ทัศนะที่แตกต่างกันเป็นเราะห์มะห์หรือไม่  (อ่าน 6096 ครั้ง)

halim

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 38
salam  ครับอาจารย์อาลี ขอให้ผม อาจารย์อาลีและผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์นี้มีความแข็งแรงสามารถทำอิบาดะห์ได้ตลอดไป ครับ
ผมอยากจะถามว่า ผมเคยได้ยินเค้าบอกว่า การที่ว่าอิสลามมีหลายๆมัซฮับ และมีทัศนะของอีหม่ามที่แตกต่างกันในเรื่องฟิกห์เป็นเราะห์มะห์ จริงหรือไม่ครับ แล้วมันเป็นคำพูดของใครครับที่ว่าความแตกต่างเป็นเราะห์มะห์
แล้วถ้าเป็นเราะห์มะจริงแล้วทำไมอาจารย์บางท่านพยายามเน้นว่าของเค้าถูกเป็นสูตรนบี สูตรนบีมีอยู่สูตรเดียว อิสลามต้องเหมือนกันหมดทั่วโลก อาจารย์ช่วยอธิบายหน่อยครับ
jazakal lohukhairan   salam

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : ทัศนะที่แตกต่างกันเป็นเราะห์มะห์หรือไม่
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ตุลาคม 11, 2011, 09:48:04 pm »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

ขอพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.)  ทรงตอบรับคำวิงวอนของคุณ Halim และขอให้คุณ Halim ได้รับในสิ่งที่วิงวอนนั้นเช่นกัน  อัลลอฮุมม่าอามีน สำหรับคำถามที่มีมานั้น มีประเด็นดังต่อไปนี้

1)   ความเห็นต่างในประเด็นข้อปลีกย่อยทางศาสนา เป็นเรื่องจำเป็น (เฎาะรูเราะฮฺ) ดร.ยูสุฟ อัล-กอรฎอวียฺ กล่าวว่า : บรรดาผู้ที่ต้องการรวมผู้คนให้มีความเห็น (ทัศนะ) เดียวในบรรดาหลักการว่าด้วยอิบาดาตฺ มุอามะลาต และในทำนองนั้นจากประเด็นข้อปลีกย่อย ทางศาสนาจำเป็นที่จะต้องรู้ว่า  แท้จริงพวกเขาต้องการในสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง  


และความพยายามของพวกเขาในการขจัดความขัดแย้งทางทัศนะจะไม่มีผลอันใดนอกจากการทำให้การขัดแย้งขยายวงกว้างออกไปอีก  และมันเป็นความพยายามที่บ่งถึงความเบาปัญญาที่ชัดเจน  เพราะแท้จริงความเห็นต่างในการเข้าใจข้อชี้ขาดทางศาสนาที่มิใช่หลักมูลฐานนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นโดยไม่มีทางเลี่ยง  และอันที่จริงธรรมชาติอันเป็นสิ่งปกติของศาสนา, ธรรมชาติของภาษา, ธรรมชาติของมนุษย์ และธรรมชาติของจักรวาล  และชีวิตต่างก็เป็นสิ่งที่ทำให้ความจำเป็นนี้เกิดขึ้น” (อัศ-เศาะหฺวะฮฺ อัล-อิสลามียะฮฺ บัยนัล อิคติลาฟ อัล-มัชฺรูอฺ วัต ตะฟัรรุก อัล-มัซมูม หน้า 59)



2)   การมีความเห็นต่างคือความเมตตา   ดร.ยูสุฟ อัล-กอรฎอวียฺ  กล่าวว่า : ความเห็นต่างทางทัศนะ  -พร้อมกับที่ว่ามันเป็นสิ่งจำเป็น-  เช่นกัน  มันคือความเมตตาที่มีต่อประชาชาติและเป็นการเปิดกว้างให้แก่ประชาชาติอีกด้วย  ในเรื่องดังกล่าวมีหะดีษติดปากซึ่งสายรายงานไม่เป็นที่รู้จักถูกรายงานมา  ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะเห็นว่าหะดีษนี้มีควาหมายที่ถูกต้อง


