การทำอิซีกุโบร์ ตัลกีน, อ่านกุรอ่านและเฝ้ากุโบร์ ..เป็นบิดอะห์หรือไม่  (อ่าน 25952 ครั้ง)

มูฮัมมัดซากิร

  • บุคคลทั่วไป
salam ครับ..อาจารย์อาลี..
1\"การทำอิซีกุโบร์..และตัลกีน..ให้กับคนตาย..เราสามารถทำได้หรือไม่ครับ..ทำไมคณะใหม่เค้าถึงว่า..ว่าเป็นบิดอะห์ล่ะครับ..?...
2\"แล้วการทำอิซีกุโบร์..และตัลกีน...กับการอ่านกุรอาน..ซอลาหวาด..ตามที่เราอยากทำโดยไม่ต้องเรียง..แบบไหนถือว่าประเสริฐกว่ากันครับ..?.
3\"คือว่าผมคนเรียนศาสนาน้อยครับ..ทำอิซีกุโบร์ก็ไม่เป็น..แล้วผมควรจะฝึกทำอิซีกุโบร์หรือไม่?..
4\".แล้วจะเอาเสียงMP3อิซีกุโบร์ได้ที่ไหน?..เพราะผมไม่อยากไปกินบุญแล้วนั่งผงาบๆอ่านอิซีกุโบร์ไม่เป็นอะครับ..ทำแบบนี้มันไม่อะไร..มีแต่เสียเหนียตหมดได้บาปติดตัว
5\"การอ่านกุรอ่านและเฝ้ากุโบร์..มันเป็นบิดอะห์หรือไม่ครับ?

ขออัลลอฮฺตอบแทนความดีในทุกๆย่างเก้าของชีวิตนะครับ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

หากไม่ติดอยู่กับชื่อเรียก อีซีกุโบร์ก็คือการนำเอาอายะฮฺอัล-กุรอานที่มีความประเสริฐ (ฟะฎีละฮฺ) และการซิกรุลลอฮฺสำนวนต่างๆ มาผูกร้อยเรียงเพื่อให้ง่ายในการอ่านรวมกัน แล้วก็มีการขอดุอาอฺในตอนท้ายแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ประเด็นความเห็นต่างในเรื่องการทำอีซีกุโบร์จึงไม่ได้อยู่ที่ถ้อยคำซึ่งเป็น อัล-กุรอาน ซิกรุลลอฮฺ และการขอดุอาอฺ แต่อยู่ตรงการร้อยเรียงและนำมาผูกต่อกันจนเป็นรูปแบบเฉพาะ


ฝ่ายหนึ่งบอกว่าตรงนี้แหล่ะเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) เพราะเป็นการกำหนดรูปแบบของการอ่านถ้อยคำต่างๆ ที่เป็นเรื่องมุฏลัก หรือ อ็าม (ไม่มีรูปแบบเฉพาะ , กว้างๆ ) ทำให้กลายเป็น มุก็อยยัด (ถูกกำหนดเงื่อนไขตามรูปแบบ) และเป็นการตัคศิศ (เจาะจงสิ่งที่มีระบุแบบกว้างๆ ให้เป็นกรณีเฉพาะด้วยรูปแบบ)


แต่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าไม่ใช่เป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) เพราะเป็นการร้อยเรียงและรวมถ้อยคำที่มีฟะฎีละฮฺพิเศษเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้เกิดความง่ายในการท่องจำหรือการอ่าน ซึ่งหากพิจารณาแล้วก็มีมูลด้วยกันทั้งนั้นทั้งสองฝ่ายจึงเถียงกันไม่จบ เอาเป็นว่าให้ตั้งหลักเสียก่อน


หลักที่ว่าก็คือ การร้อยเรียงและผูกรวมถ้อยคำที่เป็นอัล-กุรอาน ซิกรุลลอฮฺ และ ดุอาอฺเพื่อความง่ายและสะดวกในการอ่านนั้น น่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้คล้ายกับการนำเอาซิกรุลลอฮฺหลังละหมาดซึ่งมีสำนวนและถ้อยคำในอัล-หะดีษรายงานมาเป็นจำนวนมากมาเรียงกัน ทั้งๆ ที่อัล-หะดีษที่รายงานสำนวนการซิกรุลลอฮฺหลังละหมาดมีความเป็นเอกเทศและแตกต่างกัน และท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็อ่านแต่ละสำนวนต่างกรรมต่างวาระ บางครั้งก็อ่านต้นนั้น บางครั้งก็อ่านต้นนี้


