อะห์ลุลบัยต์  (อ่าน 6360 ครั้ง)

halim

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 38
อะห์ลุลบัยต์
« เมื่อ: สิงหาคม 24, 2011, 12:32:25 pm »
salam ครับ อ.อาลี ขอให้อัลลอฮ์รักษาชีวิตของผม อาจารย์อาลี และทุกท่านที่เยี่ยมชมเว็บนี้ให้ได้ทำอีบาดะห์ถึงรอมฎอนปีหน้าครับ อามีน
ผมมีคำถามเรื่อง อะห์ลุลบัยต์ครับ อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายฮาดีษนี้หน่อยครับ
1. จากศอหิฮ์ติรมิซีร์ ฮะดิษที่4036)ศาสสดา(ศ):โอ้ประชาชาติทั้งหลาย แท้จริงฉันได้ละทิ้งไว้ในหมู่พวกเจ้า ซึ่งสิ่งที่ถ้าหากพวกท่านยึดถือมันไว้ พวกท่านก็จะไม่หลงผิด นั่นคือ คัมภีร์ของอัลลอฮ์ และเชื้อสายแห่งอะห์ลุลบัยต์ของฉัน
 2. ):ฉันคือนครแห่งวิทยปัญญาและอะลีคือประตูของมัน(ศอหิฮ์ ติรมิซี เล่ม13หน้า171)
3. เมื่ออายะห์มุบาฮะละฮ์ได้ถูกประทานยังศาสดา(ศ) นบีก็ได้เชิญชวน อะลี ฟาตีมะฮ์ ฮาซัน และฮุเซ็น แล้วก็ได้กล่าวว่า:โอ้อัลลอฮ์ เหล่านี้คืออะห์ลุลบัยตของฉัน (มุสนัดอะห์มัด บิน ฮันบัล เล่ม1หน้า185,ศอหิฮ์มุสลิมเล่ม7หน้า120, ศอหีฮ์ ติรมิซี เล่ม5 หน้า596)

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : อะห์ลุลบัยต์
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 30, 2011, 08:05:52 am »
وعليكم السلام ورحمة الله و بركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد...؛

آمين  ขอพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงตอบรับดุอาอฺของคุณ Halim ด้วยเทอญ


หะดีษที่ 1  เรียกกันว่า หะดีษ “อัษ-ษิเกาะลัยนฺ”  หรือ หะดีษ “อัล-อิตเราะฮฺ” อิหม่าม อัต-ติรมิซียฺบันทึกไว้ในสุนันของท่าน 2 สายรายงานคือ

1)   นัศรฺ อิบนุ อับดิรเราะหฺมาน อัล-กูฟียฺ และ ซัยดฺ อิบนุ อัล-หะสัน คือ อัล-อันมาฎียฺ จากญะอฺฟัร อิบนุ มุฮัมหมัด จากบิดาของเขา จากญาบิร อิบนิ อับดิลลาฮฺ ว่า :

“ฉันเห็นท่านรสุล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ในการประกอบพิธีหัจญ์ของท่านในวันอะรอฟะฮฺ  ขณะที่ท่านอยู่บนหลัง อัล-กอศวาอฺ อูฐของท่านโดยกำลังกล่าวคุฎบะฮฺ ฉันได้ยินท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า :

 \"ياأيهاالناس ، قدتركتُ فيكم ماإن أَخْذْتُمْ به لَنْ تَضِلُّوْا ، كتابَ اللهِ وعِتْرَتِيْ أَهْلَ بَيْتِيْ\"

 มีคำแปลภาษาไทยเหมือนอย่างที่ระบุมาในคำถาม


2)   อะลี อิบนุ อัล-มุนซิร อัล-กูฟียฺ  เล่าจากมุฮัมหมัด อิบนุ ฟุฎอยลฺ ว่า อัล-อะอฺมัช เล่าจาก อะฏียะฮฺ จาก อะบี สะอีด และ อัล-อะฮฺมัช เล่าจาก หะบีบ อิบนุ ษาบิต จาก ซัยดฺ อิบนุ อัรก็อม  ทั้งสองกล่าวว่า :  ท่าน รสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า :

