ชีอะห์คืออะไร  (อ่าน 8792 ครั้ง)

อะนะ เราะญุลุล

  • บุคคลทั่วไป
ชีอะห์คืออะไร
« เมื่อ: ธันวาคม 05, 2011, 06:07:26 am »
salam ชีอะห์คืออะไรหรอครับ หลักความเชื่อเขาเป็นอย่างไร และชีอะห์แรงกว่าวาฮาบีย์หรือป่าวครับ ช่วยอธิบายให้หน่อยนะครับ  :)  ญาซากัลลอฮฮุค๊อนร๊อนครับ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : ชีอะห์คืออะไร
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ธันวาคม 28, 2011, 10:31:00 pm »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

คำว่า อัช-ชีอะฮฺ (اَلشِّيْعَةُ) ตามหลักภาษาหมายถึงบรรดาผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือและปฏิบัติตามบุคคลนั้นๆ และทุกๆ กลุ่มคนที่รวมกันบนเรื่องราวของพวกเขาเรียกว่า “ชีอะฮฺ” (ตะฮฺซีบฺ อัล-ลุเฆาะฮฺ ; อัล-อัซฮะรียฺ 3/61) เช่น ชีอะฮฺของอิหม่ามอะลี (ร.ฎ.) ก็หมายถึงบรรดาผู้ที่เห็นชอบและเข้าร่วมเป็นฝ่ายของอิมามอะลี (ร.ฎ.) และให้การสนับสนุนต่อท่าน


ชีอะฮฺของท่านมุอาวียะฮฺ อิบนุ อบีสุฟยาน (ร.ฎ.) ก็หมายถึงบรรดาผู้ที่เห็นชอบและเข้าร่วมเป็นฝ่ายของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) และให้การสนับสนุนต่อท่าน เป็นต้น ดังปรากฏคำว่า “ชีอะฮฺ” ในข้อตกลงอัต-ตะหฺกีมระหว่างท่านอะลียฺ (ร.ฎ.) และท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : “นี่คือสิ่งที่อะลี  อิบนุ อบีฏอลิบและมุอาวียะฮฺ อิบนุ อบีสุฟยานตลอดจนชีอะฮฺของทั้งสองได้ร่วมกันตัดสินใจชำระความ...” (อัด-ดัยนูรียฺ ; อัล-อัคบาร อัฏ-ฏิวาล หน้า 194 , ตารีค อัฏ-ฎาะบะรียฺ 5/53)


คำว่า ชีอะฮฺ ที่ปรากฏในข้อตกลงอัต-ตะหฺกีมจึงหมายถึง พรรคพวก ผู้ให้การสนับสนุนและฝ่ายที่ร่วมด้วย ซึ่งจะเห็นว่า ฝ่ายของท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็เรียกว่า ชีอะฮฺ ฝ่ายของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ก็เรียกว่าชีอะฮฺ ไม่ได้เจาะจงว่าเฉพาะผู้ที่ให้การสนับสนุนอะลี (ร.ฎ.) เพียงแต่ฝ่ายเดียวที่ถูกเรียกว่า ชีอะฮฺ เพราะคำว่าชีอะฮฺ  ตามหลักภาษาก็คือ พรรคพวกที่เข้าร่วมสนับสนุนและเห็นชอบกับบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดนั่นเอง


ส่วนความหมายของคำว่า ชีอะฮฺ ตามคำนิยามในเชิงวิชาการ (อิศฏิลาหิยฺ) นั้นโดยรวมหมายถึงกลุ่มชนที่มีความเชื่อและปฏิบัติตนตามแนวทางของลัทธิชีอะฮฺ ซึ่งเราจะนำคำนิยามของนักวิชาการฝ่ายชีอะฮฺมาอธิบายความหมายของคำว่า อัช-ชีอะฮฺ (الشيعة) เองดังนี้