 คือ หะดีษที่ อัส-สุยูฏียฺ ได้ระบุไว้ใน อัล-ญามิอฺ อัศ-เศาะฆีร จากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ว่า   اِخْتِلَافُ أُمَّتِيْ رَحْمَةٌ   “ความเห็นต่างของประชาชาติของฉันนั้นคือความเตตา” (อัล-ลามะฮฺ อัล-มินาวียฺ กล่าวไว้ในการวิเคราะห์สายรายงานของหะดีษนี้ใน ฟัยฎุลเกาะดีร 1/212 ว่า : อัส-สุบกียฺ กล่าวว่า : หะดีษนี้ไม่เป็นที่รู้จัก ณ บรรดานักวิชาการหะดีษ และฉันก็ยังไม่พบข้อมูลสำหรับหะดีษนี้ว่ามีสายรายงานเศาะฮีหฺ เฎาะอีฟ และเมาวฺฎูอฺ,


อัส-สะยูฏียฺ กล่าวว่า : ดูเหมือนว่าหะดีษนี้ถูกคัดไว้ในตำราของนักท่องจำบางท่านที่ไม่ตกมาถึงเรา  และ อัล-บัยฮะกียฺ ได้อ้างสายรายงานของหะดีษนี้ไว้ใน อัล-มัดค็อล และอัด-ดัยละมียฺ ในมุสนัด อัล-ฟิรเดาวสฺ เช่นกัน   ทั้งคู่รายงานจากหะดีษของ อิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) เป็นหะดีษมัรฟูอฺ  โดยมีถ้อยคำว่า : اِخْتِلَافُ أَصْحَابِيْ رَحْمَةٌ   “การมีความเห็นต่างของเหล่าเศาะหาบะฮฺของฉันคือความเมตตา”  และการมีความเห็นต่างของประชาชาติ...  


แต่หะดีษนี้ อัล-หาฟิซ อัล-อิรอกียฺ กล่าวว่า : สายรายงานเฎาะอีฟ  และอบูซัรอะฮฺ บุตรชายของเขาที่เป็นผู้สันทัดกรณี (มุหักกิก) กล่าวว่า : อาดัม อิบนุ อะบี อิยาสฺ รายงานไว้เช่นกันในกิตาบ อัล-อิลมฺ วัล หิลมฺ ด้วยถ้อยคำที่ว่า اختلاف أصحابي رحمة    เป็นหะดีษมุรสัล เฎาะอีฟ  และในเฏาะบะกอตฺของ อิบนุ สะอฺด์ จาก อัล-กอสิม อิบนุ มุฮัมหมัด ทำนองเดียวกัน จบ)


 ดร. ยูสุฟ อัล-กอรฎอวียฺ กล่าวต่อมาว่า : หะดีษที่ อัด-ดาเราะกุฏนียฺ รายงานเอาไว้และอัน-นะวาวียฺ ระบุว่า เป็นหะดีษหะสันในอัล-อัรบะอีน สนับสนุนความหมายของหะดีษนี้ คือ

\"إنَّ الله تعالى حَدَّحُدُوْدًا فَلَاتَعْتَدُوْهَا ، وَفَرَضَ فَرَائِضَ فَلا تُضِيعُوهَا ، وحرَّمَ أشْيَاءَ فلا تَنْتَهِكُوْ هَا ، وسكت عن أشياء ، رحمة بكم غير نِسْيَانٍ فلاتَبْحَثُواعَنْهَا\"

“แท้จริงอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงกำหนดขอบเขตทั้งหลายเอาไว้แล้ว  ฉะนั้นพวกท่านอย่าได้ละเมิดขอบเขตนั้น  และพระองค์ทรงบัญญัติบรรดาฟัรฎูเอาไว้แล้ว  ฉะนั้นพวกท่านอย่าทำให้ฟัรฎูเหล่านั้นสูญหาย  และพระองค์ทรงบัญญัติห้ามสิ่งต่างๆ เอาไว้แล้ว ฉะนั้นพวกท่านอย่าได้ก้าวล่วงสิ่งเหล่านั้น และพระองค์ทรงละบรรดาสิ่งต่างๆ เอาไว้เพื่อเป็นความเมตตาต่อพวกท่านหาใช่การหลงลืม  ฉะนั้นพวกท่านอย่าเสาะหาถึงสิ่งที่พระองค์ทรงละไว้”  