\"إني تارك فيكم ماإِنْ تَمَسَّكْتُمْ به لن تَضِلُّوابعدي ، أحدُهماأعظَمُ مِنَ الآخَرِ كتابُ الله حَبْلٌ مَمْدُوْدٌ مِنَ السَّمَاءِ إلى الأرضِ وعِتْرَتِي أهلُ بَيْتي ، ولَنْ يتفرقاحتى يردا على الحَوْضِ ، فانظُرواكيف تَخلُفُوْ ني فيهما\"  

“แท้จริงฉันได้ละทิ้งไว้ในหมู่พวกท่าน  ซึ่งหากว่าพวกท่านได้ยึดมั่นมันไว้แล้ว  พวกท่านย่อมไม่หลงทางภายหลังฉัน  หนึ่งในสองสิ่งนั้นใหญ่กว่าอีกอันหนึ่ง คือ กิตาบุลลอฮฺสายเชือกที่ถูกยื่นมาจากฟากฟ้าสู่แผ่นดินโลก  และเชื้อสายวงศ์วานของฉัน  ทั้งสองจะไม่พรากจากกันจนกว่าทั้งสองจะเข้ามาถึงยังสระน้ำ   ฉะนั้นพวกท่านจงดูเถิดว่าพวกท่านจะคล้อยหลังฉันในสิ่งทั้งสองนั้นอย่างไร?  

อิหม่าม อัต-ติรมิซียฺ ระบุว่าทั้งสองสายรายงานนี้ เป็นหะดีษหะสัน เฆาะรีบ


ในสายรายงานที่ 1 นั้น มี ซัยดฺ อิบนุ อัล-หะสัน อัล-อัมาฏียฺ  อัล-กูฟียฺ  ซึ่ง อบูหาติมกล่าวถึงบุคคลผู้นี้ว่า : เป็นชาวกูฟะฮฺ มายังแบกแดดรายงานหะดีษมุงกัรฺ  และอิบนุ ฮิบบาน ระบุเขาไว้ใน อัษ-ษิกอตฺ, มุฮัมหมัด นาศิรุดดีน อัล-อัลบานียฺ กล่าวว่า  สายรายงานของหะดีษนี้อ่อน (เฎาะอีฟ)  (มิชกาตุลมะศอบีหฺ 3/1735)


และคุฏบะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  ในหัจญ์อำลานั้น อิหม่ามมุสลิมรายงานเอาไว้ในเศาะฮีหฺของท่านจากอิหม่าม อัศ-ศอดิก จากบิดาของท่านจากญาบิร  แต่ไม่มีประโยคที่ว่า : “และเชื้อสายวงศ์วานของฉัน”  (وعترتي أهل بيتي) และคุฏบะฮฺนี้ก็ถูกรายงานจากญาบิร (ร.ฎ.) ด้วยสายรายงานจำนวนมากในตำราอัส-สุนนะฮฺก็ไม่มีการเพิ่มเติมตรงนี้ปรากฏอยู่เลย (อะกีดะฮฺ อัล-อิมามะฮฺฯ ; ดร.อะลี อะหฺหมัด อัส-สาลูส หน้า 132)


ในสายรายงานที่ 2 นั้น อิหม่ามอัต-ติรมิซียฺ รายงานจาก อะลี อิบนุ อัล-มุนซิร อัล-กูฟียฺ จากมุฮัมหมัด อิบนุ ฟุฎอยล์  แล้วสายรายงานก็แบ่งออกเป็น 2 สาย  สายที่หนึ่งสุดที่ อะฏียะฮฺ จาก อบี สะอีด  สายที่ 2 สุดที่ ซัยดฺ อิบนุ อัรกอม (ร.ฎ.) ซึ่งไม่ปรากฏชัดเจนว่าสายใดเป็นต้นตอที่มา


