สารบัญปัญหาคาใจ > หมวด : อัล-กุรอาน และ อัล-หะดีษ

กรณีหะดีษอัมม๊าร อิบนุ ยาสิร (ร.ฎ.)

(1/1)

admin:
คำถามจากกระดานข้อความหน้าเว็บ

จาก G_1533

--- อ้างถึง ---อาจารย์ครับ พวกศอฮาบะฮ์ที่ฆ่าท่านอัมมารคือชาวนรกไช่มั้ยครับ ตามที่ท่านศาสดาได้พยากรณ์เอาไว้

وَيْحَ عَمَّارٍ تَقْتُلُهُ الْفِئَةُ الْبَاغِيَةُ، يَدْعُوهُمْ إِلَى الْجَنَّةِ، وَيَدْعُونَهُ إِلَى النَّار.

ศาสดากล่าวว่า \"อัมมารจะถูกพวกละเมิดกลุ่มหนึ่งฆ่า ในขณะที่อัมารเชิญชวนพวกเขาสู้สวรรค์ แต่พวกนั้นกลับเชิญชวนอัมมารสู่นรก\"

บุคอรีย์ เล่ม๑ หน้า ๑๗๒ ฮะดีษหมายเลข ๔๓๖

البخاري الجعفي، محمد بن إسماعيل أبو عبدالله (متوفاي256هـ)، صحيح البخاري، ج 1، ص172، ح436، كتاب الصلاة،بَاب التَّعَاوُنِ في بِنَاءِ الْمَسْجِدِ، و ج3، ص1035، ح 2657، الجهاد والسير، باب مَسْحِ الْغُبَارِ عَنِ النَّاسِ فِي السَّبِيلِ، تحقيق: د. مصطفى ديب البغا، ناشر: دار ابن كثير، اليمامة - بيروت، الطبعة: الثالثة، 1407هـ – 1987م.

ขออาจารย์ช่วยตอบด้วยนะคับ
--- End quote ---

อาลี เสือสมิง:
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

อัล-หะดีษที่มีรายงานว่า ท่านอัมม๊าร อิบนุ ยาสิร (ร.ฎ.) จะถูกกลุ่มชนผู้ละเมิด (اَلْفِئَةُالْبَاغِيَةُ) สังหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากสัจจพยากรณ์ (دَلَائِلُ الْنُبُوَّة) ของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอาลัยฮิวาสัลลัม) ที่เคยกล่าวไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์จริงจะเกิดขึ้นกับท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.)


กล่าวคือ ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอาลัยฮิวาสัลลัม) มีสัจจพยากรณ์ในเรื่องนี้ขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ และเหตุการณ์จริงก็เกิดขึ้นกับท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) ในปี ฮ.ศ.ที่ 37 ซึ่งเป็นปีที่เกิดสมรภูมิศิฟฟิน  ระหว่างกองทัพของเคาะลีฟะฮฺ อะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) และกองทัพของท่านมุอาวียะฮฺ อิบนุ อบีสุฟยาน (ร.ฎ.) อัล-หะดีษในเรื่องนี้มีรายงานมาหลายสำนวน ดังนี้


1)  ดาวูด อิบนุ อบีฮินดฺ จากอบูนัฏเราะฮฺจากอบูสะอีดว่า ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอาลัยฮิวาสัลลัม) ได้ใช้ให้พวกเราสร้างมัสยิด  ดังนั้นพวกเราจึงเริ่มเคลื่อนย้ายอิฐทีละก้อน ทีละก้อน และอัมม๊ารเคลื่อนย้ายอิฐทีละสองก้อนๆ ศีรษะของเขาจึงมีฝุ่นดิน  แล้วเพื่อนๆ ของฉันก็เล่าให้ฉันฟังโดยที่ฉันไม่ได้ยินสิ่งนั้นจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอาลัยฮิวาสัลลัม)  ว่าท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอาลัยฮิวาสัลลัม)  ได้เริ่มปัดฝุ่นดินที่ศีรษะของเขาและกล่าวว่า

وَيْحَكَ ، يَا ابْنَ سُمَيَّةَ ! تَقْتُلُكَ الْفِئَةُ الْبَاغِيَةُ
\"อนิจจา โอ้บุตรชายของสุมัยยะฮฺ ! กลุ่มชนผู้ละเมิดจะสังหารเจ้า !\"
(รายงานโดย อะหฺมัด ใน อัล-มุสนัด (8/22673), มุสลิม เรื่องอัล-ฟิตัน (2915) บทที่18


2)  คอลิด อัล-หัซซาอฺ  จาก อิกริมะฮฺ  ว่าเขาได้ยินอบูสะอีดกล่าวในเรื่องนี้ว่า

وَيْحَ عَمَّارٍ تَقْتُلُهُ الْفِئَةُ الْبَاغِيَةُ ، يَدْعُوهُمْ إِلَى الْجَنَّةِ ، وَيَدْعُونَهُ إِلَى النَّارِ ، فَجَعَلَ يقولُ : أَعوذُباللهِ مِنَ الفِتَنِ

\"อนิจจา! บุตรชายของสุมัยยะฮฺ!  กลุ่มชนผู้ละเมิดจะสังหารเขา (ทั้งๆ ที่) เขาเรียกร้องพวกนั้นสูสวรรค์ และพวกนั้นเรียกร้องเขาสู่นรก\"  แล้วอัมม๊ารก็เริ่มกล่าวว่า ฉันขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺจากบรรดาความวุ่นวาย (ฟิตนะฮฺ)\"

(เป็นส่วนหนึ่งจากอัล-หะดีษที่รายงานโดยอะหฺหมัด ในอัล-มุสนัด (4/11861) และอัล-บุคคอรียฺในอัศ-เศาะลาฮฺ บท (63) การร่วมมือกันในการสร้างมัสยิด และอีกท่อนหนึ่งของอัล-หะดีษใน (2812) สิยัร อัล-อะอฺลาม ; อัซ-ซะฮฺบียฺ เล่มที่ 3 หน้า 261)


3) วัรกออฺ จาก อัมรฺ อิบนุ ดีน๊าร จากซิยาด เมาลาอัมรฺ อิบนุ อัล-อ๊าศฺ จากอัมรฺ (ร.ฎ.) ว่า : ฉันเคยได้ยินท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอาลัยฮิวาสัลลัม) กล่าวว่า