บรรดาสิ่งที่ถูกละเอาไว้ (ไม่กำหนดชี้ชัด) นั้นเป็นเรื่องปกติที่จะเป็นส่วนหนึ่งจากสาเหตุของความเห็นต่าง เพราะมันเป็นเขตพื้นที่ช่องว่างในการวางบัญญัติที่นักวิชาการฟิกฮฺทุกคนที่จะพยายามเติมเต็มพื้นที่นั้นตามหลักมูลฐานของตน ตลอดจนแนวทัศนะในสำนักคิดของตน คนหนึ่งมุ่งไปยังการเปรียบเทียบ (กิยาส) อีกคนหนึ่งมุ่งไปยังหลัก อัล-อัสติหฺสาน คนที่สามใช้หลักอัล-อิสติศลาหฺ คนที่สี่ใช้จารีต (อัล-อุรฺฟ์) และคนอื่นใช้หลัก อัล-บะรออะฮฺ   อัล-อัศลียะฮฺ... อย่างนี้แหละ  


ที่สำคัญคืออัลหะดีษบ่งชี้ว่าการละเอาไว้จากการกำหนดตัวบทข้อชี้ขาดที่แน่นอนในพื้นที่นี้เป็นสิ่งที่มีวัตถุประสงค์และพระผู้อภิบาลของฉันพระองค์มิทรงหลงลืม และเป้าหมายก็คือ ความเมตตาและการทำให้เป็นเรื่องสะดวกแก่ประชาชาตินั่นเอง (อ้างแล้วหน้า 70-71) ดร.ยูสุฟ อัล-กอรฎอวียฺได้ยกคำกล่าวสะลัฟศอลิหฺบางท่านมาประกอบคำอธิบายในเรื่องนี้


-ท่านอุมัร อิบนุอะซีซ กล่าวว่า

\" ما يَسُرُّ نِيْ أَنّ أصحاب رسول الله صلى الله عليه وسلم لم يَخْتَلِفُوْا ، لأنَّهُمْ لَوْلَمْ يختلفوا لم يكن لنارُخْصَةٌ \"

“แท้จริง (กรณีที่ว่า) บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่เคยมีความเห็นต่างกันนั้นจะไม่ทำให้ฉันยินดีเลย เพราะถ้าหากพวกเขาไม่เคยมีความเห็นต่างกันเลย พวกเราก็ย่อมไม่มีข้ออนุโลมใดๆ เลย (อัล-บัยฮะกียฺ รายงานไว้ใน อัล-มัดคอลตามที่ปรากฏในฟัยฎุลเกาะดีร 1/209 และอิบนุ อับดิลบัรรฺในญามิอฺ บะยาน อัล-อิลมิ 2/80)


หมายความว่า แท้จริงด้วยการมีทัศนะต่างกันของบรรดาเศาะหาบะฮฺ พวกท่านเหล่านั้นเปิดโอกาสให้เราในการเลือกเอาคำกล่าวต่างๆ การวิเคราะห์ของพวกท่านในทำนองเดียวกันพวกท่านก็ได้วางแนวทางของการแสดงทัศนะที่ต่างกันในประเด็นปัญหาของการวิเคราะห์ และพวกท่านก็ยังคงเป็นพี่น้องที่รักใคร่กันพร้อมกับความเห็นต่างทัศนะ...(อ้างแล้ว หน้า 72)



