ตกลงการอ่านอุซอลลีในละหมาดและจ่ายซากาตฟิตเราะเป็นเงินเป็นซุนนะนบีหรือป่าวครับ  (อ่าน 6314 ครั้ง)

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
1    และการอ่านดุอากูนูตในนมาซซุบฮิ คือ ปัญหาคิลาฟิยะใช่มั้ยครับแล้วที่มีน้ำหนักในทัศนะของอาจารย์นบีอ่านหรือไม่ อ่านครับผม  ไม่ใช่ กูนูตนาซิละน่ะครับ  

2   การยกมือขอดุอาหลังละหมาดฟัรดูอาจารย์บอกเป็นซุนนะแต่ผมไม่เคยเจอตัวบทที่ บอกว่านบี ซล ยกมือขอดุอาหลังละหมาดฟัรดูเลยครับถ้าอาจารย์มีช่วยยกให้ดูหน่อยน่ะครับ จะได้มั่นใจในการปฏิบัตครับ ผมเจอแต่ที่บอกว่า ถ้าจะขอดูอาต่ออัลเลาะให้ยกมือให้หงายฝ่ามือสู่ท้องฟ้าหลังมือสู่พื้นดิน แต่ตัวบทนี้ก็บอกใว้กว้างๆอ่ะครับ ไม่ได้บอกว่าดูอาอะไรครับแต่ที่นบีกระทำใว้เป็นแบบอย่างไม่พบฮะดีษซอเฮียะ เลยว่านบียกมือขอดุอาหลังละหมาดฟัรดู ถ้าอาจารย์มียกให้ดูด้วยครับจะได้มั่นใจในการปฏิบัติครับผม

3   อีม่ามในมัสยิดฮารอมเค้าเคร่งครัดในการปฏิบัตซุนนะไม่ใช่หรอครับที่ซาอุดี้ เค้าฟื้นฟูซุนนะหลังจากที่ผู้คนหันห่างออกจากซุนนะอ่ะผมก็เลยถามว่าแล้วที่ ซาอุดี้เค้ายกมือหรือป่าวโดยเฉพาะในมัสยิดฮารอมและมัสยิดนะบะวีที่สำคัญ เพราะเป็นบ้านเกิดของท่าน นบี ซล อีม่ามที่ซาอุดี้เค้ายกมือหรือไม่ยกมือเฉพาะหลังละหมาดฟัรดูน่ะครับ

4   อีกอย่างท่านนบี ซล ได้เคยแยกแบ่งใว้รึป่าวครับ บิดอะ มีหลายประเภท เช่น บิดอะฮาซานะ บิดอะมักโรฮะ มูบา มูฮัรรอมะทำนองนี้ หรือว่าอุลามา แบ่งกันเองครับแล้วที่ นบี ซล บอกเอาใว้มี่กี่ประเภทครับ ขอความกระจ่างครับ อยากจะตามนบีอ่ะครับ เพราะอุลามะมีทั้งถูกและผิดครับ  
5   สุดท้ายครับ ผมไม่เคยได้ยินโต๊ะครูบอกเลยว่าการขึ้นเปลเด็ก กินบุญบ้านคนตาย เมาลิด เป็นประเพณีจนชาวบ้านคน เอาวาม และผมคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาอิสลามซะแล้ว ถ้าผมเกิดตายในสภาพความเชื่อเช่นนี้จะเป็นอย่างไรบ้างครับหรือว่าผู้รู้ต้อง รับการทำโทษแทนผมครับ  ตกลงมีข้อสั่งใช้ให้ปฏิบัตรึป่าวครับในหลักการศาสนา    อายะอัลกุรอ่านอัลหัซ 7  ที่บอกว่า วามาอ่าตากูมูรร่อซูลุว่าคูซูฮุ  สิ่งใด้ที่ศาสนทูตได้นำมายังสูเจ้าสูเจ้าจงยึดสิ่งนั้นไปปฏิบัติ   วามานาฮากุมอันฮุฟันตาฮูน  และสิ่งใดที่ศาสนทูตห้ามพวกเจ้าใว้ก็จงหักห้ามไม่ปฏิบัติ ช่วยอธิบายให้ฟังด้วยน่ะครับถ้าไม่รบกวนอาจารย์มากเกินไปครับ   ก็มันสงสัยคลุมเคลือ ไม่รู้จะทำไงเหมือนกานครับ  ญาซากัลลอฮุคอยรอน  ขออัลลอฮทรงตอบแทนความดีงามครับ    อยากยึดมั่นในซุนนะครับ  


ถามโดย - ฮัซซาน  « เมื่อ: ตุลาคม 22, 2008, 11:15:18 am »