1.สะอฺด์ อิบนุ อับดิลลาฮฺ อัล-กุมมียฺ เจ้าของตำรา อัฎ-ฎิยาอฺ ฟิลฺ อิมามะฮฺ และ มะกอลาตฺ อัล-อิมามียะฮฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 301 / ฮ.ศ. 299) ให้คำนิยามว่า : อัช-ชีอะฮฺ คือกลุ่มชนของ  อะลี อิบนุ อบีฏอลิบ อันถูกเรียกขานว่า “ชีอะฮฺของอะลี” ในสมัยของท่านนบี (ศ็อลลัลลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) และสมัยต่อมา อันเป็นที่รู้จักกันดีถึงการมุ่งหมายของพวกเขาไปยังท่านอะลีแต่ผู้เดียว และกล่าวถึงการเป็นอิมามของท่าน” (อัล-มะกอลาต วัล-ฟิร็อก , อัล-กุมมียฺ (เตหะราน ค.ศ. 1963) สำนักพิมพ์ หัยดะรียฺ หน้า 15)    ชัยคฺ อัน-นูบัคตียฺ ก็มีความเห็นสอดคล้องกับอัล-กุมมียฺในคำนิยามข้างต้น (ฟิรอก อัช-ชีอะฮฺ ; อัน-นูบัคตียฺ ; สำนักพิมพ์ อัล-อัฎวาอฺ เบรุต (ฮ.ศ. 1404) หน้า 2 , 17)


โปรดสังเกตว่า  อัล-กุมมียฺ ระบุว่าชีอะฮฺของท่านอาลี (ร.ฎ.) มีมานับแต่สมัยของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) โดยระบุไว้ในอัล-มะกอลาต วัล-ฟิร็อก หน้า 15 นั้นว่า ส่วนหนึ่งจากบรรดาเศาะหะบะฮฺที่เป็นชีอะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) รุ่นแรกคือ อัล-มิกดาด , สัลมาน อัล-ฟาริสียฺ , อบูซัรริน และอัมมารฺ อิบนุ ยาสิร (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม) เป็นต้น


ซึ่ง อิบนุ อัล- มุรตะฎอ ซึ่งเป็นชีอะฮฺ ซัยดียะฮฺหักล้างว่า การกล่าวอ้างว่ากลุ่มเศาะหาบะฮฺที่ออกชื่อไว้เป็นชีอะฮฺรุ่นแรกของพวกเขานั้นทำให้คำกล่าวอ้างนั้นเป็นเรื่องโกหกไปเพราะเศาะหะบะฮฺเหล่านั้นไม่เคยแสดงการตัดความเกี่ยวข้อง (บะรออะฮฺ) และด่าทอต่อท่านอบูบักร และท่านอุมัร (ร.ฎ.) มิหนำซ้ำท่านอัมมาร (ร.ฎ.) ก็ปกครองเมืองกูฟะฮฺ และท่านสัลมาน อัล-ฟาริสียฺ (ร.ฎ.) ก็ปกครองเมือง อัล-มะดาอิน โดยได้รับการแต่งตั้งจากท่านอุมัร (ร.ฎ.) (ดู อัล-มะนียะฮฺ วัล-อะมัล หน้า 124, 125 )


และข้อเท็จจริงก็คือในสมัยที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) มีชีวิตอยู่นั้นบรรดาเศาะหาบะฮฺเป็นกลุ่มชนเดียวกันไม่ได้แตกออกเป็นพรรคเป็นพวกและไม่ปรากฏว่าเบื้องหน้าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) มีชีอะฮฺหรือสุนนะฮฺหรือกลุ่มชีอะฮฺ-สุนนียฺแต่อย่างใด มีแต่บรรดาผู้ศรัทธาตามแนวทางของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) และศาสนาของท่าน คือ อัล-อิสลามเท่านั้น


ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) มิได้ถูกส่งมาเพื่อเรียกร้องสู่แนวทางของชีอะฮฺหรือทำสงครามกับพวกปฏิเสธเพื่อให้พวกนั้นยอมรับในการเป็นอิมามของท่านอะลี (ร.ฎ.) แต่อย่างใดเลย และในสมัยของคอลีฟะฮฺอบูบักร (ร.ฎ.) และอุมัร (ร.ฎ.) ก็ไม่ปรากฏว่ามีกลุ่มของเศาะหาบะฮฺที่เป็นชีอะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) และกล่าวถึงการเป็นอิมามของท่านอะลี (ร.ฎ.)


