วิธีการสูยุด บอกด่วนๆๆ  (อ่าน 7082 ครั้ง)

ฟารุก

  • บุคคลทั่วไป
วิธีการสูยุด บอกด่วนๆๆ
« เมื่อ: กรกฎาคม 08, 2011, 09:14:34 pm »
salam  salam

อาจารย์ครับในการละหมาดในการสูยุดนั้นเท้าทั้งสองข้างของเรา หากจำเป็นต้องชิดกันไหมครับ หากส้นเท้าทั้งสองข้างไม่ชิดกันการละหมาดนั้นใช่ไม่ได้จิงไหม การทำให้ส้นเท้าทั้งสองชิดกัน เป็นรู่ก่นของการละหมาดเปล่าคับ
 อาจารย์ครับการสูยุดติลาวะฮฺ มีวิธีการอย่างไรคับ เห็นผู้รู้บางคนบอกว่า เมื่อเราอ่านกรุอานแล้วถึงที่สูยุดเราต้องสูยุด หลังจากขึ้นจากสูยุดเราต้องให้สลามทั้งด้านขวา และซ้สย แต่ บางท่านบอกว่า ไม่มีการให้สลาม ตกลงแบบไหนถูกครับ
อาจารย์เวลาการสิ้นสุดละหมาดอีชาอยู่ช่วงไหนครับ  แล้วการเพื่มประโยค อัศศอลาตุคัยรุมมีนั้นเนา ในการอาซานช่วงละหมาดซุบฮี เป็นสิ่งที่ต้องห้ามจริงหรือครับ  salam

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : วิธีการสูยุด บอกด่วนๆๆ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 11, 2011, 07:56:49 am »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

การทำให้ส้นเท้าชิดกันในขณะก้มสูหญูดนั้นอัฎ-เฏาะหาวียฺและอิบนุ คุซัยมะฮฺตลอดจนอัล-หากิมได้รายงานเอาไว้และอัล-หากิมระบุว่าเป็นสายรายงานเศาะฮิหฺ ซึ่งอัซซะฮฺบียฺเห็นพ้องในการระบุของอัล-หากิม โดยสำนวนหะดีษระบุว่า (يَرُصُّ عَقِبَيْهِ) “ท่านนบี(ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) จะเชื่อมส้นเท้าชิดกัน และการกระทำเช่นนี้เป็นสุนนะฮฺที่นบีเคยกระทำ แต่ไม่ถือเป็นรุก่นของการสุหญูด


 ดังนั้นหากส้นเท้าไม่ชิดกันขณะก้มสุหญูดก็ไม่ถือว่าเสียละหมาดแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันการแยกส้นเท้าขณะก้มสุหญูดนั้น อิหม่ามอัช-ชาฟิอียฺและนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺระบุว่า ส่งเสริมให้ผู้ที่สุหญูดทำการแยกระหว่างหัวเข่าทั้งสองและระหว่างส้นเท้าทั้งสอง โดยแยกระหว่างกันประมาณ 1  คืบมือ (กิตาบอัล-มัจญมูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 3 หน้า 407)


ส่วนหะดีษของอบีหุมัยดฺที่อบูดาวูดและอัล-บัยฮะกียฺรายงานจากสายรายงานของบะกียะฮฺ อิบนุ อัล-วะลีด จากอุตบะฮฺ อิบนุ อบี หะกีม ว่า “เมื่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ก้มสุหญูดท่านได้แยกระหว่างขาอ่อนทั้งสองข้างของท่านนั้น สายรายงานมีปัญหา (อ้างแล้ว 3/406)


ส่วนการสุหญูดอัต-ติลาวะฮฺนั้นที่เห็นพ้องคือให้ก้มลงุหญูด 1 ครั้งเหมือนการสุหญูดในละหมาดพร้อมกับการกล่าวตักบีร (อัลลอฮุอักบัร) ซึ่งหากเป็นการอ่านในละหมาดก็ให้กล่าวตักบีรโดยไม่ต้องยกมือ และให้กล่าวตักบีรขณะเงยขึ้นจากการสุหญูดอัต-ติลาวะฮฺโดยไม่ต้องยกมืออีกเช่นกัน (อ้างแล้ว 3/558,559)