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
الحمدلله والصلاة والسلام على سيدنامحمد وعلى آله الطاهرين وصحابته أجمعين  وبعد ؛


1.  ใช่ครับ! เป็นประเด็นมองต่างมุมของนักวิชาการ ซึ่งนักวิชาการถือเป็นปัญหาข้อปลีกย่อย (اَلْمَسَاﺋِﻞُ الْفُرُوْعِيَّةُ) มิใช่ปัญหามูลฐาน (اَلْمَسَاﺋِﻞُلأُصُوْلِيَّةُ)  ในทัศนะของผมยึดตามหะดีษที่ซ่อฮีฮฺซึ่งนักวิชาการได้รวมรายงานเข้าด้วยกัน (اَلْجَمْعُ)  

ส่วนหะดีษที่รายงานจากสะอฺด์ อิบนุ ฏอริก ที่รายงานจากบิดาของท่านว่า : ลูกเอ๋ย มันเป็นอุตริกรรม (حَدَثٌ) \"หมายถึงการกุหนูตในละหมาดฟัจร์- นั้นถึงแม้ว่า อัตติรมิซีย์จะระบุว่า เป็นหะดีษฮะซันซ่อฮีฮฺ แต่การรายงานของบรรดาผู้ที่ยืนยันการกุหนูตนั้นมีการเพิ่มความรู้ (زِيَادَةُعِلْمٍ) และพวกเขามีจำนวนมากกว่า ก็จำเป็นต้องถือรายงานของพวกเขาก่อน

ส่วนหะดีษของอิบนุ มัสอู๊ด (ร.ฎ.) ที่ระบุว่า \"ท่านร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่ได้กุหนูตในสิ่งใดเลยจากการละหมาดของท่าน\" นั้นเป็นหะดีษฎ่ออีฟมากๆ (ضعيف جِدًّا) เพราะรายงานจากมุฮำหมัด อิบนุ ญาบิร อัสสะฮฺมี่ย์ (หรือ อัสสุฮัยมี่ย์) บุคคลผู้นี้อ่อนจัดและมัตรู๊ก (ดูอัตตัซฮีบฺ) และเป็นเพราะว่าหะดีษนี้ปฏิเสธ (نَفْيٌ) ส่วนหะดีษอะนัส นั้นยืนยัน (إثْبات) หะดีษของอะนัสจึงถูกนำมาก่อนเนื่องจากเพิ่มความรู้ (زِيَادَةُ عِلْمٍ)  -(ดูอัลมัจญฺมูอฺ ชัรฮุ้ลมุฮัซซับ ; อันนะวาวีย์ เล่มที่ 3/485) สรุปคือให้น้ำหนักว่าท่านร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กุหนูตในศุบฮิครับ



2. การยกมือในขณะขอดุอาอฺมีรายงานมาอย่างมากมายในหลายกรณี รวมแล้วถึงขั้นมุตะวาติร มะอฺนา เพราะมีรายงานมาจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ราว 100 หะดีษ ที่ระบุการยกมือในขณะขอดุอาอฺ แต่มีหลายกรณี (หลายสถานการณ์) แต่ละกรณีไม่ถึงขั้นมุตะวาติร แต่เมื่อนำมารวมกันแล้ว ถึงขั้นมุตะวาติร โดยพิจารณารวม ๆ (بِاعْتِبَارِالْمَجْمُوعِ) (ดู ตัดรีบุรฺรอวีย์ 2/180)

ส่วนการยกมือขอดุอาอฺหลังละหมาดฟัรฎูนั้นอาศัยนัยกว้างๆ ของหลักฐาน  (عَمُومُ الأَدِلَّةِ) เมื่อมีรายงานที่ถูกต้องหรือดีระบุถึงการขอดุอาอฺหลังละหมาด (دُبرالصَّلاَةِ) ก็ย่อมมีซุนนะฮฺให้ยกมือในขณะขอดุอาอฺ ส่วนจะยกมือหรือไม่ยกก็ไม่เป็นปัญหาเพราะเป็นซุนนะฮฺและมารยาทในการขอดุอาอฺ สังเกตได้ว่า การขอดุอาอฺบางกรณีก็ไม่มีการยกมือ เช่น ดุอาอฺ อิฟติตาฮฺ ดุอาอฺระหว่าง 2 สุหยูด และดุอาอฺก่อนให้สล่าม เป็นต้น ส่วนตัวบทของหลักฐานโดยตรงที่ระบุว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ยกมือในการขอดุอาอฺหลังละหมาดฟัรฎูนั้น ก็ไม่พบเช่นกัน เมื่อไม่พบก็ให้อาศัยนัยกว้างๆ ของหลักฐานดังที่กล่าวมา


