บุตรบุญธรรม  (อ่าน 7906 ครั้ง)

อับดุลการีม กมลา ภูเก็ต

  • บุคคลทั่วไป
บุตรบุญธรรม
« เมื่อ: มิถุนายน 29, 2011, 11:44:14 am »
อัสลามูอาลัยกุม ขอรบกวนถามอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องการ รับบุตรบุญธรรมครับ คือถ้าหากเราไม่สามรถมีบุตรได้ จึงรับบุตรบุญธรรม มาเลี้ยงดูจึงขอรบกวนถามอาจารย์เป็น ข้อๆ ดังนี้ครับ
1 อิสลามอนุญาติให้รับบุตรบุญธรรมได้ไหมครับ
…….ถ้าหากเรารับเลี้ยงดูบุตรบุญธรรมได้
2 เราจะต้องมีหลักในการเลี้ยงดูอย่างไร
3 ในการที่เราอยู่ร่วมกันเราต้องมีวิธีปฏิบัติอย่างไร (ในเรื่อง เอาเราะห์)
…..ขอรบกวนอาจารย์ช่วยแสดงหลักฐาน จากอัลกุรอาน,อัลฮาดิส ที่กล่าวถึงเรื่องบุตรบุญธรรมนะครับ
               
                                                      ญาซากัลลอฮูฆ็อยร็อน

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : บุตรบุญธรรม
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 18, 2011, 08:22:44 pm »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

1. การรับบุตรบุญธรรมเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ในศาสนาอิสลาม ซึ่งในสังคมอาหรับยุคญาฮิลียะฮฺ การนิยมในเรื่องนี้เป็นที่แพร่หลาย แม้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) เองก็เคยรับท่านซัยดฺ อิบนุ หาริษะฮฺ (ร.ฎ.) เป็นบุตรบุญธรรม จนผู้คนเรียกท่านซัยดฺว่า “ซัยดฺบุตรของมุฮัมมัด” แต่ต่อมาพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานอัล-กุรอานมาเพื่อยกเลิกจารีตดังกล่าวและถือเป็นที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาดว่า


وَمَا جَعَلَ أَدْعِيَاءَكُمْ أَبْنَاءَكُمْ ۚ ذَٰلِكُمْ قَوْلُكُم بِأَفْوَاهِكُمْ ۖ وَاللَّـهُ يَقُولُ الْحَقَّ وَهُوَ يَهْدِي السَّبِيلَ ﴿٤﴾ ادْعُوهُمْ لِآبَائِهِمْ هُوَ أَقْسَطُ عِندَ اللَّـهِ ۚ فَإِن لَّمْ تَعْلَمُوا آبَاءَهُمْ فَإِخْوَانُكُمْ فِي الدِّينِ وَمَوَالِيكُمْ

ความว่า : “และอัลลอฮฺมิได้ทรงทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นบุตรของพวกท่านเป็นบุตรของพวกท่านจริงๆ นั่นเป็นคำพูดตามปากของพวกท่าน และอัลลอฮฺทรงกล่าวความจริงและพระองค์ทรงชี้นำหนทาง พวกท่านจงเรียกขานพวกเขายังบรรดาบิดาที่แท้จริงของพวกเขาเถิด มันเป็นสิ่งชอบธรรมยิ่งนัก ณ อัลลอฮฺ ดังนั้นหากพวกท่านไม่รู้ถึงเหล่าบิดาของพวกเขา พวกเขาก็คือพี่น้องร่วมศาสนาและเป็นพวกพ้องของพวกท่าน”  (สูเราะฮฺ อัล-อะหฺซาบ อายะฮฺที่ 4-5)


เหตุที่การรับบุตรบุญธรรมเป็นสิ่งต้องห้ามก็เพราะเป็นการกล่าวอ้างบุคคลว่าเป็นเชื้อสายของตน ทั้งๆ ที่บุคคลผู้นั้นเป็นคนอื่น บุตรบุญธรรมไม่ใช่ลูกที่สืบเชื้อสาย พ่อแม่บุญธรรมก็มิใช่ผู้ให้กำเนิด การกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง และจะมีผลในระยะยาวต่อเด็กเมื่อรับรู้ว่าตนมิใช่ลูกที่แท้จริงของบุคคลที่ตนเรียกว่า พ่อ หรือ แม่ ดังนั้นเมื่ออายะฮฺดังกล่าวประทานลงมา การรับบุตรบุญธรรมจึงถูกยกเลิกโดยเด็ดขาด


และต่อมาอายะฮฺที่ 37 สูเราะฮฺ อัล-อะหฺซาบจึงถูกประทานลงมาเพื่อตอกย้ำในเรื่องนี้ กล่าวคือ ภายหลังท่าน ซัยดฺ อิบนุ หาริษะฮฺ (ร.ฎ.) ซึ่งเคยเป็นลูกเลี้ยงหรือบุตรบุญธรรมของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ระหองระแหงกับท่านหญิงซัยนับ บินตุ ญะหฺชิน (ร.ฎ.) และท่านซัยดฺได้หย่าขาดจากนาง ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงได้อยู่กินกับพระนางฉันท์สามีภรรยา