เมื่อพิจารณาสายรายงาน 4 สาย ที่อิหม่าม อะหฺหมัด บันทึกไว้ในอัล-มุสนัด จากอบี สะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฎ.)   ซึ่งทั้งหมดรายงานโดย อะฏียะฮฺ  จากอบี สะอีด โดยมีถ้อยคำเกือบจะสอดคล้องกันในตัวบทของสายรายงานทั้ง 4 กับรายงานที่ 2 ของอิหม่ามอัต-ติรมิซียฺ   ก็ให้น้ำหนักได้ว่า สายที่สุดยังอะฏียะฮฺเป็นต้นตอที่มาของเรื่อง  


ซึ่งอะฎียะฮฺ อิบนุ สะอฺด์ อิบนิ ญุนาดะฮฺ อัล-เอาวฺฟียฺ  ผู้นี้ อิหม่ามอะหฺหมัด ระบุว่า รายงานหะดีษอ่อน และอัษ-เษารียฺ และ ฮะชิม ทั้งสองก็ถือว่าหะดีษที่อะฏียะฮฺรายงานเป็นหะดีษอ่อน อัน-นาสาอียฺ และอบูหาติมก็ถือว่าอะฏียะฮฺรายงานหะดีษอ่อนเช่นกัน  แต่อิบนุ สะอฺด์ ถือว่าอะฏียะฮฺเชื่อถือได้ (ษิเกาะฮฺ)  และยะหฺยา อิบนุ มะอีน ได้ถูกถามถึงหะดีษของอะฏียะฮฺว่าเป็นอย่างไร?  เขาตอบว่า : ดี (ศอลิหฺ)


สรุปได้ว่า ทั้ง 2 สายรายงานของหะดีษ “อัษ-ษิเกาะลัยนฺ”  ที่หมายถึง กิบตาบุลลอฮฺและอะฮฺลุลบัยตฺ ตามที่อิหม่าม อัต-ติรมิซียฺ บันทึกเอาไว้ในสุนันของท่านมีคำวิจารณ์ในสายรายงานและสถานภาพของผู้รายงานทั้ง 2 สายรายงาน  ทำให้หะดีษนี้อ่อนหลักฐาน  


แต่ถ้าหากหะดีษนี้เป็นหลักฐานในเรื่องความประเสริฐของบุคคลก็สามารถนำมาอ้างได้โดยพิจารณาตัวบทที่ระบุคู่กันระหว่างกิตาบุลลอฮฺและอะฮฺลุลบัยตฺ  กล่าวคือ  เมื่อหะดีษ อัษ-ษิเกาะลัยน์ ตามที่ระบุว่าหมายถึง “กิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ”  (อย่างที่ชาวสุนนะฮฺมักจะนำมาอ้างอิงอยู่บ่อยครั้ง)  ซึ่งถูกต้องทั้งสายรายงานและตัวบท  ก็ตัองยึดในกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺเป็นหลัก  เมื่ออะฮฺลุลบัยตฺยึดในกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ  อะฮฺลุลบัยตฺก็มีความประเสริฐทั้งทางการสืบเชื้อสายและการยึดมั่นกับ 2 สิ่งนั้น และพวกเขาก็คือผู้นำทางที่ยึดถือและปฏิบัติตามได้  


อัล-มินาวียฺ อธิบายความของหะดีษนี้ว่า : “หากพวกท่านปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของกิตาบุลลอฮฺ  และยุติด้วยคำสั่งห้ามของกิตาบุลลอฮฺ  และพวกท่านก็เจริญรอยตามทางนำของลูกหลานของฉัน  และเอาอย่างวิถีการครองตนของพวกเขา  พวกท่านย่อมได้รับทางนำ  แล้วพวกท่านจะไม่หลงทาง” (ฟัยฎุลเกาะดีร 3/14)


