ชาฮาดะห์ชีอะห์  (อ่าน 6827 ครั้ง)

ชาฮาดะห์ชีอะห์

  • บุคคลทั่วไป
ชาฮาดะห์ชีอะห์
« เมื่อ: สิงหาคม 23, 2011, 08:53:11 am »
salam อาจารย์อาลี มีคำถามครับว่าชีอะห์เค้าว่าอย่างนี้แล้วผิดมั้ยครับ ๑ อะตีอุลลอฮ์
-๒ วะอะตีอุรรซูล
-๓ วะอุลิลอัมริมินกุม...
กลุ่มซุนนีขาดหายไปคือ..วะอุลิลอัมริมินกุม
ชีอะฮ์ มีตรงจุดนี้ครับ
อาจารย์ช่วยอธิบายหน่อยครับ
แล้วชีอะห์มันเป็นอิสลามหรือเปล่าครับ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : ชาฮาดะห์ชีอะห์
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 30, 2011, 07:54:15 am »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد...؛

ดูเหมือนหัวข้อที่ตั้งจะไม่ตรงกับคำถามนะครับ  เพราะที่ถามมาเป็นเรื่องของการอธิบายความอายะฮฺ อัล-กุรอาน สูเราะฮฺ อัน-นิสาอฺ อายะฮฺที่ 59 ตรงประโยคที่ว่า :

 يا أيها الذين آمنوا أطيعوا االله وأطيعوا الرسول وأولي الأمر منكم {   الآية }

ซึ่งมิใช่ประเด็นของชะฮาดะฮฺที่กลุ่มชีอะฮฺกล่าว  ถึงแม้ว่านัยของซะฮาดะฮฺที่กลุ่มชีอะฮฺกล่าวเพิ่มถึงการเป็นวะลียุลลอฮฺและหุจญะตุลลอฮฺของท่านอิหม่ามอะลี (ร.ฎ.) จะมีหลักคิดและความเชื่อมาจากการอธิบายความหมายของอายะฮฺนี้และอายะฮฺอื่นๆ ตามแนวทางของพวกเขาก็ตาม  


สำหรับคำว่า وأولي الأمر منكم  นั้นอุละมาอฺฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ อธิบายความว่าหมายถึง บรรดาผู้ปกครองมุสลิม (อัล-หุกกาม วัล-อุมะรออฺ)  และบรรดานักปราชญ์ (العلماء)  เพราะนัยของอายะฮฺที่ 59 นี้เป็นเรื่องที่ผูกพันเกี่ยวข้องกับอายะฮฺก่อนหน้า  คืออายะฮฺที่ 58 สูเราะฮฺ อัน-นิสาอฺ ซึ่งระบุถึงความสำคัญของอะมานะฮฺ และการตัดสินด้วยความยุติธรรมอันเป็นภาระกิจของฝ่ายปกครอง


และผูกพันเกี่ยวข้องกับอายะฮฺถัดมา คือ อายะฮฺที่ 60 สูเราะฮฺ อัน-นิสาอฺ ซึ่งระบุถึงพวกยะฮูดียฺและพวกมุนาฟิกที่ไม่ยอมรับคำตัดสินของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  แต่กลับไปถือคำตัดสินของ อิบนุ อัล-อัชรอฟ อัล-ยะฮูดี หรือพ่อมดหมอผีของญุฮัยนะฮฺ  ดังนั้นตามคำอธิบายที่ฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺว่า \"อุลิลอัมริมิงกุม\" หมายถึง บรรดาผู้นำหรือผู้ปกครองมุสลิมหรือบรรดาอุละมาอฺนั้น ย่อมแสดงว่า  ฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺ อัล-ญะมาอะฮฺ มี อุลิลอัมริมิงกุม  เช่นกัน