เราก็นำเอาสำนวนทั้งหมดมารวมและเรียบเรียงตามความสะดวกของเราโดยไม่ยึดติดว่าการเรียบเรียงตามความสะดวกของเราที่ท่องจำเอาไว้และนำมาใช้นั้นจะต้องมีรูปแบบอย่างนั้นอย่างนี้ และไม่กล่าวอ้างหรือมีอิอฺติกอด (ปักใจเชื่อ) ว่าการเรียบเรียงและการผูกรวมกันนั้นเป็นรูปแบบที่รสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยกระทำเอาไว้ คือไม่อ้างว่า รูปแบบที่เราทำเป็นสุนนะฮฺที่รสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) วางเอาไว้เป็นกิจลักษณะ แต่ที่เราอ่านต้นนั้นก่อนต้นนี้เป็นความสะดวกในการใช้และปฏิบัติของเราเอง


ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็ไม่น่าเข้าข่ายว่าเป็นบิดอะฮฺแต่อย่างใด เรื่องของอีซีกุโบร์ก็ประมาณนี้แหล่ะ แต่ถ้าเราไปเข้าใจว่าสิ่งที่เราอ่านจะต้องเรียงและผูกกันเป็นรูปแบบเฉพาะตายตัวและเชื่อว่าที่เรียงและผูกรวมกันอย่างนั้นเป็นสุนนะฮฺเป็นสิ่งที่นบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) วางแบบเอาไว้ กรณีเช่นนี้แหล่ะจะเข้าข่ายว่าเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ)  เพราะสิ่งที่เป็นบิดอะฮฺตามหลักการของศาสนาก็คือ การไปกล่าวอ้างหรือปักใจเชื่อว่าสิ่งที่ไม่ใช่สุนนะฮฺเป็นสุนนะฮฺ และการไปกล่าวอ้างหรือปักใจเชื่อว่าสิ่งที่เป็นสุนนะฮฺที่ชัดเจนมิใช่สุนนะฮฺ คือเข้าใจเรื่องกลับกันและค้านกับข้อเท็จจริง


ดังนั้น อีซี กุโบร์จะเข้าข่ายว่าเป็นบิดอะฮฺก็ต่อเมื่อผู้ทำอิซีกุโบร์ไปกล่าวอ้างหรือปักใจเชื่อว่ารูปแบบการอ่านอันเกิดจากการร้อยเรียงและผูกรวมกันเป็นสุนนะฮฺที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) กระทำเอาไว้ ทั้งๆ ที่เป็นการร้อยเรียงของนักวิชาการหรือผู้ทำอิซีกุโบร์เอง  และอีซีกุโบร์ก็ไม่น่าจะเข้าข่ายว่าเป็นบิดอะฮฺ ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นสุนนะฮฺก็ตาม แต่เป็นเรื่องที่อนุญาตกระทำได้ เมื่อผู้ทำอีซีกุโบร์ไม่ได้กล่าวอ้างและปักใจเชื่อว่ารูปแบบการอ่านอันเป็นผลมาจากการร้อยเรียงและผูกเข้าด้วยกันเป็นสุนนะฮฺที่นบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) วางเป็นรูปแบบเอาไว้ หากแต่ที่อ่านตามการร้อยเรียงและผูกเข้าด้วยกันนั้นเป็นเพราะความสะดวกและง่ายในการอ่านเท่านั้น และเป็นการอาศัยการเรียบเรียงของผู้รู้ที่วางเอาไว้โดยไม่ได้ยึดติดว่าการเรียบเรียงนั้นเป็นสิ่งที่นบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) กระทำเอาไว้


เพราะถ้าไปอ้างเช่นนั้นหรือปักใจเชื่อเช่นนั้นก็เท่ากับไปอ้างหรือปักใจเชื่อว่าสิ่งที่ไม่เป็นสุนนะฮฺเป็นสุนนะฮฺ นั่นแหล่ะคือบิดอะฮฺในทางศาสนาแล้ว นี่คือหลักที่ตั้งให้ไว้สำหรับการพิจารณาในเรื่องนี้ อาจจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องก็ได้ หรืออาจจะเป็นสิ่งที่ผิดพลาดก็ได้ แต่ถ้าไม่เอาหลักนี้มาตั้งไว้ก็ยากที่จะเข้าใจถึงข้อเท็จจริงในประเด็นปัญหาที่ขัดแย้งกันในเรื่องนี้


แน่นอนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็อาจจะกล่าวว่า หลักที่ต้องตั้งขึ้นก็คือรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) กระทำอีซีกุโบร์หรือไม่ ถ้าตอบว่า รสูล (ศ็อลลัล ลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่เคยทำอีซีกุโบร์  การทำอีซีกุโบร์ก็ย่อมเป็นบิดอะฮฺแน่นอน