อัล-กุรฏุบีย์ กล่าวว่า : “คำสั่งเสียนี้ และการเน้นย้ำที่สำคัญนี้ ย่อมชี้ขาดว่าจำเป็นที่จะต้องให้เกียรติอะฮฺลุลบัยตฺ รับรองสถานภาพและยกย่องพวกเขา  ตลอดจนมีความรักต่อพวกเขาเป็นความจำเป็นที่เน้นหนักซึ่งไม่มีข้ออ้างสำหรับผู้ใดในการที่ละเลยจากคำสั่งเสียนี้”   และวงศ์วานของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) นั้น พวกท่านมีธาตุที่ดี (คือสายเลือด)  เมื่อธาตุดี ก็ย่อมเกื้อหนุนต่อการเข้าใจศาสนา  การมีธาตุที่ดีย่อมนำไปสู่การมีจริยธรรมที่งดงามและจริยธรรมที่งดงามย่อมนำไปสู่หัวใจที่ผ่องใสมีความบริสุทธิ์หมดจด


ดังนั้นอะฮิลุลบัยตฺที่หมายถึงในอัล-หะดีษไม่ได้เจาะจงว่าเป็นผู้หนึ่งผู้ใดและไม่ได้กำหนดว่าต้องมีจำนวนเท่านั้นเท่านี้  ตลอดจนอะฮฺลุลบัยตฺที่สมควรได้รับสถานภาพอันสูงส่งนั้นก็คือ  ผู้รู้และผู้ปฏิบัติที่ไม่พรากจากอัล-กุรอานและสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) นี่คือความต่างระหว่างอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺกับกลุ่มที่อ้างว่าตามแนวทางของอะลุลบัยตฺหรือลูกหลานของท่านอิหม่ามอะลี (ร.ฎ.) เพราะพวกเขาเลือกถือเอาเฉพาะบุคคลที่พวกเขาจะเอา  และบุคคลที่ไม่เชื่อตามแนวทางของพวกเขาก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ปฏิเสธทั้งๆ ที่บุคคลเหล่านั้นเป็นลูกหลานของท่านอะลี (ร.ฎ.) เช่นกัน



หะดีษที่ 2    \"أَنَامَدِيْنَةُ الْعِلْمِ وعلىٌّ بَابُهَا فَمَنْ أَرَادَ الْعِلْمَ فَلْيأتِ الْبَابَ\"
“ฉันคือนครแห่งความรู้ และอะลีคือประตูของนครแห่งความรู้นั้น  ฉะนั้นผู้ใดต้องการความรู้ ผู้นั้นก็จงมายังประตูนั้น”


อิหม่าม อัต-ติรมิซียฺ บันทึกหะดีษนี้จากหะดีษของท่านอะลี (ร.ฎ.) และกล่าวว่า : เป็นหะดีษ เฆาะรีบ มุงกัร  หะดีษนี้มีทั้งหมด 5 สายรายงาน  ทุกสายรายงานอ่อนทั้งหมด  

อัล-เคาะฏีบ รายงานจาก อิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) มี 10 สายรายงาน  แต่ไม่มีสายใดเลยที่เศาะฮีหฺ  

อัล-หากิม บันทึกไว้ใน อัล-มุสตัดรอก และกล่าวว่าเศาะฮีหฺ  แต่ อัซ-ซะฮฺบียฺ วิจารณ์การตัศฮีหฺของอัล-หากิม  และกล่าวว่า เป็นหะดีษเมาวฺฎูอฺ  (ริสาละฮฺ ฟี อัร-ร็อดฺ อะลัร-รอฟิเฎาะฮฺ ; อบูหามิด มุฮัมหมัด อัล-มักดีสียฺ หน้า 230)  

ยะหฺยา อิบนุ มะอีน กล่าวว่า : หะดีษนี้เป็นเรื่องโกหกไม่มีต้นตอที่มา

อิบนุ อะดียฺ กล่าวว่า : หะดีษนี้เมาวฺฎูวฺ  รู้ได้ด้วย อบี อัศ-ศอลตฺ

อบูหาติม อิบนุ ฮิบบาน กล่าวว่า : หะดีษนี้ไม่มีที่มาจากท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)

