อยากทราบด่วน (มารยาทในการเปิด-ปิดประชุม / ความเห็นต่างของผู้รู้)  (อ่าน 14282 ครั้ง)

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
อัสลามุอลัยกุมครับ

1.ผม อยากรู้อ่ะครับเกี่ยวกับท่านผู้รู้หลายๆท่านที่จบการศึกษาจากสถาบันเดียวกัน เช่นจาก อัซฮัร ก็มีอาจารย์หลายๆท่านจบจากที่นั่น แต่ทำไมทัศนะทางวิชาการที่ได้ร่ำเรียนมาจึงได้ต่างกัน บางครั้งต่างกันคนละขั่วเลย แถมยังกล่าวร้ายกันอีก อาจารย์คิดว่าเหตุผลเกิดจากอะไรครับ แล้วสถาบันศาสนา เช่น มาดีนะห์ มักกะห์ อัซฮัร อินเดีย หรือที่อื่นๆมีการสอนเป็นไปในทางเดียวกันหรือไม่ครับ
2.อยากทราบมารยาทใน การเปิดการประชุมมีซุนนะห์ให้ทำอะไร อ่านดุอาอะไรหรือเปล่าครับ แล้วเสร็จจากการประชุมนั้น มีซุนนะห์ให้อ่าน ซุบฮานะกัลลอฮุมม่า.....จนจบ หรือการซูเราะห์ อัลอัสริครับ ผมอยากนำไปใช้ในการประชุมในชมรมครับเพื่อเป็นบารอกัตในการประชุม

ขอบคุณครับ



ถามโดย - ไฝ่รู้  « เมื่อ: กรกฎาคม 17, 2009, 01:29:47 pm »

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
وعليكم السلام ورحمة الله و بركاته
   
1) ตราบใดที่พระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  ทรงประทานสติปัญญาและเจตจำนงค์เสรีแก่มนุษย์ ตราบนั้นมนุษย์ก็ย่อมมีความเห็นต่างกันแบบนานาจิตตังเป็นธรรมดา สถาบันทางการศึกษาไม่ว่าจะอยู่ในคาบสมุทรอาหรับลุ่มแม่น้ำในไทกริสยูเฟรติส  ลุ่มน้ำสินธุ หรือแม่น้ำคงคาโดยหลักพื้นฐานจะมีทิศทางเดียวกันคือ  ให้การศึกษาและเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องตามที่สถาบันกำหนดหลักสูตรเอาไว้  กระนั้นปัญหามิได้อยู่ที่หลักการแต่อยู่ที่ตัวบุคคลเป็นสำคัญ  เพราะคนเป็นผู้กำหนดหลักสูตร  คนเป็นผู้สอน  และคนเป็นผู้เรียน  

จึงต้องย้อนกลับไปดูเรื่องที่ว่าคือ  ปัญญาและเจตจำนงค์เสรี  คนอาจจะมีปัญญาเป็นพื้นฐานเหมือนกัน  แต่มีระดับปัญญาและความคิดที่ลุ่มลึกต่างกัน  กอรปกับการมีเจตจำนงค์เสรีก็เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดความคิดและทัศนะของแต่ละบุคคล คนหลายคนอาจจะเรียนมาจากครูคนเดียวกัน อยู่ในสถาบันเดียวกัน  แต่ก็ใช่ว่าคนเหล่านั้นจะมีสติปัญญาในระดับเท่ากันหรือคิดเหมือนกันเสมอไป  

ทั้งนี้เพราะแต่ละคนย่อมมีปัจจัยเหตุที่ต่างกันเฉพาะตัวในการส่งผลต่อความคิดและทัศนะตลอดจนมุมมอง การเห็นต่าง ท่าที ทัศนคติจึงเป็นสิ่งที่มีผลต่างกันในแต่ละบุคคลเป็นธรรมดา เมื่อความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดาเป็นปกติวิสัยก็จงปล่อยวางให้มันเป็นไปตามธรรมดา อย่าทำให้สิ่งที่เป็นปกติธรรมดาเป็นเรื่องผิดปกติและผิดวิสัยของมันเพราะนั่นจะทำให้ความวิปริตผิดเพี้ยนเกิดขึ้นตามมา  

