สำนวนอาซาน (ที่มาของการอะซาน ซุนนีหฺ-ชีอะฮฺ)  (อ่าน 9521 ครั้ง)

halim

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 38
salam อ.อาลี ผมมีเรื่องติดใจอีกแล้วครับ เนื่องจากไปอ่านเนื้อหาของชีอะห์
อยากทราบว่าสำนวนอาซานของกลุ่มซุนนะมีทีมาอย่างไร
แล้วสำนวนการอาซานที่เพิ่มตอนซุบฮ์  อัศเศาะลาตุค็อยรุมมินันเนาว์มฺ มีที่มาอย่างไร ชีอะห์บอกปัญญาอ่อนมากสำนวนนี้ครับ
อาจารย์ช่วยอธิบายให้ผมเข้าใจหน่อยครับ JAZAKALOH HUKHAIRAN  salam

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : สำนวนอาซาน (ที่มาของการอะซาน ซุนนีหฺ-ชีอะฮฺ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 27, 2011, 09:29:02 am »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
      الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد


สำนวนการอะซานของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺนั้นมีที่มาจากอัล-หะดีษที่รายงานจาก อับดุลลอฮฺ อิบนุ ซัยดฺ อิบนิ อับดิร็อบฺบิฮฺ อัล-อันศอรียฺ (ร.ฎ.) บันทึกโดยอบูดาวุดด้วยสายรายงานที่เศาะฮีหฺและอัต-ติรมีซียฺได้รายงานบางส่วนด้วยสายรายงานของอบีดาวูดและกล่าวว่า หะสัน-เศาะฮีหฺ (กิตาบ อัล-มัจญมูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ , อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3 หน้า 82)


ซึ่งในเนื้อเรื่องของอัล-หะดีษที่ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ ซัยดฺ (ร.ฎ.) รายงานนั้นระบุว่าเป็นความฝันของท่านที่มีชายคนหนึ่งถือระฆังมาในมือ ท่านอับดุลลอฮฺจึงกล่าวว่า : โอ้บ่าวของอัลลอฮฺ ท่านจะขายระฆังนั้นมั๊ย? ชายในความฝันกล่าวว่า : ท่านจะเอามันไปทำอะไรล่ะ? อับดุลลอฮฺตอบว่า : จะเอาไปใช้เรียกคนมาละหมาด ชายผู้นั้นกล่าวว่า : จะไม่ให้ฉันแนะนำท่านถึงสิ่งที่ดีกว่านั้นหรือ? อับดุลลอฮฺกล่าวว่า เอาสิ!ชายผู้นั้นกล่าวว่า : ให้ท่านกล่าวว่า อัลลอฮุอักบัร.......


และในท้องเรื่องของอัล-หะดีษก็ระบุสำนวนการอะซานและอิกอมะฮฺ พอถึงตอนเช้า ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ ซัยดฺ (ร.ฎ.) ก็มาหาท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) แล้วก็เล่าความฝันของท่านให้แก่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็กล่าวว่า : นั่นเป็นฝันที่เป็นจริง อินชาอัลลอฮฺ ดังนั้นท่านจงลุกขึ้นไปพร้อมกับบิล้าล แล้วบอกบิล้าลถึงถ้อยคำที่ท่านฝัน บิล้าลจะได้อะซานตามนั้น เพราะบิล้าลนะเสียงดังกังวาลกว่าท่านมาก ท่านอับดุลลอฮฺก็ทำตามที่รสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) สั่ง


ปรากฏว่าขณะที่บิล้าลกำลังอะซานนั้น ท่านอุมัร (ร.ฎ.) ได้ยินเข้าขณะที่ท่านกำลังอยู่ในบ้าน ท่านอุมัร (ร.ฎ.) ก็วิ่งลากผ้าท่อนบนของท่านออกมาหาท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) แล้วกล่าวว่า ขอสาบานต่อพระผู้ทรงส่งท่านมาด้วยสัจธรรม แน่แท้ฉันก็ฝันเห็นเหมือนอย่างที่เขาฝัน ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงกล่าวว่า มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิแด่อัลลอฮฺ ในริวายะฮฺของอัต-ติรมีซียฺนั้นระบุตอนท้ายของเรื่องว่า ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิแด่อัลลอฮฺ สิ่งดังกล่าวแน่นอนยิ่ง! คือ ชัวร์แล้วแหล่ะ!


การฝันของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ ซัยดฺ (ร.ฎ.) เกิดขึ้นในปีที่ 1 นับจากการฮิจเราะฮฺหลังการสร้างมัสญิดนะบะวียฺ ฉะนั้นที่มาของสำนวนการอะซานที่อะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺยึดถือนี้ไม่ได้เป็นหลักฐานจากความฝันของเศาะหาบะฮฺเท่านั้น แต่ที่เป็นหลักฐานคือการรับรอง (อิกร็อร) ของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ว่าสิ่งที่ฝันนั้นเป็นเรื่องจริง การอะซานด้วยสำนวนดังกล่าวจึงเกิดจากการรับรองและเห็นพ้องของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ซึ่งถือเป็นประเภทหนึ่งของสุนนะฮฺที่เป็นบัญญัติทางศาสนา


ส่วนประเด็นการกล่าว อัต-ตัษวีบในการอะซานละหมาดศุบฮิหลังการกล่าว อัล-หัยอะละฮฺ

 (حي على الصلاة حي على الفلام) ด้วยประโยคที่ว่า  (الصلاة خير من النوم) นั้นหลักฐานเรื่องนี้เคยตอบไปบ้างแล้ว แต่เมื่อมีการกล่าวหาว่าปัญญานิ่ม (ถ้าจริงตามที่ว่ามานะ) หรือยังข้องใจว่ามีที่มาอย่างไรก็จะแจกแจงอีกครั้งก็ได้ คือ สำนวนที่ว่า (الصلاة خير من النوم) นั้น ท่านอบูมะหฺซูเราะฮฺ (أبومحذورة) ได้รายงานเอาไว้ว่า

يارسولَ اللهِ عَلّمْنِيْ سُنَّةَ الأذانِ  قَال : فَمَسَحَ مُقَدَّمَ رَأْسِىْ  قال : تقول : الله أكبر الله أكبر ....... فإن كان صَلَاةَ الصُّبْحِ قُلتَ : الصلاةخيرمن النوم  الصلاةخيرمن النوم  الله أكبر الله أكبر لاإله إلا الله

“โอ้ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ ท่านจงสอนวิธีการอะซานตามบัญญัติให้แก่ฉันเถิด” อบูมะหฺซูเราะฮฺกล่าวว่า : แล้วท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็ลูบที่ส่วนหน้าศีรษะของฉัน , ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า : ให้ท่านกล่าวว่า อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุอักบัร (หะดีษระบุสำนวนการอะซานเรื่อยมาจนถึงประโยค


حي على الفلاح 2 ครั้งแล้วตอนท้ายระบุว่า ดังนั้นถ้าหากเป็นการละหมาดศุบฮิ ท่านก็กล่าวว่า : อัศเศาะลาตุคอยรุมมินันเนาวมฺ อัศเศาะลาตุคอยรุมมินันเนาวมฺ อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุอักบัร ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ” หะดีษนี้บันทึกโดยอะบูดาวูด จากมุสัดดัด จากอัล-หาริษ อิบนุ อุบัยดฺ จากมุฮัมมัด อิบนุ อับดิลมะลิก อิบนี อบีมะหฺซูเราะฮฺ จากบิดาของเขา (อับดุลมะลิก) จากปู่ของเขา (อบูมะหฺซูเราะฮฺ) เป็นสายรายงานที่ดี (เอาวฺนุลมะอฺบูด ชัรหุ สุนัน อบีดาวูด เล่มที่ 2 หน้า 176 หะดีษเลขที่ 496 /  กิตาบอัล-มัจญมูอฺ  ชัรหุ อัล-มุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3 หน้า 99)



อีกสายรายงานหนึ่ง อบูดาวูดบันทึกสายรายงานจากอัล-หะสัน อิบนุ อะลี (ร.ฎ.) อบูอาศิมและอับดุลรอซซ๊ากเล่าจากอิบนุ ญุรอยจญ์ ว่า อุษมาน อิบนุ อัส-สาอิบ เล่าจากบิดาของเขา (อัสสาอิบ) และอุมมุอับดิลมะลิก อิบนิ อบี มะหฺซูเราะฮฺ จากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) เหมือนกับหะดีษในสายรายงานแรก


