ตอล๊าก  (อ่าน 12011 ครั้ง)

Amrung khemthong

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
ตอล๊าก
« เมื่อ: มิถุนายน 22, 2011, 03:12:29 pm »
1.ถาม อ.อาลี ดังนี้ครับ การอย่าภรรยา1ตอล๊ากขาดหรือไม่แต่ยังจ่ายนัฟเกาะห์ให้ทุกเดือน2.ถ้าไม่ขาดสามารถคืนดีได้ในระยะเวลาใดอย่ามาประมาณสามเดือนแล้ว3.มีระยะเวลาคืนดีกันหรือไม่4.การอย่าภรรยาจำเป็นต้องมีพยานหรือไม่(เพื่อนฝากถาม)ญะซากั้ลลอฮุคอยรอน.วัสลาม

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : ตอล๊าก
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 13, 2011, 11:24:34 pm »
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد
 
1.การหย่าร้าง 1 เฏาะล๊ากถือเป็นการหย่าแบบคืนดีได้ (เฏาะล๊าก-ร็อจญ์อียฺ) กล่าวคือเมื่อการหย่าเป็นผลแล้ว ภรรยาก็จำต้องตั้งอิดดะฮฺ (ช่วงระยะเวลาครองตน) อันเป็นผลมาจากการหย่านั้น หากภรรยาเป็นหญิงที่มีรอบเดือนเป็นปกติ ช่วงระยะเวลาอิดดะฮฺของนางก็คือ 3 เกลี้ยง (หมดประจำเดือน) แต่ถ้าภรรยาเป็นหญิงที่ไม่มีรอบเดือนตามปกติ เช่น ไม่มีประจำเดือนมาเลยหรือหมดประจำเดือนไปแล้ว ก็ให้กำหนดระยะเวลาอิดดะฮฺของนาง 3 เดือนตามปฏิทินทางจันทรคติ


ดังนั้นในช่วงที่ภรรยายังอยู่ในกำหนดเวลาอิดดะฮฺของนาง ฝ่ายสามีก็ย่อมมีสิทธิคืนดี (รอจญ์อะฮฺ) กับภรรยาของตนได้โดยไม่ต้องทำข้อตกลงนิกาหฺและกำหนดมะฮัรใหม่แต่อย่างใด เมื่อคืนดี (รอจญ์อะฮฺ) แล้ว ฝ่ายสามียังคงเหลือสิทธิในการเฏาะล๊ากอีก 2 ครั้ง ส่วนถ้าหากสามีไม่คืนดี กับภรรยาของตนในช่วงเวลาอิดดะฮฺของภรรยาแล้วปล่อยให้เวลาอิดดะฮฺของนางหมดลง การหย่านั้นก็จะกลายเป็นการหย่าขาดแบบเล็ก (บาอิน ซุฆฺรอ) กล่าวคือ ถ้าฝ่ายสามีประสงค์จะคืนดีกับภรรยาในกรณีนี้ จำต้องทำข้อตกลงนิกาหฺ (อักดุนนิกาหฺ) ใหม่ และกำหนดมะฮัรใหม่


ส่วนการจ่ายนะฟะเกาะฮฺให้แก่ภรรยาที่ถูกหย่านั้นให้พิจารณาว่านางตั้งครรภ์ในขณะที่ถูกหย่าหรือไม่ หากนางตั้งครรภ์สามีจำต้องจ่ายนะฟะเกาะฮฺทุกประเภทตามที่ศาสนากำหนดไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และปัจจัยอื่นๆ จนกว่านางจะคลอดบุตร และสามีจำเป็นต้องจัดการเรื่องที่อยู่อาศัยให้แก่นางด้วย หากนางมิได้ตั้งครรภ์ในขณะที่ถูกหย่า การจ่ายนะฟะเกาะฮฺก็ไม่จำเป็นเหนือผู้เป็นสามี ยกเว้นเรื่องที่อยู่อาศัยเท่านั้น ดังนั้นตามประเด็นที่ถามมาเมื่อสามีหย่าภรรยาของตน 1 เฏาะล๊ากก็ยังไม่ขาดจากกันจนกว่านางจะหมดช่วงเวลาอิดดะฮฺของนางดังที่กล่าวมาข้างต้น หากสามีไม่คืนดีกับภรรยาและปล่อยให้นางอยู่ในอิดดะฮฺจนสิ้นสุดลงก็ถือว่าขาดกัน (บาอิน ซุฆรอ) จะจ่ายนะฟะเกาะฮฺในช่วงก่อนหมดอิดดะฮฺหรือไม่ก็ตาม



