การแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์  (อ่าน 8888 ครั้ง)

มุสลิมไทย

  • บุคคลทั่วไป
อัสสลามุอะลัยกุมวะเราะห์มะตุลลอฮิวะบะร่อกาตุฮ์
 เนื่องจากผมมีข้อข้องใจบางประการเกี่ยวกับเรื่องของการแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตรย์ เพราะมีมุสลิมจำนวนหนึ่งได้อธิบายว่ากษัตริ์(และราชวงศ์)นั้นเป็นตอฆูต ห้ามเคารพ ห้ามขอความช่วยเหลือ ห้ามให้เกียรติใดๆ ฯลฯ จึงขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยไขข้อข้องใจให้ผมด้วยดังต่อไปนี้
1 การยืนตรงเมื่อมีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นที่อนุมัติในอิสลามหรือไม่
2 หากกษัตริย์และราชวงศ์ เป็นตอฆูตจริง ห้ามเราให้เกียรติ ห้ามยุ่งเกี่ยวใดๆกับสถาบันกษัตริย์ใช่หรือไม่
3 การยืนตรงเคารพธงชาติ ทำได้หรือไม่
       สุดท้ายนี้ขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูง และขอเอกองค์อัลลอฮ์ทรงประทานความสุขและความจำเริญให้แก่อาจารย์และครอบครัวด้วยเทอญ อามีน

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : การแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ตุลาคม 24, 2011, 08:29:53 pm »
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

สิ่งแรกที่จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจและรับรู้ก็คือ “ฏอฆูต” คืออะไร?

คำว่า ฏอฆูต  (الطَّاغُوْتُ)เป็นคำนามที่แตกมาจากอาการนาม (มัศดัร) ว่า: อัฏ-ฏุฆยาน(الطُّغْيَانُ)  มีความหมายว่า การก้าวล่วงขอบเขต (مُجَاوَزَةُالْحَدِّ)  การล้ำเส้น , การเลยเถิด , การละเมิด , ความสุดโต่งในการปฏิเสธ และคำว่า อัฏ-ฏอฆียฺ(الطَّاغِىْ)  แปลว่า ผู้อธรรม(الظَّالِمُ)  คำว่า อัฏ-ฏอฆียะฮฺ (الطَّاغِيَةُ) แปลว่า หญิงที่อธรรม , ผู้อหังกา ผู้ยโสโอหังและดื้อแพ่ง กล่าวโดยรวม คำว่า อัฏ-ฏอฆูต จะหมายถึง ทุกๆ สิ่งที่ละเมิด , ผู้นำของกลุ่มชนที่หลงผิด , มารร้ายที่ชักจูงให้ออกจากความดีและทุกๆ สิ่งที่ถูกเคารพสักการะอื่นจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.)


ท่านอุมัร อิบนุ อัล-คอฏฏอบ (ร.ฮ.) กล่าวว่า: ฏอฆูต ก็คือ ซัยฏอน (มารร้าย) , (อัฏ-เฏาะบะรียฺ บันทึกไว้ในตัฟสีรเลขที่ 5834 , 5835 , อัล-ฟิรยานียฺ และสะอีด อิบนุ มันศูร ในอัดฺ-ดุรรุล มันษุร 2/22)


ท่านญาบีร (ร.ฎ.) กล่าวว่า บรรดาฏอฆูต (الطَّوَاغِيْتُ) ก็คือบรรดาพ่อมดหมอผี (كُهَّانٌ)  ที่บรรดาชัยฏอนลงมายังพวกนั้น (ตัฟสีร อัฏ-เฏาะบะรียฺ เลขที่ 5845)


อิหม่ามมาลิก (ร.ฮ.) กล่าวว่า ฏอฆูต หมายถึง ทุกสิ่งที่ถูกเคารพสักการะอื่นจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) (บันทึกโดยอิบนุ อบีหาติม ; อัด-ดุรรุลมันษูร 2/22)


อิมาดุดดีน อิบนุกะษีร (ร.ฮ.) กล่าวว่า ฏอฆูตคือชัยฏอนและสิ่งที่ซัยฏอนประดับประดาสิ่งนั้นอย่างสวยงามจากการเคารพสักการะสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.)


