื่องที่ไม่มีตัวบทระบุถึงฮุ่ก่มตามหลักชัรอีย์ของเรื่องนั้นเข้าไป ยังเรื่องที่มีตัวบทระบุถึงฮุก่มของมัน เนื่องจากทั้งสองเรื่องร่วมกันในเหตุผลของฮุก่มนั้น (อัลลุมะอฺ , ชีรอซีย์ 51/มิรอาตุ้ลอุซู้ล 2/275 , เราเฎาะฮฺ อันนาซิร 2/227 , อุซูลลุลฟิกฮิ ; ซะกียุดดีน ชะอฺบาน 59) ก็จะถูกนำมาใช้ในกรณี
เช่น มีคำถามมาว่า การดื่ม 4x100 มีข้อชี้ขาดอย่างไร? ก็ต้องพิจารณาว่า 4x100 ไม่มีตัวบทกำหนดข้อชี้ขาดเอาไว้ แต่มีตัวบทเด็ดขาดกำหนดห้ามสุรายาเมาในคัมภีร์อัลกุรอานและหะดีษ เราก็ต้องหาเหตุผล (อิลละฮฺ) ของการห้ามสุรายาเมา ซึ่งก็คือการทำให้มึนเมา (อิสก๊ารฺ) เพราะมันก่อให้เกิดความเสียหายทางศาสนาและทางโลกทั้งในส่วนตัวของผู้ดื่ม สุรายาเมาและผู้อื่น เมื่อพิจารณาก็พบว่า การทำให้มึนเมานั้น มีอยู่จริงในการดื่ม 4x100 ดังนั้น 4x100 จึงถูกผนวกเข้ากับสุรายาเมาในการห้ามดื่มหรือเสพย์เช่นกัน สุรายาเมาจึงเป็นฐาน (อัศลฺ) 4X100 ถือเป็นหน่วยย่อย (ฟัรอฺ) และข้อชี้ขาด คือ เป็นที่ต้องห้าม (ตะฮฺรีม) และเหตุผล (อิลละฮฺ) ที่ร่วมกันระหว่างทั้งสองคือ การทำให้มึนเมา เป็นต้น
6. ถ้ามีหลักฐานจากซุนนะฮฺชัดเจน ถูกต้อง และเด็ดขาดจะใช้การกิย๊าสไม่ได้ เพราะถือตามกฎนิติศาสตร์ที่ว่า (لاَقِيَاسَ مع النَّصِّ) ส่วนการที่อุละมะอฺกิย๊าสนั้น จะกิย๊าสในประเด็นปัญหาที่ไม่มีตัวบทระบุถึงข้อชี้ขาดของสิ่งนั้น (غَيْرُ مَنْصُوْصٍ عليه)
ส่วนที่ยกตัวอย่างเรื่องการจ่ายฟิตเราะฮฺเป็นเงินนั้น จะว่าเป็นการกิย๊าสก็ไม่ถูกนัก เพราะนักวิชาการที่อนุญาตเรื่องดังกล่าวพิจารณาจากเป้าหมายของตัวบทที่ว่า \"จงทำให้พวกเขา-คนยากจน-พอเพียงในวันนี้ (อีด)\" การทำให้พอเพียงเกิดขึ้นจริงได้ด้วยการออกค่าที่ตีจากอาหาร (กีมะฮฺ) (-ดู ฟิกฮุซซิยาม ; ยูซุฟ อัลก็อรฎอวีย์ เล่มที่ 2 หน้า 1002-1004)
กรณีการ กล่าวอุซอลลีก็มิใช่การกิย๊าสของอิหม่ามอัชชาฟิอีย์ (ร.ฎ.) หากแต่เป็นความเข้าใจของอบู อับดิลลาฮฺ อัซซุบัยรีย์ ซึ่งเจ้าของตำราอัลฮาวีย์ กล่าวว่า : บุคคลผู้นี้กล่าวว่า จะใช้ไม่ได้จนกว่าผู้ละหมาดจะรวมระหว่างการเหนียตของหัวใจและการเปล่งวาจา ของลิ้น โดยมีเหตุผลว่า อิหม่ามอัชชาฟิอีย์ (ร.ฎ.) กล่าวไว้ในเรื่องฮัจญ์ว่า : เมื่อเขาเหนียตฮัจญ์หรืออุมเราะฮฺก็ถือว่าใช้ได้ ถึงแม้ว่า จะไม่เปล่งวาจาออกมา