\" تَقْتُلُ عَمَّارً الْفِئَةُ الْبَاغِيَةُ \"  \"กลุ่มชนผู้ละเมิดจะสังหารอัมม๊าร\"
(รายงานโดย อะหฺมัด ใน อัล-มุสนัด (6/17781) สิยัร อัล-อะอฺลามฯ เล่มที่ 3 หน้า 262)


4) อิบนุ เอาว์นฺ จาก อัล-หะสัน จากมารดาของเขา จากอุมมุสะละมะฮฺ เป็นหะดีษมัรฟูอฺ ว่า :

\" تَقْتُلُ عَمَّارًا الْفِئَةُ الْبَاغِيَةُ \"  \"กลุ่มชนผู้ละเมิดจะสังหารอัมม๊าร\"
(รายงานโดย อะหฺหมัด ใน อัล-มุสนัด (10/26544) และมุสลิม ใน อัล-ฟิตัน (2916) บทที่ 18)


5) ในบางสายรายงานใช้สำนวนว่า : ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอาลัยฮิวาสัลลัม) กล่าวแก่ท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) ว่า
\" تَقْتُلُكَ الْفِئَةُ الْبَاغِيَةُ  ، وَقَاتِلُهُ في النَّارِ\"  \"กลุ่มชนผู้ละเมิดจะสังหารเจ้า และผู้ที่สังหารเขาอยู่ในนรก\"
(อัฏ-เฏาะบะรอนียฺ, มัจฺญ์มะอฺ อัซ-ซะวาอิด ของ อัล-ฮัยษะมี่ยฺ  9/15619)

\" قَاتِلُ عَمَّارٍ وَسَالِبَهُ في النَّارِ \"  \"ผู้ที่สังหารอัมม๊ารและฉกฉวยเขาย่อมอยู่ในนรก\"
(อัล-ฮัยษะมียฺ ใน อัล-มัจญมะอฺ 9/15620) และ อัล-ฮัยษะมียฺกล่าวว่า อัฏ-เฏาะบะรอนียฺรายงานอัล-หะดีษนี้ ซึ่งในสายรายงานมีมุสลิม อัล-มุลาอียฺ เฎาะอีฟ)

\" إِنَّ قا تِلَهُ وسَالِبَهُ في النَّارِ \"  \"แท้จริงผู้ที่สังหารและฉกฉวยเขา (อัมม๊าร) อยู่ในนรก\"
(มุคตะศ็อร \"ตารีค ดิมัชกฺ\" 230/229/18)  และอัล-ฮัยษะมียฺระบุไว้ในมัจญฺมะอฺ อัซ-ซะวาอิด (9/15619)  และกล่าวว่า : อัฏ-เฏาะบะรอนียฺ  รายงานอัล-หะดีษตามสายรายงานนี้ และ ลัยษฺ อิบนุ อบีสุลัยมฺ ใช้สำนวนอัต-ตะหฺดีษฺ (حَدَّثَنَا) อย่างชัดเจน และผู้รายงานเป็นสายรายงานที่เศาะฮีหฺ)  


กล่าวโดยสรุปคือ ตัวบทของอัล-หะดีษที่มีสำนวนว่า : กลุ่มชนผู้ละเมิดจะสังหารอัมม๊าร\" มีสายรายงานที่ถูกต้องและเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ ซึ่งอิมามอัซ-ซะฮฺบียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า \"และในบท (เรื่องนี้) มีรายงานจากบรรดาเศาะหาบะฮฺเป็นจำนวนมาก จึงเป็นหะดีษมุตะวาติร  (สิยัร อัล-อะอฺลาม เล่มที่ 3 หน้า 263)


สำหรับประเด็นของตัวบท อัล-หะดีษที่อิมามอัล-บุคอรียฺ รายงานโดยมีประโยคที่ว่า : เขา (อัมม๊าร) เรียกร้องพวกนั้น (กลุ่มชนผู้ละเมิด) สู่สวรรค์ และพวกเขาเรียกร้องอัมม๊ารสู่นรก\"  นักวิชาการได้อธิบายว่า : บรรดาผู้ที่เรียกร้องท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) ไปสู่นรก  -อันหมายถึงการเรียกร้องให้ท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) เข้าร่วมรบในฝ่ายของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) -  อาจหมายถึงบุคคลที่ร่วมรบกับฝ่ายท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ซึ่งไม่ใช่มุจญฺตะฮิด  


ดังนั้นคำพูดของพวกเขาที่กล่าวแก่ท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) ว่า (اتْرُكَ عَلِيًّا وقاتِلْ مَعَ مُعَاوية) \"ท่านจงละทิ้งอะลี และจงเข้าร่วมรบกับฝ่ายของมุอาวียะฮฺ\"  จึงไม่เป็นที่อนุญาตสำหรับพวกเขา เพราะนั่นคือนรก  กล่าวคือ เป็นคำเรียกร้องเชิญชวนที่จะลากไปสู่นรกนั่นเอง!  (อัศ-เศาะวาอิก อัล-มุหฺริเกาะฮฺ : อิบนุ หะญัร อัล-ฮัยตะมียฺ ภาคผนวก \"ตัฎฮีรุ้ลญินาน วัล-ลิสาน\" หน้า 35)


ทั้งนี้มีรายงานจากมุญาฮิด ว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอาลัยฮิวาสัลลัม) กล่าวว่า :

\"مَالَهُمْ وَمَالِعَمَّارٍ ! يَدْعُوْهُمْ إِلَى الْجَنَّةِ وَيَدْعُوْنَهُ إِلىَ النَّارِ ، وَذَلِكَ دَأَبُ الأشْقِيَاءِ الفُجَّارِ\"
\"พวกเขาเป็นอันใด และอัมม๊ารเป็นอันใด!  เขาเรียกร้องพวกนั้นสู่สวรรค์ และพวกเขาเรียกร้องอัมม๊ารสู่นรก นั่นเป็นวิถีของบรรดาคนชั่วที่เลวทราม\" (เป็นหะดีษมุรสัล สายรายงานเชื่อถือได้)


ในอัล-หะดีษบทนี้ไม่ได้ระบุว่า พวกเขาเหล่านั้นคือใคร และพวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องหมายถึงเศาะหาบะฮฺที่เข้าร่วมกับท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) เพราะในกองทัพของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) และในกองทัพของท่าน อะลี (ร.ฎ.)  มีกลุ่มบุคคลทั้งชาวซีเรียและอิรักที่ไม่ใช่เศาะหาบะฮฺร่วมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก  


