การอ่านบางอายะฮฺของซูเราะฮฺต่างๆ ในละหมาด // พระนามของอัลลอฮฺ // การขอดุอาอฺ  (อ่าน 3562 ครั้ง)

Binti Umar @ KS/KR

  • บุคคลทั่วไป
อัสลามุอะลัยกุมวะเราะฮฺมาตุลลอฮฺวะบาเราะกาตุฮฺ

1. ในการละหมาด (ทั้งฟัรดูและสุนัต) ภายหลังจากการอ่านฟาติฮะฮฺในรอกะอัตที่ 1 และ 2 แล้ว

1.1 สามารถอ่านเพียงอายะฮฺใดอายะฮฺหนึ่ง /หรือ หลายๆ อายะฮฺของซูเราะฮฺต่างๆ ได้หรือไม่ (คือ ไม่ได้อ่านทั้งหมดของซูเราะฮฺนั้น ๆ) เช่น ภายหลังจากอ่านฟาติฮะฮฺ แล้วก็อ่านซูเราะฮฺบะกอเราะฮฺ อายะฮฺ ที่ 1-5, ต่อด้วยอายะฮฺที่ 255, 284-286 และบางอายะฮฺของซูเราะฮฺอื่นๆ (ที่ประทับใจ และเท่าที่พอจะจดจำได้)

1.2 ถ้าไม่ได้เรียงตามลำดับอายะฮฺก่อนหลังในซูเราะฮฺเดียวกัน จะได้หรือไม่ค่ะ เช่น อ่านซูเราะฮฺบะกอเราะฮฺ อายะฮฺที่ 255 ก่อน แล้วจึงมาอ่านอายะฮฺที่ 1-5

1.3 จากข้อ 1.1 และ 1.2 สามารถอ่านติดต่อกันไปเลยได้หรือไม่ หรือต้องอ่านบิสมิลลาฮฺคั่นระหว่างอายะฮฺในซูเราะฮฺเดียวกัน

2. พระนามของอัลลอฮฺ (99 พระนาม) นั้น บางพระนามมีความหมายใกล้เคียง หรือคล้ายๆ กัน อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายเพิ่มเติมในแต่ละพระนามเหล่านั้น ว่ามีความหมายแตกต่างกันในรายละเอียดอย่างไรค่ะ เช่น…

   2.1 พระนามที่ 14 อัลฆอฟฟาร (ผู้ทรงให้อภัยยิ่ง) / พระนามที่ 80 อัตเตาวาบ (ผู้ทรงนิรโทษ) / พระนามที่ 82 อัลอะฟูวฺ (ผู้ทรงยกโทษ)

   2.2 พระนามที่ 19 อัลอะลีม (ผู้ทรงรอบรู้) กับ พระนามที่ 57 อัลมุฮฺสียฺ (ผู้ทรงมีความรอบรู้ครอบคลุมทุกสิ่ง)

   2.3 พระนามที่ 66 อัลวาฮิด (ผู้ทรงเป็นองค์เดียว) กับ พระนามที่ 67 อัลอะหะดฺ (ผู้ทรงเอกะ)

   2.4 พระนามที่ 33 อัลอะซีม (ผู้ทรงยิ่งใหญ่) กับ พระนามที่ 37 อัลกะบีร (ผู้ทรงยิ่งใหญ่)

   2.5 พระนามที่ 29 อัลอัดลฺ (ผู้ทรงยุติธรรม) กับ พระนามที่ 86 อัลมุกสิฏ (ผู้ทรงเที่ยงธรรม)

   2.6 พระนามที่ 36 อัลอะลัยฺ (ผู้ทรงสูงส่ง) กับ พระนามที่ 78 อัลมุตะอาลี (ผู้ทรงสูงส่ง)

   หมายเหตุ : ถ้าแปลความหมายผิด ต้องขอมาอัฟด้วยค่ะ รบกวนอาจารย์ช่วยชี้แนะด้วยค่ะ

3. ในการขอดุอาอฺหลังละหมาด ถ้าอ่านหลายๆ ดุอาอฺ ต่อกันไป จำเป็นต้องอ่านบิสมิลลาฮฺ คั่น ในแต่ละดุอาอฺ ไหมค่ะ หรือว่า สามารถอ่านดุอาอฺต่างๆ ต่อกันไปได้เลย

ขอเอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) โปรดทรงเมตตาตอบแทนความดีงามแก่อาจารย์และครอบครัว ตลอดจนทีมงาน ค่ะ

วัสลาม

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

1.1) สามารถกระทำอย่างที่กล่าวมาได้ แต่ที่ดีแล้วควรอ่านสูเราะฮฺที่จบข้อความโดยสมบูรณ์ ถึงแม้ว่าจะเป็นสูเราะฮฺสั้นๆ ก็ตาม