2. ดังที่กล่าวมาในข้อที่ 1 กล่าวคือ การหย่า 1 เฏาะล๊ากนี้เป็นการหย่าแบบคืนดีได้ (เฏาะล๊าก รอจญ์อียฺ) หากสามีประสงค์จะคืนดี (รอจญ์อะฮฺ) ก็ต้องกระทำในช่วงก่อนการหมดระยะเวลาอิดดะฮฺของนาง ถ้านางมีรอบเดือนเป็นปกติก็นับ 3 เกลี้ยง (หมดประจำเดือน 3 ครั้ง) ถ้าไม่มีประจำเดือนมาก่อนหรือหมดประจำเดือนไปแล้ว (วัยทอง) ก็ให้นับระยะเวลา 3 เดือนตามปฏิทินทางจันทรคติ (เดือนอิสลาม)


ดังนั้นที่ระบุมาว่าหย่ามาประมาณ 3 เดือนแล้วก็ต้องพิจารณาสภาพของภรรยาว่าเป็นหญิงมีประจำเดือนปกติหรือไม่ ถ้ามีประจำเดือนปกติให้นับ 3 เกลี้ยง (ซึ่งในช่วง 3 เดือนนั้นนางอาจจะหมดประจำเดือน (เกลี้ยง) ไปแล้ว 3 ครั้ง ก็ถือว่าขาดแล้ว หรืออาจจะยังไม่ครบ 3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการมีรอบเดือนและช่วงเวลานับอิดดะฮฺของนางเป็นเกณฑ์) หากนางไม่เคยมีประจำเดือนมาก่อน (เช่นหญิงที่มีความผิดปกติทางร่างกาย) หรือเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว (วัยทอง) ก็นับระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งก็ต้องไปดูเท็จจริงว่าครบกำหนดเวลา 3 เดือนมาแล้วหรือยัง



3. ระยะเวลาคืนดีก็คือ ตราบใดที่ภรรยาซึ่งถูกหย่ายังอยู่ในอิดดะฮฺก็คืนดีได้เลย โดยไม่ต้องทำข้อตกลงนิกาหฺ (อักดุน-นิกาหฺ) ใหม่ ไม่ต้องกำหนดมะฮัรใหม่ แต่ถ้าปล่อยเอาไว้โดยไม่คืนดีจนกระทั่งนางพ้นอิดดะฮฺแล้ว จะคืนดีได้ก็ด้วยการทำข้อตกลงนิกาหฺใหม่และกำหนดมะฮัรใหม่ ซึ่งกรณีนี้เป็นสิทธิของฝ่ายหญิงแล้วว่าจะยอมคืนดีหรือไม่ จะยอมแต่งใหม่หรือไม่ เพราะก่อนหน้านั้นสามีไม่ยอมใช้สิทธิของตนคือการคืนดีในช่วงอิดดะฮฺแต่ปล่อยให้สิทธิของตนหมดไป



4. การหย่าภรรยาไม่จำเป็นต้องมีพยานรับรู้ครับ เมื่อสามีกล่าวคำหย่าที่ชัดเจน (เศาะรีหฺ) ก็ถือว่าการหย่าเป็นผลแล้ว หรือกล่าวคำหย่าที่กำกวม (กินายะฮฺ) แต่ขณะที่กล่าวมีเจตนาหย่า (นียะฮฺ) ก็ถือว่าการหย่าเป็นผลแล้วจะมีพยานรับรู้หรือไม่ก็ตาม

والله اعلم بالصواب