อิหม่ามอัล-คอฏฏอบียฺ ได้กล่าวหะดีษ (اختلاف أصحابي رحمة)  เป็นบรรทัดฐาน และกล่าวว่า มีคน 2 คนที่คัดค้านหะดีษบทนี้ หนึ่งในสองคนนั้นคือ คนที่เล่นตลก อีกคนคือ คนที่เบี่ยงเบนทั้งคู่กล่าวเหมือนกันว่า : หากการขัดแย้งในทัศนะเป็นความเมตตาแล้วละก็ แน่นอนการเห็นพ้องก็คือการลงทัณฑ์!  แล้วท่านอิหม่ามก็หักล้างคำพูดของบุคคลทั้งสอง (ดู กัชฟุลเคาะฟาอฺ ; อัล-อิจญลูนียฺ 1/65)



สำหรับคำพูดที่มีบุคคลบางคนพูดในทำนองว่า ทัศนะของตนที่นำเสนอและตอบประเด็นปัญหาข้อปลีกย่อยที่มีคนถามมาเป็นสูตรนบีนั้นถือว่าเป็นวาทกรรมที่พวกเขากำหนดขึ้นมาเองซึ่งถ้าสูตรที่เขาเข้าใจและตอบออกไปสอดคล้องกับสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลอฮฺอัลฮิวะซัลลัม) ก็ดีไป แต่ถ้าเป็นสูตรที่เขาคิดและเข้าใจเอาเองโดยไม่มีสุนนะฮฺของนบีมารองรับวาทกรรมเช่นนี้ก็เข้าข่ายว่าเป็นการแอบอ้าง เขาผู้นั้นก็ต้องรับผิดชอบในการแอบอ้างดังกล่าว


จริงอยู่สิ่งที่ถูกต้อง ณ อัลลอฮฺนั้นมีเพียงหนึ่งเดียว และสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่ถูกต้องนั้นย่อมเป็นสัจธรรมหนึ่งเดียว แต่ความเข้าใจอันเกิดจากการวิเคราะห์ตัวบททั้งจากกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺนั้นมีความแตกต่างกันในหมู่บรรดาเศาะหาบะฮฺและอุละมาอฺในยุคสะลัฟศอลิหฺ


และหากเราได้ศึกษาอย่างถ่องแท้แล้วเราจะพบว่าในหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ท่านก็ได้รับรองการกระทำของเศาะหาบะฮฺแต่ละท่านว่าเป็นสิ่งถูกต้อง ผลที่ตามมาก็คือสิ่งที่ถูกต้องนั้นมีมากกว่าหนึ่ง และสิ่งที่ถูกต้องนั้นซึ่งมากกว่าหนึ่งกลายเป็นความถูกต้องเพราะการรับรอง (อิกรอร) ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)


ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าส่วนประกอบสำคัญในสูตรของนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) นั่นมีมากกว่าหนึ่ง หากบุคคลมีความสามารถถึงขั้นรวบรวมส่วนประกอบสำคัญเหล่านั้นได้ทั้งหมดและครบถ้วนก็ย่อมมีความชอบธรรมในการระบุชี้ชัดว่านั่นคือสูตรของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) แต่ถ้าเก็บส่วนประกอบของสูตรได้เพียงบางส่วนเท่านั้น และเป็นส่วนน้อยเสียด้วยซ้ำ บุคคลผู้นั้นก็ย่อมไม่มีความชอบธรรมในการอ้างว่าส่วนประกอบเท่าที่ตนมีอยู่เพียงเล็กน้อยนั้นเป็นสูตรของนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วมันเป็นเพียงส่วนประสมที่ไม่ครบสูตรนั่นเอง


ประโยคสุดท้ายที่พวกเขากล่าวว่า อิสลามต้องเหมือนกันหมดทั้งโลก ก็ต้องขอบอกว่า ถูกต้อง! อิสลามที่ถูกต้องนั้นมีเพียงหนึ่งเดียวไม่ว่าจะในชั้นฟ้าหรือผืนแผ่นดิน แต่คนที่เข้าใจสิ่งที่ตนเข้าใจว่าคืออิสลามที่ถูกต้องนี่แหล่ะคือปัญหา เพราะเข้าใจไม่เหมือนกันอย่าว่าแต่ทั้งโลกเลย แค่อยู่บนเวทีเดียวกันยังเข้าใจไม่เหมือนกันเลย สำหาอะไรกับคนทั้งโลก

والله اعلم با لصواب