อิคติลาฟของศอฮาบะห์หลังจากนบีวะฟาต มีกี่เรื่อง  (อ่าน 5598 ครั้ง)

นักเรียนฝึกหัด

  • บุคคลทั่วไป
อิคติลาฟของศอฮาบะห์หลังจากนบีวะฟาต มีกี่เรื่อง แล้วศอฮาบะห์ได้ให้น้ำหนักแก่ทัศนะของศอฮาบะห์mท่านใดมากที่สุดครับ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

ภายหลังการวะฟาตฺ (สิ้นชีวิต) ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) บรรดาเศาะหาบะฮฺ (ร.ฎ.) มีความเห็นต่าง (อิคติลาฟ) ในประเด็นข้อปลีกย่อย (اَلْمَسَائِلُ الفُرُوْعِيَّةُ)  หลายเรื่องด้วยกัน ดังนี้

1.กรณีข้อเท็จจริง (หะกีเกาะฮฺ) ในการวะฟาต (เสียชีวิต) ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) โดยท่านอุมัร (ร.ฎ.) ยืนกรานว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ยังไม่ได้วะฟาตเพราะเข้าใจว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) จะยังคงมีชีวิตอยู่ท่ามกลางประชาชาติของท่านจนกระทั่งท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) จะได้เป็นสักขีพยานต่อการกระทำของประชาชาติของท่านในตอนท้ายสุดเสียก่อน


โดยเข้าใจว่าอายะฮฺที่ 143  จากสูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ   (وكذلك جعلناكم أمةً وَسطًا....)  บ่งชี้เช่นนี้ จนกระทั่งเมื่อท่านอบูบักร (ร.ฎ.) รับทราบเรื่องท่านจึงได้อ่านอายะฮฺ 144 สูเราะฮฺอาลิ-อิมรอน  (ومامحمدإلارسولٌ....)  


และอายะฮฺที่ 30 จากสูเราะฮฺ อัซ-ซุมัร  (إنك ميت....)ให้ท่านอุมัร (ร.ฎ.) และเหล่าเศาะหาบะฮฺในขณะนั้นได้รับฟัง แล้วท่านอุมัร (ร.ฎ.) ก็ยอมรับในข้อเท็จจริงดังกล่าว (ตัฟสีรอิบนุกะษีร (4/52) , สีเราะฮฺ อิบนิ ฮิซาม (2/655) , (2/661-666) และ อัลมุศ็อลนัฟฺ ของอับดุรร็อซซ๊าก ; 5/433 , 434)



2.กรณีการที่ชาวอาหรับบางเผ่าปฏิเสธการจ่ายซะกาตให้แก่รัฐอิสลามในนคร  มะดีนะฮฺภายหลังท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) วะฟาต ท่านเคาะลีฟะฮฺ อบูบักร (ร.ฎ.) ประสงค์สู้รบกับชนเผ่าอาหรับเหล่านั้น แต่ท่านอุมัร (ร.ฎ.) ไม่เห็นด้วย แต่ด้วยการอ้างหลักฐานของเคาะลีฟะฮฺอบูบักร (ร.ฎ.) ในประเด็นของการละหมาดและการจ่ายซะกาตที่มีคำสั่งในอัล-กุรอานระบุคู่กันโดยไม่อาจแยกจากกันได้ ท่านอุมัร (ร.ฎ.) และเหล่าเศาะหาบะฮฺก็ยอมรับและมีมติในการสู้รบดังกล่าว



3.กรณีการรวบรวมอัล-กุรอานที่ถูกบันทึกในวัสดุอุปกรณ์สมัยท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในหมู่บรรดาเศาะหาบะฮฺโดยข้อเสนอของท่านอุมัร (ร.ฎ.) แก่ท่านเคาะลีฟะฮฺ อบูบกัร (ร.ฎ.) ให้รวบรวมไว้ในที่เดียวกันภายหลังสมรภูมิอัล-ยะมามะฮฺซึ่งมีนักท่องจำอัล-กุรอานเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก


ในตอนแรกท่านเคาะลีฟะฮฺอบูบักร (ร.ฎ.) ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของท่านอุมัร (ร.ฎ.) เพราะเป็นสิ่งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่เคยกระทำ แต่ต่อมาท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ก็ยอมรับว่าในข้อเสนอนั้นมีประโยชน์แก่ประชาชาติอิสลาม (อัล-มัศละหะฮฺ) จึงได้มีการดำเนินการรวบรวมอัล-กุรอานขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยของท่าน