ซึ่งถ้าหากถือตามจารีตของชาวอาหรับในเรื่องนี้ก็เท่ากับว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) รับเอาอดีตบุตรสะใภ้ของท่านมาเป็นภรรยา เพราะซัยดฺเป็นบุตรบุญธรรมของท่าน แต่ในข้อเท็จจริง ซัยดฺมิใช่บุตรอันเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของท่าน แต่ซัยดฺเป็นบุตรของหาริษะฮฺ จึงไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใดในการที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) จะรับท่านหญิงซัยนับมาเป็นภรรยาเพราะซัยนับมิใช่ลูกสะใภ้ของท่านตามข้อเท็จจริง



การรับบุตรบุญธรรมที่อิสลามยกเลิกและถือเป็นสิ่งต้องห้ามก็คือ การที่บุคคลรับเอาเด็กคนหนึ่งมาเป็นบุตรของตนทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าเด็กผู้นั้นเป็นลูกคนอื่น และอ้างว่าเด็กคนนั้นเป็นเชื้อสายและครอบครัวของตน มอบสิทธิของบุตรตามเชื้อสายทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้อยู่รวมกันได้ในฐานะลูกแท้ๆ , ห้ามแต่งงานและมีสิทธิในการรับมรดกเหมือนลูกแท้ๆ เป็นต้น นี่คือการรับบุตรบุญธรรมที่อิสลามห้าม



อย่างไรก็ตาม มีการอุปการะเลี้ยงดูอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมิใช่เป็นการรับบุตรบุญธรรม (ตะบันนียฺ) ถึงแม้ว่าจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน คือการอุปการะเด็กกำพร้า หรือเด็กอนาถานำมาเลี้ยงดู ให้อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัยและการศึกษาอมรมโดยให้ความรักและปกครองเหมือนลูกทั้งนี้โดยไม่มีการอ้างว่าเด็กเป็นเชื้อสายหรือเป็นลูกของตนตลอดจนไม่มีการรับรองสิทธิเหมือนลูกโดยเชื้อสาย


ถ้าหากต้องการประกันอนาคตของเด็กด้วยการมีทรัพย์สิน ผู้อุปการะก็สามารถยกทรัพย์สินส่วนหนึ่งให้แก่เด็กโดยสิเน่หา (ฮิบะฮฺ) หรือกระทำวะศียะฮฺ (พินัยกรรม) เอาไว้ให้เขามีสิทธิในอัตรา 1 ใน 3 ของทรัพย์สินมรดก และทั้งสองกรณีให้กระทำในขณะที่ผู้อุปการะยังมีชีวิตอยู่ (อัล-หะลาล วัล-หะรอม ; ดร.ยูซุฟ อัล-กอรฎอวียฺ หน้า 199-200)



2, 3 เป็นผลมาจากข้อที่ 1 ที่ตอบไปแล้วว่าการรับบุตรบุญธรรมเป็นสิ่งที่ศาสนาบัญญัติห้าม ส่วนการอุปการะเลี้ยงเด็กกำพร้าหรือเด็กอนาถานั้นสามารถกระทำได้ แต่ในการอยู่ร่วมกันและการคลุกคลีด้วยนั้นก็ให้ถือว่าเป็นคนอื่น ทั้งในเรื่องของเอาเราะฮฺ การอยู่สองต่อสอง เมื่อเด็กบรรลุ  ศาสนภาวะแล้ว


ดังนั้น ทางออกที่เสนอให้ในเรื่องนี้คือ เมื่อไม่มีบุตรก็ให้รับเอาหลานแท้ๆ ซึ่งเป็นลูกของพี่สาวหรือน้องสาวหรือพี่ชายหรือน้องชายเอามาอุปการะเลี้ยงดู เด็กเมื่อบรรลุศาสนภาวะแล้วจะเป็นหญิงหรือชายเขาก็คือหลานแท้ๆ ของเราซึ่งเราแต่งงานด้วยไม่ได้ เพราะเป็นมะหฺร็อม


ปัญหาเรื่องการอยู่ร่วมกันก็จะไม่เหมือนกับกรณีของเด็กอื่นๆ เขาอาจจะเรียกว่าเราเป็นพ่อหรือแม่ก็ได้แต่นั่นเป็นเพียงคำเรียกที่ไม่ได้ทำให้เราเป็นพ่อหรือแม่ที่แท้จริงของเด็ก เพราะเด็กมิใช่ลูกแท้ๆ ของเรา แต่เป็นเพียงหลานแท้ๆ ซึ่งมีพ่อและแม่ของเขา ที่ดีที่สุดก็คือให้เขาเรียกเราว่า ลุง-ป้า หรือ อา นั่นดีที่สุดเพราะไม่ทำให้เด็กสับสน ทางออกนี้น่าจะดีที่สุดครับ!

والله اعلم بالصواب