ปัญหาในทุกวันนี้เกิดจากการไม่ยอมรับความคิดที่เห็นต่าง  และมองว่าคนที่คิดต่างจากตนเป็นคนผิดปกติและลามปามไปสู่การกล่าวหาว่าคนที่คิดไม่เหมือนตน  คิดต่างไปจากตนเป็นคนผิด  แล้วลงเอยด้วยการสงวนความถูกต้องเอาไว้เฉพาะตนหรือเฉพาะกลุ่มชนที่คิดเหมือนตนเท่านั้น  สรุปก็คือ  เป็นเรื่องของคนที่ชอบทำให้เรื่องที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องกลับกลายเป็นเรื่องยุ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะไม่เกี่ยวกับสถาบันเลยแม้แต่น้อย


2) มารยาทในการเปิดประชุมนั้นไม่มีซุนนะฮฺระบุโดยชัดเจนว่ามีรูปแบบอย่างไร แต่สิ่งที่ควรปฏิบัติตามซุนนะฮฺโดยทั่วไปที่กำหนดหลักการเอาไว้กว้างๆ  ก็เช่น  การให้สล่ามแก่ผู้เข้าร่วมประชุม  การกล่าวสรรเสริญพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และการประสาทพรแก่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) หรือจะมีการอ่านอัลกุรอ่านเช่น ซูเราะฮฺอัลฟาติฮะฮฺ  อย่างที่นิยมทำกันก็ถือว่าสามารถกระทำได้ถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานระบุในซุนนะฮฺ แต่ก็ไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด

กอรปกับเรื่องดีด้วยซ้ำไปที่จะเริ่มประชุมด้วยกับการอ่านพระดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นการย้ำเตือนให้ระลึกอยู่เสมอว่า  การพูดคุยที่จะเกิดขึ้นในที่ประชุมต้องเป็นไปตามหลักคำสอนของศาสนาซึ่งถูกรวมเอาไว้ในบทซูเราะฮฺอัลฟาติฮะฮฺ  ส่วนการปิดประชุมนั้นมีซุนนะฮฺระบุเอาไว้อย่างชัดเจนในการกล่าวบทขอพรหรือบทรำลึกที่เรียกว่า บทถ่ายถอนความผิดที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการประชุม  (كُفَّارَةُ الُمَجْلِسِ)  โดยมีถ้อยคำที่ถูกระบุในซุนนะฮฺให้กล่าวว่า :

سُبْحَانَكَ اللهُمَّ وَبِحَمْدِكَ  أَشْهَدُ أَنْ لاَإِلهَ إِلاَّ أَنْتَ أستغفِرُكَ  وأتو بُ إليكَ

ซึ่งสำนวนนี้ท่านอบูดาวูดได้รายงานคัดลอกเอาไว้จากท่าน อับดุลลอฮฺ อิบนุ อัมร์ , อบูฮุรอยเราะฮฺ และอบูบะร่อซะฮฺ อัลอัสละมีย์ ท่านอัตติรมีซีย์รายงานจากอบูฮุรอยเราะฮฺ และอันนะซาอีย์ รายงานจากหะดีษของท่านอบูบะร่อซะฮฺ อัลอัสละมีย์ และมีอีกสำนวนหนึ่งคือ

سبحانَ اللهِ وبِحَمْدِه  ،  سُبْحَانَكَ اللهُمَّ وبحمدك أشهد أن لاإلهَ الاأَنتَ  استغفرك وأتوب إليك

ซึ่งท่านอัลฮากิมได้คัดลอกเอาไว้จากหะดีษของท่านญุบัยร์ อิบนุ มุฏอิม (อัดดีนุนนะซีฮะฮฺ ฟิล อัซการ อัลมัชรูอะฮฺ อัซซ่อฮีฮะฮฺ ; อุซามะฮฺ อิบนุ อับดิลฟัตตาฮฺ อิบนิ ฮะซัน อัลบัฏเฏาะฮฺ หน้า 92) ส่วนที่ให้อ่านซูเราะฮฺอัลอัศริ นั้นมีหลักฐานจากรายงานของอัฏฏ่บะอรอนีย์ในอัลเอาซัฏ , อัลบัยหะกีย์ ในชุอับ อัลอีมาน จากอบี  มุลัยกะฮฺ  อัดดารีมีย์  ว่า  :  ชาย  2  คนจากเหล่าสาวกของท่านร่อซู้ล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  เมื่อทั้งสองได้พบปะกัน  ทั้งสองจะไม่แยกจากกันจนกว่าหนึ่งในสองคนจะได้อ่านซูเราะฮฺอัลอัศริแก่อีกคนหนึ่ง  หลังจากนั้นก็จะให้สล่ามซึ่งกันและกัน  (อัดดุ๊รฺรุ้ลมันซู๊ร  ฟิตฺตัฟซีร  อัลมันซู๊ร ;  อัสสุยูฎีย์  เล่มที่  8  หน้า  621)


والله أعلم بالصواب