ซึ่งนักวิชาการคนสำคัญของชีอะฮฺเองก็ยอมรับในข้อเท็จจริงนี้ เช่น มูฮัมมัด หุสัยนฺ อาลฺกาชิฟ อัล-ฆิฎอ กล่าวว่า : ไม่ปรากฏว่าสำหรับชีอะฮฺและการตะชัยยุอฺ (การเป็นชีอะฮฺ) ในช่วงเวลานั้น (ในสมัยคอลีฟะฮฺอบูบักร (ร.ฎ.) และอุมัร (ร.ฎ.) มีประเด็นให้ปรากฏขึ้น เพราะศาสนาอิสลามได้ดำเนินไปบนบรรดาวิถีทางอันเที่ยงตรง...” (อัศลุตตะชัยยุอฺ หน้า 48)


และมุฮัมมัด หุสัยน์ อัล-อามิลียฺ ก็กล่าวว่า : แท้จริงคำว่า อัช-ชีอะฮฺได้ถูกเลิกร้างไปภายหลังการเป็นคอลีฟะฮฺอย่างสมบูรณ์สำหรับอบูบักร และบรรดามุสลิมก็กลายเป็นกลุ่มเดียวกันจวบจนช่วงปลายในสมัยของคอลีฟะฮฺที่สาม...” (อัช-ชีอะฮฺ ฟี อัต-ตารีค หน้า 39-40)  


ซึ่งในการที่คำว่า อัช-ชีอะฮฺ ถูกเลิกร้างไปนั้น จริงๆแล้วก็คือ มันไม่เคยปรากฏมีมาก่อนนั่นเอง เพราะมันจะถูกเลิกร้างไปได้อย่างไรหรือไม่ปรากฏขึ้นได้อย่างไรในเมื่อรัฐบาลของคอลีฟะฮฺที่มีมาก่อนท่านอะลี (ร.ฎ.) ต่อจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) โดยตรงในความเชื่อของพวกชีอะฮฺเองเป็นรัฐบาลของผู้ปฏิเสธ และเป็นไปได้อย่างไรที่มุสลิมเคยแบ่งเป็นกลุ่มและพรรคพวกในสมัยท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) แล้วกลายมาเป็นกลุ่มชนที่มีเอกภาพ และเป็นหนึ่งเดียวในสมัยคอลีฟะฮฺทั้งสามนั้น อย่างที่ อัล-อามิลียฺ ได้กล่าวไว้



*ชัยคฺ อัล-มุฟีด (เสียชีวิต ฮ.ศ. 413)  ให้คำนิยามว่า : คำว่า อัช-ชีอะฮฺถูกเรียกถึงบรรดาผู้ปฏิบัติตามอะมีรุลมุอฺมินีน เศาะละวาตุลลอฮฺอะลัยฮิบนแนวทางของการเป็นมิตร (อัล-วะลาอฺ) และความเชื่อต่อการเป็นอิมามของท่านภายหลังท่าน รสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) โดยไม่มีการคั่น และการปฏิเสธการเป็นอิมามจากบุคคลที่มาก่อนท่านในตำแหน่งคอลีฟะฮฺ และกำหนดว่าท่านอมีรุลมุอฺมินีนเป็นผู้ถูกปฏิบัติตามสำหรับพวกเขาในความเชื่อมิใช่ผู้ปฏิบัติตามคนหนึ่งคนใดจากพวกเขาในเชิงของการถือตาม” (อะวาอิลุล มะกอลาต ; ชัยคฺ อัล-มุฟีด ; สำนักพิมพ์อัด-ดาวิรียฺ กุม-อิหร่าน หน้า 39)


ชัยคฺ มุฟีด ได้อธิบายไว้ในตำราอัล-อิรฺชาด หน้า 12 ว่า : การเป็น อิมามของอมีรุลมุอฺมินีนภายหลังท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) นั้นคือเวลา 30 ปี โดย 24 ปี กับอีก 6 เดือน จากช่วงเวลานั้นท่านถูกห้ามจากการดำเนินการในบรรดาหลักของการเป็นผู้นำโดยใช้การอำพราง (ตะกียะฮฺ) และอีก 5 ปี กับอีก 6 เดือน ท่านได้รับการทดสอบด้วยการญิฮาดกับพวกมุนาฟิกจากบรรดาผู้ผิดคำสัญญา ผู้ละเมิด และบรรดาผู้ออกนอกศาสนา ตลอดจนเป็นผู้ที่ถูกกดขี่ด้วยการสร้างความวุ่นวายของบรรดาผู้หลงผิด..”


