กษัตริย์ไทย  (อ่าน 5121 ครั้ง)

มุสลิม

  • บุคคลทั่วไป
กษัตริย์ไทย
« เมื่อ: มกราคม 26, 2012, 12:23:52 pm »
1. การขอดุอาอฺให้เขา(กษัตริย์ไทย)หายป่วย สามารถกระทำได้จริงหรือ? การขอดุอาอฺสรรเสริญเขาในบ้านของอัลลอฮฺ มีแบบอย่างจากนบีหรือซอฮาบะฮฺหรือไม่?

2. ในอิสลาม หากเราให้ความเท่าเทียมเสมอภาคกันทั้งหมด ทำไมเราถึงจะต้องใช้คำราชาศัพท์กับคนบางคนบางกลุ่มด้วย? และเราสามารถยืนให้เกียรติเขา(กษัตริย์ไทย)ได้หรือไม่? หากพิจารณาจากฮะดีษ
مَنْ سَرَّهُ أَنْ يَتَمَثَّلَ لَهُ الرِّجَالُ قِيَامًا فَلْيَتَبَوَّأْ مَقْعَدَهُ مِنَ النَّارِ
“ผู้ใดที่ชื่นชอบให้คนอื่นๆยืนขึ้นเพื่อให้ทำความเคารพเขา เขาจงเตรียมที่พำนักของเขาได้ในนรก”
(หะดีษ เศาะฮีหฺ บันทึกโดยอบู ดาวูด : 5229 ดู เศาะฮีหฺ สุนัน อบี ดาวูด : 4357, อัต-ติรมิซีย์ตามสำนวนนี้ : 2755 ดู เศาะฮีหฺ สุนัน อัต-ติรมิซีย์ : 2212) ท่านมุอาวิยะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ เป็นผู้รายงานหะดีษนี้

3. ในภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นภาษาที่สำคัญที่สุดสำหรับมุสลิม ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะในการใช้คำ
แม้แต่อัลลอฮฺเอง เวลาแทนพระองค์ พระองค์ก็ใช้ว่า أنا หรือ نحن ทั้งที่พระองค์คือพระผู้เป็นเจ้า
แล้วเราสามารถใช้คำว่า \"พระองค์\" กับมนุษย์คนหนึ่งที่เป็นผู้ปฏิเสธได้หรือไม่? ในเมื่อเราเลือกใช้คำนั้นกับอัลลอฮฺแล้ว และกับมนุษย์ทั่วไปเราก็ไม่ได้ใช้คำนั้นในการเรียกเขา?

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : กษัตริย์ไทย
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มีนาคม 28, 2012, 04:51:01 pm »
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

1. มีรายงานจากท่าน อะนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฎ.) ว่า : มีเด็กชาวยิวคนหนึ่งเคยรับใช้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) แล้วเด็กคนนั้นก็ล้มป่วย ดังนั้นท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงได้มาเยี่ยมไข้เด็กคนนั้น....(อัล-หะดีษ)” (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ) ในอัล-หะดีษบทนี้บ่งชี้ว่าการไปเยี่ยมไข้ (หรือเยี่ยมคนป่วย) ที่เป็นกาฟิรนั้นเป็นสิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้ (ดะลีลุลฺ ฟาลิหิน ชัรหุ ริยาฎิศศอลิหิน 3/336)


* มีรายงานจากท่าน อุสามะฮฺ อิบนุ ซัยคฺ (ร.ฎ.) ว่า : ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

مَنْ صُنِىعَ إِلَيْهِ مَعْرُوْفٌ , فَقَالَ لِفَا عِلِه \"جَزَاكَ الله خَيرًا\" فَقَدْ أَبْلَغَ فِى الثَّنَاءِ