และการเชื่อฟังและปฏิบัติตามอุลิลอัมริมิงกุมเป็นการเชื่อฟังและปฏิบัติตามโดยมีเงื่อนไข (إطاعةمُقَيَّدَة) คือจะต้องไม่ขัดกับการชี้ขาดตัดสินของอัลลอฮฺ (อัล-กุรอาน) และ รสูล (อัส-สุนนะฮฺ) หากขัดก็ห้ามในการปฏิบัติตามและเชื่อฟัง  เพราะการเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้นำ, ผู้ปกครองหรือบรรดาอุละมาฮฺนั้นมิใช่เป็นการเชื่อฟังและปฏิบัติตามโดยสิ้นเชิง (إطاعةمطلقة)


ซึ่งต่างจากการเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำตัดสินของอัล-กุรอานและสุนนะฮฺที่จำเป็นต้องเป็นไปโดยไม่มีเงื่อนไขหรือการโต้แย้ง  เราจะสังเกตุได้ว่าในอายะฮฺที่ 59 สูเราะฮฺอัน-นิสาอฺให้สำนวนคำสั่งว่า أطيعوا  พวกท่านจงเชื่อฟังและปฏิบัติตามเหมือนกันทั้ง  أطيعوا االله  และ أطيعوا الرسول กล่าวคือ การเชื่อฟังอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับการเชื่อฟังรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  การเชื่อฟังและปฏิบัติตามท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  ก็คือการเชื่อฟังและปฏิบัติตามพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) นั่นเอง  


ในสำนวนของการปฏิบัติตามและเชื่อฟัง “อุลิลอัมริมิงกุม” นั้น  ในสำนวนของอายะฮฺไม่ได้มีการกล่าวประโยคคำสั่งซ้ำ  กล่าวคือ ไม่ได้กล่าวว่า : وأطيعوا أولي الأمر منكم  แต่ใช้การเชื่อมประโยคด้วย อักษรวาวฺ เป็นตัวเชื่อมใจความเท่านั้น  คือ  กล่าวว่า : وأولي الأمر منكم  จึงบ่งชี้ว่าการเชื่อฟังและปฏิบัติตามอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  เป็นไปโดยไร้เงื่อนไข  เรียกว่า  إطاعةمُطلَقَة  ส่วนการเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้นำหรืออุละมาอฺนั้นเป็นการเชื่อฟังและปฏิบัติตามที่มีเงื่อนไข  إطاعةمُقَيَّدَة  กล่าวคือต้องสอดคล้องและตรงกับคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ (ซ.บ.)  และ รสูล  (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)   ซึ่งถ้าหากว่าตรงและสอดคล้องหรือไม่ขัดแล้วก็จำเป็นที่ผู้ตามหรือผู้ถูกปกครองต้องปฏิบัติตาม  


อายะฮฺนี้ยังใช้ให้ผู้ศรัทธานำเอาประเด็นปัญหาที่ขัดแย้งกันทั้งในเรื่องทางโลกและทางศาสนาย้อนกลับไปยังกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ  ซึ่งสิ่งดังกล่าวย่อมมีความจำเป็นในการนำเรื่องนั้นๆ ซึ่งนัยของตัวบททั้งอัล-กุรอานและอัล-หะดีษไม่ได้ระบุไว้อย่างเด็ดขาดชัดเจนกลับไปยังบรรดาอุละมาอฺที่เป็นฟุเกาะฮาอฺ เพราะพวกเขาคือผู้ที่รู้จักบรรดาหุก่มต่างๆ และวิเคราะห์หุก่มได้เป็นอย่างดีจากกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ (ดูเชิงอรรถ อัยสะรุต ตะฟาสีร ลิ กะลามิล อะลียฺ อัล-กะบีร ; อบูบักร ญาบิร อัล-ญะซาอิรียฺ  เล่มที่ 1 หน้า 497)



อัส-สัยยิด ศิดดีก อิบนุ หะสัน  อัล-กินูญียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : “อุลุล-อัมริ\"  คือบรรดาอิหม่าม สุลฏอน กอฎียฺ และผู้นำที่ชอบธรรมตลอดจนผู้ปกครองที่มีความยุติธรรม  เช่น บรรดาเคาะลีฟะฮฺ อัร-รอชิดีน  และผู้ปฏิบัติตามท่านเหล่านั้นจากบรรดาผู้ที่ได้รับทางนำ  อีกทั้งทุกๆ บุคคลที่มีอำนาจปกครองตามศาสนบัญญัติ (วิลายะฮฺ ชัรอียะฮฺ) มิใช่ผู้มีอำนาจปกครองแบบฏอฆูต (อธรรม)  