อะหฺมัด อิบนุ หัมบัล ถูกถามถึงหะดีษนี้ เขากล่าวว่า :  ขออัลลอฮฺให้ อบา อัศ-ศอลตฺ เป็นคนอัปลักษณ์

อัล-บุคอรียฺ กล่าวว่า : ไม่มีประเด็นที่ถูกต้องสำหรับหะดีษนี้

อัด-ดาเราะกุฏนียฺ กล่าวว่า : เป็นหะดีษมุฏเฏาะริบ ไม่แน่ชัด

อิบนุ อัล-เญาซียฺ  กล่าวว่า :  ไม่มีต้นตอที่มาและนับหะดีษนี้รวมอยู่ในตำรา อัล-เมาวฺฎูอาต (ดู กิตาบ อัล-เมาวฺฎูอาต ; อิบนุลเญาวฺซียฺ 1/265, อัล-มะกอศิด อัล-หะสะนะฮฺ ; อัส-สะคอวียฺ หน้า 170, กัชฟุลเคาะฟาอฺ ; อัล-อิจญลูนียฺ 1/205)


อิบนุ ตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า :   การโกหกรู้ได้จากตัวบทของอัล-หะดีษ เพราะแท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  เมื่อปรากฏว่าท่านเป็นนครแห่งความรู้  และนครนี้ก็ไม่มีประตูนอกจากประตูเดียว  และไม่มีผู้ใดนำความรู้จากท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  มาเผยแพร่นอกจากคนๆ เดียว  เรื่องราวของอิสลามก็เสียหายหมด (มินฮาญุสสุนนะฮฺ 4/138)


กล่าวคือ กิตาบุลลอฮฺ และสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) นั้นได้รับการถ่ายทอดแบบมุตะวาติร  คือมีผู้รายงานในแต่ละรุ่นอย่างท่วมท้น  โดยเฉพาะอัล-กุรอานนั้นมีเงื่อนไขและคุณสมบัติที่ถูกกำหนดว่าจะต้องรายงานถ่ายทอดมาจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  แบบมุตะวาติร  มิใช่เพียงคนๆ เดียว


 อีกทั้งโดยข้อเท็จจริง  ท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็ไม่ได้อยู่ร่วมกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ในทุกเหตุการณ์  และท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็มิได้ถ่ายทอดหลักคำสอนของศาสนาให้แก่ท่านอะลี (ร.ฎ.)  เพียงคนเดียว หากเป็นตามอย่างที่พวกเขากล่าวโดยอาศัยหะดีษบทนี้แล้ว  บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  ที่มีอยู่จำนวนมากมายนั้นเล่า  ท่านจะสั่งสอนเขาทำไม  เพราะสอนไปแล้วพวกเขาก็ไม่มีสิทธิเป็นประตูแห่งความรู้อย่างที่ท่านอะลี (ร.ฎ.)  ได้รับสิทธินั้นแต่เพียงผู้เดียว  


ทุกครั้งที่อายะฮฺอัล-กุรอานถูกประทานลงมา  ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) จะอ่านอายะฮฺนั้นให้บรรดาเศาะหาบะฮฺที่อยู่ในเหตุการณ์ขณะนั้นฟัง  และท่านก็จะเรียกบรรดาผู้บันทึกวะฮียฺมาทำการจดบันทึกโดยบอกแก่พวกเขาว่า อายะฮฺนั้นๆ จะอยู่ตรงไหนในสูเราะฮฺอะไร  เศาะหาบะฮฺบางท่านคอยปรนิบัติท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  อย่างท่าน อะนัส อิบนุ มาลิก เป็นต้น


ซึ่งในหลายๆ เหตุการณ์เศาะหาบะฮฺที่ทำหน้าที่ใกล้ชิดเหล่านี้จะรู้ถึงการปฏิบัติของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) แล้วก็รายงานถ่ายทอดให้รู้ว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ทำอย่างไร  ซึ่งแน่นอนท่านอะลี (ร.ฎ.) ไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์เหล่านั้นทุกครั้งไป  นี่ยังไม่รวมเหตุการณ์ต่างๆ อีกมากมายที่เกิดขึ้นแล้วมีการวางบัญญัติทางศาสนาเนื่องจากเหตุการณ์นั้น  


