คำถามคาใจของข้าพเจ้า (อากีดะฮ์อาชาอิเราะห์ กับอากีดะฮ์ฏอฮาวียะห์, เกี่ยวกับตัวอาจารย์)  (อ่าน 11068 ครั้ง)

อิสมาแอ ผู้ติดตามอ่านเว็บอาจารย์

  • บุคคลทั่วไป
อัสลามุอลัยกุม วาเราะห์มาตุลลอฮ์ฮิวาบารอกาตุฮ์ อาจารย์อาลีที่เคารพนับถือ ผมติดตามอ่านเนื้อหาในเว็บและโหลดฟังเสียงบรรยายของอาจารย์มานาน ขอชื่นชมและสนับสนุนในการดำเนินการของอาจารย์ เพราะเป็นเว็บที่ดีมากๆ ผมมีเรื่องรบกวน  ถ้าหากอาจารย์สะดวกนะครับ อยากสอบถามอาจารย์ดังต่อไปนี้ครับ

๑. อากีดะฮ์อาชาอิเราะห์ กับ อากีดะฮ์ฏอฮาวียะห์ แตกต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไรครับ
๒. จากที่อาจารย์ได้เขียนไว้ว่าในหนังสือหรือเอกสารของอาจารย์ จะเขียนว่า อัชฮารีย์ อัชชาฟีฮ์ ซายามี อยากให้อาจารย์อธิบายตรงนี้หน่อยครับว่าคืออะไรครับ
๓. ไม่ทราบอาจารย์มีฏอรีเกาะฮ์ใหมครับ
๔. อยากให้อาจารย์เขียนบทความเกี่ยวกับฏอรีเกาะห์หรือซูฟีบ้างครับ ถ้าหากไม่เป็นการรบกวนเกินไป
๕. อยากให้อาจารย์นาซีฮะ แนะนำ สั่งสอน ตักเตือน เสนอแนะ เกี่ยวกับผู้ที่สนใจศึกษาแนวทาง ฏอรีเกาะห์ , ซูฟี, ตะเศาวุฟ


ขออนุญาตรบกวนอาจารย์เพียงเท่านี้ก่อน ถ้าหากว่ามีคำถามอื่นใดอีก อินชาอัลลอฮ์ จะสอบถามเพิ่มเติม
ขออัลลอฮ์ให้อาจารย์มีสุขภาพดี จะได้นำเสนอเนื้อหาเรื่อยๆครับ ขอขอบคุณครับ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

1. อะกีดะฮฺของกลุ่มอะชาอิเราะฮฺกับอะกีดะฮฺอัฏ-เฏาะหาวียะฮฺนั้น อิมามตาญุดดีน อัสสุบฺกียฺ กล่าวว่า :

وَبِالْجُمْلَةِ عقيدة الأشعري هى ما تَضَمَّنَتْهُ عقيدة أبى جعفرالطَّحاَوِيّ التى
 تَلَقَّاهاعلماءالمذاهب بالقبول ورضوهاعقيدة

“กล่าวโดยสรุปคือ อะกีดะฮฺของอัล-อัชอะรียฺนั้นคือสิ่งซึ่งอะกีดะฮฺของอบีญะอฺฟัร อัฏ-เฏาะหาวียฺได้ประมวลสิ่งนั้นเอาไว้ ซึ่งบรรดานักปราชญ์ของมัซฮับต่างๆ ได้ รับเอาอะกีดะฮฺนั้นด้วยการยอมรับและพวกเขายินดีว่าอะกีดะฮฺนั้นเป็นหลักศรัทธาและความเชื่อ”  (มุอีด อัน-นิอัม ว่า มุบีด อัน-นิกอม หน้า 62)  


ทั้งนี้อิมาม อัฏเฏาะหาวียฺ (ร.ฮ.) ได้รวบรวมหลักความเชื่อของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺตามแนวทางของบรรดา “ฟุเกาะฮาอฺ อัล-มิลละฮฺ” คือ อิมาม อบูหะนีฟะฮฺ อัน-นุอฺมาน อิบนุ ษาบิต อัล-กูฟียฺ , อิมาม อบูยูสุฟ ยะอฺกู๊บ อิบนุ อิบรอฮีม อัล-อันศอรียฺ และอิมาม อบู อับดิลลาฮฺ มุฮัมมัด อิบนุ อัล-หะสัน อัช-ชัยบานียฺ (ริฎวานุลลอฮฺอะลัยฮิม) เอาไว้ในตำราของท่านที่ชื่อว่า “อัล-อะกีดะฮฺ อัฏ-เฏาะหาวียะฮฺ”
(อิซฮารุลอะกีดะฮฺ อัส-สุนนียะฮฺ บิชัรหิ อัล-อะกีดะฮฺ อัฏ-เฏาะหาวียะฮฺ ; ชัยคฺ อับดุลลอฮฺ อัล-ฮะเราะรียฺ หน้า 23)