ความว่า : ผู้ใดที่เรื่องดีถูกกระทำยังผู้นั้นแล้วเขากล่าวแก่ผู้กระทำเรื่องดีนั้นว่า “ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนความดีแก่ท่าน” แน่แท้ผู้นั้น (ผู้กล่าวดุอาอฺ) ได้กระทำอย่างที่สุดแล้วในการชื่นชม (ต่อผู้ที่กระทำเรื่องดีนั้น)” (บันทึกโดย อัต-ติรมิซียฺ และกล่าวว่า เป็นหะดีษหะสัน-เศาะฮีหฺ)


คำว่า “เรื่องดี” (มะอฺรู๊ฟ) นั้น อาทิ การให้อาหาร เครื่องนุ่งห่ม หรือการนำมาซึ่งสิทธิประโยชน์หรือปัดป้องภยันตราย ในทำนองเดียวกันเมื่อปรากฏว่าเรื่องดีนั้นเป็นนามธรรม เช่น การให้ความรู้หรือการทำความรู้จักซึ่งกันและกัน” (ดะลีลุลฟาลิหิน 4/266)


* อนุญาตให้ชาวมุสลิมเกล่าวคำว่า “ตะอฺซียะฮฺ” (تَعْزِيَة) กับคนกาฟิร ว่า :

أَعْظَمَ الله أَجْرَكَ وأَحْسَنَ عَزَائَكَ

แปลว่า ขออัลลอฮฺทรงประทานผลบุญอันใหญ่หลวงแก่ท่าน และทรงบันดาลให้ความอดทนของท่านเป็นสิ่งที่ดี (อัล-ฟุตูหาต อัร-รอบบานียะฮฺ เล่มที่ 4 หน้า 143)


อิหม่าม อัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : เป็นที่ต้องห้ามในการถูกวิงวอนขอให้ได้รับการอภัยโทษและที่คล้ายกันแก่ผู้ที่เสียชีวิตไปในสภาพที่เป็นกาฟิร พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงดำรัสว่า :

ما كا ن للنبى والذ ين آمنواأن يستغفرواللمشركين ولوكانوا أولى قر بى من بعد ما تبيَّن لهم أنهم أصحاب الجحيم

“ไม่เป็นสิทธิสำหรับนบีและบรรดาศรัทธาชนในการที่พวกเขาจะขอลุแก่โทษแก่บรรดาผู้ตั้งภาคีถึงแม้ว่าพวกนั้นจะเป็นญาติใกล้ชิดก็ตาม ภายหลังจากการที่เป็นที่กระจ่างชัดแก่พวกเขาแล้วว่าพวกตั้งภาคีนั้นเป็นชาวนรก”

หมายถึงพวกนั้นเสียชีวิตไปบนสภาพของการปฏิเสธ (กุฟร์) และในเรื่องนี้เป็นหลักฐานว่าอนุญาตให้ขอลุแก่โทษ (อิสติฆฟารฺ) แก่บรรดาผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ของพวกเขา เพราะการขอลุแก่โทษแก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นเป็นการขอให้พวกเขาได้รับการเอื้ออำนวย (เตาฟีก) สู่การศรัทธา” (อัล-ฟุตูหาต อัร-รอบบานียะฮฺ 7/102)


เมื่อการเยี่ยมผู้ป่วยที่เป็นชนต่างศาสนิกเป็นที่อนุญาต การขอดุอาอฺให้อัลลอฮฺทรงตอบแทนความดีแก่ผู้ที่ทำดีแก่เราเป็นที่อนุญาต การตะอฺซียะฮฺด้วยถ้อยคำที่เป็นสำนวนดุอาอฺแก่ชนต่างศาสนิกเป็นที่อนุญาต และการขอลุแก่โทษให้แก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่จากชนต่างศาสนิกเป็นที่อนุญาต การขอดุอาอฺให้ชนต่างศาสนิกที่ล้มป่วยให้หายจากการป่วยก็ย่อมเป็นที่อนุญาต