ในหะดีษสายรายงานที่ 2 นี้ระบุว่า : อัศเศาะลาตุคอยรุมมินันเนาวม์ อัศเศาะลาตุคอยรุมมินันเนาวม์ในครั้งแรกจากศุบฮิ” อบูดาวูดกล่าวว่า หะดีษของมุสัดดัดชัดกว่า หมายถึงสมบูรณ์ในการอธิบายถึงถ้อยคำในการอะซานมากกว่า    หะดีษของท่านอัล-หะสัน อิบนุ อะลี (ร.ฎ.) ถึงแม้ว่าในหะดีษของท่าน อัล-หะสัน (ร.ฎ.) จะมีการเพิ่มเติมถ้อยคำในการอิกอมะฮฺซึ่งไม่มีในหะดีษของมุสัดดัด แต่รายงานของมุสัดดัดสมบูรณ์เมื่อพิจารณาถึงประเด็นถ้อยคำในการอะซาน วัลลอฮุอะอฺลัม (อ้างแล้ว 2/178,179 หะดีษเลขที่ 497)


สายรายงานของหะดีษที่สองซึ่งสายรายงานจากอะฮฺลุลบัยตฺคือ ท่านอัล-หะสัน อิบนุ อะลี (ร.ฎ.) เป็นสายรายงานที่เศาะฮีหฺ (เอาวฺนุลมะอฺบูด 2/178) หะดีษที่สายรายงานจากอัน-นุฟัยลียฺจากอิบรอฮีม อิบนุ อิสมาอีล อิบนิ อับดิลมะลิก อิบนิ อบีมะหฺซูเราะฮฺ ว่า : ฉันได้ยินปู่ของฉันคือ อับดุลมาลิก อิบนุ อบีมะหฺซูเราะฮฺ กล่าวว่า เขาได้ยินอบูมะหฺซูเราะฮฺกล่าวว่า : ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้สอนการอะซานให้แก่ฉันทีละอักษรทีละอักษร : อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุอักบัร จนกระทั่งถึง (حي على الفلاح) และเขา  (อบูมะหฺซูเราะฮฺจะกล่าวในเวลาฟัจญร์ (อะซานศุบฮิ) ว่า : “อัศเศาะลาตุคอยรุมมินันเนาวมฺ” (เอาวนุลมะอฺบูด 2/184-185 หะดีษเลขที่ 500)



อัล-มุนซิรียฺ กล่าวว่า : หะดีษของอบูมะหฺซูเราะฮฺนั้น อิหม่ามมุสลิมบันทึกโดยเฉพาะเรื่องการอะซานจากอบูมะหฺซูเราะฮฺ เฉพาะอย่างยิ่งในบันทึกของมุสลิมมีเรื่องการกล่าวตักบีร 2 ครั้ง และการกล่าวตัรญีอฺ (ทวนค่อยๆ) และอัต-ติรมิซียฺ อัน-นะสาอียฺ และอิบนุมาญะฮฺก็บันทึกเอาไว้โดยคัดย่อและกล่าวแบบยืดยาว (อ้างแล้ว 2/185)


ดังนั้นในหะดีษที่กล่าวมาข้างต้นย่อมเป็นหลักฐานยืนยันว่ามีการกล่าวประโยค อัศเศาะลาตุ้คอยรุมมินันเนาวมฺ ในการอะซานละหมาดศุบฮิ นอกจากนี้ยังมีรายงานจากท่านอะนัส (ร.ฎ.) ว่า : ส่วนหนึ่งจากสุนนะฮฺเมื่อมุอัซซินกล่าวประโยค (حي على الفلاح) แล้วในการอะซานละหมาดฟัจญร์ มุอัซซินกล่าวว่า “อัศเศาะลาตุคอยรุมมินันเนาวมฺ อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุอักบัร ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ อิบนุคุซัยมะฮฺรายงานไว้ในเศาะฮีหฺของเขาตลอดจนอัด-ดาเราะกุฏนียฺ และอัล-บัยฮะกียฺ ซึ่งอัล-บัยฮะกียฺกล่าวว่า : สายรายงานเศาะฮีหฺ (กิตาบ อัล-มัจญมูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 3 หน้า 99)