3. คงใช่! แต่ไม่ยืนยันและตัซกียะฮฺไปเสียทั้งหมดเพราะผมไม่รู้จักอิหม่ามมัสยิดฮะรอมแม้แต่คนเดียว (เป็นการส่วนตัว) จึงมิอาจจะรู้ได้ว่า ท่านเหล่านั้นเคร่งครัดในซุนนะฮฺหรือไม่? และที่สำคัญ คุณฮัซซานต้องการปฏิบัติตัวตามซุนนะฮฺของท่านร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) โดยตรงมิใช่หรือ? ถ้าต้องการตามซุนนะฮฺนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จริง ๆ ก็มิได้จำกัดอยู่ที่หะรอมทั้งสองนั้น อิหม่ามมัสญิดใดในบ้านเราหรือทั่วโลกถ้าหากเขาทำตามซุนนะฮฺก็น่าจะปฏิบัติตามได้

และเมื่อเราเอาการปฏิบัติของอิหม่ามเหล่านั้นมาเป็นมาตรฐานในการตัดสิน ตกลงเราตามซุนนะฮฺโดยตรงหรือผ่านบุคคลที่เราเชื่อถือจากเหล่านักวิชาการ ลองทบทวนให้ดีเถิด จะเกิดผล!


4. การแบ่งประเภทของบิดอะฮฺนั้นเป็นการวินิจฉัยของบรรดานักวิชาการ ทั้งฝ่ายที่แบ่งออกเป็น 5 ประเภทตามฮุ่ก่มตักลีฟีย์ (الأحكام التكليفية) อย่างที่คุณยกมาในคำถาม หรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งตามนี้ ก็ยังแบ่งประเภทของบิดอะฮฺอยู่ดี เช่น แบ่งเป็นบิดอะฮฺทางศาสนา (بدعةدينية) และบิดอะฮฺทางโลก (بدعةدنيوية) และยังแบ่งบิดอะฮฺทางศาสนา  ออกเป็นประเภทต่าง ๆ อีก (ดู บทนำของอัสสุนัน วัลมุบตะดะอาต ของอัลกุชัยรี่ย์)

สรุปคือ ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่ได้แบ่งประเภทของบิดอะฮฺเหล่านั้นหรอกครับ การแบ่งประเภทบิดอะฮฺของนักวิชาการเกิดจากการรวบรวมข้อมูล (الاسْتِقْرَاءُ)  และการวินิจฉัย (الاسْتِنبَاطُ)  เหมือนกับการแบ่งประเภทของหะดีษในวิชามุสตะละฮุ้ลหะดีษ , การแบ่งประเภทอายะฮฺในวิชาอุซูลุตตัฟซีร การแบ่งประเภทเตาฮีดหรือชิรฺก์ตลอดจนประเภทของกุฟร์และนิฟ๊าก ในวิชาอุซูลุดดีนนั่นแหล่ะครับ!

และเมื่อคุณอยากจะตามนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ถามว่าคุณจะตามอย่างไร? ลองพิจารณาดู อุละมาอฺนั้นเป็นคนธรรมดาไม่ใช่มะอฺซูมเหมือนนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) แต่อุละมาอฺที่ถูกและเจนจัดในสรรพวิชานั้นพวกเขาคือธรรมทายาทของบรรดานบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) อุละมาอฺประเภทนี้มีเยอะครับ และเพียงพอที่จะสืบสานซุนนะฮฺที่ถูกต้องสู่ผู้คนรุ่นหลัง



5. ผมแยกประเด็นตอบชัดเจนว่า การขึ้นเปลเด็ก เป็นประเพณี (عَادَاتٌ تَقَالِيْدُ)  ซึ่งจัดอยู่ในหมวดมุอามะลาต ซึ่งนักวิชาการระบุว่า สามารถกระทำได้ (إباحة) ตราบใดที่ไม่มีคำสั่งห้าม ระบุมาในเรื่องนั้น ๆ ส่วนโต๊ะครูจะบอกว่าเป็นเรื่องของศาสนา (عِبادَة) ก็ต้องหาหลักฐานที่สั่งใช้มา ถ้าไม่มีก็ต้องยุติที่หลักการ และก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่พวกเขากระทำหรือบอกกล่าวแก่ผู้คนทั่วไป