แต่ถ้าหากเป็นการอ่านนอกละหมาดก็ให้กล่าวตักบีร โดยยกมือทั้ง 2   ข้างพร้อมกับตั้งเจตนาสุหญูดอัต-ติลาวะฮฺ แล้วให้กล่าวตักบีรอีกครั้งโดยไม่ต้องยกมือแล้วลงก้มสุหญูด ในขณะก้มลงสุหญูดนั้นถือว่าต้องมีเฏาะอฺมะอฺนีนะฮฺเป็นเงื่อนไขด้วย ต่อมาก็เงยขึ้นจากการสุหญูดพร้อมกับการตักบีรซึ่งการกล่าวตักบีรขณะเงยขึ้นนี้ถือเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้กระทำ (มุสตะหับ)


 ถามว่าต้องมีการให้สล่ามเป็นเงื่อนไขที่ทำให้การสุหญูดใช้ได้หรือไม่? ในมัซฮับมี 2 คำกล่าวที่มัชฮูร ที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ) ถือว่าการให้สลามเป็นเงื่อนไข ส่วนการตะชุฮฺฮุดก่อนให้สลามนั้นที่ถูกต้องที่สุดไม่ส่งเสริมให้กระทำเพราะไม่มีที่มาอย่างชัดเจนในเรื่องนี้ (อ้างแล้ว 3/561-562)


อิบนุ อัล-ก็อยยิม (ร.ฮ.) กล่าวว่า ไม่มีการระบุจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ว่าท่านกล่าวตักบีรสำหรับการเงยขึ้นจากการสุหญูดนี้ และไม่มีการถ่ายทอดจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ในการอ่านตะขุฮฺฮุดและให้การสลามเลย และอะหฺมัดตลอดจนอัช-ชาฟีอียฺก็ปฏิเสธการให้สลามในเรื่องนี้ (ซาดุลมะอาด ฟี ฮัดยิ คอยริลฺ อิบาด 1/155)


ดังนั้นหากผู้ที่สุหญูดอัต-ติลาวะฮฺไม่ให้สลามเมื่อเงยขึ้นมาจากการสุหญูดก็เป็นสิ่งที่กระทำได้ตามทัศนะที่ถูกต้อง (เศาะฮีหฺ) ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ส่วนทัศนะที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ) ถือว่าเป็นเงื่อนไขในการที่จะต้องให้สลามด้วย


การละหมาดอิชาอฺนั้นเรื่อยไปนับแต่สิ้นสุดเวลาละหมาดมัฆริบจนถึงการปรากฏขึ้นของแสงอรุณจริง (อัล-ฟัจญรุศศอดิก) ซึ่งนักวิชาการแบ่งเวลาของการละหมาดอิชาอฺเอาไว้ 4 เวลา คือ เวลาฟะฏีละฮฺ คือเมื่อเริ่มเข้าเวลาอิชาอฺ เวลาอิคติยารฺ คือนับแต่พ้นช่วงเวลาแรกเรื่อยไปจนถึง 1/3 ของเวลากลางคืนตามทัศนะที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ) และในคำกล่าวหนึ่ง คือ เที่ยงคืน , เวลาอัล-ญะวาซ คือเรื่อยไปจนกระทั่งการปรากฏขึ้นของแสงอรุณครั้งที่สอง (แสงอรุณจริง) และเวลาอัล-อุ๊ซรุ คือ เวลามัฆริบสำหรับบุคคลที่ละหมาดรวมแบบตักดีม (คือทำอิชาอฺรวมในเวลามัฆริบ) เนื่องจากเดินทางหรือฝนตก (อ้างแล้ว 3/43 , อัล-ฟิกฮุลมันฮะญียฺ 1/107)


กรณีการที่มุอัซซินเพิ่มประโยค อัต-ตัษวีบ คือการกล่าวประโยค الصَّلَاةُخَيرٌمِنَ النَّوْمِ   2  ครั้งหลังการกล่าวประโยค (الحَيْعَلَة) ในการอะซานละหมาดศุบฮินั้นมีรายงานปรากฏอยู่ในหะดีษของ อบู มะหฺซูเราะฮฺ (أَبُوْمَحْذُوْرَة) ซึ่งบันทึกโดย อบูดาวูด และท่านอื่นๆ ด้วยสายรายงานที่ดี (ญัยยิดฺ)