และการกล่าวประโยค อัต-ตัษวีบนี้เป็นสิ่งที่บุคคลดังต่อไปนี้กล่าวเอาไว้ คือ อุมัร อิบนุ อัล-คอฏฏอบ (ร.ฎ.) , อับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ท่านอนัส (ร.ฎ.) อัล-หะสัน อัลบะเศาะรียฺ , อิบนุสีรีน , อัซ-ซุฮิรียฺ , อิหม่ามมาลิก , อัษ-เษารียฺ , อิหม่ามอะหฺมัด , อิสหาก , อบูเษารินและดาวูด ส่วนอิหม่ามอบูหะนีฟะฮฺไม่กล่าวถึงเรื่อง     อัต-ตัษวีบตามประเด็นนี้ (อ้างแล้ว 3/102)



สำหรับท่านอบูมะหฺซูเราะฮฺ (أبومحذورة) นั้น ท่านมีชื่อว่า สะมุเราะฮฺ อิบนุ มิอฺยัรฺ บ้างก็ว่า เอาวฺส์ อิบนุ มิอฺยัร บ้างก็ว่า สะมุเราะฮฺ อิบนุ อุมัยรฺ หรือ เอาวส์ อิบนุ มุอัยยัร เป็นผู้ที่มีเสียงดีมาก เข้ารับอิสลามหลังการพิชิตนครมักกะฮฺ และเสียชีวิตที่นั้นในปี ฮ.ศ.59 บ้างก็ว่า 79 (อ้างแล้ว 3/99-100)


อัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ระบุไว้ในชัรหุเศาะฮีหฺมุสลิมว่า : แท้จริงหะดีษของอบู มะหฺซูเราะฮฺนั้นอยู่ในปีที่ 8 นับจากการฮิจเราะฮฺภายหลังสมรภูมิหุนัยนฺ และหะดีษของอับดุลลอฮฺ อิบนุ ซัยดฺ อยู่ในช่วงแรกๆ และการปฏิบัติของชาวมักกะฮฺและมะดีนะฮฺด้วยหะดีษของอบูมะหฺซูเราะฮฺนั้นได้ให้น้ำหนักหะดีษอีกเช่นกัน (เอาวฺนุลมะอฺบูด 2/178)


ท่านอิหม่าม อัช-ชาฟิอียฺได้กล่าวไว้ในอัล-เกาะดีมว่า : การรายงานในเรื่องอะซานนั้นถือเป็นการตะกัลลุฟ เพราะการอะซานมี 5 ครั้งในหนึ่งวันหนึ่งคืนในมัสญิดทั้งสอง (มัสญิดหะรอม-มัสญิดนะบะวียฺ) เหนือศีรษะของบรรดามุฮาญิรีนและอันศอร บรรดามุอัซซินที่มักกะฮฺเป็นลูกหลานของอบูมะหฺซูเราะฮฺ อบูมะหฺซูเราะฮฺก็เคยอะซานให้แก่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) และท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็สอนการอะซานให้แก่อบูมะหฺซูเราะฮฺ


ต่อมาลูกของอบูมะหฺซูเราะฮฺก็อะซานทีมักกะฮฺ และลูกหลานของสะอฺด์ อัลกุรซียฺ (سعدالقرظ) ก็อะซานตั้งแต่สมัยของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) และอบูบักร (ร.ฎ.) ทั้งหมดต่างก็บอกเล่าถ้อยคำการอะซานและอิกอมะฮฺตลอดจนการกล่าว อัต-ตัษวีบในเวลาฟัจญร์อย่างที่เรากล่าวไปแล้ว ถ้าหากว่าอนุญาต (เป็นไปได้) ว่าเรื่องนี้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นจากกลุ่มคนเหล่านั้นและคนที่อยู่ร่วมรับรู้แล้วมีคนจากขอบโลกมาบอกเราให้รู้ถึงความผิดพลาดดังกล่าวแล้วละก็ ก็ย่อมอนุญาต (เป็นไปได้) ที่คนผู้นั้นจะมาถามพวกเราถึงทุ่งอะเราะฟะฮฺและมินา (ว่าอยู่ตรงไหน) แล้วผู้นั้นก็ขัดแย้งกับเรา และถ้าหากว่าเขาผู้นั้นขัดแย้งกับเราถึงบรรดาจุดมีกอต แน่นอนก็เป็นไปได้ว่าเขาผู้นั้นจะขัดแย้งกับเราในเรื่องนี้ที่ปรากฏชัดและถูกปฏิบัติกันอยู่ (กิตาบ อัล-มัจญมูอฺ 3/105)


ซึ่งสิ่งที่ท่านอิหม่ามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ได้กล่าวนี้เป็นข้อยืนยันว่าการกล่าว (الصلاة خير من النوم) ในการอะซานละหมาดฟัจร์ตลอดจนสำนวนการอะซานและอิกอมะฮฺเป็นสิ่งที่บรรดามุอัซซินในตระกูลของอบูมะหฺซูเราะฮฺ และตระกูลสะอฺด์ อัลกุรซียฺ (ซึ่งอะซานที่มัสญิดอัน-นะบาวียฺ) ได้กระทำกันมาตั้งแต่สมัยของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) และสมัยของท่านอุมัร (ร.ฎ.)