และการปฏิบัติตามเชื่อฟังพวกเขา (อุลุล-อัมริ)  หมายถึงในสิ่งที่พวกเขาใช้ให้กระทำและห้ามปรามตราบใดที่ไม่เป็นการฝ่าฝืน  ฉะนั้นย่อมไม่มีการปฏิบัติตามเชื่อฟังต่อมัคลูกในการฝ่าฝืนคอลิก (พระผู้สร้าง)  ดังที่มีการระบุอย่างถูกต้องจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  และ ญาบิร อิบนุ อับดิลลาฮฺ  และมุญาฮิดกล่าวว่า : แท้จริง \"อุลิล อัมริ\" พวกเขาคือชาวอัล-กุรอานและความรู้ (أهل القرآن والعلم)  และตามนี้มาลิกและอัฎ-เฎาะหาก กล่าวเอาไว้  


และมีรายงานจากมุญาฮิดว่า  แท้จริงพวกเขาคือบรรดาเศาะหาบะฮฺของนบีมุฮัมหมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  อิบนุกัยสานกล่าวว่า : คือบรรดาผู้มีปัญญาและทัศนะ (أهل العقل والرأي)  และจากอิบนุอับบาส (ร.ฎ.) ว่า : พวกเขาคือบรรดาฟุเกาะฮาอฺและบรรดาอุละมาอฺที่สั่งสอนผู้คนให้รู้ถึงหลักคำสอนศาสนาของพวกเขา  เป็นคำกล่าวของอัล-หะสัน, อัฎ-เฎาะหาก และมุญาฮิด  


และที่มีน้ำหนักคือคำกล่าวแรก (บรรดาอิหม่ามและผู้นำ ฯลฯ)  เนื่องจากมีบรรดาหะดีษที่ถูกต้องรายงานจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  ว่าสั่งใช้ให้ปฏิบัติตามเชื่อฟังบรรดาผู้นำและบรรดาผู้ปกครองในสิ่งที่เป็นไปเพื่อสิทธิอันชอบของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และบรรดามุสลิม...” (ฟัตหุล บะยาน ฟี มะกอศิดิลกุรอาน เล่มที่ 3/155)


และอายะฮฺนี้มีนัยครอบคลุมหลักมูลฐานของชะรีอะฮฺทั้ง 4 คือ กิตาบุลลอฮฺ สุนนะฮฺ อิจญมาอฺ และกิยาส  ส่วนกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺก็คือประโยคที่ว่า  أطيعوا االله وأطيعوا الرسول   ส่วนประโยค  وأولي الأمر منكم  นั้นบ่งชี้ว่า การอิจญมาอฺของอุมมะฮฺนั้นเป็นหลักฐาน เพราะอัลลอฮฺ (ซ.บ.) สั่งใช้ให้เชื่อฟังพวกเขาในเชิงเด็ดขาด  ซึ่งสิ่งนี้ย่อมนำพาไปสู่การมีมติร่วมกันในเรื่องนั้น และ อุลิล-อัมรฺ ก็หมายถึง \"อะฮฺลุลหัลลฺ วัล-อักดฺ\"  และประโยคที่ว่า :  فإن تنازعتم في شيء  فردوه إلى الله والرسول  บ่งชี้ว่าการกิยาสเป็นหลักฐาน  


ดังนั้นการย้อนกลับไปยังกิตาบุลลฮฺและสุนนะฮฺจึงเป็นสิ่งจำเป็น  หากพบว่ามีข้อชี้ขาดดังกล่าวในกิตาบุลลอฮฺก็ให้ยึดตามนั้น  ถ้าหากไม่พบในกิตาบุลลอฮฺก็ดูในสุนนะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  ถ้าหากไม่พบในสุนนะฮฺ หนทางของมันก็คือการอิจญติฮาด ซึ่งมี 2 ระดับ หนึ่งก็คือ การอิจญติฮาดที่เห็นพ้องกันของอุมะฮฺ ซึ่งเรียกว่า อิจญมาฮฺ  