โดยเฉพาะถ้าการหายป่วยของชนต่างศาสนิกนั้นเป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อสิทธิประโยชน์ส่วนรวมของชนมุสลิม และชนต่างศาสนิกนั้นเป็นผู้ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ชนมุสลิม มีทัศนะคติที่ดีต่ออิสลาม ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ชนมุสลิมต้องรู้จักในบุญคุณที่ผู้นั้นกระทำดีด้วย เมื่อผู้นั้นได้กระทำดีกับชนมุสลิม และส่งเสริมให้มุสลิมมีเสรีภาพในการถือศาสนาและการประกอบศาสนกิจ ไม่เคยอธรรมหรือลิดรอนต่อชนมุสลิม ไม่เคยทำสงครามต่อต้านศาสนาและขับไล่ไสส่งคนมุสลิม อัลลอฮฺก็มิทรงห้ามในการที่มุสลิมจะทำสิ่งทีดีและทำให้ความเป็นธรรมแก่พวกเขา (ดู อายะฮฺที่ 8 สูเราะฮฺ อัล-มุตตะหินะฮฺ)


และการขอดุอาอฺให้บุคคลที่เป็นชนต่างศาสนิกหายจากการป่วยไข้เป็นส่วนหนึ่งจากความดี ( اَلبِرُّ) ในเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เมื่ออัล-กุรอานมิได้ห้ามผู้ศรัทธาในการขอลุแก่โทษแก่ชนต่างศาสนิกที่ยังมีชีวิตอยู่จนกว่าพวกเขาจะเสียชีวิตลงในสภาพของการปฏิเสธ (ตัฟสีร อัฏ-เฏาะบะรียฺ 14/513 , อิบนุกุษิร 2/294) การขอดุอาอฺให้ชนต่างศาสนิกหายป่วยก็ย่อมเป็นสิ่งที่อนุญาตยิ่งกว่า (مِن باب أَوْلى)


ส่วนการขอดุอาอฺสรรเสริญชนต่างศาสนิกในบ้านของอัลลอฮฺนั้น แน่นอน ไม่มีแบบอย่างจากนบีและเศาะหาบะฮฺ (ร.ฎ.) อยู่แล้ว และนี่ก็เป็นคนละเรื่องกับที่กล่าวมา เพราะไม่มีผู้ศรัทธาคนใดสรรเสริญและขอดุอาอฺให้แก่ชนต่างศาสนิกในบ้านของอัลลอฮฺ (ซ.บ.)


ส่วนการพูดถึงในทำนองการพาดพิงที่เกี่ยวกับการกระทำเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ยอมรับกัน โดยพูดบนมิมบัรหรือข้างล่างมิมบัรในบ้านของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) กรณีนี้มิใช่การสรรเสริญเยินยอที่ต้องห้าม แต่เป็นการบอกเล่าความจริง เพราะอย่างน้อยก็เป็นการย้ำเตือนกับพี่น้องผู้ศรัทธาว่าพวกเราเสียอีกที่ชอบอ้างเป็นประชาชาติตัวอย่างเป็นประชาชาติที่ดีที่สุด


แต่ในขณะที่พวกเราได้แค่อ้างโดยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อัล-กุรอานระบุเอาไว้ว่าประชาชาติตัวอย่างต้องกระทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเช่นใด ผู้ที่เป็นกาฟิรกลับกลายเป็นตัวอย่างที่จับต้องได้และประจักษ์ชัดโดยไม่ต้องกล่าวอ้างเลยแม้แต่น้อย เพราะเวลากาฟิรผู้เป็นกษัตริย์กระทำประโยชน์แก่มหาชนก็มิได้เลือกว่ามหาชนนั้นนับถือศาสนาอะไร


