หลังจากสตรีคลอดบุตรในระยะเวลา 40 วันมีการห้ามรับประทานอาหารหลายๆ ชนิด  (อ่าน 5071 ครั้ง)

surachat

  • บุคคลทั่วไป
อัสสาลามูอาลัยกูม ท่าน อ.อาลี ครับ มีคำถามรบกวนเวลาอีกแล้วครับ
1.หลังจากสตรีคลอดบุตรในระยะเวลา 40 วันมีการห้ามรับประทานอาหารหลายๆชนิด ทั้งคาว หวาน โดยมีความเชื่อปะปน เช่นกินแล้วจะทำให้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ซึ่งคนเฒ่าคนแก่ใด้เคยปรามลูกหลานเอาใว้ และมีอิทธิพลต่อความเชื่อมาโดยตลอด ในหลักการอิสลามมีหลักฐานการปฎิบัตในเรื่องนี้อย่างไรครับ

2.กำลังจะได้บุตร อินชาอัลลอฮฺ ขอชื่อที่ไพเราะ และความหมายดีๆ ทั้งหญิงและชาย ขอ อ.อาลี ช่วยเหลือด้วยครับ ยาซากั้ลลอฮฺค็อยรอน วัสลาม

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد


1. จริงๆแล้วเรื่องที่ระบุว่าสตรีหลังการคลอดบุตรในช่วงการมีเลือดนิฟาสไม่ให้รับประทานอาหารบางชนิดนั้นเป็นเรื่องของการพิสูจน์และประสบการณ์ที่ได้จากการทดลอง (มุญัรเราะบาตฺ) เป็นภูมิปัญญาที่คนผู้ใหญ่สั่งสมประสบการณ์และองค์ความรู้เอาไว้ว่าอะไรที่กินได้และอะไรที่ไม่ควรกินเพราะอาจจะเป็นของแสลงและส่งผลต่อสุขภาพและอวัยวะภายใน เช่น มดลูกของสตรี เป็นต้น


เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องของอิอฺติกอด (ความเชื่อ) เหมือนกรณีของคนที่เป็นไข้ทับฤดูจะมีอาหารบางชนิดห้ามเอาไว้ คนป่วยในเรื่องโรคเบาหวานหรือไตก็จะมีอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงซึ่งเป็นเรื่องของการรักษาที่เกี่ยวพันกับหุก่มอาดียฺ (คือเรื่องเหตุและผลของเหตุ) ทั้งนี้ให้ถือไปตามนั้นได้


เช่น คนที่เป็นไข้ไม่ควรกินลำใย คนทีกินทุเรียนซึ่งให้ธาตุร้อน (เพราะทุเรียนมีธาตุร้อนจากกำมะถัน) ควรกินมังคุดตาม (เพราะมังคุดให้ธาตุเย็นและจะปรับธาตุให้เป็นกลาง) คนที่ตาแฉะหรือเป็นโรคตาแดงควรหลีกเลี่ยงการกินลำใยหรืออินทผลัมแห้งเพราะเป็นตัวให้ธาตุร้อน ทำให้อาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ คนที่มีอาการถ่ายท้องให้งดอาหารหนักที่มีรสจัดแต่ให้ดื่มเกลือแร่ คนที่มีอาการไอและเจ็บคอควรงดน้ำเย็น หรือของกินที่มีมันหรือทอดน้ำมันเป็นต้น


การห้ามหรือการงดอาหารจำพวกดังกล่าวสำหรับผู้ป่วยมิใช่เรื่องของการอิอฺติก็อดที่ทำให้เสียอีมาน แต่เป็นเรื่องของการรักษาซึ่งมีทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณซึ่งเกิดจากการทดลองและพิสูจน์จนกลายเป็นภูมิปัญญาและอยู่ในขอบข่ายของหุก่มอาดียฺ ซึ่งอาจจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย อาการและความรุนแรงของอาการที่แตกต่างกันไป


แต่ถ้าไปอิอฺติก็อดคือปักใจเชื่อว่าอาหารที่ควรงดดังกล่าวเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ทั้งๆ ที่อาหารนั้นเป็นสิ่งที่อนุมัติ (หะล้าล) และเชื่อว่าการกินอาหารที่ควรงดเป็นสิ่งที่ให้คุณให้โทษด้วยตัวมันเอง เช่นมันเป็นสิ่งที่ทำให้หายจากโรคด้วยตัวมันเองหรือเป็นอันตรายด้วยตัวมันเอง กรณีเชื่ออย่างนี้แหล่ะที่เข้าข่ายเป็นชิรกฺ (เป็นการตั้งภาคี)


ดังนั้นให้ถือในเรื่องอาหารของสตรีหลังการคลอดบุตรว่าเป็นเรื่องของการพิสูจน์และทดลองตามหุก่มอาดียฺก็จบ อะไรที่กินได้ หรืออะไรทีกินไม่ได้ในขณะนั้น จึงเป็นเรื่องของประสบการณ์ที่ผู้ใหญ่เขาทดลองและพิสูจน์มาแล้วเท่านั้น อย่าไปมีความเชื่อว่าห้ามกินโดยเด็ดขาด ถ้ากินแล้วจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ด้วยตัวของมันเอง จะเชื่ออย่างนี้ไม่ได้


2. ก็แสดงความดีใจกับคุณที่จะได้บุตรด้วยครับ ขอให้พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานความจำเริญ ความปลอดภัย และความดีงามให้เกิดกับครอบครัวของคุณ ขอให้บุตรที่จะเกิดมาเป็นลูกที่ศอลิหฺของพ่อแม่ และเป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮฺ (ซ.บ.)

ส่วนเรื่องชื่อที่ขอมานั้นลองค้นหาดูในคอลัมน์ถามตอบนี่แหล่ะครับ เคยให้ชื่อไว้มากพอควร ลองเลือกดูครับ

والله ولي التوفيق