การเรียกร้องของท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) ให้ผู้สนับสนุนท่านท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ทำการสัตยาบันแก่ท่านเคาะลีฟะฮฺ อะลี (ร.ฎ.) ป็นสิ่งที่ถูกต้อง  เพราะท่านเคาะลีฟะฮฺ อะลี (ร.ฎ.)  เป็นเคาะลีฟะฮฺที่ชอบธรรม และอัล-หะดีษที่ระบุว่ากลุ่มชนผู้ละเมิดจะสังหารท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.)  ก็เป็นหลักฐานว่า ท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) วินิจฉัย (อิจญ์ติฮาด) ผิดพลาดในเรื่องการเร่งรัดให้ท่านเคาะลีฟะฮฺ อะลี (ร.ฎ.) ทำการสำเร็จโทษพวกที่ก่อการจลาจลและสังหารเคาะลีฟะฮฺ อุษมาน (ร.ฎ.) โดยนำเรื่องนี้มาเป็นเงื่อนไขในการสัตยาบันต่อท่านเคาะลีฟะฮฺ อะลี (ร.ฎ.)


ฝ่ายของท่านมุอาวียะฮฺ  (ร.ฎ.)  จึงกลายเป็นผู้ละเมิด (อัล-บุฆอฮฺ) ต่อผู้นำสูงสุดของรัฐอิสลาม คือ เคาลีฟะฮฺ อะลี (ร.ฎ.) และการที่ท่านอัมม๊าร อิบนุ ยาสิร (ร.ฎ.) เข้าร่วมสนับสนุนท่านเคาะลีฟะฮฺ อะลี (ร.ฎ.) ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความถูกต้องในการวินิจฉัยและความชอบธรรมของอะลี (ร.ฎ.) ในการรบพุ่งกับกลุ่มชนที่ละเมิดสัตยาบัน เพราะมีอัล-หะดีษระบุว่า

\"إِذَااخْتَلَفَ الناسُ كان ابنُ سُمَيَّةَ مَعَ الْحَقِّ\"
\"เมื่อผู้คนมีความขัดแย้งกัน ย่อมปรากฏว่าบุตรชายของสุมัยยะฮฺ (คือ อัมม๊าร) อยู่พร้อมกับความถูกต้อง\" (สายรายงานขาดตอน แต่ผู้รายงานมีคุณสมบัติเชื่อถือได้และมีสายรายงานอื่นสนับสนุน)  



อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องแยกระหว่างกรณีที่ว่าท่านเคาะลีฟะฮฺ อะลี (ร.ฎ.) วินิจฉัยได้ถูกต้องมากกว่าและความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺของท่านกับกรณีของการที่ว่าจำเป็นต้องร่วมรบอยู่กับฝ่ายของท่านเคาะลีฟะฮฺ อะลี (ร.ฎ.) เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความวุ่นวาย (ฟิตนะฮฺ) อันเป็นผลมาจากการวิเคราะห์และวินิจฉัยในข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่ายที่แตกต่างกัน


ซึ่งท่าทีของบรรดาเศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่ในเวลานั้นคือ การปลีกตัวออกห่างและละทิ้งการร่วมรบกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เนื่องจากมีคำสั่งจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) อันเป็นตัวบทที่ถูกต้องมารับรองท่าทีของพวกเขา


ดังนั้นในอัล-ฮะดีษที่ระบุว่า ท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) เรียกร้องผู้ละเมิด (الفِئَةُ الْبَاغِيَةُ) ซึ่งหมายถึงฝ่ายของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) แต่ฝ่ายผู้ละเมิดเรียกร้องท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) สู่นรกนั้นหมายถึงเรียกร้องสู่การถอนตัวในการเข้าร่วมกับฝ่ายของเคาะลีฟะฮฺ อะลี (ร.ฎ.) ให้ไปเข้าร่วมกับฝ่ายของมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) จึงเท่ากับเป็นการเรียกร้องให้ท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) ตระบัดสัตย์และผิดคำสัตยาบันแก่เคาะลีฟะฮฺ อะลี (ร.ฎ.) ซึ่งนั่นย่อมเป็นเหตุทำให้นำไปสู่การถูกลงทัณฑ์ในนรกเพราะผู้ตระบัดสัตย์ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ทุจริตและเสียคำสัตย์


ดังที่มีอัล-ฮะดีษระบุว่า

\"وَإِنَّ الْكَذِبَ يَهْدِيْ إِلَى الْفُجُوْرِ ، وإنَّ الفجورَ يَهْدِيْ إِلىَ النَّارِ\"
 “และแท้จริงการมุสา (เสียคำสัตย์) ย่อมนำไปสู่ความชั่ว และแท้จริงความชั่วจะนำไปสู่นรก”
(รายงานโดยอัล-บุคอรียฺและมุสลิม)


ซึ่งนั่นก็ไม่ได้ชี้ชัดว่า ผู้เรียกร้องไปสู่การเสียคำสัตย์จะต้องลงนรก เพราะตัวบทของอัล-หะดีษมิได้ระบุว่าผู้ที่ละเมิดต้องตกนรก หรือผู้ละเมิดที่เรียกร้องให้ท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) ตระบัดสัตย์ต่อท่านอะลี (ร.ฎ.) ต้องตกนรก แต่นัยของอัล-หะดีษพูดว่าพวกเขาเรียกร้องท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) ไปสู่นรก ถ้าหากท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) ถือตามคำเรียกร้องของพวกเขา


ตัวบทของอัล-หะดีษจึงไม่ได้ชี้ขาดว่าใครจะลงนรกหรือต้องตกนรก แต่บ่งชี้ว่า การเรียกร้องที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและจะเป็นเหตุนำไปสู่การถูกลงทัณฑ์ไฟนรก ลองพิจารณาให้ดีเถิดแล้วจะเข้าใจความหมายของอัล-หะดีษ


ประเด็นสำคัญที่ไม่ควรก้าวผ่านไปก็คือ กลุ่มผู้ละเมิด  (البُغَاة)  ในอัล-หะดีษหมายถึง ฝ่ายของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) แน่นอน แต่ในฝ่ายของผู้ละเมิดนั้นมีเศาะหาบะฮฺเข้าร่วมน้อยมาก เพราะเศาะหาบะฮฺโดยส่วนใหญ่ในขณะนั้นปลีกตัวออกจากทั้งสองฝ่ายโดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการสู้รบที่เกิดขึ้น