แต่คนมุสลิมที่จะต้องกระทำตนให้เป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติกลับมาตั้งแง่ ขอดุอาอฺให้คนกาฟิรหายจากอาการเจ็บป่วยได้หรือไม่ ทั้งๆ ที่การขอดุอาอฺนั้นเป็นสิ่งที่อนุญาตตามหลักการของศาสนาเพราะกาฟิรผู้นั้นยังคงมีชีวิตอยู่ และตราบใดที่เขายังมีชีวิตอยู่ ตราบนั้นมุสลิมเองก็ไม่สามารถที่จะชี้ชัดได้ว่า กาฟิรผู้นั้นจะจบชีวิตลงเช่นใด เมื่อมุสลิมไม่รู้จักแยกแยะในเรื่องนี้ คำถามในทำนองที่ว่าก็ยังคงเกิดขึ้นเสมอ ทั้งๆ ที่ถ้าหากกาฟิรผู้นั้นเป็นพ่อหรือเป็นแม่ของมุสลิมแล้วล้มป่วยลง มุสลิมที่เป็นลูกซึ่งเข้าใจในเรื่องศาสนาและรู้จักแยกแยะก็จะไม่รอช้าในการไปเยี่ยมไข้ และขอต่ออัลลอฮฺให้พ่อแม่ซึ่งเป็นกาฟิรนั้นหายป่วยไข้โดยหวังว่านั้นจะเป็นสิ่งที่นำพาให้พ่อแม่ของตนเกิดศรัทธาและยอมรับในศาสนาของลูก


2. ขึ้นอยู่กับว่าเรื่องที่เรามุ่งหมายถึงความเท่าเทียมและเสมอภาคนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอะไร เพราะถ้าเราไม่กำหนดความมุ่งหมายและประเด็นที่พูดถึงความเท่าเทียมและเสมอภาคว่าหมายถึงอะไร เช่นนั้น พ่อกับลูก กับย่อมเท่ากันทุกอย่าง แม่กับลูกก็ย่อมไม่ต่างกัน นายกับทาสก็เสมอกัน ผู้นำกับผู้ตามย่อมเสมอภาคไม่มีสิทธิและหน้าที่ที่ต่างกัน ชายกับหญิงก็เท่ากัน คนรู้กับคนเขลาก็เท่ากัน คนรวยกับคนจนก็เสมอกันโดยไม่ต้องแยกแยะกระนั้นหรือ


การตั้งคำถามว่าเมื่อทุกคนเท่าเทียมและเสมอภาคกัน ทำไมต้องใช้คำราชาศัพท์กับคนบางกลุ่ม เป็นคำถามที่เข้าข่ายว่าไม่รู้กาละเทศะ และไม่คำนึงถึงความเหมาะควร เพราะถ้าผู้อาวุโสเท่าเทียมและเสมอภาคกับเด็กผู้ด้อยอาวุโส ก็หมายความว่า ภาษาที่ใช้ระหว่างคนต่างอายุต่างวัยทั้งสองนั้นต้องเป็นภาษาอย่างที่เด็กๆ ใช้สื่อสารและโต้ตอบระหว่างกันกระนั้นหรือ ภาษาเป็นเรื่องของจารีตประเพณี เมื่อแต่ละภาษามีความต่างกันโดยจารีตประเพณี ศาสนาก็บัญญัติให้ใช้จารีตประเพณีที่ไม่ขัดต่อหลักคำสอนของศาสนาเป็นตัวกำหนด


ภาษาอาหรับเองก็มีการแบ่งระดับ ไม่ใช่ไม่มี ภาษาตลาด ภาษาราชการ ภาษาวิชาการ ภาษาวรรณกรรม ทั้งหมดมีระดับและความเหมาะสมในการใช้และสื่อสาร แต่ละภาษามีจารีตและรสนิยมที่ต่างกัน เมื่อเราถ่ายภาษาจากภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่งก็ต้องคำนึงถึงความถูกต้องเหมาะควรของการใช้คำที่ถูกถ่ายภาษานั้น