อิบนุ อัล-ก็อยยิม (ร.ฮ.) ให้คำนิยาม ฏอฆูตฺ ว่า สิ่งที่บ่าวล่วงละเมิดขอบเขตของตนด้วยสิ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ถูกเคารพสักการะ หรือถูกปฏิบัติตามหรือถูกเชื่อฟัง ดังนั้นฏอฆูตของแต่ละกลุ่มชนก็คือบุคคลที่กลุ่มชนนั้นไปหาเพื่อให้ชำระความตัดสินอื่นจากอัลลอฮฺและรสูลของพระองค์ หรือกลุ่มชนนั้นเคารพสักการะต่อบุคคลผู้อื่นจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) หรือปฏิบัติตามเขาผู้นั้นโดยไม่มีหลักฐานประจักษ์แจ้งจากอัลลอฮฺ หรือเชื่อฟังต่อบุคคลนั้นในสิ่งที่พวกเขาไม่รู้ว่านั่นคือการเชื่อฟังอัลลอฮฺ (ซ.บ.) (อิอฺลามุล มูกิอีน ; อิบนุ อัล-ก็อยยิม 1/53 , มุคตะศอร อัศ-เศาะวาอิก อัล-มุรฺสะละฮฺ 2/353)


ในคัมภีร์อัล-กุรอานกล่าวถึง อัฏ-ฏอฆูตเอาไว้หลายที่ด้วยกัน เช่น

فَمَن يَكْفُرْ‌ بِالطَّاغُوتِ وَيُؤْمِن بِاللَّـهِ فَقَدِ اسْتَمْسَكَ بِالْعُرْ‌وَةِ الْوُثْقَىٰ لَا انفِصَامَ لَهَا  وَاللَّـهُ سَمِيعٌ عَلِيمٌ
“ดังนั้นผู้ใดปฏิเสธต่อฏอฆูตฺและศรัทธาต่ออัลลอฮฺ แน่แท้ผู้นั้นได้ยึดจับสายเชือกเหนียวแน่นที่ไม่มีการขาดสำหรับสายเชือกนั้น และอัลลอฮฺทรงได้ยินอีกทั้งทรงรอบรู้ยิ่ง” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 256) เป็นต้น


เมื่อพิจารณาถึงนัยและความหมายของฏอฆูตโดยรวม ก็จะพบว่า หมายถึงทุกสิ่งที่ถูกเคารพสักการะถูกปฏิบัติตาม และถูกเชื่อฟังอื่นจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นบุคคล เช่น กะอฺบ์ อิบนุ อัล-อัชร็อฟ ชาวยิว หรือ อบู บัรซะฮฺ อัล-อัสละมียฺ ผู้เป็นพ่อมดหมอผีที่ทำหน้าที่ตัดสินความระหว่างชาวยิว หรือไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นวัตถุ เช่น รูปเจว็ด หรือสิ่งนั้นมิใช่มนุษย์แต่เป็นชัยฏอน ทั้งหมดเข้าอยู่ในความหมายและนัยของฏอฆูตทั้งสิ้น รวมถึงบรรดาผู้ตั้งภาคี บรรดาผู้ปฏิเสธ และผู้ที่ประพฤติชั่วและจมปลักอยู่ในความชั่วนั้นก็ล้วนแต่หมายถึงฏอฆูตทั้งสิ้น


ซึ่งอัล-กุรอานใช้ให้ผู้ศรัทธาหลีกห่างจากการเข้าไปข้องแวะกับสิ่งเหล่านั้นในด้านความเชื่อ ความศรัทธา และการปฏิบัติตามตลอดจนการเชื่อฟังและภักดีในเชิงของการตั้งภาคี (شِرْكُ الطَّاعَةِ)ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแยกระหว่างเรื่องของหลักศรัทธา (อะกีดะฮฺ) อันเป็นจุดยืนของผู้ศรัทธาที่มีต่อบรรดา ฏอฆูตเหล่านั้น และระหว่างการปฏิบัติต่อบรรดาฏอฆูตเหล่านั้น (มุอามะละฮฺ) ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งเพราะหากไม่มีการแยกประเด็นในเรื่องนี้ก็คงไม่อาจดำรงชีวิตในโลกดุนยานี้ได้ เพราะในโลกดุนยานี้มีฏอฆูตเต็มไปหมด