สองก็คือการเทียบเรื่องที่ไม่มีในตัวบทกับตัวบทที่มีการกล่าวถึงเหตุผล (อิลละฮฺ) เอาไว้โดยใช้เหตุผลในตัวบทเป็นบรรทัดฐานในการให้ข้อชี้ขาดแก่สิ่งที่ถูกนำมาเทียบ เรียกว่าการกิยาส  ซึ่งในกรณีที่มีตัวบทชัดเจนเด็ดขาดทั้งในอัล-กุรอานและอัล-หะดีษหรืออันหนึ่งอันใดจากทั้งสองนั้นก็ไม่อนุาตให้ใช้การอิจญติฮาด  โดยเฉพาะกรณีของการกิยาส  


ดังนั้นเมื่อเราอธิบายคำว่า وأولي الأمر منكم  ในอายะฮฺที่ 59 สูเราะฮฺ อัน-นิสาอฺว่าหมายถึงบรรดาผู้นำมุสลิมที่ชอบธรรมและบรรดาอุละมาอฺที่มีคุณสมบัติในการวิเคราะห์ข้อชี้ขาดจากตัวบทในอายะฮฺที่ 83 ซึ่งระบุว่า  ولو رَدُّوه إلى الرسول وإلى أولي الأمر منهم لَعَلِمَه الذين يستنبطونه منهم   คำว่า  وإلى أولي الأمر منهم  ก็ย่อมมีความหมายเหมือนกันในอายะฮฺที่ 59 สูเราะฮฺ อัน-นิสาอฺที่กล่าวมาแล้ว  


เฉพาะอย่างยิ่งในอายะฮฺที่ 83 นี้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า บรรดาผู้นำหรือบรรดาอุละมาฮฺที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ใช้ให้ย้อนกลับไปหาพวกเขาหลังจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  นั้นมีคุณสมบัติในการวิเคราะห์หรืออิจญติฮาดเมื่อมีการกระจายข่าวที่ลือกันเกี่ยวกับชัยชนะของมุสลิมและข่าวความมั่นคงของรัฐอิสลามโดยพละการ  แต่ควรให้เป็นความรับผิดชอบของผู้นำซึ่งในยุคของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  ก็คือตัวท่านเองหรือบรรดาผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว  ซึ่งกรณีนี้ก็จะรวมถึงบรรดาผู้นำหรือผู้ปกครองในยุคต่อมา  


ซึ่งแน่นอนคำพูดที่ว่า  ฝ่ายอะฮิลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺไม่มีตรงจุดนี้คือ เรื่องการเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้นำมุสลิมหรือบรรดาอุละมาอฺนั้นจึงเป็นสิ่งที่ค้านกับข้อเท็จจริง  และการพูดว่าฝ่ายของตนมีตรงจุดนี้นั้นเป็นการโฆษณาชวนเชื่อตามวิธีการของพวกเขา  ทั้งนี้เพราะคำอธิบายของพวกเขาเกี่ยวกับนัยของ \"อุลุล-อัมริ\" ในอายุฮฺที่ 59 หมายถึงบรรดาอิหม่ามมะอฺศูม หรืออิหม่าม 12 ท่านตามหลักอะกีดะฮฺของพวกเขามิใช่บรรดาผู้นำมุสลิม ผู้ปกครอง หรือบรรดาอุละมาอฺมุจญตะฮิดที่ฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ได้อธิบาย  


กล่าวคือ พวกเขาอาศัยรายงานที่ระบุว่าอายะฮฺถูกประทานลงมาในส่วนของประโยค  وأولي الأمر منكم  เป็นเรื่องของท่านอะลี (ร.ฎ.) เช่น สะลีม อิบนุ กอยสฺ อัล-ฮิลาลียฺ รายงานจากท่าน อะลี (ร.ฎ.) ว่า :


“ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  กล่าวว่า : บรรดาผู้มีส่วนร่วมของฉันซึ่งอัลลอฮฺทรงกล่าวถึงพวกเขาคู่กับพระองค์และฉัน  และทรงประทานลงมาในเรื่องของพวกเขา (คือ อายะฮฺที่ 59 สูเราะฮฺ อัน-นิสาอฺ)  ฉะนั้นหากพวกท่านเกรงว่าจะเกิดการขัดแย้งในเรื่องใดแล้ว  พวกท่านจงเอาเรื่องนั้นกลับไปยังอัลลอฮฺและรสูลและอุลิลอัมริ\"  ฉัน (ท่านอะลี (ร.ฎ.)) กล่าวว่า : โอ้ท่านนบีของอัลลอฮฺ พวกเขาคือใคร?  ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า : ท่าน (หมายถึงท่านอะลี (ร.ฎ.)) คือบุคคลแรกของพวกเขา  (ชาวาฮิดุตตันซีล ; อัล-หากิม อัล-หัสกานียฺ, เบรุต เล่มที่ 1/148-152 โดยรายงานนี้เป็นหนึ่งจากหะดีษจำนวน 5 บทในการอธิบายอายะฮฺนี้)


 และอ้างถึงมุญาฮิดว่า : ในพระดำรัสที่ว่า يا أيها الذين آمنوا   หมายถึงบรรดาผู้ที่เชื่อในหลักเตาฮีด (أطيعوا االله)  หมายถึงในบรรดาสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกำหนดเป็นฟัรฎู (وأطيعوا الرسول)  หมายถึงในบรรดาสุนนะฮฺของท่าน (وأولي الأمر منكم)  มุญาฮิด กล่าวว่า : ประทานลงมาในเรื่องของอมีรุลมุอฺมินีน ขณะที่รสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  ให้ท่านรักษาการณ์ที่นครมะดีนะฮฺ ท่านอะมีรุลมุอฺมินีนจึงกล่าวว่า : ท่านจะให้ฉันอยู่รักษาการณ์ดูแลบรรดาผู้หญิงและเด็กกระนั้นหรือ?  รสูลุลลอฮฺจึงกล่าวว่า : ท่านไม่พอใจที่จะมีสถานะจากฉันด้วยสถานะของฮารูนจากมูซาขณะที่มูซากล่าวแก่ฮารูนว่า : ท่านจงรักษาการณ์หลังจากฉันในหมู่ชนของฉัน  และจงกระทำให้ดีกระนั้นหรือ?


 ดังนั้น อัลลอฮฺจึงดำรัสว่า :  وأولي الأمر منكم  มุญาฮิด กล่าว่า : คือท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) พระองค์อัลลอฮฺได้แต่งตั้งให้ท่านดูแลกิจการภายหลังนบี มุฮัมหมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  ในขณะที่นบียังมีชีวิตอยู่เมื่อตอนที่ท่านให้ท่านอะลีอยู่รักษาการณ์นครมะดีนะฮฺ  ดังนั้น อัลลอฮฺจึงทรงสั่งใช้บรรดาปวงบ่าวให้เชื่อฟังท่านอะลี (ร.ฎ.) และละทิ้งการขัดแย้งกับท่าน (อะลี ฟิล กิตาบ วัสสุนนะฮฺ  ; อัล-ฮัจญี หุสัยนฺ อัช-ชากิรียฺ หน้า 79-80)


การอ้างบรรดาหะดีษในทำนองนี้มีปรากฎในตำราของพวกเขาอีกหลายเล่ม  เช่น ตะอฺวีลุลอายาตฺ อัซ-ซอฮิเราะฮฺ ; สัยยิด ชะร่อฟุดดีน อัน-นะญะฟียฺ เล่มที่ 1/133-136, ตัฟสีร อัล-บุรฮาน ; สัยยิด ฮาชิม อัล-บะหฺรอนียฺ เล่ม 1/381-387 มี 32 หะดีษ, อิหฺกอกุลหักฺ ; สัยยิด อัล-มัรอะชียฺ อัน-นะญะฟียฺ เล่ม 3/424 เล่ม 14/348-350 และ ดะลาอิลุศศิดกฺ ; อัล-ลามะฮฺ อัล-มุซอฟฟัร เล่ม 2/291  เป็นต้น