ในตารีค เคาะลีฟะฮฺ หน้า 145 ระบุว่า : ที่เข้าร่วมท่านอะลี (ร.ฎ.) จากเศาะหาบะฮฺที่เคยรบในสมรภูมิบัดรฺ มี อัมม๊าร อิบนุ ยาสิร , สะฮลฺ อิบนุ หุนัยฟฺ เคาวฺว๊าต อิบนุ ญุบัยรฺ , อบูสะอด์ อัส-สาฮีดียฺ อบุล-ยุสร์ , ริฟาอะฮฺ อิบนุ รอฟิอฺ อัล-อันศอรียฺ และอบูอัยยูบ อัล-อันศอรียฺ ซึ่งล่าช้าในการออกศึก


ซึ่งท่านชุอฺบะฮฺได้เล่าว่า : ฉันได้ถามอัล-หะกัมว่า : อบู อัยยูบเข้าร่วมสมรภูมิศิฟฟีนหรือไม่? อัล-หะกัมกล่าวว่า : ไม่! แต่อบู อัยยูบเข้าร่วมในวันอัน-นะฮฺร์ สมรภูมิอัน-นะฮฺเราะวาน (รายงานโดย อิบนุ อบีชัยบะฮฺ ในอัล-มุศอนนัฟ เล่มที่ 15 หน้า 303 , และเคาะลีฟะฮฺใน อัต-ตารีค หน้า 196)


ส่วนในฝ่ายของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) มีบรรดาเศาะหาบะฮฺเข้าร่วมในสมรภูมิ สิฟฟีน คือ อัมรฺ อิบนุ อัล-อ๊าศ อัส-สะฮฺมียฺ และ อับดุลลอฮฺบุตรชาย , ฟุฏอละฮฺ อิบนุ อุบัยดฺ อัล-อันศอรียฺ , มัสละมะฮฺ อิบนุ มัคลัด , อัน-นุอฺมาน อิบนุ บะชีรฺ , มุอาวียะฮฺ อิบนุ หุดัยจญ์ อัล-กินดียฺ , อบูฆอดียะฮฺ อัล-ญุฮฺนียฺ , หะบีบ อิบนุ มัสละมะฮฺ อัล-ฟิฮฺรียฺ , อบุลอะอฺวัร อัส-สุละมียฺ และบุสร์ อิบนุ อัรเฏาะอะฮฺ อัล-อามิรียฺ (สียัร อัล- อะอฺลาม เล่มที่ 2 หน้า 650)  


เมื่อพิจารณาดูจำนวนของบรรดาเศาะหาบะฮฺที่เข้าร่วมในสมรภูมิศิฟฟีนจากกองทัพของทั้งสองฝ่าย (ฝ่ายท่านอะลี (ร.ฎ.) มีกำลังพล 50,000 คน หรือ 90,000 คน หรือ 100,000 คน – ตารีค เคาะลีฟะฮฺ อิบนุ คอยฺย๊าฏ สำนักพิมพ์ดารุลฟิกร์ หน้า 144 – ฝ่ายท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) 70,000 คน – อ้างแล้ว หน้า 145-)


จึงนับได้ว่ามีเศาะหาบะฮฺเข้าร่วมน้อยมากเมื่อเทียบกับกำลังพลหลายหมื่นคน ยิ่งเหล่าเศาะหาบะฮฺสมรภูมิบัดรฺด้วยแล้วยิ่งน้อยมาก และในฝ่ายของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ก็น้อยกว่าฝ่ายของท่านอะลี (ร.ฎ.) เข้าไปอีก เศาะหาบะฮฺที่เคยเข้าร่วมสัตยาบันอัร-ริฎวานนั้นเข้าร่วมกับฝ่ายท่านอะลี (ร.ฎ.) 800 คน และเสียชีวิตในสมรภูมิจำนวน 63 คน ส่วนหนึ่งคือท่านอัมม๊าร อิบนุ ยาสิรฺ (ร.ฎ.)  - ตารีค เคาะลีฟะฮฺ หน้า 196 –


เหตุนี้ อิมาม อัฏ-เฏาะบะรียฺ ได้รายงานจากอัช-ชะอฺบียฺ ว่า : ขอสาบานต่ออัลลอฮฺพระผู้ซึ่งไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ ไม่มีผู้ใดลุกขึ้นในฟิตนะฮฺดังกล่าวนอกจากชาวบัดรฺ 6 คน ไม่มีคนที่ 7 หรือ 7 คน ไม่มีคนที่ 8 (ตารีค อัร-รุสุล 4/447)


และอับดุรร็อซฺซ๊ากตลอดจน อิมาม อะหฺมัด ได้รายงานด้วยสายรายงานที่เศาะฮีหฺ จากมุฮัมมัด อิบนุ สีรีน ว่า : ฟิตนะฮฺความวุ่นวายได้โหมกระพือโดยที่บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) มีจำนวนหลายสิบพันคน ไม่มีคนเป็นร้อยจากพวกเขามาร่วมในฟิตนะฮฺนั้น ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขามีจำนวนไม่ถึง 30 คนด้วยซ้ำ (อัล-มุศอนนัฟ เล่มที่ 11/357 อิบนุ กะษีร จาก อิมาม อะหฺมัด ใน อัล-บิดายะฮฺ เล่มที่ 7 หน้า 253)


ถึงแม้ว่ารายงานนี้ดูจะขัดกับรายงานที่ระบุว่า มีเศาะบะฮฺจำนวน 800 คนที่เคยทำสัตยาบัน อัร-ริฎวานเข้าร่วมกับฝ่ายของท่านอะลี (ร.ฎ.) ในสมรภูมิศิฟฟีน ก็ยังถือว่ามีจำนวนน้อยอยู่ดีเมื่อเทียบกับจำนวนของเศาะหาบะฮฺที่ไม่ได้เข้าร่วมและปลีกตัวออกจากฟิตนะฮฺดังกล่าว โดยเฉพาะในฝ่ายท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) นั้นมีเศาะหาบะฮฺเข้าร่วมน้อยมาก


หากเราถือเอาความของอัล-หะดีษที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ว่า ผู้ที่เรียกร้องท่านอัมม๊ารสู่นรกคือเศาะหาบะฮฺที่เข้าร่วมกับฝ่ายของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) นั่นก็เป็นเศาะหาบะฮฺส่วนน้อยเท่านั้น แต่ประเด็นก็คือหากเป็นเศาะหาบะฮฺจริง อัล-หะดีษก็ไม่ได้บ่งชี้เด็ดขาดว่าผู้เรียกร้องท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) เป็นชาวนรก