บรรดาอิมามทั้ง 3 ท่านนี้เป็นอิมามของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺที่เป็นชาวสะลัฟศอลิหฺ (คืออยู่ใน 300 ปีแรก) เพราะอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฎ.) ท่านเสียชีวิตในปีฮ.ศ. 150 , อิมาม อบูยูสุฟ เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 182 และอิมามมุฮัมมัด อิบนุ อัล- หะสัน เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 189 (ตารีคบัฆดาด)


ซึ่งอิมามอบูญะอฺฟัร อัฏ-เฏาะหาวียฺ (ร.ฮ.) นั้นท่านสังกัดมัซฮับอัล-หะนะฟียฺ และเสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 321 ถึงแม้ว่าท่านจะไม่เคยพบอิมามทั้ง 3 แต่ท่านก็รับความรู้และหลักความเชื่อจากอิมามทั้ง 3 ด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง


ส่วนอิมาม อบุล-หะสัน อัล-อัชอะรียฺ (ร.ฮ.) นั้นท่านเสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 324 อิมาม ตาญุดดีน อัส-สุบกียฺ กล่าวว่า : จงรู้เถิดว่า แท้จริง อบุลหะสัน อัล-อัชอะรียฺ มิได้อุตริทัศนะขึ้นใหม่ และมิได้ตั้งมัซฮับขึ้นแต่อย่างใด อันที่จริงเขา (อบุลหะสัน อัล-อัชอะรียฺ) คือผู้ที่รับรองบรรดามัซฮับของชาวสะลัฟ ต่อสู้ปกป้องสิ่งที่บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านรสูลลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้เคยดำเนินบนสิ่งนั้น


ฉนั้น การอ้างถึงเขา (อบุลหะสัน อัล-อัชอะรียฺ) นั้นอันที่จริงคือด้วยการพิจารณาว่า เขา (อบุลหะสัน อัล-อัชอะรียฺ) ได้ผูกผ้ารัดเอว (หมายถึงเตรียมพร้อมและสะสางเรื่องนั้นให้ชัดเจน) บนแนวทางของชาวสะลัฟและยึดมั่นต่อแนวทางนั้น ตลอดจนดำรงบรรดาหลักฐานและบรรดาสิ่งที่ยืนยันถึงแนวทางนั้น จึงกลายเป็นว่าผู้ที่ถือตามเขา (อบุลหะสัน อัล-อัชอะรียฺ) ในสิ่งดังกล่าว อีกทั้งดำเนินตามวิถีของเขาในเรื่องของบรรดาหลักฐานที่บ่งชี้ทั้งหลายถูกเรียกขานว่า อัช-อะรียฺ” จบคำของอิมาม อัส-สุบกียฺ (จากเฏาะบะกอตฺ อัช-ชาฟิอียะฮฺ อัล-กุบรอ) วัลลอฮุอะลัม



2. ชื่อเต็มของผมซึ่งบ่งถึงสายโลหิตจากรุ่นทวดคือ
อบู อัร-รีมียฺ   =    พ่อของรีมลูกสาวคนโตเป็นกุนยะฮฺ
อะลี      =    ชื่อตัว
อะฮฺมัด   =    ชื่อพ่อ
อบูบักร   =    ชื่อปู่
มุฮัมมัด   =    พ่อของปู่ (ทวด)
อะมีน      =    พ่อของปู่ทวด คือโต๊ะกีหมิง ต้นตระกูล “เสือสมิง” ซึ่งกล่าวขานกันว่าเป็นโต๊ะวะลียฺกะเราะมัตเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว เป็นชาวมลายูเชื้อสายยะโฮร์-ตานี     วัลลอฮุอะลัม