หากบรรดาเศาะหาบะฮฺที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์เหล่านั้นไม่เป็นที่ยอมรับในการเอาความรู้จากเหตุการณ์ที่พวกเขาร่วมอยู่ด้วย  เพราะพวกเขามิใช่ประตูของนครแห่งความรู้อย่างท่านอะลี (ร.ฎ.) หลักคำสอนอันเป็นบัญญัติของศาสนาที่ปรากฎในคำพูดและการกระทำตลอดจนการยอมรับของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) จะสูญเสียไปมากน้อยเพียงใด  


และคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่ใช้ให้ผู้ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์นำเอาไปบอกผู้ที่ไม่ได้อยู่ร่วมด้วย  หรือใช้ให้เผยแผ่จากท่านสู่ผู้อื่น  จะมีประโยชน์อันใดในเมื่อความรู้ทางศาสนาเป็นสิทธิของท่านอะลี (ร.ฎ.) เพียงผู้เดียวในฐานะประตูที่นบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) สั่งใช้ว่า “ผู้ใดต้องการความรู้ ก็ให้ผู้นั้นมายังประตูนั้น”  เพราะไม่มีประตูอื่นอีกสำหรับความรู้อันมากมายมหาศาลของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)


บรรดาหัวเมืองสำคัญๆ ของชาวมุสลิมในยุคต้นอิสลาม  ไม่ว่าจะเป็น มะดีนะฮฺ มักกะฮฺ ชาม บัศเราะฮฺ ยะมัน  และเมืองในแอฟริกาเหนือ  พวกเขาเรียนรู้หลักการของศาสนาจากบรรดาเศาะหาบะฮฺและชนรุ่นถัดมาที่พำนักอยู่ในที่เหล่านั้นมากกว่าที่พวกเขาเรียนรู้จากท่านอะลี (ร.ฎ.)  


ที่เมืองยะมันพวกเขาเรียนรู้หลักการของศาสนาจากท่านมุอาซฺ อิบนุ ญะบัล (ร.ฎ.)  ซึ่งเป็นผู้ที่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ส่งไปสอนศาสนาที่นั่นเช่นเดียวกับท่านอะลี (ร.ฎ.)  แต่ชาวยะมันก็รายงานจากท่าน มุอาซฺ (ร.ฎ.) มากกว่ารายงานจากท่าน อะลี (ร.ฎ.) หรือท่าน ชุรอยหฺ ซึ่งเป็นตาบิอีนรุ่นอาวุโส  ในช่วงการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ท่านอุมัร (ร.ฎ.) และท่านอุษมาน (ร.ฎ.)  


พลเมืองมุสลิมในหัวเมืองของรัฐอิสลามเรียนรู้และถ่ายทอดคำสอนของศาสนาก่อนที่ท่านอะลี (ร.ฎ.) จะดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ พลเมืองกูฟะฮฺในอิรักก็เรียนรู้ศาสนามาก่อนที่ท่านอะลี (ร.ฎ.) จะย้ายฐานบัญชาการของท่านไปที่นั่นมาก่อนแล้ว  


หากถือตามสมมุติฐานที่ว่า “ความรู้ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่ถูกต้องจำเป็นจะต้องมาจากท่านอะลี (ร.ฎ.) แต่เพียงผู้เดียวเพราะท่านเป็นประตูเพียงบานเดียวของนครแห่งความรู้นั้น”  แล้ว  การถือศาสนาที่ถ่ายทอดมาจากเศาะหาบะฮฺท่านอื่นนั้นจะมีสภาพอย่างไร  ความรู้ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่ถ่ายทอดสั่งสอนผ่านระยะเวลามากกว่า 20 ปี ให้แก่บรรดาเศาะหาบะฮฺท่านอื่นๆ นั้นกลายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องกระนั้นหรือ  พลเมืองในอดีตเหล่านั้นจะกลายเป็นผู้หลงผิดกระนั้นหรือ  