อัล-หะดีษเพียงแต่ระบุว่า พวกเขาเรียกร้องท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) ไปสู่นรกซึ่งหมายถึง การผิดสัตยาบันและตระบัดสัตย์อันเป็นเหตุนำไปสู่การลงทัณฑ์ในนรก หากท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) ไปเห็นดีด้วยกับข้อเรียกร้องนั้น และการเรียกร้องที่ว่านี้หากเป็นคำเรียกร้องของบรรดาเศาะหาบะฮฺที่เข้าร่วมกับฝ่ายท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) จริง นั่นก็เป็นการเรียกร้องที่เกิดจากการวินิจฉัย (อิจญติฮาด) ของเศาะหาบะฮฺ ซึ่งมีทั้งถูกและผิด เพราะเศาะหาบะฮฺมิใช่มะอฺศูม


และการวินิจฉัย (อิจญติฮาด) ในเรื่องนี้ ท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) เป็นฝ่ายถูกท่านจึงได้รับผลบุญ 2 กรณีคือ กรณีการวินิจฉัยหนึ่ง และถูกต้องอีกหนึ่ง เมื่อท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) เป็นฝ่ายถูกการเรียกร้องของท่านที่มีต่อเศาะหาบะฮฺเหล่านั้นจึงเป็นความดีเพราะตั้งอยู่บนความสัตย์ในการภักดีและเชื่อฟังผู้นำที่ชอบธรรมคือ เคาะลีฟะฮฺ อะลี (ร.ฎ.) ซึ่งการรักษาความสัตย์ย่อมนำไปสู่ความดี และความดีย่อมนำพาไปสู่สวรรค์ การเรียกร้องของท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) จึงเป็นการเรียกร้องเศาะหาบะฮฺที่วินิจฉัยผิดไปสู่เหตุที่นำไปสู่สวรรค์


แต่ในทางกลับกันหากท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) ยอมรับและเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของเศาะหาบะฮฺเหล่านั้นซึ่งวินิจฉัยผิด (กระนั้นก็ได้รับ 1 ความดีอันเป็นผลมาจากการวินิจฉัย) นั่นก็หมายความว่า ท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) ยอมเสียสัตยาบันที่ให้ไว้แก่ อิมาม อะลี (ร.ฎ.) การทำตามคำเรียกร้องนั้นเป็นผลเสียแก่ท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) ไม่ได้เป็นผลเสียกับเศาะหาบะฮฺเหล่านั้น เพราะนั่นเป็นคำเรียกร้องที่นำไปสู่การตระบัดสัตย์ และการตระบัดสัตย์ก็คือความชั่ว และความชั่วย่อมนำไปสู่การลงทัณฑ์ในนรกภูมิ


อย่างไรก็ตามเราให้น้ำหนักในเรื่องนี้ว่า ผู้ทีเรียกร้องท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) นั้นเป็นบุคคลในฝ่ายที่สนับสนุนท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) แน่นอน แต่ไม่ใช่เศาะหาบะฮฺเพราะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนยืนยันว่าผู้เรียกร้องนั้นเป็นเศาะหาบะฮฺ แต่ถ้าใช่นั่นก็เป็นเศาะหาบะฮฺส่วนน้อย ซึ่งไม่แน่อีกว่ากี่คน แต่เศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เข้าร่วมในฟิตนะฮฺครั้งนั้นรวมถึงเศาะหาบะฮฺในฝ่ายของท่านอะลี (ร.ฎ.) ย่อมไม่ใช่ผู้ที่อัล-หะดีษระบุแน่นอน


อีกทั้งบรรดาเศาะหาบะฮฺจะไม่รวมกันกระทำสิ่งที่เป็นความหลงผิดดังที่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) รับประกันเอาไว้ ถึงแม้ว่าในส่วนรายบุคคลอาจจะมีความผิดพลาดซึ่งเป็นเรื่องของการวินิจฉัย เศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่ก็จะไม่ร่วมกันในการหลงผิดอยู่แล้ว และนี่คือแนวทางของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺที่มีทัศนคติและความเชื่อในเรื่องนี้ ส่วนกรณีของผู้ที่สังหารท่านอัมม๊ารนั้น มีรายงานระบุว่า คือ เศาะหาบะฮฺที่ชื่อ อบู ฆอดียะฮฺ อัล-ญุฮะนียฺ (สียัร อัล-อะอฺลามฯ ;  อัซ-ซะฮฺบียฺ เล่มที่ 2 หน้า 650)


ในตำรา อัล-อิศอบะฮฺฟีตัมยีซฺ อัศ-เศาะหาบะฮฺ ของอัลฮาฟิซฺ อิบนุ หะญัร (ร.ฮ.) เล่มที่ 7 หน้า 147 ระบุว่า อบุล ฆอดียะฮฺ  (أبو الغادية)  ยะส๊าร อิบนุ สะบุอฺ กอติล อัมม๊าร (ผู้สังหารท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) ท่านเป็นเศาะหาบะฮฺที่เคยรับฟังคำสอนจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ในการแสดงคุฎบะฮฺวัน “อัล-อะเกาะบะฮฺ” และรายงานอัล-หะดีษจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)


ประเด็นสำคัญอยู่ตรงกรณีที่ว่า อัล-หะดีษที่เศาะฮิหฺและอยู่ในขั้นมุตะวาติรคือ อัล-หะดีษที่มีสำนวนว่า “กลุ่มชนผู้ละเมิด (الفِئَةُ الْبَاغِيَةُ) จะสังหารท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.)”