1.2) โดยสุนนะฮฺแล้ว ให้อ่านตามการเรียบเรียงของอัล-กุรอานต่อเนื่องเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นสูเราะฮฺหรืออายะฮฺก็ตาม แต่ถ้าอ่านอย่างที่ยกตัวอย่างมาในคำถาม ก็ถือว่าค้านกับสิ่งที่ดีกว่า (คิลาฟุล-เอาวฺลา) แต่ไม่มีบาปแต่อย่างใด (กิตาบ อัล-มัจญมูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3 หน้า 349)


1.3) ให้คั่นด้วยอิสติอาซะฮฺ คือ อะอูซุบิลลาฮฺฯ แต่ถ้าจะคั่นด้วยบิสมิลลาฮฺ ก็มีทัศนะของนักวิชาการระบุเอาไว้


2.1) อัล-ฆ็อฟฟ๊าร : ผู้ทรงอภัยบาปทั้งปวง ไม่ว่าบาปนั้นจะมากมายเพียงใด และไม่ว่าบาปนั้นจะเป็นบาปเล็กหรือบาปใหญ่ก็ตาม (ยกเว้นการตั้งภาคีและตายไปในสภาพนั้น) และไม่ว่าบาปนั้นจะเป็นบาปที่กระทำโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม และไม่ว่าบาปนั้นจะเป็นบาปภายในหรือภายนอกที่แสดงออกมา


ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงมีพระเมตตาอันแผ่ไพศาล เหตุนั้นพระองค์จึงทรงอภัยบาป เพราะพระองค์ทรงเป็นพระผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งปวงโดยพระองค์ทรงรู้ดียิ่งว่า สิ่งถูกสร้างมีความอ่อนแอ มีความผิดพลาดเป็นธรรมดา พระองค์จึงทรงอภัยบาปที่เกิดขึ้นนั้นเสมอ เมื่อบ่าวที่ถูกสร้างขออภัยโทษต่อพระองค์


อัต-เตาว๊าบ : ผู้ทรงนิรโทษ คือทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงลิขิตความดีและความชั่ว บาปและบุญ เมื่อบ่าวของพระองค์สำนึกผิดและกลับเนื้อกลับตัว (เตาบะฮฺ) พระองค์ทรงพร้อมเสมอในการรับการกลับใจและสำนึกผิดของบ่าว


เพราะพระองค์ทรงมีพระเมตตาต่อบ่าวที่มีศรัทธาแต่พลั้งพลาดไป พระองค์จึงรับการสารภาพผิดของบ่าว เมื่อบ่าวรู้สำนึกและกลับใจ


อัล-อะฟุวฺ : พระผู้ทรงยกโทษ ถึงแม้ว่าความผิดของบ่าวจะไม่สมควรได้รับการยกโทษก็ตาม และถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงลงโทษบ่าวอย่างสาสมตามโทษานุโทษที่บ่าวได้ล่วงละเมิดต่อพระองค์ พระองค์ก็ทรงยกโทษนั้นแก่บ่าวโดยไม่ถือสาหาความก็ย่อมได้ เหตุนี้ในอัล-กุรอานจึงกล่าวพระนามของพระองค์ว่า “อุฟุวฺ” ควบคู่กับ “เฆาะฟุ๊ร” เสมอ


2.2) อัล-อะลีม : พระผู้ทรงรอบรู้ คือทรงรอบรู้โดยละเอียดถ้วนทั่ว รู้โดยไม่มีจุดเริ่มต้นและไม่มีที่สิ้นสุด รู้โดยไม่มีความรู้นำหน้ามาก่อน และรู้เสมอโดยไม่มีความไม่รู้ การหลงลืม การเผลอไผล การง่วง การบรรทมเกิดขึ้นในความรู้ของพระองค์ ความรู้ของพระองค์ห้อมล้อมทุกสรรพสิ่ง แต่ไม่มีสิ่งใดสามารถรู้โดยห้อมล้อมพระองค์ได้ และพระองค์ทรงรู้ถึงรายละเอียดของทุกสรรพสิ่งก่อนที่พระองค์จะทรงบังเกิดสิ่งเหล่านั้น และไม่มีสิ่งใดเล็ดลอดไปได้จากความรู้ของพระองค์ได้เลย


อัล-มุหฺศียฺ ผู้ทรงมีความรอบรู้ครอบคลุมทุกสรรพสิ่งโดยละเอียด เพราะพระองค์ทรงสร้างทุกสรรพสิ่ง ทุกสรรพสิ่งจึงถูกรวบรวมเอาไว้โดยละเอียดครบถ้วน ไม่ตกหล่นไปจากความรู้ของพระองค์ ทุกสรรพสิ่งมีจำนวนอัตรา ปริมาณ ขนาด และพิกัด และเป็นไปตามที่พระองค์ทรงกำหนดเอาไว้ความรู้อันสมบูรณ์ของพระองค์


