การคุตบะห์ (คุตบะห์วันศุกร์ที่ไม่ครบรุก่น)  (อ่าน 19670 ครั้ง)

ฮาซันซอและห์อุมัรอับดุรเราะห์มาน

  • บุคคลทั่วไป
หากผู้ที่ทำหน้าที่ค่อตีบ ไม่กล่าวรุ่ก่นของคุตบะห์ทั้งหมด หรือกล่าวไม่ครบ การคุตบะห์นั้นจะใช้ได้หรือไม่ และผู้ที่มาร่วมฟังคุตบะห์จะได้ญุมอะห์ในวันนั้นหรือไม่ หรือผิดเฉพาะค่อตีบ เพราะบางคนที่มาละหมาดก็ไม่ทราบว่ารุ่ก่นคุตบะห์มีอะไรบ้าง ก็ได้แต่ฟังกันไป

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : การคุตบะห์ (คุตบะห์วันศุกร์ที่ไม่ครบรุก่น)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มีนาคม 28, 2012, 04:33:47 pm »
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

การคุฏบะฮฺ 2 คุฏบะฮฺก่อนละหมาดวันศุกร์เป็นเงื่อนไขในการใช้ได้สำหรับการละหมาดวันศุกร์ เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า : صَلُّوْاكَمَارَأَيْتُمُوْنِىْ أُصَلِّىْ “พวกท่านจงละหมาดเหมือนอย่างที่พวกท่านเห็น (รู้) ฉันละหมาด” (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ รายงานจาก มาลิก อิบนุ อัล-หุวัยริษฺ) และท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่เคยละหมาดวันศุกร์นอกเสียจากด้วยการแสดงคุฏบะฮฺ 2 คุฏบะฮฺ (อัล-มุฮัซซับ; อัช-ชีรอซียฺ)


และการแสดงคุฏบะฮฺ 2 คุฏบะฮฺ ของอิหม่ามหรือคอฏีบในการละหมาดวันศุกร์นั้น มี 5 ประการ 3 ประการมีมติเห็นพ้อง และอีก 2 ประการมีความเห็นต่าง

(1) การสรรเสริญอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และจำเป็นต้องใช้ถ้อยคำ อัล-หัมดุ (الحمد) หรือคำที่แตกออกมาจากคำๆ นี้ อย่างน้อยคือคำว่า อัล-หัมดุลิลลาฮฺ ส่วนคำที่มีความหมายคล้ายกับคำๆ นี้ไม่สามารถนำมาใช้แทนได้โดยการเห็นพ้อง


(2) การกล่าวเศาะละวาตแก่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) และคำว่า อัศ-เศาะลาฮฺ (الصلاة) และคำที่แตกออกมาจากคำๆ นี้ เป็นคำที่ถูกเจาะจง


(3) การกำชับสั่งเสีย (อัล-วะศียะฮฺ) ให้มีความยำเกรง (ตักวา) ต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ส่วนที่ว่า คำ อัล-วะศียะฮฺ เช่น أُوْصِيْكُمْ ถูกเจาะจงหรือไม่นั้น ประเด็นที่ถูกต้อง (อัศ-เศาะฮีหฺ) ซึ่งอิหม่ามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ระบุเป็นตัวบทเอาไว้ และอัศหาบุชชาฟิอียะฮฺตลอดจนปวงปราชญ์ชีชาด ถือว่าไม่จำเป็นต้องเจาะจงในการใช้คำๆ นี้ แต่คำตักเตือนใดๆ ก็ตามถือว่าทดแทนคำๆ นี้ได้


ทั้ง 3 ประการนี้ นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า เป็นสิ่งจำเป็นในแต่ละคุฏบะฮฺจากคุฏบะฮฺทั้งสองโดยไม่มีข้อขัดย้ง


(4) การอ่านอัล-กุรอาน ในประการนี้มี 4 ประเด็น (เอาญุฮฺ) ในมัซฮับ ที่ถูกต้อง (อัศเศาะฮีหฺ) เป็นสิ่งที่จำเป็นในคุฏบะฮฺหนึ่งคุฏบะฮฺใดก็ได้ตามที่ประสงค์ ซึ่งประเด็นนี้อิหม่าม อัช-ชาฟิอียฺระบุเป็นตัวบทเอาไว้


(5) การขอดุอาอฺให้แก่บรรดาศรัทธาชน ประการนี้มี 2 คำกล่าว หนึ่งเป็นที่ส่งเสริม (มุสตะหับ) สองเป็นวาญิบที่ขาดไม่ได้ ซึ่งอิหม่ามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ระบุว่าเป็นคำกล่าวที่ถูกต้องและได้รับการคัดเลือก (อัศ-เศาะฮีหฺ-อัล-มุคต๊าร)

(กิตาบ อัล-มัจญมูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 388-391 โดยสรุป)


ดังนั้น หากผู้ที่ทำหน้าที่คอฏีบทิ้งองค์ประกอบ (รุกน์) ข้อหนึ่งข้อใดไป โดยเฉพาะ 3 ประการแรก การคุฏบะฮฺวันศุกร์นั้นย่อมใช้ไม่ได้ เพราะขาดองค์ประกอบสำคัญ การคุฏบะฮฺวันศุกร์เป็นเงื่อนไขของการใช้ได้ในการละหมาดวันศุกร์ เมื่อการคุฏบะฮฺใช้ไม่ได้ก็ทำให้การละหมาดวันศุกร์นั้นใช้ไม่ได้ไปด้วย


จึงจำเป็นที่ผู้มาร่วมละหมาดวันศุกร์ซึ่งเป็นอะฮฺลุลญุมอะฮฺจะต้องทักท้วงให้เคาะฏีบกล่าวองค์ประกอบหลักของการคุฏบะฮฺให้ครบถ้วน หรือเริ่มคุฏบะฮฺใหม่หากยังมีเวลาในการทำละหมาดวันศุกร์เหลืออยู่ แต่ถ้าเคาะฏีบไม่กระทำตามคำทักท้วง ความผิดก็เกิดขึ้นกับเคาะฏีบเท่านั้น และผู้มาร่วมละหมาดวันศุกร์ก็ไม่ได้วันศุกร์นั้น เพราะละหมาดวันศุกร์นั้นใช้ไม่ได้ แต่ไม่มีความผิดเพราะทักท้วงแล้ว


ส่วนถ้าไม่มีผู้ใดทักท้วงเลยก็ถือว่ามีความผิดร่วมกัน เพราะการรู้ถึงองค์ประกอบในการคุฏบะฮฺเป็นสิ่งที่จำเป็นโดยคร่าวๆ ถ้าไม่มีผู้ใดรู้ถึงเรื่องดังกล่าวเลยก็ถือว่ามีความผิดร่วมกัน

والله أعلم بالصواب