กล่าวโดยสรุปก็คือ  ฝ่ายพวกเขาอ้างว่าอายะฮฺประทานลงมาในเรื่องของท่านอิหม่ามอะลี (ร.ฎ.) เป็นบุคคลแรกถัดจากท่าน  นัยของอายะฮฺนี้ก็ครอบคลุมถึงบรรดาอิหม่ามมะอฺศูมของพวกเขา  ตรงนี้เองคือจุดมุ่งหมายในคำพูดของพวกเขาที่ว่า  ชาวสุนนะฮฺไม่มีข้อนี้ เพราะชาวสุนนะฮฺไม่เชื่อในเรื่องอิหม่ามสิบสองอย่างพวกเขา  


แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว อะฮฺลุลสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ก็เชื่อในการเป็นผู้นำของท่านอลี (ร.ฎ.) และท่าน อัล-หะสัน (ร.ฎ.) ในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้นำก่อนจะสละตำแหน่งให้แก่ท่านมุอาวียะฮฺ อิบนุ อบีสุฟยาน (ร.ฎ.)   และในกรณีการอธิบายของชาวสุนนะฮฺ ที่ว่า อุลิลอัมริ หมายถึง บรรดาอุละมาอฺก็ย่อมรวมบรรดาอุละมาอฺในสายอะฮฺลุลบัยตฺด้วย  ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะลูกหลานของท่านอะลี (ร.ฎ.)  จากสายของท่านอัล-หุสัยน์ (ร.ฎ.) เพียงอย่างเดียว   เหมือนอย่างที่พวกเขากำหนดว่ามีจำนวนแน่นอน  


โดยเฉพาะอย่างยิ่งอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ถือว่า เมื่อบรรดาอะฮฺลุลบัยตฺที่เป็นอุละมาอฺมีมติเห็นพ้องในเรื่องใดแล้วนั่นก็ถือเป็นส่วนหนึ่งจากอิจญมาอฺของอุมมะฮฺเพราะพวกเขาจะไม่มีมติเห็นพ้องต่อสิ่งที่หลงผิดเช่นเดียวกับอุมมะฮฺที่จะไม่มีมติเห็นพ้องต่อสิ่งที่หลงผิด ตามที่มีหะดีษของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) รับรองเอาไว้  ดังนั้นการยึดถืออิจญมาอฺของอะฮฺลุลบัยตฺย่อมเป็นการยึดถืออิจญมาอฺของอุมมะฮฺ เพราะอะฮิลุลบัยตฺเป็นส่วนหนึ่งของอุมมะฮฺนั่นเอง   (มินฮาญุสสุนนะฮฺ ; อิบนุตัยมียะฮฺ 4/105)


และอะฮฺลุลบัยตฺที่เรามุ่งหมายถึงนั้นคือบรรดาลูกหลานของท่านนบี (ร.ฎ.) ที่ยึดมั่นในกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺเท่านั้น  หากบุคคลที่เป็นลูกหลานท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) คนใดไม่ปฏิบัติตามกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ บุคคลผู้นั้นก็ออกนอกสารบบแห่งความมุ่งหมายนั้น  เพราะโดยข้อเท็จจริงมีบุคคลที่อ้างความสัมพันธ์ทางเชื้อสายว่าตนเป็นอะฮฺลุลบัยตฺ แต่ปรากฏว่าบุคคลที่อ้างนั้นปฏิบัติตนค้านกับกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ  


เราคงไม่วิพากษ์สายรายงานที่อ้างอยู่ในตำราของพวกเขาว่ามีคุณสมบัติเช่นใด โดยเฉพาะสายรายงานที่อ้างถึงมุญาฮิด  เพราะนั่นเป็นเรื่องหนึ่งที่จำต้องอาศัยเวลามากพอสมควรในการวิพากษ์  แต่สิ่งที่เราจะทิ้งท้ายไว้ก็คือ  พวกเขามิได้ใช้อายะฮฺนี้เป็นตัวบทในการอ้างหลักฐาน เพราะพวกเขาอาศัยรายงานเรื่องมูลเหตุแห่งการประทาน  และตามความเชื่อของพวกเขา บรรดาอิหม่าม 12 ท่าน มีตัวบทที่ชัดเจน (نص جلى) ระบุเอาไว้  แต่อายะฮฺนี้ไม่ใช่ตัวบทที่ชัดเจนในการกำหนดสถานะของอิหม่ามสิบสอง เพราะถ้าชัดเจนก็ไม่จำเป็นต้องอ้างมูลเหตุแห่งการประทานอายะฮฺแต่อย่างใด