4.ระหว่างท่านอุมัร (ร.ฎ.) กับท่านอับดุลเลาะฮฺ อิบนุ มัสอูด (ร.ฎ.) มีการวินิจฉัย (อิจญติฮาด) ตรงกันในหลายประเด็น เช่น ประเด็นปัญหาเรื่องมรดกเป็นต้น กระนั้นระหว่างบุคคลทั้งสองก็มีการวินิจฉัยปัญหาข้อปลีกย่อยทางนิติศาสตร์ที่แตกต่างกันในประเด็นต่างๆ เป็นจำนวนมากเช่นกัน


ซึ่งอิบนุ อัล-ก็อยยิม (ร.ฮ.) ได้กล่าวไว้ในอิอฺลาม อัล-มูกิอีน ว่ามีถึง100 ปัญหา (มัสอะละฮฺ) ด้วยกัน นอกจากนี้ก็ยังมีความเห็นต่างในการวินิจฉัยระหว่างท่านอุมัร (ร.ฎ.) กับท่านซัยดฺ อิบนุ ษาบิต (ร.ฎ.) เช่น ประเด็นการอาบน้ำญะนาบะฮฺ เป็นต้น



5.การมีความเห็นต่างในกรณีดินแดนอิรักและดินแดนอื่นๆ ที่ถูกพิชิตโดยท่านอุมัร (ร.ฎ.) มีความเห็นว่า ไม่ให้นำเอาที่ดินมาแบ่งเป็นทรัพย์สงครามในหมู่ทหารผู้ร่วมทำศึกแต่ให้ที่ดินนั้นคงกรรมสิทธิ์อยู่กับเจ้าของเดิม โดยกำหนดภาษีเคาะรอจญ์ (คล้ายๆ ภาษีที่ดิน)



6.นอกจากนี้มีกรณีความเห็นต่างระหว่างท่านเคาะลีฟะฮฺอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.) กับท่านอับดุลเลาะฮฺ อิบนุ มัสอูด (ร.ฎ.) ในการละหมาดย่อหรือละหมาดเต็มที่ทุ่งมินาในช่วงการประกอบพิธีหัจญ์ และระหว่างท่านอับดุลเลาะฮฺ อิบนุ มัสอูด (ร.ฎ.) กับท่านอบูมูซา อัล-อัชอะรียฺ ในประเด็นปัญหามรดก เป็นต้น



สรุปก็คือ ประเด็นการเห็นต่างในเรื่องข้อปลีกย่อยนั้นมีปรากฏในสมัยของบรรดาเศาะหาบะฮฺ (ร.ฎ.) ภายหลังการวะฟาตของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) แน่นอน และเป็นการเห็นต่างในประเด็นที่ว่าอันไหนดีกว่า มิใช่เป็นการขัดแย้งกันว่าเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติ (มัชรูอียะฮฺ) หรือไม่


เช่นการกล่าวตักบีรฺในวันอีดและวันตัชรีก การนิกาหฺของผู้ครองอิหฺรอม การอ่านบิสมิลาฮและอามีนค่อยหรือดังในละหมาด การกล่าวประโยคคู่หรือคี่ในการอิกอมะฮฺ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการให้น้ำหนัก (ตัรญีหฺ) ว่าอันไหนดีกว่าหรือมีน้ำหนักมากกว่า มิใช่ถูกหรือผิด



การเห็นต่างในข้อวินิจฉัยของบรรดาเศาะหาบะฮฺและชนรุ่นถัดมาจึงถือเป็นมรดกทางวิชาการและการเป็นผลจากการวิเคราะห์ตัวบทด้วยภูมิปัญญาอันเอกอุของพวกท่านที่ฝากเอาไว้แก่ประชาชาติอิสลามซึ่งนักวิชาการระบุว่า ผู้ใดไม่รู้ถึงความเห็นต่างของบรรดาอุละมาอฺ ผู้นั้นย่อมมิใช่คนอาลิม ผู้ใดไม่รู้ถึงความเห็นต่างของบรรดาฟุเกาะฮาอฺ จมูกของผู้นั่นก็ย่อมไม่เคยสูดกลิ่นของวิชาฟิกฮฺ



และท่านอุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ (ร.ฎ.) กล่าวว่า แท้จริงการที่บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่มีความเห็นต่างกันเลยนั้นย่อมไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ฉันยินดีแต่อย่างใดเลย

เพราะถ้าพวกเขาไม่มีความเห็นต่างกันเลยแล้วละก็ ก็ย่อมไม่มีข้ออนุโลม (รุคเศาะฮฺ) แต่พวกเรา (ในการเลือกความเห็นมาปฏิบัติ) แต่อย่างใด (รายงานโดย อัล-บัยฮะกียฺ ใน อัล-มัดค็อลฺ และใน ฟัยฎุลเกาะดีร 1/209 และอิบนุ อับดิลบัรฺริ ในญามิอฺ บะยาน อัล-อิลมฺ 2/80)

والله أعلم بالصواب