สมมุติว่า ถ้าเราจะถ่ายภาษาอาหรับในเรื่องคำสรรพนาม เช่น ( أَنَا نَحنُ هُوَ ) โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมในการใช้ โดยอ้างว่าไม่มีการแบ่งวรรณะในการใช้ภาษา แน่นอนภาษาอาหรับมีจารีตและมีรสนิยมทางภาษาแบบนั้น แต่เมื่อถ่ายเป็นภาษาไทยบนข้อสมมุติดังกล่าว เราจะสามารถหรือควรหรือไม่ในการที่เราจะแปลคำสรรพนามนั้นว่า กู , พวกกู , มัน เช่น เราแปลบท สัยยิดอิสติฆฟารฺ ซึ่งเป็นภาษาอาหรับเป็นภาษาไทย เราจะแปลอย่างนี้ได้หรือไม่ว่า


“เฮ้ย! อัลลอฮฺ มึงเป็นพระเจ้าของกู ( أللهم أنتَ ربى ) ไม่มีพระเจ้าองค์ใดนอกจากมึง ( لاإله أنت ) มังสร้างกูมา และกูเป็นทาสของมึง ( خلقتنى وأنا عبدك ) ....”


ลองอ่านดูสิ! แล้วจะมีความรู้สึกเช่นใด แน่นอนการแปลข้างต้น ถึงแม้จะแปลถูก แต่ก็ไม่เหมาะควรแล้วไร้มารยาทตลอดจนกักขฬะและหยาบคายสิ้นดี หากมีความรู้สึกเช่นนี้ก็แสดงว่ายอมรับในการมีระดับและชั้นของภาษา หรือเอาง่ายๆ คุณกับผมที่ถามตอบกันอยู่นี้ หากผมใช้สรรพนามว่า “กู” และเรียกคุณว่า “มึง”


คุณจะรู้สึกอย่างไรกับรสนิยมที่ใช้ภาษาแบบนี้ แน่นอนคุณก็ต้องบอกว่า ผมพูดหรือใช้คำไม่สุภาพ ไม่เหมาะสม แล้วงัย ก็คุณบอกเองมิใช่หรือว่าเราทุกคนเท่าเทียมกันและเสมอภาคกัน และถ้าคุณเข้าใจและแยกแยะสิ่งที่ผมยกตัวอย่างมาข้างต้น คำอธิบายเกี่ยวกับ สรรพนามว่า “พระองค์” ก็ย่อมไม่ใช่สิ่งที่เกินจากความเข้าใจว่าใช้ได้หรือไม่ได้


เพราะถ้าจะเอากันจริงๆ ตามความหมายทางภาษา คำว่า “พระองค์” ก็ใช้กับอัลลอฮฺ (ซ.บ.) มิได้เช่นกัน เพราะความหมายของคำว่า “พระองค์” คือ ลักษณะนามบอกชนิดสำหรับใช้แก่พระพุทธเจ้า เทพผู้เป็นใหญ่ พระเจ้าแผ่นดินและเจ้านาย (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หน้า 581) เพราะ “อัลลอฮฺ” มิใช่พระพุทธเจ้า มิใช่เทพผู้เป็นใหญ่ มิใช่พระเจ้าแผ่นดิน และเจ้านาย แล้วทำไมคุณถึงเลือกใช้คำว่า “พระองค์” กับอัลลอฮฺ (ซ.บ.) แล้วพูดเหมือนว่า เมื่อเราใช้คำๆ นี้กับอัลลอฮฺแล้ว ก็ไม่สามารถใช้คำๆ นี้ในการเรียกมนุษย์ด้วยกัน โดยเฉพาะผู้ปฏิเสธ


คำตอบก็คือ เพราะการใช้คำๆ นี้เรามิได้มุ่งหมายตามความหมายเดิมของภาษา เป็นเพียงการยืม (อิสติอาเราะฮฺ) คำที่เหมาะสมมาใช้เท่านั้น เห็นหรือไม่ว่า เราเน้นถึงประเด็น 2 ประเด็นที่สำคัญ คือ เจตนามุ่งหมายในการใช้คำ (อัล-ก็อศดฺ) และความหมายที่เหมาะสม (อัล-มุนาสะบะฮฺ) โดยอาศัยหลัก 2 ข้อเป็นบรรทัดฐาน คือ