ทรัพย์สินเงินทองเมื่อคนไปถือว่าเป็นพระเจ้านั่นก็หมายความว่าทรัพย์สินเงินทองนั้นคือ ฏอฆูต กฏหมายที่มนุษย์ร่างขึ้นและใช้มันเป็นมาตรฐานในการตัดสินอื่นจากหลักนิติธรรม (ชะรีอะฮฺ) ของอัลลอฮฺและรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็ถือว่าเป็นฏอฆูต พลโลกส่วนมากก็ล้วนแต่เข้าข่ายว่าเป็นฏอฆูตเพราะพวกเขาละเมิดล่วงเกินสิทธิและขอบเขตของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ด้วยการปฏิเสธและตั้งภาคีต่อพระองค์ ดังที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงดำรัสว่า


وَالْكَافِرُ‌ونَ هُمُ الظَّالِمُونَ
“และบรรดาผู้ปฏิเสธนั้น พวกเขาคือผู้อธรรม”
(อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 254)


การอธรรม (اَلظُّلمُ)ก็คือการละเมิดและเลยเถิดมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า อัฏ-ฏุฆยาน ซึ่งเป็นรากศัพท์ของคำว่า ฏอฆูต นั่นเอง ในทำนองเดียวกัน การตั้งภาคีก็ถือเป็นการละเมิดที่ยิ่งใหญ่ดังที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงดำรัสว่า

إِنَّ الشِّرْ كَ لَظُلْمٌ عَظِيمٌ
“แท้จริงการตั้งภาคีนั้น คือการละเมิดที่ยิ่งใหญ่”
(ลุกมาน : 13)


กระนั้นพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ก็ทรงสั่งใช้ให้ผู้เป็นบุตรที่ศรัทธาอยู่ร่วมชีวิตกับบุพการีย์ทั้งสองของตนด้วยดี ทั้งๆ ที่บุคคลทั้งสองเข้าข่ายว่าเป็นฏอฆูต และพยายามชักจูงบุตรผู้ศรัทธาให้ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ซึ่งพระองค์สั่งว่าอย่าเชื่อฟังบุคคลทั้งสองในเรื่องการตั้งภาคีแสดงว่ามีการแยกระหว่างอะกีดะฮฺ คือ หลักศรัทธาที่จะต้องมั่นคงในการให้เอกภาพต่อพระองค์และปฏิเสธต่อฏอฆูตในขณะเดียวกันก็แยกประเด็นของปฏิสัมพันธ์กับบุคลทั้งสองผู้เป็นบุพการีย์ว่า

وَصَاحِبْهُمَا فِي الدُّنْيَا مَعْرُ‌وفًا
“และจงอยู่เคียงคู่บุพการีย์ทั้งสองในโลกนี้โดยดี”
(ลุกมาน : 15)


กล่าวคือ ถึงแม้ว่าบุคคลทั้งสองจะพยายามโน้มน้าวให้บุตรผู้ศรัทธาตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ก็ไม่ให้เชื่อฟังเรื่องดังกล่าว กระนั้นบุคคลทั้งสองก็มีบุญคุณในฐานะผู้ให้กำเนิดและเป็นบุพการีย์ผู้ให้การเลี้ยงดูมาก็จงแสดงความเป็นบุตรที่ดีและกตัญญูต่อบุคคลทั้งสองในสิ่งที่ไม่ขัดต่อหลักการของศาสนา แต่ถ้าเราถือว่าบุคคลทั้งสองเป็นฏอฆูตที่เราจำเป็นต้องหลีกห่าง ต้องไม่ให้เกียรติและเคารพยกย่องก็จะกลายเป็นว่าเรากระทำสิ่งที่ขัดกับคำสั่งของอัลลอฮฺ (ซ.บ.)


ในอายะฮฺดังกล่าวอย่างแน่นอน บรรดากลุ่มชนแห่งคัมภีร์ (อะฮฺลุลกิตาบ) ก็ไม่พ้นจากการเป็นฏอฆูตเช่นกัน เพราะพวกเขากล่าวอ้างว่า อัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) คือบุตรของพระองค์ หรือคือหนึ่งในสามพระภาคของพระองค์หรือเป็นพระเจ้า ซึ่งไม่มีอะไรจะก้าวล่วงต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่รุนแรงยิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว มิหนำซ้ำพวกชาวคัมภีร์ยังได้ยึดถือและปฏิบัติตามปุโรหิต ธรรมาจารย์ (ยิว) และบาทหลวง (คริสต์) ของพวกเขาเยี่ยงการปฏิบัติตามและภักดีต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ดังที่อัล-กุรอานระบุว่า

اتَّخَذُوا أَحْبَارَ‌هُمْ وَرُ‌هْبَانَهُمْ أَرْ‌بَابًا مِّن دُونِ اللَّـهِ ...الآية
“พวกเขา (ชาวคัมภีร์) ได้ยึดเอาบรรดาปุโรหิต-ธรรมาจารย์และเหล่าบาทหลวงของพวกเขาเป็นพระเจ้า (ในการเชื่อฟังและปฏิบัติตาม) อื่นจากอัลลอฮฺ”  (อัต-เตาบะฮฺ : 31)


ซึ่งแน่นอนการกระทำดังกล่าวของชาวคัมภีร์เข้าข่ายเป็นการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ที่เรียกว่า  (شِرْكُ الطَّاعَةِ)ซึ่งทำให้พวกเขามีสภาพเข้าข่ายเป็นฏอฆูต โดยเฉพาะบรรดาปุโรหิต ธรรมาจารย์ และบาทหลวงนั้นถือว่าเป็นฏอฆูตตามคำนิยามของนักวิชาการอย่างชัดเจน กระนั้นก็ปรากฏว่า อัล-กุรอานได้กล่าวถึงพวกเขาว่า

ذَٰلِكَ بِأَنَّ مِنْهُمْ قِسِّيسِينَ وَرُ‌هْبَانًا وَأَنَّهُمْ لَا يَسْتَكْبِرُ‌ونَ
“นั่นเป็นเพราะว่าแท้จริงส่วนหนึ่งจากพวกเขาคือบรรดาบาทหลวงและผู้บำเพ็ญศีล และแท้จริงพวกเขาไม่ยิ่งยะโสโอหัง”  (อัล-มาอิดะฮฺ : 82)


อัล-บัยฎอวียฺ กล่าวว่า : ในดำรัสข้อนี้บ่งชี้ว่าความนอบน้อมถ่อมตน การมุ่งสู่ความรู้การปฏิบัติ และการผินออกจากอารมณ์ใฝ่ต่ำเป็นสิ่งที่ได้รับการสรรเสริญถึงแม้ว่าจะเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากผู้ปฏิเสธก็ตาม (อัล-บัยฎอวียฺ หน้า 159)


กล่าวคือนี่เป็นการยอมรับถึงคุณธรรมอันเป็นสากลและมีนัยว่าเป็นการแสดงความชื่นชม ทั้งๆ ที่บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ที่เข้าข่ายว่าเป็นฏอฆูต จักรพรรดิ์ เฮราคลีอุส (ฮฺรอกลฺ) แห่งโรมันไบเซนไทน์ก็เป็นชาวคัมภีร์ที่เชื่อว่า อัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) คือพระบุตรของพระเจ้า หรือเป็นหนึ่งในตรีเอกานุภาพซึ่งถือเป็นการละเมิดขอบเขตที่เข้าข่ายเป็นฏอฆูตเช่นกัน กระนั้นเมื่อท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) มีสาส์นไปถึงจักรพรรดิ์เฮราคลีอุส ท่านก็ใช้ให้ผู้เขียนสาส์นเขียนถ้อยความว่า


 “بسم الله الرحمن الرحيم من محمد رسول الله إِلَى هِرَقْلَ عَظِيمِ الرُّومِ...”
“ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺ พระผู้ทรงเมตตาปราณีเสมอ จากมุฮัมมัด ศาสนทูตแห่ง   อัลลอฮฺ ถึง ฮิรอกลฺ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งโรม...” (อัล-บิดายะฮฺ วันนิฮายะฮฺ ; เล่มที่ 2  ภาคที่ 4 หน้า 263)


คำว่า “ผู้ยิ่งใหญ่แห่งโรม”  (عَظِيْمُ الرُّوْمِ)เป็นคำที่บ่งถึงสถานภาพตามข้อเท็จจริงของฮิรอกลฺ เพราะฮิรอกลฺเป็นจักรพรรดิ์ (قَيْصَرُ) ของจักรวรรดิ์โรมันตะวันออก แสดงว่าท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ยอมรับในสถานภาพและตำแหน่งของฮิรอกลฺ และแสดงถึงความยกย่องและให้เกียรติจึงใช้คำว่า “ผู้ยิ่งใหญ่” (عَظِيْم)



ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่ได้ใช้สำนวนที่บ่งถึงการดูแคลน การประณาม หรือการไร้มารยาทในการปฏิบัติกับฮิรอกลฺซึ่งเป็นฏอฆูต ในทำนองเดียวกันท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวถึงกษัตริย์ อัน-นะญาชียฺ แห่งอัล-หะบะชะฮฺ (เอธิโอเปีย) ซึ่งเป็นนัศรอนียฺเช่นเดียวกับฮิรอกลฺ  ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

\"لَوْ خَرَجْتُمْ إلى أرضِ الحبشة ؟ فإنَّ بها مَلِكًا لَا يُظْلَمَ عِنْدَهُ أَحَدٌ ، وهي أرضُ صِدْقٍ ، حتى يَجْعَلَ اللهُ لكم فَرجًا مما أنتم فيه\"

“หากพวกท่านออกไปยังแผ่นดินอัล-หะบะชะฮฺ (ก็คงจะเป็นการดี) เพราะที่นั่นมีกษัตริย์องค์หนึ่งที่ผู้หนึ่งจะไม่ถูกอธรรม ณ กษัตริย์องค์นั้น และอัล-หะบะชะฮฺคือแผ่นดินแห่งความสัจ จนกว่าพระองค์อัลลอฮฺจะทรงบันดาลทางออกจากภาวะที่พวกท่านเป็นอยู่” (อัล-บิดายะฮฺ วันนิฮายะฮฺ ; อิบนุ กะษีร เล่มที่ 2 ภาคที่ 3 หน้า 64)


 มีเรื่องราวที่ระบุว่า พวกกุรอยซฺมักกะฮฺส่งตัวแทนไปเข้าเฝ้ากษัตริย์อันนะญาชียฺ คือ อัมรฺ อิบนุ อัล-อาศ (ซึ่งยังไม่ได้เข้ารับอิสลามในเวลานั้น) และอุมาเราะฮฺ อิบนุ อัลวะลีด พร้อมด้วยของกำนัลเพื่อให้กษัตริย์อันนะญาชียฺมอบเหล่าผู้ศรัทธาที่ลี้ภัยไปยังอัล-หะบะชะฮฺแก่พวกเขานำกลับไปยังนครมักกะฮฺ  


ทั้งสองคนนั้นได้ก้มลงกราบต่อหน้ากษัตริย์อันนะญาชียฺ ซึ่งแน่นอนอัน-นะญาชียฺยินยอมให้กระทำเช่นนั้นแก่ตนจึงเข้าข่ายเป็นฏอฆูตนอกเหนือจากเรื่องความเชื่อในศาสนาคริสต์ของอันนะญาชียฺเอง กระนั้นท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็เรียกขาน กษัตริย์ผู้นี้ว่าเป็นกษัตริย์โดยมีคุณลักษณะแห่งความเที่ยงธรรมเพราะจะไม่มีผู้ใดถูกอธรรมต่อหน้ากษัตริย์ผู้นี้ และในการโต้ตอบของท่านญะอฺฟัร อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) ก็ใช้คำว่า โอ้ผู้เป็นกษัตริย์ (أيها المَلِكُ) เช่นกัน (อ้างแล้วหน้า 71)


หากกษัตริย์อัน-นะญาชียฺเป็นฏอฆูตที่จำต้องหลักห่าง ไม่ให้ความเคารพหรือให้เกียรติแล้วเหตุไฉนท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวประโยคเช่นนั้น ซึ่งเป็นการให้เกียรติและยกย่องในความยุติธรรมของอัน-นะญาชียฺ ตัวอย่างทั้งหมดที่ยกมานี้ย่อมเป็นสิ่งบ่งชี้ว่า มีการแบ่งแยกระหว่างกรณีของหลักอะกีดะฮฺกับกรณีของการมุอามะละฮฺที่เหมาะสมกับข้อเท็จจริง กาลเทศะ และสถานภาพของบุคคล


การแสดงท่าทีของท่านญะอฺฟัร อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) ต่อกษัตริย์อัน-นะญาชียฺนั้นอธิบายได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ ท่านญะอฺฟัร (ร.ฎ.) ไม่ยอมก้มลงกราบเบื้องหน้ากษัตริย์และยืนยันกับกษัตริย์อัน-นะญาชียฺว่า ทำไม่ได้เพราะผู้ศรัทธาจะก้มลงกราบ (สูหญูด) เฉพาะพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เท่านั้น


แม้ว่าบรรดาบาทหลวงที่อยู่ในท้องพระโรงเวลานั้นจะออกคำสั่งให้ท่านญะอฺฟัร (ร.ฎ.) ให้ก้มลงกราบก็ตาม เพราะนี่เป็นเรื่องของอะกีดะฮฺที่จำต้องมีจุดยืนอย่างมั่นคง แต่เมื่อท่านญะอฺฟัร (ร.ฎ.) โต้ตอบกับกษัตริย์อัน-นะญาชียฺ ท่านก็มีมารยาทและแสดงความยอมรับต่อสถานภาพของความเป็นกษัตริย์ด้วยการเรียกขานว่า โอ้ผู้เป็นกษัตริย์ (أيهاالملك)  หาได้ใช้ความหยาบคายและแสดงความไร้มารยาทออกมาแต่อย่างใด เพราะนี่เป็นเรื่องของมุอามะละฮฺนั่นเอง


นอกจากนี้อัล-กุรอานยังได้ห้ามมิให้ผู้ศรัทธาด่าทอหรือจาบจ้วงต่อบรรดาสิ่งที่ผู้ตั้งภาคีเคารพสักการะต่อสิ่งเหล่านั้นอีกด้วยว่า

وَلَا تَسُبُّوا الَّذِينَ يَدْعُونَ مِن دُونِ اللَّـهِ فَيَسُبُّوا اللَّـهَ عَدْوًا بِغَيْرِ‌ عِلْمٍ
“และสูเจ้าอย่าได้ด่าทอบริภาษบรรดาสิ่งซึ่งพวกเขา (เหล่าผู้ตั้งภาคี) ได้วิงวอนขออื่นจากอัลลอฮฺ เพราะนั่นจักเป็นเหตุที่พวกเขาจะด่าทอบริภาษอัลลอฮฺ เนื่องด้วยการละเมิดและอธรรมโดยไม่มีความรู้อันใด”  (อัน-อันอาม : 108)


สิ่งที่พวกตั้งภาคีวิงวอนขออื่นจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ก็คือบรรดาวัตถุหรือบุคคลที่ถูกเคารพสักการะอื่นจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) นั่นเอง วัตถุก็คือรูปเคารพ บุคคลก็เช่น พระ นักบวช ที่พวกเขาเคารพนับถือรวมถึงกษัตริย์ที่มีสถานะกึ่งสมมุติเทพตามความเชื่อของพวกเขาอีกด้วย

أَمَرَنَا رسول الله صلى الله عليه وسلم  أَنْ نُنْزِلَ النَّاسَ مَنَازِلَهُمْ
“ท่านรสูลลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ใช้ให้พวกเรานำเอาผู้คนลงยังบรรดาที่ลงของพวกเขา”


 หมายความว่า ให้ปฏิบัติกับผู้คนตามสถานภาพและตำแหน่งอันควรของพวกเขา หะดีษบทนี้มุสลิมรายงานแบบตะอฺลีกเอาไว้ในคำนำเศาะฮีหฺของท่าน และอบูนุอัยมฺบันทึกเอาไว้ด้วยสายรายงานที่เชื่อมต่อในอัล-มุสตัครอจญ์ , อบูดาวูด , อิบนุ คุซัยมะฮฺ , อัล-บัซซารฺ , อบูยะอฺลา และอัลบัยฮะกียฺ  ในอัล-อะดับ จากท่านหญิงอาอิซะฮฺ (ร.ฎ.) และอัล-เคาะรออิฏียฺ บันทึกไว้ในมะการิมุล อัคลาก จากท่านมุอาซฺ (ร.ฎ.) เป็นหะดีษมัรฟูอฺว่า


أنْزِلِ الناسَ مَنازِلَهُمْ مِنَ الخَيْرِ والشَّرِّ ، وأحْسِنْ أَدَبَهُمْ على الأَخْلاقِ الصَّالِحَةِ
“จงนำเอาผู้คนลงในตำแหน่งของพวกเขาจากความดีและความชั่ว และจงทำให้มารยาทของพวกเขาสวยงามตามจรรยามารยาทที่ดี” (กัชฟุล เคาะฟาอฺ ; อัล-อิจญลูนียฺ เล่มที่ 1 หน้า 224-225)