และมีรายงานจากท่านอะนัส (ร.ฎ.) ว่า  ส่วนหนึ่งจากสุนนะฮฺนั้น เมื่อมุอัซซินได้กล่าวประโยค (حَيَّ عَلَى الفَلَاحِ)  ในการอะซานละหมาดฟัจญร์แล้ว มุอัซซินก็กล่าวว่า   (الصلاةخيرمن النوم ، الله أكبر الله أكبر لاإله إلاالله)  รายงานโดย อิบนุ คุซัยมะฮฺ ในเศาะฮีหฺของท่าน และรายงานโดย อัด-ดาเราะกุฏนียฺ และอัล-บัยฮะกียฺ ซึ่งท่านระบุว่า “สายรายงานเศาะฮีหฺ”


และในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺในเรื่องการกล่าวประโยคอัต-ตัษวีบ นั้นมี 2 แนวทาง (เฏาะรีก) ที่ถูกต้อง (เศาะฮีหฺ) ตามที่เจ้าของตำราอัล-มุฮัซซับและปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้คือ เป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริมให้กล่าวโดยถือตามการชี้ขาดของหะดีษที่อบูมะหฺซูเราะฮฺรายงาน แต่ถ้ามุอัซซินละทิ้งประโยคอัต-ตัษวีบก็ถือว่าการอะซานนั้นใช้ได้ แต่พลาดฟะฎีละฮฺในการกล่าวประโยคอัต-ตัษวีบ


ส่วนเจ้าของตำราอัต-ตะฮฺซีบระบุว่า หากมีการกล่าวประโยคอัต-ตัษวีบในการอะซานครั้งที่ 1  ก็ไม่ต้องมีการกล่าวประโยคอัต-ตัษวีบอีกในการอะซานครั้งที่สอง (ของการอะซานละหมาดศุบฮิ) ตามประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อ้างแล้ว 3/99,101)


ส่วนกรณีที่ปรากฏในคำกล่าวใหม่ (เกาลุน-ญะดีด) ของอิหม่ามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ว่า มักรูฮฺในการกล่าวประโยคอัต-ตัษวีบในการอะซานละหมาดศุบฮินั้นเพราะท่านอิหม่ามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ถือในสำนวนการรายงานของอบูมะหฺซูเราะฮฺจากสายรายงานหนึ่งที่อบูมะหฺซูเราะฮฺไม่เล่าถึงประโยคอัต-ตัษวีบไว้ คือสายรายงานที่บันทึกโดยมุสลิม แต่ที่ถูกต้องนั้นอบูมะหฺซูเราะฮฺได้ระบุเอาไว้ในสายรายงานของอบูดาวูด และจริงๆ แล้วมีตัวบทที่รายงานจากอิหม่ามอัช-ชาฟิอียฺเองทั้งในคำกล่าวเดิม (เกาลุนเกาะดีม) และคำกล่าวใหม่ (เกาลุนญะดีด) ในการส่งเสริมให้กล่าวประโยคอัตตัษวีบซึ่งเจ้าของตำราอัต-ตะติมมะฮฺถ่ายทอดเอาไว้ (อ้างแล้ว 3/101)


ดังนั้นการกล่าวประโยคอัต-ตัษวีบ (الصَّلَاةُخَيرٌمِنَ النَّوْمِ ) ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺจึงถือเป็นสุนนะฮฺในการอะซานศุบฮิ และเป็นทัศนะที่มีรายงานจากท่านอุมัร (ร.ฎ.) , อับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ท่านหะสัน (ร.ฎ.) , ท่านอัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ , อิบนุสิรีน , อัซ-ซุฮฺรียฺ , อิหม่ามมาลิก , อัษ-เษารียฺ , อิหม่ามอะหฺมัด , อิสหาก , อบูเษาริน และดาวูด ส่วนอิหม่ามอบูหะนีฟะฮฺไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด (อ้างแล้ว 3/102)

والله اعلم بالصواب