อัล-อัชฮะรียฺ   = เป็นศิษย์ที่มหาวิทยาลัย อัล-อัซฮัร อัช-ชะรีฟ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์
อัช-ชาฟิอียฺ   = เป็นผู้ตักลีด (สังกัด) มัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ
อัส-สิยามียฺ   = เป็นชาวสยามโดยกำเนิด ปัจจุบันคือ ประเทศไทย



3. มีครับ คือ เฏาะรีเกาะฮฺอะฮฺลิสฺสุนนะฮฺ วัล-ญามาอะฮฺ แต่ไม่ได้รับมุบายะฮฺจากเฏาะรีเกาะฮฺศูฟียะฮฺเป็นมุสลิมชาฟิอียฺธรรมดาๆ คนหนึ่งที่พยายามดำเนินตามในแนวทาง (เฏาะรีเกาะฮฺ) ของชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญามาอะฮฺ เชื่อมั่นกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ รักบรรดาเศาะหะบะฮฺและบรรดาอุละมาอฺในยุคสะลัฟศอลิหฺ


ให้เกียรติผู้รู้ทางศาสนาไม่จาบจ้วง ไม่แบ่งแยกแตกกลุ่ม ไม่ใช่คณะเก่าหรือคณะใหม่ ไม่กล่าวหาอิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) ไม่โจมตีอะชาอิเราะฮฺ ถือมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺแต่ไม่คลั่งไคล้ ไม่ว่าคนมัซฮับอื่น ตั้งใจว่าจะสอนให้คนเข้าใจศาสนา ไม่ปรารถนาให้เกิดปัญหาและสร้างความแตกแยก รู้ก็บอกว่ารู้ ไม่รู้ก็บอกไม่รู้ จริงก็บอกว่าจริง ไม่จริงก็บอกว่าไม่จริง ไม่ด่วนสรุปและตัดสินคนอื่นที่เห็นต่าง


พยายามรักษาอิบาดะฮฺหลักมิให้ขาด ละหมาดสุนนะฮฺในแต่ละวันต้องไม่น้อยกว่า 13 รอกอะฮฺ พยายามรักษาซิกรุลอฮฺยามเช้า ยามเย็น พยายามท่องจำดุอาอฺของนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) อ่านอัล-กุรอานทุกวัน ดูตำราและค้นคว้าพร้อมต้องเขียนเรื่องราวทางศาสนาทุกวัน


พูดอะไรต้องดูกาละเทศะ พูดอะไรต้องรักษาน้ำใจคนฟัง แต่ไม่พูดเอาใจหรือแสวงหาความพอใจจากคนฟัง  ตะเศาวุฟคือการปฏิบัติจริงมิใช่ทฤษฎีในตำรา ดีต้องใช้ ชั่วต้องห้าม จะพูดสั่งสอนใครต้องเข้าใจและปฏิบัติสิ่งนั้นก่อน


รักชีวิตครูปอเนาะเหนืออื่นใด เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมามีศึกษาเล่าเรียนกับสั่งสอน และเริ่มสอนอัล-กุรอานกับฟัรฎูอีนตั้งแต่อยู่ ป.5 และจะขอตายในหน้าที่ อินชาอัลลอฮฺ


ทั้งหมดที่เขียนมาเป็นวิถี (เฏาะรีเกาะฮฺ) และวิธี (กัยฟียะฮฺ) ในการดำเนินชีวิตของผม หวังว่าคุณไม่คาใจอะไรในตัวผมอีก แต่ถ้ายังคาใจในตัวผม ก็ขออย่าได้เป็นกังวล เพราะคุณก็คือคุณ ผมก็คือผม ผมรับผิดชอบตัวเอง คุณก็รับผิดชอบตัวคุณเอง เรื่องก็มีอยู่เพียงแค่นี้ครับ!


4. ก็ขอรับไว้พิจารณาครับ! แต่ไฟล์เสียงที่แปลหนังสือ เปอนะวัร บะฆีย์ ฮาตียฺ ก็น่าจะเกี่ยวข้องในระดับนึงแล้ว!


5. คงไม่ควรกระมัง เดี๋ยวคนเฏาะรีกเขาจะว่าเอาได้ ว่าตัวไม่ใช่คนเฏาะรีก ไม่มีวิชาเฉพาะทาง แล้วจะมาพูดตักเตือน สั่งสอน แนะนำเขาได้อย่างไร? เรื่องนี้ต้องเป็นครูของของเขาถึงจะสมควรครับ! และขออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงรับดุอาอฺของคุณครับ อามีน!

والله ولي التوفيق