สิทธิ์ ของ ภรรยาที่ 2  (อ่าน 10968 ครั้ง)

อัสมา

  • บุคคลทั่วไป
สิทธิ์ ของ ภรรยาที่ 2
« เมื่อ: ธันวาคม 11, 2011, 04:39:31 pm »
ฉันเป็นภรรยาที่สองแต่งงานมาได้เข้าปีที่ 7 แต่ต้องอยู่ลำพังสามีมาหาวันละ 1 ชั่วโมง หลังจาก 3 ปี เขามานอนด้วยเดือนละ 3 วัน
ฉันก็ไม่เคยว่าเพราะต้องการอดทนให้มากที่สุด ที่เขาไม่ให้เท่าเทียมกับเมียแรกก็เพราะเมียแรกเขาไม่ยอม เขาไม่ใช่อิสลามแท้
เขาเข้ารับอิสลามเลยไม่ทำตามที่สามีบอกไป ตอนนี้ฉันมีลูกกับสามีเขาก็ไม่มาอยู่ด้วย แต่ที่ผ่านมาเขาก็ฟังแต่เมียแรกเพราะเขามีทุกอย่างมาด้วยกัน ฉันอยากทราบว่า จะเจรจากับเมียแรกยังไง เพราะที่ผ่านมาได้เจรรากันหลายครั้งเขาไม่เคยยอมเลย และพยามให้ฉันเลิกกับสามีหาเรื่องให้สามีเกลียดฉัน  ฉันอยู่โดยเจ็บปวดมาตลอดเวลาค่ะ แต่ก็อดทนมา 7 ปีแล้ว อยากให้อะไรดีขึ้นบ้างนิดเดียวก็ดีค่ะ
ช่วยแนะนำแนวทางให้อัสมาด้วยคะ salam

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : สิทธิ์ ของ ภรรยาที่ 2
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 19, 2012, 09:29:39 am »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد


การนิกาห์ (النِّكَاحُ) เป็นสิ่งที่ดีและมีคุณค่าหากผู้ทำการนิกาห์รู้รักษาในหน้าที่ของตน ไม่ขาดตกบกพร่องหรือละเลยต่อสิทธิของคู่ครองและลูกๆ ที่เกิดมา


แต่ในทางกลับกัน การนิกาห์ก็คือสิ่งที่จะส่งผลเสียและกลายเป็นโทษทั้งในโลกนี้และโลกหน้า หากผู้ทำการนิกาห์ซึ่งเป็นสามีนั้นไม่รักษาหน้าที่ซึ่งศาสนาบัญญัติเอาไว้ จะด้วยการละเลยต่อสิทธิของคู่ครองและลูกๆ ที่เกิดมา หรือขาดความยุติธรรมในการปฏิบัติกับคู่ครองที่มีหลายคน


ท่านรสูล (ศ็อล  ลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ระบุว่า : “ชายนั้นเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบต่อครอบครัวของตน และเขาจะต้องถูกสอบสวนถึงผู้ที่อยู่ในปกครองของตน...” อัลหะดีษ (รายงานโดย อิบนุ อุมัร)


และท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ยังได้กล่าวอีกว่า : “เพียงพอแล้วที่บุคคลจะได้รับบาปในการที่เขาทำให้ครอบครัวของตนต้องเสียสิทธิอันชอบธรรมที่ควรจะได้” (รายงานโดย อบูดาวูด)


การนิกาห์จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่สามีได้ยอมรับว่าจะแบกภาระอันหนักอึ้งนี้เมื่อกล่าวคำสนอง (เกาะบู๊ล) ในการทำข้อตกลงนิกาห์ ซึ่งอัล-กุรอานเรียกว่า “พันธสัญญาอันหนักหนา” ดังนั้น เมื่อสามีมีภรรยามากกว่าหนึ่งคน ภาระกิจและความหนักอึ้งในหน้าที่รับผิดชอบก็ย่อมเพิ่มทวีคูณ เรื่องราวที่สามีจะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺก็เพิ่มมากขึ้นไปด้วย


เหตุนี้ ศาสนกิจเน้นว่าความยุติธรรมในการใช้ชีวิตคู่ของสามีกับภรรยาที่มากกว่าหนึ่งคนนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวว่า : “ผู้ใดมีภรรยา 2 คน แล้วเขาก็เอนเอียงไปยังหนึ่งในสองคน ในอีกสำนวนหนึ่งระบุว่า แล้วเขาก็ไม่ให้ความเป็นธรรมระหว่างสองคนนั้น ในวันกิยามะฮฺเขาผู้นั้นจะมาในสภาพที่หนึ่งในสองซีก (ของร่างกาย) ของเขาเอียงไป” (บันทึกโดยเจ้าของตำรา อัส-สุนัน)



ดังนั้น หากเรื่องราวที่เล่ามาเป็นไปตามความจริง ก็แสดงว่าสามีของคุณบกพร่องในหน้าที่ของความเป็นสามี โดยเฉพาะเรื่องการแบ่งวัน (การจัดเวร) ในกรณีเช่นนี้ถือว่าขาดความยุติธรรม และศาสนากำหนดให้ตั้งตัวแทนหรือคนกลางจากทั้ง 2 ฝ่าย


คือ ฝ่ายสามีและฝ่ายของภรรยามาพูดคุยและเคลียร์ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยให้สามีและภรรยายอมรับในข้อตกลงที่ตัวแทนหรือคนกลางได้ไกล่เกลี่ยเอาไว้ หากสามีไม่ยอมรับและไม่ปฏิบัติตามก็ให้นำเรื่องนี้ไปฟ้องร้องต่อโต๊ะกอฎีประจำจังหวัดหรือถ้าในจังหวัดที่คุณมีภูมิลำเนาอยู่ไม่มีโต๊ะกอฎียฺก็ให้ประสานไปทางอิหม่ามประจำมัสยิดที่คุณเป็นสัปปุรุษอยู่ให้ดำเนินการไกล่เกลี่ยหรือจะตัดสินอย่างใดอย่างหนึ่งก็ให้อิหม่ามเป็นผู้ดำเนินการ


ส่วนการเจรจากับภรรยาคนแรกนั้นก็คงไม่เกิดประโยชน์อันใด เพราะเจรจากันมาหลายครั้งแล้ว และโดยข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างคุณกับสามีโดยตรง ถ้าเขารักที่จะครองคู่กับคุณและเป็นพ่อที่ดีของลูก เขาก็ต้องปฏิบัติตามหลักการที่ศาสนากำหนดเอาไว้ คือ อยู่ครองคู่กันด้วยดีและมีความยุติธรรม


แต่ถ้าหากพิจารณาแล้วว่า อยู่ครองคู่กันด้วยความบกพร่องและละเลยต่อหน้าที่ รังแต่จะมีโทษมีบาปพอกพูนขึ้น ก็ให้ตัดสินใจเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ หย่าเสียคนหนึ่งก็เลือกเอาว่าจะหย่าคนไหน มิใช่ปล่อยให้ภรรยาอีกคนหนึ่ง (คือคุณนั่นเอง) ตกอยู่ในสภาพที่ถูกแขวนเติ่งเอาไว้ จะว่าไม่มีสามีก็ไม่ใช่ เพราะนิกาห์ถูกต้องตามหลักของศาสนา จะว่ามีสามีก็ไม่ใช่ เพราะผู้เป็นสามีไม่ได้ทำหน้าที่ การปล่อยให้ภรรยาตกอยู่ในสภาพเช่นนี้เป็นบาป มีแต่โทษ ไม่มีคุณใดๆ เลย

والله ولي التوفيق