เหตุนี้เองท่านอิบนุ ตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) จึงวิพากษ์หะดีษบทนี้ว่าเป็นการกุเรื่องของพวกนอกรีต (ซินดีก)  ที่โง่เขลาเพราะหากมองผิวเผินก็อาจจะเข้าใจได้ว่า  หะดีษนี้เป็นการเยินยอสถานภาพของท่านอะลี (ร.ฎ.)  แต่ในเนื้อแท้ของมันแล้วคือการเปิดช่องให้พวกนอกรีตโจมตีหลักคำสอนของศาสนาอิสลามว่าถ่ายทอดผ่านบุคคลเพียงคนเดียวเท่านั้น



หะดีษที่ 3 เป็นหะดีษที่บันทึกถึงมูลเหตุของการประทานอายะฮฺ มุบาฮะละฮฺ  และระบุถึงรายละเอียดของบุคคลที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์มุบาฮะละฮฺ  สถานภาพของหะดีษบทนี้คือ เศาะฮีหฺ  และอายะฮฺมุบาฮะละฮฺ(آية الْمُبَاهَلَةِ)  คือ  อายะฮฺที่ 61 สูเราะฮฺอาลิอิมรอน  


และอายะฮฺนี้พวกเขาถือเป็นหนึ่งจากหลักฐานในอัล-กุรอานที่ยืนยันถึงการเป็นอิหม่ามและเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) หลังจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)    (ดู ดิรอสาตฺ ฟี อะกออิดฺ อัช-ชีอะฮฺ อัล-อิมามียะฮฺ ; สัยยิด มุฮัมหมัด อะลี อัล-หะสะนัยฺน์  หน้า 77 เป็นต้นไป)  


แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วอายะฮฺนี้ไม่ได้กำหนดเป็นตัวบทในการแต่งตั้งผู้ใดให้เป็นอิหม่ามหรือเคาะลีฟะฮฺหลังจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) เลยแม้แต่น้อย  สิ่งที่ระบุในหะดีษที่ยกมาก็คือ  เมื่อมีการท้าให้มุบาฮะละฮิระหว่างพวกนะศอรอกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  ลำพังการขอดุอาอฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  นั้นก็เพียงพออยู่แล้วในการสร้างความประหวั่นพรั้นพรึงแก่พวกนะศอรอ  เพราะถ้าหากท่านเป็นนบีของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) จริง  ความวิบัติก็จะเกิดขึ้นกับคนพวกนั้นในฉับพลัน


 แต่การที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  ได้เรียกท่าน อะลี (ร.ฎ.)  ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (ร.ฎ.) ท่านหะสัน (ร.ฎ.) และท่านหุสัยนฺ (ร.ฎ.)  มาร่วมอยู่คืออะฮฺลุลบัยตฺ คือครอบครัวที่ใกล้ชิดที่สุดของท่าน  ย่อมเป็นการยืนยันว่าท่านมั่นใจในความสัจจริงของท่านอย่างที่สุดแล้ว  ถึงขึ้นเรียกบุคคลที่เป็นที่รักยิ่งของท่านและเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของท่านเข้ามาร่วมในการนี้ด้วย  


นั่นเป็นข้อยืนยันว่าท่านไม่ลังเลแม้แต่น้อยในความสัจจริงของท่าน  ถึงแม้ว่าจะต้องเสียสละบุคคลที่เป็นที่รัก  และท่านก็มั่นใจว่าพวกนะศอรอเหล่านั้นเป็นพวกที่หลงผิดและมุสา  อายะฮฺนี้จึงเป็นการอธิบายในทำนองที่กล่าวมา แม้นักตัฟสีรของพวกเขาก็อธิบายในทำนองนี้เช่นกัน (ดู  อัล-มีซาน ฟี ตัฟสีรฺ อัล-กุรอาน ; สัยยิด มุฮัมหมัด หุสัยนฺ อัฏ-เฏาะบาเฏาะบาอียฺ 3/244)  