ซึ่งจะสังเกตได้จากคำนิยามของชัยคฺ มุฟีด นี้ว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺและเหล่าคอลีฟะฮฺทั้งสามท่านตลอดจนบรรดามุสลิมในเวลานั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กลับกลอก หน้าไหว้หลังหลอก ไม่ยอมรับการเป็นอิมามของท่าน   อะลี (ร.ฎ.) และกดดันท่านไม่ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอิมามได้ตลอดช่วงการปกครองของคอลีฟะฮฺทั้งสาม โดยท่านอะลี (ร.ฎ.) ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางบุคคลเหล่านั้นด้วยการอำพรางตน


ซึ่งแน่นอนความเชื่อและการอธิบายของกลุ่มชีอะฮฺในทำนองนี้เป็นการกระจาบจ้วงต่อท่านอะลี (ร.ฎ.) เองว่าไม่ยืนยันในสิทธิแห่งความเป็นอิมามที่ได้รับการแต่งตั้งจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) โดยตรง และเป็นการดูแคลนความกล้าหาญของท่านอะลี (ร.ฎ.) ที่ใช้ชีวิตในท่ามกลางบุคคลเหล่านั้นด้วยการอำพราง และที่สำคัญยังเป็นการโจมตีต่อศาสนาอิสลามและภาระกิจของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ในการประกาศศาสนาและนำผู้คนออกจากความหลงผิดสู่สัจธรรมอีกด้วย



*ชัยคฺ อัฏฏูสียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 460) ได้ให้คำนิยามอัช-ชีอะฮฺโดยผูกพันลักษณะการเป็นชีอะฮฺ (ตะชัยยุอฺ) กับความเชื่อต่อสถานะของท่านอะลี (ร.ฎ.) ว่าเป็นอิมามสำหรับชาวมุสลิมด้วยการวะศียะฮฺ (สั่งเสีย) ของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) และด้วยพระประสงค์ของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) (ตัลคีศุชชาฟียฺ 2/56)


และชัยคฺ มุฮัมมัด เญาวฺว๊าด มุฆนียะฮิ ระบุว่า คำว่าชีอะฮฺ เป็นนามชื่อเรียกบุคคลผู้ศรัทธาว่าแท้จริงท่านอะลี (ร.ฎ.) นั้นคือคอลีฟะฮฺด้วยการกำหนดเป็นตัวบทของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) (อัช-ชีอะฮฺ ฟิล มีซาน หน้า 15) นอกจากนี้ยังคงมีนิยามอื่นๆ ที่นักวิชาการฝ่ายชีอะฮฺได้ระบุเอาไว้ สรุปก็คือ ชีอะฮฺคือกลุ่มชนที่มีหลักความเชื่อแตกต่างจากกลุ่มของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ


โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงชีอะฮฺส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็จะหมายถึง กลุ่มชีอะฮฺ อิมามียะฮฺ อิษนาอะชะรียะฮฺ (ชีอะฮฺอิมามสิบสอง) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่หลักความเชื่อของพวกตนในบ้านเรา เฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านของอายาตุลลอฮฺ โคมัยนียฺ และการประกาศตั้งสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านในปี ค.ศ. 1979 เป็นต้นมา


