สตรีเพศนั้น บกพร่องในเรื่องศาสนาและสติ​ปัญญา  (อ่าน 5733 ครั้ง)

halim

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 38
salam  ครับ อาจารย์อาลี ขอให้อาจารย์มีสุขภาพที่แข็งแรงนะครับ
ผมเคยได้ยินคนพูดว่า อันสตรีเพศนั้น บกพร่องในเรื่องศาสนาและสติ​ปัญญา ไม่มีสิ่งพึงปราถณาในตัวนาง​เลย แต่ท้ายที่สุดพวกเราก็ไม่พ้​นพวกนาง เป็นคำพูดของท่านนบี(ซ.ล.) ก็เลยอยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายหน่อยครับ
ญาซากัลลอฮูคอยรัน   salam

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

อัล-บุคอรียฺ และมุสลิม บันทึกหะดีษที่รายงานจากอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฎ.) ว่า :

ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ออกไปในวันอีดอัฎหาหรือฟิฏรฺยังที่ละหมาด (มุศอลฺลา) แล้วท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็ผ่านไปยังหมู่สตรีและกล่าวว่า : “โอ้ เหล่าสตรีทั้งหลายพวกเธอจงทำทานเถิด เพราะแท้จริงฉันได้เห็นพวกเธอเป็นชาวนรกโดยส่วนใหญ่”

พวกนางกล่าวว่า : ด้วยเพราะเหตุใดเล่า โอ้ ท่านรสูลุลลอฮฺ?

ท่านกล่าวว่า : พวกเธอมักสบถ (ด่าทอ-สาปแช่ง) กันเป็นอันมาก และพวกเธอมักปฏิเสธการใช้ชีวิตคู่ (ที่จำต้องเชื่อฟังสามี) ฉันไม่เห็นว่ามีผู้ที่บกพร่องทางปัญญาและศาสนาที่ทำให้สติปัญญาของบุรุษที่เด็ดเดี่ยวหมดไปยิ่งกว่าคนหนึ่งในพวกเธอ”

พวกนางกล่าวว่า : และอะไรคือความบกพร่องทางปัญญาและศาสนาของพวกเราเล่า โอ้ ท่านรสูลุลลอฮฺ?

ท่านกล่าวว่า : การเป็นพยานของสตรีเป็นเสมือนครึ่งหนึ่งของการเป็นพยานของบุรุษมิใช่หรือ?

พวกนางกล่าวว่า : “เป็นเช่นนั้น โอ้ ท่าน  รสูลุลลอฮฺ”

ท่านกล่าวว่า : “ก็นั่นแหละ เป็นส่วนหนึ่งจากความบกพร่องทางปัญญาของนาง เมื่อนางมีรอบเดือนนางก็มิได้ละหมาด มิได้ถือศีลอด มิใช่หรือ?

พวกนางกล่าวว่า : “เป็นเช่นนั้น โอ้ ท่านรสูลุลลลอฮฺ”

ท่านกล่าวว่า : “ก็นั่นแหละเป็นความบกพร่องทางศาสนาของนาง” หะดีษที่ระบุนี้เป็นหะดีษที่มีสายรายงานแข็งแรงจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)

ซึ่งสอดคล้องกับหะดีษที่ระบุว่า : “ฉันมิได้ละทิ้งฟิตนะฮฺใดภายหลังฉันที่เป็นภัยต่อบุรุษเพศมากไปกว่าสตรีเพศ”

และมีนัยสอดคล้องกับอายะฮฺ อัด-ดัยนฺ (อัล-บะเกาะเราะฮฺ  282) ซึ่งระบุว่าในการเป็นพยานของสตรีนั้นต้องเป็นสตรี 2 คน เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือระหว่างกันในการจดจำหรือเตือนความจำเมื่อมีการหลงลืมเรื่องที่เป็นพยานในกรณีการทำธุรกรรมหรือเรื่องการทำข้อตกลงยืมหนี้สิน


การที่อัล-หะดีษระบุว่าสตรีมีความบกพร่องทางปัญญาเป็นการระบุโดยรวม (อัล-มัจญมูอฺ) หรือส่วนใหญ่ (ฆอลิบ) มิใช่เหมาเอาทั้งหมด (อัล-ญะมีอฺ) อีกทั้งมิใช่เป็นการดูแคลนหรือตำหนิ และความบกพร่องใน 2 เรื่องนั้นก็เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับธรรมชาติของสตรีซึ่งไม่เหมือนผู้ชาย และความบกพร่องดังกล่าวก็ไม่ใช่สิ่งที่ศาสนาจะเอาโทษพวกนางแต่อย่างใด


เป้าหมายของอัล-หะดีษจึงเป็นการพูดตามความจริงที่เป็นเรื่องปกติสำหรับสตรีที่ย่อมมีอุปสรรคทางศาสนาที่ห้ามมิให้นางประกอบศาสนกิจ เช่น เมื่อนางมีรอบเดือนก็ไม่สามารถทำละหมาดหรือถือศีลอดได้ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีระยะเวลาของรอบเดือนราว 7 วัน ก็ลองบวกลบคูณหารว่าในช่วงอายุของนางมีช่วงเวลาที่ปลอดจากการทำอิบาดะฮฺไปแล้วเกือบหนึ่งในสี่ของช่วงชีวิตซึ่งจะเป็นเช่นนี้ไปจนกว่านางจะถึงวัยที่หมดรอบเดือน และสตรีก็ต้องมีการคลอดบุตรซึ่งเป็นช่วงเวลาของการมีเลือดนิฟาส หากนางมีบุตรหลายคนช่วงเวลาของการปลอดจากการทำอิบาดะฮฺก็เพิ่มมากขึ้นไปอีก


ดังนั้นด้วยอุปสรรคดังกล่าวจึงทำให้การประกอบศาสนกิจทางศาสนาของนางจึงเป็นรองบุรุษเพศที่ไม่มีอุปสรรคดังกล่าว กระนั้นก็ใช่ว่าสตรีจะไม่สามารถเติมเต็มสิ่งที่เกิดขึ้นจากความบกพร่องนั้น เพราะนางสามารถกระทำความดีในส่วนอื่นทดแทนได้ เช่น การบริจาคทานมากๆ การดูแลเอาใจใส่สามีและลูกๆ การอิบาดะฮฺที่เป็นสุนนะฮฺต่างๆ เมื่อนางปลอดจากการมีรอบเดือนหรือการทำความดีที่ไม่ต้องมีเงื่อนไขในเรื่องของเฎาะฮาเราะฮฺ เป็นต้น


ดังนั้นการที่มีบุคคลบางคนนำเอาอัล-หะดีษในเรื่องนี้มาโจมตีศาสนาอิสลามว่าไม่ให้ความเป็นธรรมหรือดูถูกสถานภาพสตรีโดยไม่พิจารณาประเด็นอื่นๆ ที่ศาสนาอิสลามเปิดประตูเอาไว้สำหรับพวกนาง ในการยกสถานภาพของพวกนางจึงถือเป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอยและมีอคติ เพราะหากจะว่าไปแล้ว ไม่มีหลักคำสอนในศาสนาใดที่ยกสถานภาพของสตรี พิทักษ์รักษาเกียรติของนางยิ่งกว่าไข่ในหินมากไปกว่าศาสนาอิสลามอีกแล้ว (เก็บความจาก อะหฺสะนุลกะลาม ฟิล ฟะตาวา วัลอะหฺกาม  ชัยคฺ อะฏียะฮฺศอกรฺ เล่มที่ 2 หน้า 235-237 โดยสรุป)

والله أعلم بالصواب