อีกฝ่ายหนึ่งก็อาจจะตั้งหลักขึ้นเหมือนกันว่า อีซีกุโบร์ก็คือการอ่านอัล-กุรอาน ซิกรุลลอฮฺ และขอดุอาอฺ ทั้งหมดเป็นของดี ไม่มีใครว่าไม่ดี เมื่อเป็นของดีก็เป็นเรื่องที่ทำได้ แม้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่เคยกระทำอีซีกุโบร์ก็จริง  แต่เมื่อ อีซีกุโบร์เป็นของดีก็ย่อมเป็นบิดอะฮฺหะสะนะฮฺ


สรุปแล้วหลักทั้ง 2 ต้นที่ตั้งขึ้นของทั้งสองฝ่ายก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น ไม่ได้ทำให้คนทั่วไปเข้าใจและมีมุมมองกว้างขึ้นในปัญหาที่ถกเถียงกัน กลายเป็นหลักยึดของคน 2 ฝ่ายที่เถียงกันเรื่อยไปตราบชั่วฟ้าดินสลาย ก็เลือกเอาครับว่าจะเอาหลักต้นไหน ระหว่าง 2 ต้นเดิมที่ปักอยู่สุดขอบ กับต้นกลางที่ผมเสนอเอาไว้


ส่วนถ้าอยากทำอิซีกุโบร์เป็น ก็หาซื้อหนังสือที่เขารวบรวมเรื่องเหล่านี้เอาไว้ เช่น รวมบทดุอาอฺ ของร้าน ม.ศิริพาณิชย์ บางมะเขือ เป็นต้น และก็เอามาท่องให้จำขึ้นใจ จะได้เป็นโต๊ะละบัยสมใจนึก


แต่ถ้าลำบากในเรื่องท่องจำ ก็พาหนังสือไปด้วยเวลาไปกินบุญ แล้วก็เปิดอ่านไปจะได้ไม่ต้องทำปากผงาบๆ อย่างที่ว่ามา คงไม่มีใครเขาว่าหรอกครับ เพราะต่างคนต่างก็ก้มหน้าหน้าหลับตาอ่านกัน ไม่มีใครสนใจใครเพราะมุ่งจะอ่านของใครจองมันอยู่แล้ว ยิ่งไม่ใช่โต๊ะเสาดั้งหรือโต๊ะละบัยมืออาชีพเขาก็ไม่ว่าอะไรอยู่แล้ว


คงไม่ต้องไปหา MP3 เวอร์ชั่นอิซีกุโบร์มาฟังหรอกครับ ถ้าจะเอา MP3 มาฟังก็เป็นอัล-กุรอานไปเลยดีกว่า มีชัยคฺที่เป็นกอรียฺดังๆ หลายต่อหลายคนทีเดียว ฟังเป็นประจำแล้วก็ท่องให้ขึ้นใจข้อนี้รับประกันว่าชัวร์ ถึงแม้เราจะเป็นคนมีความรู้ทางศาสนาน้อย แต่ถ้าท่องจำอัล-กุรอานได้มากบทและคล่องแคล่วโต๊ะละบัยก็สู้ไม่ได้ครับ


ทีนี้มาว่าเรื่องตัลกีนหลังฝังมัยยิตแล้วว่าทำได้หรือไม่? ชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) ตอบเอาไว้ว่า : “การตัลกีนมัยยิตหลังจากการเสียชีวิตนั้นไม่ใช่วาญิบโดยอิจญมาอฺ และไม่ปรากฏว่าเป็นส่วนหนึ่งจากการกระทำของชาวมุสลิมที่เป็นมัชฮู๊ร (เลื่องลือและรู้กัน) ในระหว่างพวกเขาในสมัยของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) และบรรดาเคาะลีฟะฮฺ หากแต่สิ่งดังกล่าวมีร่องรอย (มะอฺษู๊ร) จากเศาะหาบะฮฺกลุ่มหนึ่ง เช่น อบูอุมามะฮฺ และท่านวาษิละฮฺ อิบนุ อัล-อัสเกาะอฺ เป็นต้น ดังนั้นส่วนหนึ่งจากบรรดาอิมามที่อนุโลมในเรื่องการตัลกีน ก็เช่น อิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.)