เดิมทีเดียวชีอะฮฺกลุ่มนี้มีมาในบ้านเรานับแต่สมัยอยุธยา เป็นกลุ่มพ่อค้าชาวเปอร์เซียและขุนนางในราชสำนักแต่ชีอะฮฺกลุ่มนี้ก็ยังอยู่ร่วมกับชาวสุนนีย์มาอย่างปกติและไม่มีปัญหากระทบกระทั่งกันระหว่างพวกเขาและชาวสุนนียฺ แม้กระทั่งสุสานยังเคยใช้ฝังร่วมกัน (เช่นที่มัสยิดต้นสน คลองบางกอกใหญ่ ฝั่งธนบุรี) มีการแต่งงานระหว่างกันและอยู่ร่วมกันด้วยสายสัมพันธ์อันดี


แต่เมื่อมีการปฏิวัติอิสลามเกิดขึ้นในอิหร่านเป็นต้นมา การเคลื่อนไหวของกลุ่มชีอะฮฺและท่าทีของพวกเขาก็เปลี่ยนไป ในการเผยแพร่ลัทธิชีอะฮฺในหมู่พี่น้องชาวสุนนียฺ การกระทบกระทั่งและการขัดแย้งทางความเชื่อจึงเกิดขึ้นตามมา ในปัจจุบันพวกชีอะฮฺมีการจัดตั้งองค์กรและสร้างบุคคลากรเพื่อการเผยแพร่ลัทธิชีอะฮฺในทุกระดับตั้งแต่ในหมู่ปัญญาชน นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว นักศึกษาในมหาวิทยาลัย ตลอดจนชาวบ้านทั่วไปซึ่งแต่เดิมก็คือชาวสุนนียฺนั่นเอง



สำหรับหลักความเชื่อที่สำคัญที่สุดของกลุ่มชีอะฮฺ อิมามียะฮฺนั้น ได้แก่ เรื่องอิมามะฮฺหรือวิลายะฮฺของท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) ภายหลังท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) โดยตรง อาจกล่าวได้ว่า หลักความเชื่อของกลุ่มชีอะฮฺ อิมามียะฮฺมีเรื่องสถานภาพของท่านอะลี (ร.ฎ.) เป็นแกนหลัก เพราะไม่ว่าจะเป็นการเชื่อว่ามีตัวบทในอัล-กุรอาน และหะดีษกำหนดถึงการเป็นวะศียฺ (ผู้รับสืบทอด)


การเป็นอิมามมะอฺศูม (ผู้บริสุทธิ์จากมลทิน) ของท่านอะลี (ร.ฎ.) และอิมามอีก 11 ท่าน การแสดงความเป็นมิตร (อัล-วะลาอฺ) และการแสดงความไม่เกี่ยวข้อง (อัล-บะรออฺ) การอำพรางตน (อัต-ตะกียฺ) สถานภาพของเหล่าเศาะหาบะฮฺภายหลังจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) การเชื่อในอิมามมะฮฺดียฺที่หายตัวไป


ทั้งหมดเป็นผลมาจากการอธิบายและการมีความเชื่อในสถานภาพของท่านอะลี (ร.ฎ.) ทั้งสิ้น แต่โดยหลักความเชื่อพื้นฐานของชีอะฮฺ อิมามียะฮฺก็จะมี 5 ประการ คือ 1) อัต-เตาหีด  2) อัน-นุบูวะฮฺ  3) อัล-มะอาด 4)  อัดลุลลอฮฺ และการเป็นอิมามของอิมามสิบสองท่าน (ดิรอสาต ฟี – อะกออิด อัช-ชีอะฮฺ อัล-อิมามียะฮฺ  อัส-สัยยิด มุฮัมมัด อะลี อัล-หะสะนียฺ หน้า 68)



ส่วนที่ถามว่า ชีอะฮฺกับวะฮฺฮาบียฺใครแรงกว่ากัน ก็คงตอบได้เพียงว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของคนซึ่งมีความหลากหลาย ชีอะฮฺบางคนก็ใช้ปัญญามากกว่าความรุนแรง วะฮฺฮาบียฺที่ใช้ปัญญาและเหตุผลมากกว่าการใช้ความรุนแรงก็มี พวกหลังนี้เข้าทำนองขิงก็รา ข่าก็แรงอะไรประมาณนั้น จึงต้องว่าเป็นคนๆ ไปครับ

والله أعلم بالصواب