ตลอดจนเป็นสิ่งที่ชาวมักกะฮฺและมะดีนะฮฺนับแต่รุ่นของชาวมุฮาญิรีนและอันศอรต่างก็รับรู้และยอมรับทั้งหมดย่อมเป็นหลักฐานประจักษ์โดยไม่ต้องไปใส่ใจกับคนเมืองอื่นที่อยู่แดนไกลที่มากล่าวหาว่าเป็นสิ่งที่ผิดพลาดไม่ถูกต้อง เพราะคนที่มักกะฮฺและมะดีนะฮฺย่อมรู้ถึงสิ่งนี้ดีกว่าเหมือนอย่างที่พวกเขารู้ว่ามีกอตอยู่ตรงไหน ทุ่งอะรอฟะฮฺและมีนาอยู่ตรงไหน มิใช่ว่าไปยึดเอาคำของคนที่อยู่ขอบโลกมาชี้ชัดว่าอะเราะฟะฮฺอยู่ตรงนี้ต่างหาก หรือทุ่งมินาไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่อยู่ตรงนี้ถึงจะถูก หรือกล่าวหาว่าสิ่งที่ชาวมักกะฮฺและมะดีนะฮฺทำกันมาตั้งแต่สมัยรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) และบรรดาสะลัฟ ศอลิหฺนั้นผิดพลาดบ้าง ปัญญานิ่มบ้างอะไรทำนองนั้น  ชะรอยเกลือกว่ากลุ่มที่ประนามเศาะหาบะฮฺต่างหากเล่าจะเป็นพวกปัญญานิ่มเสียเอง


เพราะเรื่องสำนวนการอะซานและเรื่องราวของการวางบัญญัติอะซานล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องและมีที่มาจากเศาะหะบะฮฺทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นท่านอับดุลลออฮฺ อิบนุ ซัยดฺ (ร.ฎ.) ท่านบิล้าล (ร.ฎ.) ท่านอบูมะหฺซูเราะฮฺ (ร.ฎ.) ซึ่งท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้รับรองสำนวนการอะซานด้วยตัวของท่านเอง ทั้งหมดของเรื่องสามารถสืบสายรายงานไปถึงท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) และบรรดาเศาะหาบะฮฺที่เกี่ยวข้อง ขอถามว่าหะดีษเรื่องสำนวนอะซานที่ผ่านผู้ประนามเศาะหาบะฮฺนำมาเป็นหลักฐานนั้นสืบถึงผู้ใด แน่นอนเขาอาจจะตอบว่า ก็สืบถึงท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) และอะฮฺลุลบัยตฺ (ร.ฎ.)


ก็ขอถามว่าอะฮฺลุลบัยตฺท่านใดรายงานจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) คำตอบก็คือ อบูอับดิลลาฮฺ ญะอฺฟัร อิบนุ มุฮัมมัด (ร.ฎ.) หรืออิหม่ามญะอฺฟัร อัศศอดิก (ร.ฎ.) ดู “มันลายะหฺฎุรุฮฺ อัล-ฟะกีฮฺ ; อิบนุ บาบะวัยฮฺ อัล-กุมมียฺ , บทการอะซาน-อิกอมะฮฺและผลบุญของผู้อะซาน หะดีษเลขที่ 864 , 865 , 897 เล่มที่ 1 ; สำนักพิมพ์ ดารุล-อัฎวาอฺ เบรุต , อัต-ตะฮฺซีบ ; อัฏ-ฏสียฺ เล่มที่ 2 หน้า 259 หน้า 57 และ อัล-อิสติบศ็อร ; อักฏูสียฺ เล่มที่ 1 หน้า 454)