(อบูอับดิลลาฮฺ อ้างว่า) ฮัจญ์ไม่เหมือนกับการละหมาดซึ่งการละหมาดจะใช้ไม่ได้นอกจากต้องเปล่งวาจาออก มา บรรดานักวิชาการในมัซฮับอัชชาฟิอีย์ กล่าวว่า : ผู้ที่กล่าวนี้ (คืออบู อับดิลลาฮฺ) ผิดพลาดแล้ว เป้าหมายของอัชชาฟิอีย์ที่ว่าให้เปล่งวาจาในละหมาดมิใช่สิ่งนี้ หากแต่หมายถึงการกล่าวตักบีร่อตุ้ลเอียะฮฺรอม (อัลมัจญมูอฺ เล่มที่ 3 หน้า 241)
3. หะดีษที่รายงานจากท่านอนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฎ.) นั้น เป็นหะดีษซ่อฮีฮฺ นักท่องจำหะดีษกลุ่มหนึ่งได้รายงานและชี้ขาดว่า เป็นหะดีษซ่อฮีฮฺ ส่วนหนึ่งจากนักวิชาการที่ระบุว่า เป็นหะดีษซ่อฮีฮฺ คือ อัลฮาฟิซฺ อบู อับดิลลาฮฺ มุฮำมัด อิบนุ อะลี อัลบะละคี่ย์ , อัลฮากิม อบู อับดิลลาฮฺ ในหลายที่จากบรรดาตำราของท่าน และอัลบัยหะกีย์ ตลอดจนอัดดาร่อกุฏนีย์ ก็รายงานเอาไว้ด้วยบรรดาสายรายงานที่ซ่อฮีฮฺ
ส่วน หะดีษของท่านอะนัสอีกบทหนึ่งและหะดีษของท่านอบี ฮุรอยเราะฮฺที่ระบุว่า ต่อมาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ละทิ้งการดุอาอฺนั้น นักวิชาการฝ่ายอัชชาฟิอีย์ตอบว่า หมายถึง ละทิ้งการดุอาอฺสาปแช่งต่อบรรดากุฟฟ๊ารเหล่านั้นเท่านั้น มิได้หมายถึง ละทิ้งการกุหนูตทั้งหมด หรือละทิ้งการกุหนูตในละหมาดอื่นนอกจากศุบฮิ ทั้งนี้เพราะหะดีษของอะนัส (ร.ฎ.) ที่ระบุว่า : \"ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยังคงกุหนูตในศุบฮิจนกระทั่งท่านจากโลกนี้ไป\" เป็นหะดีษซ่อฮีฮฺที่ชัดเจน ก็จำเป็นต้องรวมหะดีษทั้งสองรายงานเข้าด้วยกัน (ดูรายละเอียดในอัลมัจญ์มูอฺ ชัรฮุล มุฮัซซับ , อิหม่ามอันนะวาวีย์ เล่มที่ 3 หน้า 483-485) ดังนั้นการละหมาดตามอิหม่ามที่อ่านกุหนูตจึงไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่อย่างใด
4. ถ้าถือตามนักวิชาการและชาวสะลัฟส่วนใหญ่ เช่น ท่านอบูบักร , อุมัร , อุสมาน , อะลี , อิบนุ อับบาส , อัลบะรออฺ และตาบิอีน ซึ่งอาศัยตัวบทจากข้อที่ 3 ก็ถือว่าเป็นซุนนะฮฺให้กุหนูตในละหมาดศุบฮิ ส่วนการยกมือในขณะดุอาอฺกุหนูตนั้นก็มีหลักฐานที่รายงานโดย อัลบัยหะกีย์ ด้วยสายรายงานที่ซ่อฮีฮฺหรือฮะซัน จากท่านอะนัส (ร.ฎ.) ว่าท่านอะนัสเห็นร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ยกมือทั้งสอง และซ่อฮาบะฮฺจำนวนหนึ่งก็ยกมือในการกุหนูต เช่น ท่านอุมัร (ร.ฎ.) ซึ่งท่านอัลบัยหะกีย์ระบุว่า ซ่อฮีฮฺ (อ้างแล้ว เล่มที่ 3 หน้า 479) ฉะนั้นในมัซฮับอัชชาฟิอีย์ จึงระบุทัศนะที่ถูกต้อง (ซ่อฮีฮฺ) เอาไว้ว่า มีซุนนะฮฺให้ยกมือทั้งสองโดยไม่ต้องลูบหน้าเมื่อดุอาอฺ (กุหนูต) จบ (อ้างแล้ว เล่มที่ 3 หน้า 480)
