คนตายได้ยินเสียงคนเป็น (คนที่ยังมีชีวิตอยู่) หรือไม่  (อ่าน 20602 ครั้ง)

ผู้สงสัย

  • บุคคลทั่วไป
อัสลามุอะกุม

ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนความดีงามให้แก่ท่านอาจารย์ ที่ช่วยให้ความกระจ่างเรื่องการรักษาน้ำละหมาด (ประเด็นก่อนที่ถามไป)

มีคำถาม เพิ่มเติม คือ อยากทราบว่า

1. คนตายได้ยินเสียงคนเป็น (คนที่ยังมีชีวิตอยู่) หรือไม่?

2. การทำบุญให้แก่ผู้ตาย เช่น ลูกหลาน ญาติพี่น้อง ทำบุญให้แก่ผู้ตาย นั้น  (เช่น หุงข้าวหมก แล้วเชิญ ละแบ มาดุอาร์) ผลบุญจะไปถึงผู้ตายหรือไม่ มีหลักฐานหรือไม่ อย่างไร   เคยได้ยิน มาว่า เมื่อคนตายกลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮฺแล้ว ทุกอย่างถูกตัดขาด มีเหลือเพียง 3 ประการ คือ ซอดาเกาะฮฺยารียะฮฺ ความรู้ที่ยังประโยชน์  บุตรที่ขอดุอาร์ให้แก่พ่อแม่

 3. จากข้อ (2)...แล้วถ้าเป็น หลาน เหลน ขอดุอาร์ให้แก่ โต๊ะ กี (ปู่ ย่า ตา ยาย) ได้ไหม?

รบกวนอาจารย์ช่วยตอบ และให้ความกระจ่างด้วยค่ะ

ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนความดีงามค่ะ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

1. มีการยืนยันแน่ชัดปรากฏในบรรดาหะดีษที่เศาะฮีหฺว่า คนตายจะได้ยินเสียงกระทบพื้นรองเท้าแตะของเพื่อนฝูงผู้ตายภายหลังวางศพของเขาลงในสุสาน

ดังมีรายงานจากอนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฎ.) ว่า แท้จริงท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า : แท้จริงบ่าวนั้นเมื่อเขาถูกวางลงในหลุมศพของเขา และบรรดาเพื่อนฝูงของเขาได้ผินหลังไปจากเขาแล้ว แท้จริงบ่าวนั้นย่อมได้ยินเสียงกระทบพื้นรองเท้าแตะของพวกเขาอย่างแน่นอน” (บันทึกโดย มุสลิม หะดีษเลขที่ 2874)


และมีรายงานระบุว่า ภายหลัง 3 วันจากสมรภูมิบัดรฺ ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ยืนเหนือบรรดาผู้ที่ถูกสังหารจากเหล่าผู้ตั้งภาคีในสมรภูมิบัดร์ แล้วท่านก็ตะโกนเรียกบุคคลหลายคนจากพวกนั้นว่า :

โอ้ อบาญะฮฺลินฺ อิบนะ ฮิชาม , โอ้ อุมัยยะฮฺ อิบนะ เคาะลัฟ , โอ้ อุตบะฮฺ อิบนะ เราะบีอะฮฺ , โอ้ ชัยบะฮฺ อิบนะ เราะบีอะฮฺ แน่แท้พวกท่านได้พบสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าของพวกท่านได้ทรงสัญญาไว้ว่าเป็นความจริงแล้วมิใช่หรือ?

แท้จริงฉันก็ได้พบสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าของฉันได้ทรงสัญญาไว้กับฉันว่าเป็นความจริงโดยแน่แท้แล้ว!

ท่านอุมัร อิบนุ อัล-คอฏฏอบ (ร.ฎ.) จึงกล่าวว่า : โอ้ ท่านรสูลลุลลอฮฺ! พวกเขาจะได้ยินอย่างไร? พวกเขาจะตอบได้อย่างไรกัน แน่แท้พวกเขาได้กลายเป็นซากศพที่เน่าเหม็นไปแล้ว?

ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า : ขอสาบานต่อพระผู้ซึ่งชีวิตของฉันอยู่ในอุ้งพระหัตถ์ของพระองค์ พวกท่านไม่ได้ยินสิ่งที่ฉันกำลังพูดมากไปกว่าพวกเขาเลยแม้แต่น้อย ทว่าพวกเขาไม่สามารถที่จะตอบได้ก็เท่านั้น

แล้วท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็สั่งให้จัดการกับซากศพของพวกนั้นมันจึงถูกลากและถูกโยนลงในบ่อร้างของทุ่งบัดรฺ” (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ , มุสลิม , อบูดาวูด และ อัน -นะสาอียฺ)



ท่านอิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) ได้กล่าวถึงบรรดาหะดีษจำนวนหนึ่งซึ่งบ่งชี้ว่าคนที่ตายไปแล้วจะได้ยิน และท่านได้กล่าวว่า : บรรดาตัวบทเหล่านี้และที่คล้ายคลึงกันต่างก็ให้ความกระจ่างว่าคนตายจะได้ยินคำพูดของคนเป็นโดยรวมๆ ซึ่งไม่จำเป็นว่าการได้ยินของคนตายนั้นจะต้องได้ยินเสมอไป


ทว่าบางทีอาจจะได้ยินในสภาพหนึ่งโดยไม่ได้ยินในอีกสภาพหนึ่ง เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับคนเป็น บางทีคนเป็นก็ได้ยินคำสนทนาของผู้ที่สนทนากับตน และบางทีก็อาจจะไม่ได้ยินเนื่องจากมีเหตุบางอย่างเกิดขึ้นกับเขา (มัจฺญมูอฺ อัล-ฟะตาวา 5/364)


สำหรับประเด็นปัญหาที่มีผู้กล่าวว่าแท้จริงอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงปฏิเสธการได้ยินจากคนตายในพระดำรัสที่ว่า إِنَّكَ لَا تُسْمِعُ الْمَوْتَى   “แท้จริงท่านย่อมไม่ทำให้บรรดาคนตายไปแล้วนั้นได้ยินดอก”  (สูเราะฮฺ อัน -นัมลิ : 80)


แล้วจะกล่าวอ้างว่าคนที่ตายไปแล้วได้ยินอย่างไรกัน? ท่านชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) ตอบว่า : การได้ยินอันนี้เป็นการได้ยินในเชิงรับรู้ไม่มีผลอันใดติดตามมา และไม่ใช่เป็นการได้ยินที่ถูกปฏิเสธในอายะฮฺดังกล่าว


เพราะจุดมุ่งหมายของสิ่งดังกล่าว (ในอายะฮฺนั้น) คือการได้ยินในเชิงตอบรับและปฏิบัติตาม เพราะพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงกำหนดให้ผู้ปฏิเสธเป็นเหมือนคนตายซึ่งจะไม่ตอบรับคำเรียกร้องของผู้ที่เรียกร้องเชิญชวนเป็นเหมือนเดรัจฉานที่ได้ยินแต่เสียง แต่ไม่เข้าใจความหมาย


ดังนั้นคนที่ตายถึงแม้ว่าจะได้ยินคำพูดและเข้าใจความหมาย คนที่ตายก็ย่อมไม่สามารถตอบรับคำเชิญชวนของผู้เรียกร้องได้ ไม่สามารถปฏิบัติตามสิ่งที่ผู้เรียกร้องสั่งใช้ให้กระทำหรือห้ามมิให้กระทำ คนที่ตายจึงเอาประโยชน์ในคำสั่งและคำห้ามนั้นไม่ได้   ในทำนองนั้นแหล่ะ ผู้ปฏิเสธก็เอาประโยชน์ในคั่งและคำห้ามมิได้ ถึงแม้จะได้ยินการโต้ตอบและเข้าใจความหมายก็ตาม (อ้างแล้ว และดูใน อัล-กิยามะฮฺ อัศศุฆฺรอ ; ดร.อุมัร สุลัยมาน อัล-อัชก็อรฺ ; ดารุน-นะฟาอิส (จอร์แดน) หน้า 109-110)



2. การทำบุญในความหมายที่รู้กันดีตามจารีตทางภาษาในบ้านเราก็คือการทำเศาะดะเกาะฮฺด้วยการเลี้ยงอาหาร  (التَصَدُّقُ باطْعَامِ الطَّعَامِ) ซึ่งถือเป็นประเภทหนึ่งในการทำทานซึ่งนักวิชาการโดยส่วนใหญ่ในฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺถือว่าเมื่อการทำทานหรือการบริจาคโดยมีเจตนาทำทานหรือบริจาคนั้นให้แก่ผู้ตายก็ถือว่าผลในการทำเศาะดะเกาะฮฺนั้นถึงผู้ตาย

(ดู กิตาบ อัร-รูวฺห์ ; อิบนุ อัล-กอยยิม บทการยืนยันว่าผลบุญของการทำเศาะดะเกาะฮฺนั้นถึงผู้ตาย หน้า 153-154 สำนักพิมพ์ อัล-อีมาน)


โดยเฉพาะเมื่อผู้ทำทานหรือบริจาคตลอดจนการเลี้ยงอาหารนั้นเป็นบุตรหรือญาติพี่น้องของผู้ตายซึ่งผู้ตายได้เคยพากเพียรและกระทำสิ่งที่เป็นเหตุแห่งสายสัมพันธ์ทางเครือญาติที่ดีเอาไว้ขณะมีชีวิตอยู่ โดยอัล-หะดีษที่อ้างมาในคำถามนั้นแหล่ะเป็นคำตอบ


กล่าวคือ การกระทำด้วยตัวเองของผู้ตายนั้นขาดตอนลงยกเว้น 3 ประการที่จะส่งผลถึงผู้ตาย คือ เศาะดะเกาะฮฺญารียะฮฺ ความรู้ที่ยังประโยชน์ บุตรที่ดีขอดุอาอฺให้ (รายงานโดย มุสลิม , อบูดาวูด , อัตติมีซียฺ อันนะสาอียฺ และอะหฺมัด)

การกระทำที่ดีด้วยการบริจาคทานหรือการเลี้ยงอาหารของบุตรนั้นเป็นความดีที่ส่งผลถึงผู้ตายอย่างแน่นอน ส่วนญาติหรือเพื่อนฝูงนั้นก็เป็นสิ่งที่ผู้ตายเคยพากเพียรในการปฏิบัติดีและเชื่อมสัมพันธ์กับพวกเขาขณะยังมีชีวิตอยู่ จึงเข้าอยู่ภายใต้นัยของอายะฮฺที่ว่า “และการที่ไม่มีสำหรับมนุษย์นอกจากสิ่งที่เขาได้พากเพียรเอาไว้” (อัน-นัจญมุ : 39)


อนึ่ง ในกรณีที่ทำทานด้วยการเลี้ยงอาหารนั้นจะต้องไม่จำกัดว่าจะต้องทำในช่วงเวลา 3 วัน 7 วัน เพราะการกระทำดังกล่าวนักวิชาการถือว่าเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) จึงต้องหลีกเลี่ยงและการเลี้ยงอาหารที่เป็นเศาะดะเกาะฮฺนี้ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเชิญโต๊ะละบัยมาดุอาอฺเสมอไป


แต่ให้กระทำโดยสะดวก เช่น ซื้อผลไม้ไปเลี้ยงเด็กที่เรียนอัล-กุรอานหรือฟัรฎูอีน การทำอาหารเลี้ยงผู้ละศีลอด การเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ครูสอนอัล-กุรอาน หรืออะไรก็ได้ที่สะดวกแก่เรา ซึ่งการทำเศาะดะเกาะฮฺนั้นเป็นการทำความดีที่ศาสนาส่งเสริม เมื่อผู้เป็นบุตรทำความดี ความดีจากการกระทำของบุตรก็ย่อมส่งผลถึงพ่อและแม่ที่ล่วงลับไปแล้วโดยปริยายจะมีเหนียตอุทิศผลบุญหรือไม่ก็ตาม


3. การขอดุอาอฺให้แก่ผู้ล่วงลับที่เป็นมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ญาติพี่น้องและชาวมุสลิมร่วมศาสนาที่ล่วงลับไปแล้วเป็นสิ่งที่กระทำได้และส่งผลต่อผู้ตาย ซึ่งกรณีการขอดุอาอฺให้แก่ผู้ล่วงลับนี้มิได้จำกัดอยู่เฉพาะผู้เป็นบุตรเท่านั้นหากแต่ยังรวมถึงผู้อื่นอีกด้วย

والله تعالى وأعلم