หากอายะฮฺนี้เป็นหลักฐานในการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่าน อะลี (ร.ฎ.) ต่อจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  และยืนยันว่าท่านได้รับการแต่งตั้งตามตัวบทของอายะฮฺนี้ นับแต่เวลานั้น (ขณะที่ถูกเรียกมาร่วมในการมุบาฮะละฮฺ)  แล้วท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรออฺ (ร.ฎ.) และ อัล-หะสัน (ร.ฎ.) และ อัล-หุสัยนฺ (ร.ฎ.)  ทั้งสามท่านนี้เล่าพวกเขาจะมีสถานภาพเหมือนท่านอะลี (ร.ฎ.) หรือไม่


เพราะท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (ร.ฎ.) เป็นผู้หญิง  และท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) และอัล-หุสัยนฺ (ร.ฎ.)  ทั้งสองท่านยังเยาวฺวัยอยู่  ผู้หญิงและเด็กจะมีคุณสมบัติในการเป็นเคาะลีฟะฮฺได้อย่างไร  


หากพวกเขาค้านว่า อายะฮฺนี้มุ่งหมายถึงท่านอะลี (ร.ฎ.) เพราะคำว่า “อัมฟุสะนา”  ในอายะฮฺบ่งชี้ถึงท่านอะลี (ร.ฎ.)  ที่เสมอเหมือนท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  (ดู กัชฟุลมุรอด ฟี ชัรหิ ตัจญรีดิล อิอฺติกอด ; อัล-หะสัน อิบนุ ยูสุฟ อิบนุ อัล-มุเฏาะฮฺฮิร อัล-หิลลียฺ หน้า 304 / มิศบาหุลฮิดายะฮฺ ฟี อิษบาตฺ อัล-วิลายะฮฺ ; อะลี อัล-มูสาวียฺ อัล-บะฮฺบะฮานียฺ หน้า 99-103)  


ก็แสดงว่าไม่รวมท่าน อัล-หะสัน (ร.ฎ.) และ อัล-หุสัยนฺ (ร.ฎ.)  นอกเหนือจากท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (ร.ฎ.) ที่เป็นสตรี  ถ้าเป็นอย่างที่พวกเขาอ้าง  แล้วท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)   จะกล่าวทำไมว่า : “โอ้ อัลลอฮฺ เหล่านี้คืออะฮฺลุลบัยตฺของฉัน”  เพราะประโยคนี้ (อัมฟุสะนา)  หมายถึงท่านอะลี (ร.ฎ.) เพียงผู้เดียว  


แต่ถ้าหากพวกเขาค้านต่อไปว่า  ทั้งหมดเป็นอะฮฺลุลบัยตฺ ส่วนท่านอะลี (ร.ฎ.) นั้น นอกจากท่านเป็นส่วนหนึ่งจากอะฮฺลุลบัยตฺแล้วถ้อยคำที่ว่า “อัมฟุสะนา” เป็นการระบุคุณสมบัติและสถานภาพอันสูงส่งของท่าน ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าท่านจะได้เป็นเคาะลีฟะฮฺต่อจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  


หากอ้างเช่นนี้ เราก็บอกได้ว่า ถ้าเป็นอย่างที่พวกเขาเข้าใจซึ่งไม่มีระบุในอายะฮฺว่าจะเป็นเคาะลีฟะฮฺเมื่อใด  การเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) ภายหลังจากท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ก็ย่อมหมายถึงการเป็นเคาะลีฟะฮฺหลังจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  เช่นกัน  แต่ถ้าเจาะจงว่าเป็นต่อจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  โดยตรงก็ต้องถามกลับไปว่า แล้วตรงไหนของอายะฮฺเล่าที่ระบุเอาไว้?


والله اعلم بالصواب
وصلى الله على سيدنا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين