การรักษาน้ำละหมาด  (อ่าน 4179 ครั้ง)

ผู้สงสัย

  • บุคคลทั่วไป
การรักษาน้ำละหมาด
« เมื่อ: พฤศจิกายน 23, 2011, 08:22:39 pm »
อัสลามมุอะลัยกุม

โดยปกติ จะอาบน้ำละหมาด ก่อนอาบน้ำชำระล้างร่างกายทั่วๆไปทุกครั้ง

พอหลังจากอาบน้ำ (ปกติทั่วไป) เสร็จแล้ว ก็จะอาบน้ำละหมาด และรักษาน้ำละหมาด

อยากทราบว่า ในระหว่างที่มีรอบเดือน (เฮด) จะอาบน้ำละหมาด และรักษาน้ำละหมาดดังกล่าว ได้ตามปกติหรือไม่ อย่างไร

ขอรบกวนอาจารย์ ช่วยชี้แจงแถลงไขให้หายสงสัยด้วยค่ะ

ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนความดีงามให้แก่อาจารย์และครอบครัวของอาจารย์

วัสลาม

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : การรักษาน้ำละหมาด
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ธันวาคม 10, 2011, 05:25:37 pm »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

ในกรณีของสตรีที่มีรอบเดือน (หัยฏ์) อยู่นั้น ปวงปราชญ์ในมัซฺฮับ อัช-ชาฟิอียฺ กล่าวว่า การทำเฏาะฮาเราะฮฺเพื่อยกหะดัษของนางนั้นใช้ไม่ได้ (ไม่เศาะหฺ) ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำละหมาดหรือการอาบน้ำทั่วร่างกาย และถ้าหากนางเจตนาทำเฏาะฮาเราะฮฺในเชิงอิบาดะฮฺ (ตะอับบุด) ทั้งๆ ที่นางก็รู้ว่าการทำเฏาะฮาเราะฮฺในช่วงระหว่างมีรอบเดือนนั้นใช้ไม่ได้  ก็ถือว่านางมีบาปด้วยเจตนาเช่นนี้ เพราะเท่ากับนางกระทำเล่นๆ (มุตะลาอิบะฮฺ) กับการทำอิบาดะฮฺ


ส่วนการทำเฏาะฮาเราะฮฺที่มีสุนนะฮฺให้ปฏิบัติเพื่อรักษาความสะอาด เช่น การอาบน้ำเพื่อครองอิหฺรอมและการวุกูฟตลอดจนการขว้างเสาหิน กรณีนี้เป็นสุนนะฮฺสำหรับผู้มีรอบเดือนให้กระทำได้โดยไม่มีข้อขัดแย้ง กล่าวคือไม่ได้มีเจตนาในการทำอิบาดะฮฺ แต่เจตนารักษาความสะอาดร่างกาย เช่น อาบน้ำทั่วร่างกายตามปกติประจำวัน เป็นต้น ก็ไม่มีบาปในการกระทำเช่นนี้ โดยไม่มีข้อขัดแย้ง (กิตาบ อัล-มัจญมูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 2 หน้า 382-383)


นอกจากนี้ ในมัซฮับ อัช-ชาฟิอียฺและมัซฮับของปวงปราชญ์ทั้งชาวสะลัฟและเคาะลัฟ มีความเห็นว่า สตรีที่อยู่ในระหว่างการมีรอบเดือนนั้นไม่จำเป็นที่นางจะต้องอาบน้ำละหมาด , การกล่าวตัสบีหฺ และการซิกรุลลอฮฺในช่วงเวลาของการละหมาดฟัรฎู และนอกเวลาการละหมาดฟัรฎู ซึ่งตามนี้ อัล-เอาซาอียฺ , มาลิก , อัษ-เษารียฺ , อบูหะนีฟะฮฺและเหล่าสานุศิษย์ของท่าน ตลอดจน อบูเษาริน ได้กล่าวเอาไว้


ส่วนอัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ กล่าวว่า : ให้นางทำเฏาะฮาเราะฮฺและกล่าวตัสบีหฺ และมีรายงานจาก อบีญะอฺฟัร ว่า : “จงใช้ให้บรรดาสตรีที่มีรอบเดือนทำการอาบน้ำละหมาดในเวลาของการละหมาด และให้พวกนางนั่งและทำการซิกรุลลอฮฺตลอดจนการกล่าวตัสบีหฺ” อิมาม อัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) อธิบายว่า สิ่งที่บุคคลทั้งสองได้กล่าวถึงนั้น ตีความได้ว่าเป็นสิ่งที่ส่งเสริม (มุสตะหับ) ในความเห็นของบุคคลทั้งสอง


ส่วนที่ว่าส่งเสริมให้กล่าวตัสบีหฺนั้น ก็ไม่เป็นอะไร ถึงแม้ว่าจะไม่มีที่มาตามประเด็นที่เจาะจงนี้ ส่วนการอาบน้ำละหมาดนั้นถือว่า ใช้ไม่ได้ตามทัศนะของเราและปวงปราชญ์ ยิ่งไปกว่านั้นหากว่านางมีเจตนาในการอาบน้ำละหมาดว่าเป็นอิบาดะฮฺ นางก็มีบาปดังที่กล่าวมาก่อนแล้ว วัลลอฮุอะอฺลัม (อ้างแล้ว 2/385)


ดังนั้น จึงได้ข้อสรุปว่า  การอาบน้ำละหมาดของสตรีที่อยู่ในระหว่างการมีรอบเดือนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น อีกทั้งถือว่าการอาบน้ำละหมาดนั้นใช้ไม่ได้อีกด้วย มิหนำซ้ำถ้าหากนางเจตนาอาบน้ำละหมาดในเชิงอิบาดะฮฺ ทั้งๆ ที่รู้ว่าใช้ไม่ได้ ก็ถือว่านางมีบาปเนื่องด้วยเจตนาดังกล่าว

ทางออกในเรื่องนี้ก็คือ  หลีกห่างจากการอาบน้ำละหมาดในช่วงมีรอบเดือน แต่ถ้าประสงค์จะกระทำความดีด้วยการซิกรุลลอฮฺ ก็ให้อาบน้ำทั่วร่างกายตามปกติ (มิใช่การอาบน้ำยกหะดัษใหญ่) แล้วก็กล่าวซิกรุลลอฮฺทั่วไป เช่น ซุบหานัลลอฮฺ อัล-หัมดุลิลลาฮฺ ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ อัลลอฮุอักบัร เป็นต้น

والله أعلم بالصواب