2.3) อัล-วาหิด : ผู้ทรงเป็นหนึ่งเดียว มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า อัล-อะหัด ผู้ทรงเอกะแต่แยกนัยได้ว่า ทรงเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีสอง ไม่มีสาม ไม่มีคู่ภาคี ไม่มีส่วนร่วมในการเป็นพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงสิทธิในการได้รับการเคารพสักการะ ทรงเป็นหนึ่งเดียวโดยซาตฺของพระองค์ คุณลักษณะ (ศิฟาต) และการกิจ (อัฟอาล) ของพระองค์ และทรงเอกะ คือเป็นเอก ไม่มีผู้อื่นนอกจากพระองค์ ทรงเป็นเอกจึงไม่พึ่งพาสิ่งใด แต่ทุกสรรพสิ่งต้องพึ่งพาพระองค์ ทรงเป็นเอก จึงไม่มีพระบุตร ไม่มีผู้ให้กำเนิด ทรงเป็นเอกไม่เหมือนสิ่งใด และไม่มีสิ่งใดเหมือนพระองค์


2.4) อัล-อะซีม : ผู้ทรงยิ่งใหญ่ หมายถึง ทรงมีความสำคัญเป็นที่สุด สำคัญเหนือทุกสรรพสิ่ง ทรงมีความโปรดปรานที่ยิ่งใหญ่ไพศาลเหลือคณานับ ไร้ขีดจำกัด ทรงเป็นพระผู้ทรงประทานผลบุญอันยิ่งใหญ่และมากมายไม่มีหมด


อัล-กะบีร : ผู้ทรงยิ่งใหญ่ หมายถึง ความยิ่งใหญ่ของพระองค์ใหญ่กว่าสรรพสิ่งทั้งปวง สูงส่งเหนือสิ่งอื่นใด ไม่มีผู้ใดสามารถจินตนาการถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ พระองค์เท่านั้นที่แสดงความยิ่งใหญ่และความเหนือกว่า และไม่มีผู้ใดสามารถปกปิดความยิ่งใหญ่ของพระองค์ได้


2.5) อัล-อัดลุ : ผู้ทรงยุติธรรม หมายถึง ทรงบริหารทุกสรรพสิ่งด้วยความเป็นธรรม เหมาะสม สมบูรณ์ ไร้ความบกพร่อง และทรงดำรงดุลยภาพของทุกสรรพสิ่งเอาไว้ การกำหนดลิขิตสิ่งทั้งปวงเป็นไปด้วยความชอบธรรม การบัญญัติสิ่งทั้งปวงมีความยุติธรรมและการตอบแทน การพิพากษา การตัดสินของพระองค์เป็นไปด้วยความยุติธรรม และพระองค์ทรงบริสุทธิ์จากการอธรรมโดยสิ้นเชิง


อัล-มุกสิฏ : ผู้ทรงเที่ยงธรรม หมายถึง ทรงกำหนดลิขิตสรรพสิ่งทั้งปวงด้วยความเที่ยงตรง ไม่มีความลำเอียง และความอยุติธรรมเจือสม ทรงแจกจ่าย แบ่งสรร และประทานให้แก่ปวงบ่าวของพระองค์อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ และเหมาะสมตามความรู้และพระประสงค์อันสมบูรณ์ของพระองค์ผู้ที่ได้รับก็เป็นไปด้วยความชอบธรรม ผู้ที่ไม่ได้รับก็เป็นไปตามความชอบธรรม และสรรพสิ่งทั้งปวงย่อมมิอาจมีอิทธิพลใดๆ ในการดำรงธรรมของพระองค์


2.6) อัล-อะลียฺ : พระผู้ทรงสูงส่งเหนือทุกสรรพสิ่ง ทรงสูงสุดในความสมบูรณ์ ไม่มีสิ่งใดสูงส่งเท่าเทียมพระองค์ ทรงมีคุณลักษณะอันสมบูรณ์ บริสุทธิ์หมดจด สูงส่งเกินจินตนาการจะหยั่งถึง ไม่มีผู้ใดทัดทานหรือเอาชนะพระองค์ได้ เพราะพระองค์ทรงยิ่งใหญ่เหนือทุกสรรพสิ่ง


อัล-มุตะอาลียฺ พระผู้ทรงสูงส่งจากทุกสิ่งที่บกพร่อง ทรงปลอดจากข้อตำหนิที่ค้านกับความเป็นพระผู้เป็นเจ้าของพระองค์ตลอดจนความเป็นพระผู้อภิบาลและคุณ


ลักษณะอีกทั้งพระนามอันไพจิตรของพระองค์โดยสิ้นเชิง เหตุนั้น พระองค์จึงทรงสิทธิอันชอบธรรมในการประกาศความสูงส่งของพระองค์และการอวดอ้างพระเกียรติยศและความยิ่งใหญ่ของพระองค์ โดยการอวดอ้างนี้เป็นสัจธรรมมิใช่การแอบอ้างจากผู้ใด เนื่องจากความสูงส่งเป็นของพระองค์โดยแท้


3. ไม่จำเป็นต้องอ่าน บิสมิลลาฮฺ คั่นในแต่ละบทของการขอดุอาอฺแต่อย่างใด ให้บิสมิลลาฮฺ กล่าวอัล-หัมดุลิลลาฮฺ และเศาะละหฺวาตในช่วงต้น ก็เพียงพอแล้วครับ

والله أعلم بالصواب