 และในคำว่า “อุลิล อัมริ มิงกุม” มีนัยบ่งชี้ว่าผู้นำที่มีสถานะเป็นเคาะลีฟะฮฺหรืออิหม่ามนั้นมีความผูกพันกับอุมมะฮฺ คือ เป็นส่วนหนึ่งจากอุมมะฮฺซึ่งพวกเขาถือว่าอุมมะฮฺนี้ที่ไม่เชื่อตามหลักความเชื่อของพวกเขาเป็นอุมมะฮฺที่หลงผิด


สำหรับฝ่ายสุนนะฮฺถือว่าผู้นำสูงสุดของรัฐอิสลามมาจากการคัดเลือกและการมุบายะอะฮฺรับรอง ผู้นำจึงเป็นส่วนหนึ่งของอุมมะฮฺ  แต่สำหรับพวกเขาบรรดาอิหม่ามสิบสองมิได้ถูกคัดเลือกและได้รับการมุบายะอะฮฺของอุมมะฮฺ  แต่เป็นการกำหนดแต่งตั้งจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.)  โดยตรงผ่านการลงวะฮียฺให้แก่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) และออกชื่อเสียงเรียงลำดับไว้เสร็จสรรพ  


ในกรณีที่ถือว่า อุลิลอัมริ หมายถึงท่านอะลี (ร.ฎ.) และลูกหลานของท่าน  ประเด็นตรงนี้ในการกำหนดว่า  ใครเป็นลูกหลานของท่านอะลี (ร.ฎ.)  แน่นอนกลุ่มอิหม่ามสิบสองก็จะยืนยันตามความเชื่อของพวกเขา แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มอื่นๆ ที่อ้างว่าเชื่อในความเป็นวะศียฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) และอะฮฺลุลบัยตฺก็มีความเชื่อในตัวบุคคลผู้เป็นอิหม่ามแตกต่างออกไป  และพวกเขาต่างก็ตัดสินพวกเดียวกันที่เป็นกลุ่มอื่นว่าเป็นผู้ปฏิเสธ  


นั่นจึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ในกลุ่มต่างๆ ของพวกเขาก็ขัดแย้งกันเองว่าใครคือ อุลิลอัมริ ที่แท้จริงจนแตกออกเป็นกลุ่มต่างๆ มากมาย และในอายะฮฺนี้ก็ไม่ได้ระบุจำนวนของอิหม่ามเสียด้วย  ว่าต้องมีจำนวนเท่านั้นเท่านี้


ที่สำคัญเมื่อพวกเขาไร้ทางออกโดยเฉพาะในยุคที่อิหม่ามลำดับที่ 12 ยังคงหายตัวไม่ปรากฏออกมา  พวกเขาก็จำเป็นต้องกำหนดสถานภาพของบรรดาอายาตุลลอฮฺของพวกเขาให้เป็นผู้แทนที่ทำหน้าที่มัรญิอฺทางศาสนา  ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วก็ไม่ได้ต่างอะไรเลยจากกรณีของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺที่อธิบาย “อุลิลอัมริ” ว่าหมายถึงบรรดาผู้ปกครองหรืออุละมาอฺ  เพียงแต่สถานภาพของบรรดาอายาตุลลอฮฺเหล่านั้นสูงส่งกว่าอุละมาอฺหรือผู้นำของฝ่ายอะฮฺลุสสุนนะฮฺในสายตาของพวกเขาเท่านั้นเอง

والله ﻣﺴﺌﻮل أن يهديناجميعاالى سواءالسبيل