1. الْأُ مُوْرُبِمَقَا صِدِهَا) ( “เรื่องทั้งหลายเป็นไปตามบรรดาเจตนามุ่งหมายของมัน”

2. (لِكُلِّ مَقَامٍ مَقَالٌ) “แต่ละสถานที่ย่อมมีคำกล่าว” หมายถึง การใช้คำพูดต้องพิจารณาถึงความหมาะสมและกาละเทศะ ดังนั้นเมื่อเราใช้คำว่า “พระองค์” กับผู้ปฏิเสธที่เป็นกษัตริย์นั่นก็เพราะเรามุ่งหมายคำๆ นี้ในความหมายว่า “พระเจ้าแผ่นดิน” เท่านั้น นี่คือหลักข้อแรก และที่เราใช้คำๆ นี้ก็เพราะมันมีความเหมาะสมนี่คือหลักข้อที่ 2


ทั้งนี้เพราะถ้าเราไม่คำนึงถึงหลักข้อนี้ เราจะใช้คำเรียกขานผู้นั้นว่าอะไร? ใช้คำว่า “มัน” กระนั้นหรือ? ในทำนองนั่นแหล่ะเมื่อเราใช้คำๆ นี้กับ “อัลลอฮฺ” เรามิได้มุ่งหมายตามความหมายเดิมขอคำๆ นี้แต่อย่างใด นี่คือหลักข้อที่ 1 และเราเห็นว่าการเลือกใช้คำๆ นี้ เป็นสิ่งที่เหมาะสม ตามหลักข้อที่ 2 เพราะถ้าเราไม่เลือกใช้คำๆ นี้ แล้วจะใช้คำว่าอะไร? ใช้คำว่า “มัน” กระนั้นหรือ?


เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ไม่ซับซ้อนในการใช้ภาษาก็คือเพราะเราใช้ภาษาไทยนั่นเอง เรามิได้ใช้ภาษาอาหรับในการสื่อสารระหว่างพวกเราด้วยกันเอง เมื่อเราใช้ภาษาไทย วัฒนธรรม


และจารีตประเพณีแบบไทยๆ จึงเป็นตัวกำหนดในเรื่องการใช้ภาษาว่าใช้อย่างไรจึงจะเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เราจะไม่เอาวัฒนธรรมและจารีตและประเพณีแบบอาหรับมาใช้กับภาษาไทย เช่นเดียวกับที่เราก็จะไม่เอาวัฒนธรรมและจารีตแบบไทยไปใช้กับภาษาอาหรับเพราะภาษาทั้ง 2 ไม่เหมือนกัน (อิคติลาฟุล-ลิสาน)


เมื่อไม่เหมือนกันก็ย่อมไม่บังควรที่จะเอาอัตลักษณ์ของภาษาหนึ่งมาตัดสินความเป็นอัตลักษณ์ของอีกภาษาหนึ่งว่าอันหนึ่งชอบ อีกอันหนึ่งไม่ชอบ เหตุนี้เองที่นักวิชาการระบุว่า ภาษาอาหรับในคัมภีร์อัล-กุรอานไม่สามารถแปลตรงตามความหมายด้วยภาษาอื่นๆ ทำได้เพียงแค่การอธิบายที่เรียกว่า “ตัฟสีร” เป็นภาษาอื่นเท่านั้น


ส่วนที่ยกอัล-หะดีษมาประกอบเรื่องยืนยันให้เกียรติคนที่เป็นกาฟิรนั้น จริงๆ แล้วนัยของอัล-หะดีษบทนี้พูดถึงบุคคลที่มีความยินดีต่อการกระทำดังกล่าวในเชิงการอวดโต (ตะกับบุ๊ร) และยกตัวเองด้วยความลำพอง (อุญุบ) อัล-หะดีษพูดถึงคนที่ชอบให้คนอื่นยกย่องและให้ความสำคัญแก่ตัวเองในทำนองที่ว่ามา