ส่วนอัล-หะดีษที่มีสำนวนเพิ่มเติม (زِيَادَة) ในตอนท้ายเรื่องว่า \"وَقَاتِلُهُ فِي النَّارِ\"  “และผู้สังหารเขา (อัมม๊าร) อยู่ในนรก”   อัฏ-เฏาะบะรอนียฺ รายงานเอาไว้แต่หนึ่งในสายรายงานคือ ลัยษฺ รายงานด้วยสำนวนอัต-ตะหฺดีษ (حدثنا) ซึ่งเป็นข้อด้อยของสายรายงาน (สิยัร อัล-อะอฺลาม เล่มที่ 3 หน้า 262)


และในอีกสายรายงานหนึ่ง ลัยษฺ อิบนุ อบีสุลัยมฺ รายงานจากมุญาฮิด จากอับดุลลอฮฺ อิบนุ อัมรฺ เป็นหะดีษมัรฟูอฺ ว่า

\"قَاتِلُ عَمَّارٍ وَسَالِبُه في النار\"   “ผู้ที่สังหารอัมม๊ารและฉกฉวยสิ่งของของอัมม๊ารอยู่ในนรก”
อัล-ฮัยษะมียฺ ระบุไว้ใน “อัล-มัจญมะอฺ” (9/15620)

และกล่าวว่า อัฏ-เฏาะบะรอนียฺได้รายงานและในสายรายงานมีมุสลิม อัล-มุลาอียฺ ซึ่งรายงานหะดีษเฎาะอีฟ (สียัร อัล-อะอฺลาม เล่มที่ 3 หน้า 266)


ดังนั้นสายรายงานของอัล-หะดีษที่ระบุว่า : ผู้ที่สังหารอัมม๊าร (ร.ฎ.) อยู่ในนรกจึงมีปัญหาเกี่ยวกับสถานภาพของผู้รายงาน 2 คนคือ

1. ลัยษฺ อิบนุ อบีสุลัยมฺ อิบนิ ซุนัยมฺ อัล-กุเราะชียฺ บุคคลผู้นี้นักวิชาการหะดีษวิจารณ์สถานภาพของเขาไว้ดังนี้

- อับดุลลอฮฺ อิบนุ อะหฺมัดจากบิดาของเขา ระบุว่า : ลัยษฺ รายงานหะดีษสับสน (มุฏเฏาะริบ อัล-หะดีษ)

- อุษมาน อิบนุ อบีชัยบะฮฺ ได้ถามท่านญะรีรถึงลัยษฺ ญะรีรฺกล่าวว่า ลัยษฺมีความสับสนเป็นอันมาก

- อิบนุ อบีหาติมจากบิดาของเขาระบุว่า ลัยษฺรายงานหะดีษอ่อน

- อิบรอฮีม อิบนุ สะอีด อัล-เญาฮะรียฺ จาก ยะหฺยา อิบนุ มะอีน ว่า ยะหฺยา อิบนุ สะอีด จะไม่รายงานอัล-หะดีษจากบุคคลผู้นี้

- อบูมะอฺมัร อัล-เกาะฏีอียฺ กล่าวว่า อิบนุ อุยัยนะฮฺถือว่าลัยษฺ อิบนุ อบีสุลัยมฺ เฎาะอีฟ

- อบูซัรอะฮฺ กล่าวว่า ลัยษฺ อิบนุ อบีสุลัยมฺ รายงานหะดีษอ่อน ไม่ถือเป็นหลักฐานในหมู่นักวิชาการอัล-หะดีษ

- อัล-หากิม อบูอับดิลลาฮฺ กล่าวว่า เป็นที่เห็นพ้องกันว่าความจำของเขา (ลัยษฺ) เลว
(ตะฮฺซีบุต ตะฮฺซีบฺ ; อิบนุ หะญัร อัล-อัสเกาะลานียฺ เล่มที่ 4 หน้า 612-613 เลขที่ 6589)

ดังนั้นสถานภาพของลัยษฺ อิบนุ อบีสุลัยมฺจึงอ่อน (เฎาะอีฟ) นักวิชาการหะดีษบางท่านบันทึกหะดีษของลัยษฺแต่ก็ระบุว่า หะดีษที่ลัยษฺรายงานไม่ถือเป็นหลักฐาน


2.   มุสลิม อิบนุ กัยสาน อัฎ-ฎ็อบฺบียฺ อัล-มุลาอียฺ อัล-บัรร็อค อบู อับดิลลาฮฺ อัล-กูฟียฺ อัล-อะอฺวัรฺ นักวิชาการหะดีษได้วิจารณ์สถานภาพของบุคคลนี้ไว้ดังนี้

- อัมรฺ อิบนุ อะลี กล่าวว่า ยะหฺยา อิบนุ สะอีด และอิบนุ มะฮฺดียฺ สองคนนี้จะไม่รายงานหะดีษจากมุสลิม อัล-อะอฺวัร แต่ชุอฺบะฮฺ และสุฟยานสองคนนี้รายงานหะดีษจากเขา ทั้งๆ ที่เขาผู้นี้รายงานหะดีษมุงกัรอย่างมาก

- อัล-บุคอรียฺ กล่าวว่า อ่อนและทำให้หะดีษหมดสภาพไปและฉันจะไม่รายงานจากเขา

- อัน-นะสาอียฺ กล่าวว่า ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ

- อัล-ฟัลลาฮฺ กล่าวว่า มัตรูก อัล-หะดีษ

- อิบนุ มะอีน กล่าวว่า ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ

- อัดดาเราะกุฏนียฺ กล่าวว่า มัตรู๊ก

- อัส-สาญียฺ กล่าวว่า มุงกัร อัล-หะดีษ
(ตะฮฺซีบุต ตะฮฺซีบ ; อิบนุ หะญัร อัล-อัสเกาะลานียฺ เล่มที่ 5 หน้า 432-433 เลขที่ 7727 โดยสรุป)


ดังนั้น สถานภาพของมุสลิม อัล-มุลาอียฺผู้นี้ถูกวิจารณ์หนักยิ่งกว่า ลัยษฺ อิบนุ อบีสุลัยมฺ เพราะมุสลิม อัล-มุลาอียฺ ไม่เพียงแต่รายงานหะดีษอ่อนเท่านั้น หากแต่เป็นหะดีษมุงกัร ญิดดัน หรือ หะดีษมัตรู๊ก และไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ ทำให้อัล-หะดีษที่มีรายงานเพิ่มในสำนวนที่ว่า ผู้ที่สังหารอัมม๊าร (ร.ฎ.) และฉกฉวยของมีค่าติดตัวของอัมม๊ารอยู่ในนรก จึงไม่อาจนำมาอ้างเป็นหลักฐานในเรื่องนี้ได้ โดยเฉพาะกรณีการที่จะกล่าวอ้างว่า อบุล ฆอดียะฮฺ อัล-ญุฮะนียฺ ซึ่งเป็นเศาะหาบะฮฺที่สังหารท่านอัมม๊ารในสมรภูมิศิฟฟีนต้องตกนรก เพราะหลักฐานที่นำมาอ้างไม่มีรายนงานสถานภาพที่น่าเชื่อถือ