ดังนั้น การให้ความเคารพและให้เกียรติต่อบุคคลตามสถานภาพของพวกเขาจึงถือเป็นการแสดงความมีมารยาทและจริยธรรมที่ศาสนาใช้ให้ผู้ศรัทธาปฏิบัติ และมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาตามสถานะอันควรและเป็นไปตามการประพฤติของผู้นั้น ถึงแม้ว่าผู้นั้นจะเข้าข่ายว่าเป็นฏอฆูตก็ตาม ผู้ศรัทธาจะมีใจยินดีต่อสภาพการเป็นฏอฆูตนั้นมิได้เพราะนั่นคือการปฏิเสธ (กุฟร์) แต่ผู้ศรัทธามีความชื่นชมยินดีต่อการประพฤติตนในด้านความเที่ยงธรรม การมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการไม่แสดงความเป็นปรปักษ์ต่ออิสลามและมุสลิมของบุคคลนั้นได้


อย่างกรณีของอบูฏอลิบ ลุงของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) เป็นต้น ผู้ศรัทธาจะมีใจยินดีต่อการปฏิเสธของอบูฏอลิบไม่ได้เลยแม้แต่น้อย แต่ด้วยคุณงามความดีที่อบูฏอลิบได้อุปการะเลี้ยงดู ปกป้องและช่วยเหลือท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) มาโดยตลอดนั้น ผู้ศรัทธายอมรับและมีใจยินดีในการกระทำของอบูฏอลิบที่มีต่อท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้


ในทำนองเดียวกัน ผู้ศรัทธาที่เป็นพสกนิกรของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ก็สามารถยอมรับและมีใจยินดีต่อพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านและเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ในฐานะที่พระองค์ทรงปกครองด้วยความยุติธรรม เป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกที่ทรงมีพระกรุณาต่อพสกนิกรชาวมุสลิมและศาสนาอิสลาม แม้คัมภีร์อัล-กุรอานฉบับพระราชทานพระองค์ท่านก็ทรงเป็นผู้ดำริให้จัดทำ และทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อการนี้ มีมัสญิดหลายแห่งที่พระองค์ท่านทรงมีพระบรมราชานุเคราะห์


เมื่อพระองค์ท่านและพระบรมวงศานุวงศ์มิได้เป็นผู้เบียดเบียน บังคับกดขี่ต่อพสกนิกรมุสลิมและศาสนาอิสลาม หากแต่มีส่วนในการบำรุงและอุปถัมภ์เสียด้วยซ้ำ ผู้ศรัทธาก็ต้องสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นนั้น และยินดีในพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน เพราะท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า “ผู้ใดไม่รู้จักบุญคุณของอัลลอฮฺ ผู้นั้นย่อมไม่รู้จักบุญคุณคน”


การที่เราได้เกิดบนแผ่นดินนี้และมีพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ นั่นเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เป็นสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานพระกรุณาและความโปรดปรานแก่เรา จึงจำเป็นที่เราในฐานะผู้ศรัทธาจะต้องสำนึกในพระกรุณาและความโปรดปรานของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) มิใช่ทำลายหรือบ่อนทำลายความโปรดปรานนั้น


แน่นอนผู้ศรัทธาไม่สามารถยินดีในการเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาของพระองค์ท่าน และพระบรมวงศานุวงศ์ ไม่อาจเคารพสักการะและเทิดทูนเยี่ยงพระเป็นเจ้าได้ เพราะนั่นเป็นสิ่งทำลายอะกีดะฮฺของเรา แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าเราจะต้องปฏิเสธสถานะอันควรในความเป็นพระมหากษัตริย์ของพระองค์ท่านหรือปฏิบัติต่อพระองค์ท่านด้วยความหยาบคาย ไร้มารยาท เพียงเพราะข้อหาว่าเป็นฏอฆูต เพราะนั่นเท่ากับว่าเรากำลังฝืนคำสั่งของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) และกระทำตนเป็นคนที่ไม่รู้จักบุญคุณคน


จึงต้องเข้าใจว่า ศาสนาห้ามเคารพสักการะต่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เพราะนั่นเป็นการอิบาดะฮฺที่จะต้องสงวนสิทธิ์เอาไว้เฉพาะพระองค์เท่านั้น การเคารพการให้เกียรติและยกย่องในเชิงของการอิบาดะฮฺจึงเป็นสิ่งที่ผู้ศรัทธากระทำมิได้โดยเด็ดขาด ซึ่งเรื่องนี้ไม่ปรากฏว่าพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ได้บังคับให้ผู้ศรัทธากระทำเช่นนั้น แต่ปล่อยให้เป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ส่วนการให้ความเคารพ การให้เกียรติและยกย่องในด้านมุอามะละฮฺตามสถานภาพและตำแหน่งที่ปรากฏในข้อเท็จจริงของบุคคลนั้นเป็นเรื่องของจริยธรรม (อัล-อัคลาก) มิใช่เรื่องของการอิบาดะฮฺแต่อย่างใดเลย