และอิหม่ามญะอฺฟัร อัศ-ศอดิก (ร.ฎ.) และมีชีวิตทันท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) และท่านอะลี (ร.ฎ.) หรือไม่? เพราะท่านอิหม่ามญะอฺฟัร (ร.ฎ.) รายงานโดยตรงถึงท่านรสูล  (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ในเรื่องนี้คำตอบก็คือ ท่านอิหม่ามญะอฺฟัร อัศ-ศอดิก (ร.ฎ.) มีชีวิตอยู่ระหว่าง ฮ.ศ.83-148 แล้วสายรายงานที่ขาดหายไปในช่วงก่อนหน้านั้นเล่าจะว่าอย่างไร? คำตอบของพวกเขาก็คือสายรายงานของอะฮฺลุลบัยตฺถึงท่านอิหม่ามอะลี (ร.ฎ.) นั่นเอง คำถามก็คือว่า แล้วสายรายงานของอะฮฺลุลบัยตฺตั้งแต่อิหม่าม อบูญะอฺฟัร อัศ-ศอดิก (ร.ฎ.) ขึ้นไปจนถึงท่านอิหม่ามอะลี (ร.ฎ.) นั้นคือใครเล่า?


เพราะอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺก็ยอมรับเช่นกันว่า สายรายงานของอะฮฺลุลบัยตฺที่ถูกต้องที่สุดคือ : อิหม่ามญะอฺฟัร อิบนุ มุฮัมมัด (อัล-บากิร) จากบิดาของเขา (อิหม่ามอะลี ซัยนุลอาบิดีน) จากปู่ของเขา (อิหม่ามอัล-หุสัยนฺ) จากท่านอิหม่ามอะลี (ร.ฎ.) แต่อิหม่ามญะอฺฟัร อัศ-ศอดิก (ร.ฎ.) ตามที่ระบุในตำราของพวกประนามเศาะหะบะฮฺท่านกล่าวตัวบทอัล-หะดีษโดยตรง เช่น หัฟศฺ อิบนุ อัล-บุคตุรียฺ รายงานจากอบีอับดิลลาฮฺ (อ.ล.) แท้จริงเขา (อบูอับดิลลาฮฺ) กล่าวว่า : “เมื่อท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ถูกนำตัวไปในการอิสรออฺ....” (อัล-หะดีษ) หรือมันศูร อิบนุ หาซิม รายงานจากอบีอับดิลลาฮฺ (อ.ล.) ว่า : เมื่อญิบรออีล (อ.ล.) นำการอะซานลงมาแก่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) (อัล-หะดีษ)    ท่านอิหม่ามญะอฺฟัร อัศ-ศอดิก (ร.ฎ.) เล่าตัวบทอัล-หะดีษโดยตรง ท่านไม่ได้ระบุว่า ฉันได้ยินบิดาของฉันจากบิดาของเขาว่าท่านอิหม่ามอัล-หะสัยนฺ (ร.ฎ.) ได้เล่าวว่า : หรือได้ฟังจากท่านอิหม่ามอะลี (ร.ฎ.) ว่า.....” เป็นต้น


เอาละพวกเขาคงตอบประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ไม่ยาก แต่คำถามก็คือว่า ในหะดีษเลขที่ 865 ที่อิบนุบาบะวัยฮฺบันทึกไว้ใน “มันลายะฮฺฎุรุฮู อัล-ฟะกีฮฺ” ว่า มันศูร อิบนุ หาซิม รายงานจากอบีอับดิลลาฮฺ (อ.ล.) ว่า : เมื่อญิบรออีล (อ.ล.) นำการอะซานลงมาเหนือท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) และปรากฏว่าศีรษะของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) อยู่ในตักของท่านอะลี (อ.ล.) ญิบรออีล (อ.ล.) ก็อะซานและอิกอมะฮฺ

ต่อมาเมื่อท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ตื่น ท่านก็กล่าวว่า : โอ้ อะลี เจ้าได้ยินมั๊ย?  ท่านอะลี (อ.ล.) กล่าวว่า : ครับ ท่านรสูลุลลอฮฺ! ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า : เจ้าจำมั๊ย? ท่านอะลี (อ.ล.) กล่าวว่า : ครับ (จำได้)! ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า : “เจ้าจงไปเรียกบิล้าลมา แล้วจงสอนมันให้แก่เขา” ท่านอะลี (อ.ล.) จึงไปเรียกบิล้าลและสอนมันให้แก่เขา