แต่ถ้าจะอ้างว่าหะดีษดังกล่าวเป็นหลักฐานในเรื่องนี้ เราก็สามารถอธิบายได้ดังต่อไปนี้
1. ในสำนวนของอัล-หะดีษระบุว่า ผู้ที่สังหารอัมม๊าร (قَاتِلُ عَمَّارٍ) และฉกฉวยสิ่งมีค่าของอัมม๊าร (وُسَالِبُهُ) กล่าวคือ ผู้ที่จะตกนรกนั้นมี 2 ลักษณะคู่กัน คือ ฆ่าและฉกฉวย แต่ไม่มีปรากฏในรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า อบุลฆอดียะฮฺฉกฉวยของมีค่าจากท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) ภายหลังจากที่สังหารท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) แล้วแต่อย่างใด


2. ผู้ที่สังหารท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) จะตกนรกตามนัยของอัล-หะดีษดังกล่าว ในกรณีที่การสังหารนั้นไม่มีข้อวินิจฉัย (อิจญติฮาด) มาสนับสนุนตลอดจนผู้สังหารไม่มีประเด็นในการตีความ (ตะอฺวีล) ใดๆ มารับรองการตัดสินใจของตน แต่สิ่งที่ปรากฏในเรื่องนี้คือ อบุลฆอดียะฮฺ อัล-ญุฮะนียฺ เป็นเศาะหาบะฮฺ จึงเข้าข่ายเป็นมุจญ์ตะฮีด (ผู้วินิจฉัย) ถึงแม้ว่าการวินิจฉัยของท่านจะผิดพลาดก็ตาม และท่านก็มีประเด็นในการตีความ (ตะอฺวีล) ตามความเข้าใจของท่านมารับรองว่าการสังหารท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) เป็นสิ่งที่อนุญาตตามการวินิจฉัยของท่าน


กล่าวคือ ท่านอบุลฆอดียะฮฺ เล่าว่า : พวกเราเคยนับว่า อัมม๊าร เป็นบุคคลที่ดีที่สุดของพวกเรา แล้วแท้จริงฉันได้อยู่ในมัสยิดกุบาอฺขณะนั้นอัมม๊ารก็ได้กล่าวและระบุถึงคำพูดหนึ่งซึ่งหากว่าฉันมีคนช่วยในการเล่นงานเขาแล้วละก็ ฉันเหยียบเขาแน่! ต่อมาเมื่อถึงวันสมรภูมิศิฟฟีน อัมม๊ารเดินอยู่ข้างหน้ากองทหารชุดแรก แล้วมีชายคนหนึ่งแทงอัมม๊าร เขาจึงถอดเกราะออก ดังนั้นฉันจึงฟันเขา ในบัดนั้นคือศีรษะของอัมม๊าร..” (มุคตะศอร ตารีค ดิมัชกฺ 18/229)


คำพูดของท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) ที่อบุลฆอดียะฮฺกล่าวถึงปรากฏอยู่ในอีกสายรายงานหนึ่งว่า : “ฉันได้ยินอัมม๊ารจาบจ้วงในตัวท่านอุษมาน โดยด่าทอท่านอุษมาน ฉันจึงขู่อัมม๊ารว่าฉันจะฆ่าเขา ครั้นถึงสมรภูมิศิฟฟีน อัมม๊ารกำลังปลุกระดมผู้คนอยู่  ก็มีผู้กล่าวขึ้นว่า “นี่คืออัมม๊าร!” ฉันจึงแทงอัมม๊ารเข้าที่หัวเข่าของเขา อัมม๊ารก็ร่วงลง แล้วฉันก็สังหารเขา...” (อ้างแล้ว 18/229,230)


นั่นแสดงว่า การที่อบุล ฆอดียะฮฺ อัล-ญุฮนียฺ ได้ตัดสินใจสังหารท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) ในสมรภูมิศิฟฟีนมีสาเหตุมาจากคำพูดและท่าทีของท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) ที่วิพากษ์วิจารณ์ต่อท่านเคาะลีฟะฮฺ อุษมาน (ร.ฎ.) สอดคล้องกับสิ่งที่อิมาม อัซ-ซะฮฺบียฺได้ระบุว่า

 وَقَدْ كَانَ عَمَّارٌ يُنْكِرُ عَلَى عُثْمَانَ أُمُوْرًا ، لَوْ كَفَّ عَنْهَا لأَحَسْنَ - فَرَضِيَ اللهُ عَنْهُمَا\"\"
“และแท้จริงปรากฏว่า อัมม๊ารเคยวิจารณ์ต่อท่านอุษมานหลายเรื่อง หากว่าท่านอัมม๊ารระงับจากการวิจารณ์ในเรื่องเหล่านั้นก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดียิ่ง ขออัลลอฮฺทรงพึงพอพระทัยต่อเขาทั้งสอง” (สิยัร อัล-อะอฺลาม เล่มที่ 3 หน้า 261)


ฉะนั้น จึงเป็นไปได้ว่า ท่านอบุลฆอดียะฮฺวินิจฉัยและตีความการกระทำของท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) ว่าการวิพากษ์วิจารณ์และบริภาษต่อเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและนำไปสู่การแตกแยกจากหมู่คณะ


โดยเฉพาะการวิจารณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีรายงานระบุว่า เป็นไปในช่วงที่เคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) ถูกปิดล้อมจากพวกก่อการจลาจล (ดู อัล-อิศอบะฮฺ ฟี ตัมยีซฺ อัศ-เศาะหาบะฮฺ ; อิบนุ หะญัร อัล-อัสเกาะลานียฺ เล่มที่ 7 หน้า 147-148) ซึ่งหมิ่นเหม่ว่าการกระทำของท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) จะเข้าข่ายว่าเป็นผู้สร้างความแตกแยกให้แก่หมู่คณะ  (المُفَارِقاللجماعة) ซึ่งเป็นเหตุให้อนุมัติเลือดของบุคคลผู้มีพฤติกรรมเช่นนั้นได้ (ดังมีอัล-หะดีษระบุไว้ในเรื่องนี้ อัล-บุคอรียฺ (6878) และมุสลิม (1676) จากอิบนุ มัสอู๊ด (ร.ฎ.) )