5. การกุหนูตในละหมาดวิตฺร์ ก็เช่นกัน มีซุนนะฮฺให้ยกมือดังรายละเอียดที่กล่าวมาแล้วในข้อที่ 4 ส่วนการอ่านดุอาอฺกุหนูตด้วยสำนวนเฉพาะนั้น ทัศนะที่ถูกต้องไม่มีสำนวนที่เจาะจงเฉพาะ ขอดุอาอฺใดก็ได้ ส่วนสำนวน อัลลอฮุมมะฮฺดินีฯ นั้นมีรายงานชัดเจนจากท่านอัลหะซัน อิบนุ อะลี (ร.ฎ.) ว่าท่านร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้สอนดุอาอฺสำนวนนี้ให้กับท่าน รายงานโดย อบูดาวูด อัตติรมิซีย์ อันนะซาอีย์ และท่านอื่น ๆ ด้วยสายรายงานที่ซ่อฮีฮฺ แต่อัตติรมิซีย์กล่าวว่า นี่เป็นหะดีษฮะซัน (อ้างแล้ว เล่มที่ 3 หน้า 476)
2. การยกมือขณะขอดุอาอฺมีรายงานระบุในซุนนะฮฺของท่านร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) อย่างมากมาย นักวิชาการระบุว่าถึงขั้นมุตะวาติรมะอฺนา ทั้งนี้เมื่อละหมาดเสร็จแล้วมีซุนนะฮฺให้กล่าวคำซิกรุ้ลลอฮฺที่มีรายงานมา หลังจากนั้นก็มีซุนนะฮฺให้กล่าวคำซ่อละหวาต เมื่อซ่อละหวาตแล้วจะขอดุอาอฺหลังละหมาดได้ตามประสงค์ และเมื่อจะขอดุอาอฺก็มีซุนนะฮฺให้ยกมือ ส่วนจะไม่ยกมือก็ไม่เป็นอะไร เพราะเป็นซุนนะฮฺเท่านั้น ถ้าเราจะขอดุอาอฺตามอิหม่ามก็ได้ โดยให้เรากล่าวอามีน
ส่วนฟัตวาของชัยค์ บิน บ๊าซฺ (ร.ฮ.) นั้นท่านแยกระหว่างละหมาดฟัรฎูกับละหมาดซุนนะฮฺ โดยสรุปว่า การขอดุอาอฺหลังละหมาดฟัรฎู นั้นไม่มีบัญญัติให้ยกมือ ส่วนหลังละหมาดซุนนะฮฺ ท่านระบุว่าไม่ทราบว่ามีข้อห้ามในการยกมือในการขอดุอาอฺ โดยถือตามนัยกว้าง ๆ ของหลักฐาน ซึ่งการแยกระหว่างหลังละหมาดฟัรฎูกับหลังละหมาดซุนนะฮฺไม่น่าจะถูกต้องนัก เพราะถ้าหลังละหมาดฟัรฎูไม่มีบัญญัติให้ยกมือ หลังละหมาดซุนนะฮฺก็น่าจะไม่มีบัญญัติเหมือนกัน และถ้าหากอาศัยนัยกว้าง ๆ ของหลักฐานมารับรองการยกมือหลังละหมาดซุนนะฮฺ ก็น่าจะใช้นัยกว้าง ๆ นั้นมารับรองการยกมือหลังละหมาดฟัรฎูด้วย (ดูมัจญมูอฺ ฟะตาวา , ชัยค์ บินบ๊าซฺ เล่มที่ 11/180-181)
1. การกระทำของผู้คนที่มัสญิดฮะรอมนั้นไม่เป็นหลักฐานทางวิชาการในการชี้ขาด ปัญหาศาสนา เพราะผู้คนที่มาร่วมละหมาดนั้น มีความหลากหลาย อิหม่ามมัสญิดฮะรอมอาจจะไม่ยกมือขอดุอาอฺหลังละหมาด แต่คนที่มาร่วมละหมาดอาจจะยกมือขอดุอาอฺกันเป็นจำนวนมากก็ได้
(والله أعلم)