อัล-หะดีษระบุถึงคนที่ถูกยืนขึ้นเพื่อการนั้น มิได้ระบุถึงคนที่ยืนเพราะจำต้องยืน ถ้าไม่ยืนก็จะต้องถูกตำหนิหรือถูกลงโทษ และคนที่พอใจและชื่นชอบให้ผู้อื่นยืนแสดงความเคารพตนอันเกิดจากความอวดโตและสำคัญตนว่ายิ่งใหญ่นั้น ก็ไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะคนกาฟิรเท่านั้น แม้เป็นคนมุสลิมก็เช่นกัน และไม่จำเป็นว่าบุคคลผู้นั้นต้องเป็นกษัตริย์ แค่เป็นสามัญชนแต่ชื่นชอบเรื่องพรรค์อย่างนั้น ก็เป็นที่ต้องห้ามเช่นกันเรื่องพรรค์อย่างนี้ ก็เป็นที่ต้องห้ามเช่นกัน


เหตุนี้นักวิชาการจึงแยกแยะกรณีของคนที่ถูกยืนให้โดยมีความยินดีและมีความลำพองตน กับกรณีของคนที่ถูกยืนให้โดยมีความยินดีและมีความลำพอง กับกรณีของคนที่ยืนขึ้น สองกรณีนี้มีข้อชี้ขาดต่างกัน กรณีที่ 1 (คือคนที่ถูกยืนให้) หากมีความยินดีต่อการกระทำเช่นนั้นด้วยความอวดโตและลำพองตน ก็เป็นที่ต้องห้ามถึงแม้ว่าผู้นั้นจะเป็นมุสลิมเองก็ตาม ส่วนกรณีที่สอง (คือผู้ยืน) นั้นหากผู้ที่ถูกยืนให้นั้นเป็นบุคคลที่มีศักดิ์และสิทธิในฐานะผู้ปกครอง จะเป็นมุสลิมหรือมิใช่มุสลิมก็ตาม


การยืนเพื่อให้เกียรติ ( إكْرَامٌ) ย่อมเป็นที่อนุญาต แต่ถ้าการยืนนั้นเป็นการโอ้อวดและยกย่องเกินขนาด ( إِعْظَامٌ ) ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจขั้นรุนแรง (มักรูฮฺ ชะดีดุล กะรอฮะหฺ) (ดู กิตาบ อัล-มัจญมูอฺ ชัรหุล มุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 476-477) ยิ่งในกรณีของผู้เป็นกษัตริย์และเป็นกาฟิรนั้น ถ้าหากไม่ยืนก็จะถูกตำหนิติเตียนหรือถูกลงโทษ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่กระทำได้โดยยึดหลักบัญญัติทางศาสนาที่ว่า ( اَلْإِرْتِكَابُ بِأَخَفِّ الضَّرَرَيْنِ ) “การกระทำสิ่งที่เบาที่สุดของเรื่องที่เป็นภัยสองอย่าง”


นี่คือหลักการของศาสนาที่มีความสมเหตุสมผลและสอดคล้องกับข้อเท็จจริง จึงขอให้ทำความเข้าใจกับหลักการของศาสนาอย่างครบถ้วนและรอบคอบ อย่าได้ใช้ความรู้สึกหรือความเข้าใจที่เกิดจากการมองตัวบทแบบที่ตนมองโดยไม่อาศัยคำอธิบายของผู้สันทัดกรณีหรือเป็นปราชญ์ที่ชำนาญการ เพราะโลกนี้มิได้มีแต่มุสลิม


และศาสนาอิสลามก็มิได้สอนเฉพาะเรื่องของมุสลิมกับมุสลิม แต่อิสลามสอนว่าเราจะอยู่กับคนที่มิใช่มุสลิมอย่างไรโดยที่เรายังคงความเป็นมุสลิมอยู่ตามวิถีที่อิสลามกำหนดไว้ด้วยนั่นเอง

والله ولي التوفيق