ส่วนการกินบุญบ้านคนตายและเมาลิดนั้น ผมก็ระบุในคำตอบแล้วว่านักวิชาการมีมุมมองต่างกันโดยเฉพาะเรื่องเมาลิด ส่วนกินบุญบ้านคนตายนั้นตัวผมขอรายงานจากครูของผมจากครูของท่านคือ อ.อาลี ไชยา (แบลี) ร.ฮ. ท่านกล่าวว่า ญุมฮูร คือ อุละมาอฺส่วนมากถือว่ามักรูฮฺ แต่ส่วนน้อยบอกว่าหะรอม นี่เพิ่มเติมให้ด้วยสายรายงานของผมเอง ครูของผมก็เคยเป็นศิษย์ของบาบอ อับดุลลอฮฺ บันดัง กะบง (ร.ฮ.) เจ้าของหนังสืออัลกะวากิบฯ นั่นแหล่ะ และ อ.อาลี ไชยา (ร.ฮ.) ก็เคยเรียนพิเศษกับบาบอ อับดุลลอฮฺ (ร.ฮ.) หลังจากที่ อ.อาลี ไชยา จบจากปอเนาะบือระมิงแล้วแต่ยังไม่ได้ไปมักกะฮฺ อ.อาลี ไชยาเป็นศิษย์ของโต๊ะบือระมิง (ฮัจยีวัน อะฮฺมัด บิน วัน อิดรีส (ร.ฮ.) เช่นเดียวกับบาบอ อับดุลลอฮฺ บันดัง กะบง (ร.ฮ.) ก็เป็นศิษย์โต๊ะบือระมิงเช่นกัน อันนี้เล่าให้ทราบเป็นวิทยาทาน


ส่วนอายะฮฺอัลกุรอานในซูเราะฮฺอัลฮัชรฺ (อายะฮฺที่ 7) นั้นเป็นเรื่องทรัพย์สงครามที่เรียกว่า ฟัยอฺ (اَلْفَئ)  แต่นักวิชาการถือหลักว่า \"อัลอิบเราะฮฺ บิ อุมูมิลลัฟซฺ ลา บิคุซูซิสสะบับ\" \"พิจารณาตามนัยกว้าง ๆ ของถ้อยคำ มิได้พิจารณาตามเหตุเฉพาะของการลงอัลกุรอาน\" จึงคุมถึงเรื่องการใช้ การห้ามที่มีรายงานมาจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในเรื่องอื่น ๆ ด้วย ซึ่งอายะฮฺนี้ใช้เป็นหลักฐานในเรื่องที่ผู้ศรัทธาจำต้องตามซุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ซึ่งเชื่อได้ว่า พวกเราทุกคนยอมรับว่าต้องตามซุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)

แต่การทำความเข้าใจกับซุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็เป็นเรื่องที่เราจำต้องอาศัยบรรดานักปราชญ์ผู้รู้ในการอธิบายความ มิใช่เราเข้าใจเอาเอง เอาง่าย ๆ ซุนนะฮฺคืออะไร? ซุนนะฮฺมีกี่ประเภท? ซุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ต้องปฏิบัติตามทั้งหมดทุกประเภทใช่หรือไม่?

ทั้งนี้ซุนนะฮฺบางประเภทเป็นเรื่องเฉพาะของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เรียกว่า \"ซุนนะฮฺคุซูซียะฮฺ\" เช่น การมีภรรยามากกว่า 4 คน เป็นต้น ซุนนะฮฺบางประเภทเป็นสิ่งที่แจ้งให้ทราบว่าสามารถกระทำได้ ไม่ทำก็ได้ เช่น ซุนนะฮฺ อิกฺรอรี่ยะฮฺ ในเรื่องการกินเนื้อสัตว์ตระกูลแย้ ถ้าเราบอกว่าซุนนะฮฺเป็นสิ่งที่เราจำต้องกระทำ ละทิ้งไม่ได้ คุณเคยกินแย้หรือเปล่าล่ะ? และถ้าบอกว่าซุนนะฮฺทั้งหมดทำแล้วได้บุญ ก็แสดงว่า การกินแย้กินแล้วได้บุญอย่างนั้นเหรอ?


ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า การจะเข้าใจหลักการที่ถูกต้องของศาสนานั้น จำต้องเรียนรู้และศึกษาอย่างเข้าใจและนำไปปฏิบัติตามที่รู้มา ความตั้งใจของคุณฮัซซานเป็นสิ่งที่น่าชมเชยและน่ายกย่อง เพราะการมีความมุ่งมั่นที่จะยึดในซุนนะฮฺที่ถูกต้อง  นั้นเป็นสิ่งที่ผู้ศรัทธาทุกคนปรารถนา ขอให้พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงฮิดายะฮฺให้แก่คุณฮัซซานในเรื่องดังกล่าว

والله اعلم بالصواب