หะดีษบทนี้ไม่ได้ระบุสำนวนการอะซานโดยละเอียดแต่มีสาระสำคัญอยู่ตรงที่ว่า การอะซานและอิกอมะฮฺเป็นสิ่งที่ท่านญิบรออีล (อ.ล.) นำลงมาให้แก่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ขณะนอนหนุนตักของท่านอิหม่าม อะลี (ร.ฎ.) และท่านก็ได้ยินและจดจำได้ ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงใช้ให้ท่านไปเรียกท่านบิล้าล (ร.ฎ.) มาเพื่อที่จะได้สอนถ้อยคำอะซานและอิกอมะฮฺ


ถ้าเรื่องในหะดีษนี้เป็นจริง และเรื่องของอับดุลลอฮฺ อิบนุ ซัยดฺ (ร.ฎ.) เป็นเรื่องที่ฝ่ายสุนนะฮฺแต่งขึ้น คำถามก็คือว่า สำนวนการอะซานในศุบฮิที่ให้กล่าว อัต-ตัษวีบอาจจะไม่มีในการอะซานของท่านญิบรออีล (อ.ล.) ซึ่งก็ไม่มีในสำนวนของหะดีษของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ ซัยดฺ (ร.ฎ.) เช่นกัน แต่การใช้สำนวนอัต-ตัษวีบปรากฏในหะดีษของอิหม่ามอัล-หะสัน (ร.ฎ.) และอบูมะหฺซูเราะฮฺซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดภายหลังเป็นการรายงานเกร็ดเพิ่มเติมว่าถ้าเป็นการอะซานในเวลาศุบฮิให้กล่าว อัต-ตัษวีบ


 และที่สำคัญสำนวนการอะซานที่อบูมะหฺซูเราะฮฺรายงานเป็นการสอนของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) โดยตรง ตามหลักวิชาการก็ต้องถือสิ่งที่มีรายงานหลังสุดอยู่แล้ว เพราะถ้าหะดีษที่ระบุว่าท่านอิหม่ามอะลี (ร.ฎ.) สอนการอะซานให้แก่ท่านบิล้าล (ร.ฎ.) ตามที่ได้ยินจากท่านญิบรออีล (อ.ล.) เป็นหะดีษที่ถูกต้องนั่นก็เป็นช่วงแรก แต่หะดีษของอบูมะหฺซูเราะฮฺเป็นรายงานหลังสุดและมีเกร็ดเพิ่มเติมในการกล่าว อัต-ตัษวีบ หะดีษของอบูมะหฺซูเราะฮฺก็ต้องเป็นบัญญัติเช่นกัน


อีกทั้งยังเป็นหะดีษที่ในสายรายงานมีอะฮฺลุลบัยตฺคนสำคัญอยู่ด้วยคือ อิหม่าม อัล-หะสัน อิบนุ อะลี (ร.ฎ.) ตามที่อบูดาวูดได้บันทึกไว้ และถ้าหากการใช้ประโยคอัต-ตัษวีบในการอะซานละหมาดศุบฮิเป็นเรื่องปัญญานิ่ม นั่นก็แสดงว่าพวกที่ประนามเศาะหะบะฮฺก็อนุญาตให้พวกของตนทำตัวเป็นคนปัญญานิ่มไปด้วยการอำพราง (อัต-ตะกียะฮฺ)


เพราะอิบนุบาบาวัยฮฺกล่าวว่า : ...และไม่เป็นอะไรในการที่จะกล่าวในการละหมาดตอนหัวรุ่งตามหลัง  حي على خير العمل  ว่า الصلاةخيرمن النوم  2 ครั้ง เพื่อเป็นการอำพรางตน....” (มันลายะหฺฎรุฮู อัล-ฟะกีฮฺ ; อิบนุบาบาวัยฮฺ เล่มที่ 1 หน้า 290 ท้ายหะดีษเลขที่ 897)


คนที่ปัญญานิ่มโดยที่เขาอาจจะไม่รู้ตัวเพราะเขาถูกกล่าวว่าหลงผิดจากพวกปัญญาแข็งก็คงจะดีกว่าคนพวกปัญญาแข็งที่รู้ว่านั้นเป็นการกระทำของคนปัญญานิ่ม แล้วก็เสแสร้งแสดงออก (อัต-ตะกียะฮฺ) ทำตามการกระทำของคนปัญญานิ่มโดยบอกว่าไม่เป็นอะไร?


والله الهادى إلى سواء السبيل