3. หากยอมรับว่า การสังหารท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) เป็นเหตุให้ผู้สังหารต้องถูกลงทัณฑ์ในนรก เพราะเป็นการสังหารชีวิตของผู้ศรัทธา ก็ซักค้านได้อีกว่า ในกรณีดังกล่าวเป็นกรณีปกติ แต่ในกรณีของอบุลฆอดียะฮฺกับท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) เป็นกรณีของการทำสงครามรบพุ่งกับผู้ละเมิด (البغاة) ซึ่งถือเป็นกรณียกเว้นที่มีหลักการเฉพาะในด้านนิติศาสตร์อิสลามและรัฐศาสตร์การปกครองกำหนดเอาไว้


โดยสาระสำคัญอยู่ที่การละเมิดดังกล่าวมิใช่สาเหตุที่ทำให้สูญเสียศรัทธาและสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม ทั้งนี้เพราะอัล-กุรอานระบุว่า

وَإِنْ طَا ئِفَتَانِ مِنَ الْمُؤْمِنِينَ اقْتَتَلُوا...الآية
“และหากมีชน 2 กลุ่มจากบรรดาผู้ศรัทธาได้สู้รบกัน...”  (อัล-หุญุรอต : 9)

อัล-กุรอานได้รับรองสถานภาพความเป็นผู้ศรัทธาให้แก่ทั้ง 2 ฝ่ายที่มีการรบพุ่งกัน และในอายะฮฺที่ 10 ซึ่งก็อยู่ถัดมาก็ระบุชัดเจนว่าพวกเขาคือพี่น้องกัน (إِنَّمَا الْمُؤْمِنُوْنَ إِخْوَةٌ)  


และมีปรากฏในอัล-หะดีษว่า

 إِنَّ ابْنِيْ هذا سَيِّدُ ، وَسَيُصْلِحُ الله به بَيْنَ فَئَتَيْنِ عَظِيْمَتَيْنِ مِنَ المسلمينَ\"
\" “แท้จริงบุตรชายของฉันนี้ (หมายถึง อัล-หะสัน อิบนุ อะลี ร.ฎ.) เป็นนาย และอัลลอฮฺจะทรงให้มีการประนีประนอมระหว่างชน 2 กลุ่มที่ยิ่งใหญ่จากบรรดามุสลิมด้วยเขา”


ในอัล-หะดีษยืนยันสถานภาพความเป็นมุสลิมให้กับกลุ่มชนทั้ง 2 กลุ่ม คือ ผู้ที่สนับสนุนท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) และท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) ในเวลาต่อมา ฝ่ายหนึ่งกับฝ่ายที่สนับสนุนท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ซึ่งเป็นฝ่ายละเมิดต่อท่านเคาะลีฟะฮฺ อะลี (ร.ฎ.) ในสมรภูมิศิฟฟีน และเป็นกลุ่มชนที่สังหารท่านอัมม๊าร อิบนุ ยาสิร (ร.ฎ.)


หากการสังหารท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) เป็นความผิดที่ชัดเจนเป็นเหตุให้ตกนรกแล้ว เพราะเหตุใดท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงรับรองสถานภาพของพวกเขาเอาไว้ในอัล-หะดีษ และเพราะเหตุใดท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) จึงยอมประนีประนอมกับพวกเขา และสละตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺแก่ท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ซึ่งเป็นหัวหน้าหรือผู้นำของพวกเขา ทั้งๆ ที่เป็นชาวนรกตามคำกล่าวอ้างดังกล่าวเล่า!


4. ในกรณีการสังหารท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) ของอบุลฆอดียะฮฺ อัล-ญุฮะนียฺ เป็นความผิดที่ใหญ่หลวงก็จริง แต่ความผิดดังกล่าวก็มิใช่ความผิดในฐานของการตั้งภาคีหรือเป็นความผิดที่ทำให้ตกศาสนา หากเป็นความผิดที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการอภัยจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ดังที่อัล-กุรอานระบุเอาไว้โดยเฉพาะในกรณีที่การสังหารดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยที่ผิดพลาด  (قَتْلُ خَطَاءٍ) ก็ย่อมมิใช่เหตุที่จะต้องตกนรกเพราะมีกระบวนการในการไถ่โทษดังกล่าวตามที่อัล-กุรอานระบุเอาไว้เช่นกัน


5. การกระทำของท่าน อบุลฆอดียะฮฺ อัล-ญุฮะนียฺ เป็นการกระทำของปัจเจกบุคคล หากการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นเหตุให้ท่านต้องโทษในนรกตามคำกล่าวอ้างจากอัล-หะดีษที่ขาดคุณสมบัติในการเป็นหลักฐาน นั่นก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอันใดต่อสถานภาพของบรรดาเศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่ซึ่งจะไม่ร่วมกันกระทำสิ่งที่หลงผิด นอกเหนือจากการเสียชีวิตของท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) นั้นไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาปรารถนาให้เกิดขึ้น และไม่มีผู้ใดยินดีต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเลย


บทสรุปสุดท้ายก็คือ หากอัล-หะดีษต้นเรื่องซึ่งเป็นหะดีษที่อิมาม อัล-บุคอรียฺรายงานเอาไว้ในเศาะหาบะฮฺที่มีความเห็นไม่ตรงกับท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) และสู้รบกับท่านเคาะลีฟะฮฺ อะลี (ร.ฎ.) เป็นชาวนรกจริงตามคำกล่าวอ้างนั้นแล้ว เหตุไฉนนักปราชญ์ในฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ จึงยอมรับสถานภาพและบันทึกอัล-หะดีษบทนี้โดยนึกไม่ออกหรือไม่เคยสังเหตว่านั่นเป็นหลักฐานในการะประนามเศาะหาบะฮฺท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ว่าเป็นชาวนรก  คำตอบก็คือเพราะอัล-หะดีษไม่ได้มีนัยเช่นนั้น


ส่วนกลุ่มที่ประนามเศาะหาบะฮฺนั้นพวกเขาย่อมไม่พลาดอยู่แล้วในการที่จะนำเอาอัล-หะดีษทำนองนี้มาอ้างและตีความตามความเข้าใจของพวกตนทั้งๆ ที่อัล-หะดีษไม่ได้บ่งชี้ว่าเป็นเช่นนั้น เป้าหมายของพวกเหล่านี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าการสร้างความคลางแคลงสงสัยและความไขว้เขวแก่ผู้ศรัทธาที่มีความรักในบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นท่าน อะลี (ร.ฎ.) ท่านอัมม๊าร (ร.ฎ.) ท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) และท่านอื่นๆ ก็ตาม


والله تعالى أعلم
ورضى الله تعالى عن صحا بة رسول الله أجمعين

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version