หากผู้ศรัทธาไม่รู้จักแยกแยะในเรื่องนี้ก็จะเกิดปัญหาทันที ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางกฏหมายของบ้านเมือง และปัญหาที่กระทบกระเทือนต่อศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมในบ้านนี้เมืองนี้ซึ่งมุสลิมเป็นประชากรส่วนน้อย การพูดโดยไม่คำนึงถึงกาลเทศะไม่สนใจว่าจะมีผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงกว้าง ถือเป็นการพูดที่เป็นโทษมากกว่าคุณ อีกทั้งเป็นภัยทั้งต่อตัวผู้พูดเองและผู้อื่นที่รับฟังและมีท่าทีเช่นเดียวกับผู้พูด


เรื่องของฏอฆูตเป็นเรื่องที่สำคัญในการสร้างหลักศรัทธาที่ถูกต้องสำหรับผู้ศรัทธาก็จริง แต่วิธีการพูด การอธิบาย และการนำเสนอมีทางเลือกที่เหมาะสมกับกาลเทศะ เรื่องจริงเรื่องถูกตามหลักของศาสนานั้นต้องพูด ต้องนำเสนอ แต่มิได้หมายความว่า เมื่อพูดเรื่องจริงเรื่องถูกก็จำต้องใช้คำพูดที่รุนแรงและหมิ่นเหม่เสมอไป


คนที่มีปัญญาและความสุขุมคัมภีรภาพสามารถพูดและอธิบายเรื่องจริงได้ด้วยเหตุผล ความนุ่มนวลและสัมฤทธิผล ย่อมถือเป็นผู้ประเสริฐ กล่าวคือ มีเป้าหมายเดียวกันแต่ใช้วิธีการต่างกันนั่นเอง สำหรับคำถามที่ถามมา

1.การยืนตรงเมื่อมีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นสิ่งที่อนุมัติให้กระทำได้ เพราะมิใช่การอิบาดะฮฺทางศาสนา ไม่มีการตั้งภาคี และเป็นการแสดงความมีมารยาทของบุคคล เนื้อหาของเพลงก็ตีความได้ตามหลักภาษาโดยไม่ขัดต่อหลักศาสนา ส่วนเสียงดนตรีนั้นนักวิชาการมีความเห็นต่างกัน


2.หากพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์เป็นฏอฆูตจริงนั้นก็เป็นสิ่งที่ศาสนาห้ามในเรื่องของอะกีดะฮฺและอิบาดะฮฺ ส่วนในเรื่องมุอามะละฮฺนั้นศาสนาอนุญาตให้ผู้ศรัทธาให้เกียรติบุคคลตามสถานภาพอันเหมาะสมได้

ส่วนกรณีการยุ่งเกี่ยวนั้นก็ต้องพิจารณาว่ายุ่งในเรื่องอะไรถึงจะบอกได้ว่าห้ามหรือไม่ห้ามแต่โดยข้อเท็จจริงแล้วสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่ประชาชนพลเมืองไม่มีสิทธิเข้าไปยุ่งเกี่ยวอยู่แล้ว โดยจารีตประเพณีและกฏหมายบ้านเมือง น่าแปลกใจตรงที่ว่า คนที่พูดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นฏอฆูตแล้วก็บอกว่าไม่ให้ยุ่งเกี่ยว ทั้งที่สิ่งที่เขาพูดกำลังเป็นการเข้าไปยุ่งเกี่ยวโดยแท้ อีกทั้งกำลังจะทำให้เรื่องยุ่งเกิดขึ้นโดยรวมด้วยซ้ำไป


3. การยืนตรงเคารพธงชาติในความหมายที่ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความรักชาติที่มีธงเป็นเครื่องหมาย ย่อมสามารถกระทำได้ เพราะมิใช่เป็นการอิบาดะฮฺและมิได้มีเจตนาในการเคารพสักการะต่อธงซึ่งเป็นวัตถุนั้นแต่อย่างใด (ดูคำตอบได้จาก อะหฺสะนุลกะลาม ฟิล ฟะตาวา วัล-อะหฺกาม ; ชัยคฺ อะฏียะฮฺ ศอกร์ เล่มที่ 16 หน้า 27)

والله اعلم بالصواب