และกลุ่มหนึ่งจากสานุศิษย์ของท่านถือว่าการตัลกีนเป็นเรื่องที่ส่งเสริม (มุสตะหับ.) และส่วนหนึ่งจากบรรดานักปราชญ์คือผู้ที่ถือว่าการตัลกีนเป็นเรื่องที่ไม่บังควร (มักรูฮฺ) เนื่องจากเชื่อว่าการตัลกีนเป็นบิดอะฮฺ ดังนั้นจึงมีคำพูดในเรื่องนี้ 3 ลักษณะคือ ส่งเสริมให้กระทำ (มุสตะหับ) ไม่บังควร (มักรูฮฺ) และเป็นที่อนุญาต (อิบาหะฮฺ) และคำพูดนี้คือสิ่งที่เป็นกลางที่สุด...” (มัจญ์มูอะฮฺ อัล-ฟะตาวา ; อิบนุตัยมียะฮฺ เล่มที่ 12 ภาคที่ 24 หน้า 166)


ในอีกคำถามหนึ่ง ชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) ตอบว่า : ส่วนการตัลกีนมัยยิตนั้น กลุ่มหนึ่งจากชาวคุรอสานที่เป็นสานุศิษย์ของอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ได้ระบุถึงและถือว่าเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้กระทำเช่นกัน อัล-มุตะวัลลียฺ และ อัร-รอฟีอียฺ และท่านอื่นๆ ได้ระบุเอาไว้ ส่วนอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) เองนั้น ไม่มีสิ่งใดถูกถ่ายทอดมาจากท่านในเรื่องนี้ และส่วนหนึ่งจากบรรดาเศาะหาบะฮฺนั้นมีบุคคลที่เคยทำการตัลกีน เช่น อบู อุมามะฮฺ อัล-บาฮิลียฺ , วาษิละฮฺ อิบนุ อัล-อัสเกาะอฺ และอื่นจากบุคคลทั้งสองจากบรรดาเศาะหาบะฮฺ


และส่วนหนึ่งจากสานุศิษย์ของอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) คือผู้ที่ถือว่าการตัลกีนเป็นเรื่องที่ส่งเสริม (มุสตะหับ) และที่ตะหฺกีก (ตรวจสอบอย่างถูกต้องแล้ว) แท้จริงการตัลกีนนั้นเป็นเรื่องอนุญาต (ญาอิซฺ) แต่ไม่ใช่สุนนะฮฺรอติบะฮฺ วัลลอฮุอะลัม” (อ้างแล้ว)


กรณีการอ่านอัล-กุรอานที่กุโบร์นั้น ชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) ตอบว่า :
“ส่วนการอ่านอัล-กุรอานที่กุโบร์นั้น อบูหะนีฟะฮฺ มาลิก และอะหฺมัด ในหนึ่งของ 2 ริวายะฮฺ ระบุว่าเป็นสิ่งที่ไม่บังควร (มักรูฮฺ) แต่ในอีกริวายะฮฺหนึ่งของอะหฺมัดไม่ถือว่าเป็นมักรูฮฺ


เหตุที่อิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) อนุโลมในริวายะฮฺที่ 2 นั้นเป็นเพราะมีรายงานมาถึงท่านว่า แท้จริงท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ได้สั่งเสีย (วะศียะฮฺ) ให้อ่านตอนต้นสูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺ และตอนท้ายของอัล-บะเกาะเราะฮฺที่กุโบร์ของท่าน และมีรายงานจาก เศาะหาบะฮฺบางท่านในการอ่านสูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺ ดังนั้นการอ่านขณะฝังมัยยิตนั้นมีร่องรอย (มะอฺษู๊ร) ถูกรายงานมาโดยคร่าวๆ ส่วนหลังจากดังกล่าวแล้วนั้นไม่มีร่องรอยการกระทำถูกถ่ายทอดมา วัลลอฮุอะอฺลัม” (อ้างแล้ว หน้า 166)


ประเด็นสุดท้าย เรื่องการเฝ้ากุโบร์ ชัยคฺ อับดุลกอดิร อัล-มันดีลียฺ (ร.ฮ.) ตอบว่า :

برمول منوڠڬو قبورايت تيادادااى دتنتوت فدشرع دان هاڽ ساڽ يڠ دتنتوڽ فد شرع ممباچ قرآن فد سڬل فرقبورن
“การเฝ้ากุโบร์นั้นไม่ปรากฏว่าเป็นสิ่งที่ถูกเรียกร้อง (ท้าวทวง) ในศาสนบัญญัติ และอันที่จริงสิ่งที่ถูกเรียกร้อง (ท้าวทวง) ในศาสนบัญญัตินั้นคือการอ่านอัล-กุรอานในบรรดาการฝังศพเท่านั้น”
ببراف متيارايڠ باڬوس لاڬى انده ص ٤٩

เอาแค่นี้ก็แล้วกันครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นบทความไป!

والله أعلم بالصواب