มัสราฮะห์ที่อยากรู้ (มัศละหะฮฺ (مَصْلَحَة)  (อ่าน 7788 ครั้ง)

อยากรู้

  • บุคคลทั่วไป
สลามครับ อ. อาลี สบายดีนะครับ อ .ครับ ผมได้ยินคำว่ามัสราฮะห์ มันคืออะไรครับแล้วมีกี่ประเภทอะไรบ้างขอแบบละเอียดนิดนึงมีตัวด้วยนะครับแล้วฮุก่มศาสนาว่าอย่างไรทำได้หรือไม่ ขอบคุนครับ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : มัสราฮะห์ที่อยากรู้
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มีนาคม 28, 2012, 04:36:29 pm »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته

คำว่า “มัสราฮะห์” ที่เขียนมาถ้าเขียนเป็นภาษาอาหรับก็น่าจะตรงกับคำว่า “มัสเราะหะฮฺ” (مَسْرَحَةٌ) ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับที่ถามมา เพราะคำว่า มัสเราะฮฺ مَسْرَحٌ)) หมายถึงทุ่งเลี้ยงสัตว์ หรือเวทีแสดงละคร คำว่า (مَسْرَحِيَّةٌ) มัสเราะหิยะฮฺ หมายถึง ละครหรือการแสดงละครเวที  ถ้าอ่านว่า มิสเราะหะฮฺ (مِسْرَحَةٌ) ก็มีความหมายว่าหวีหรืออุปกรณ์ที่ใช้สางผม-ขนหรือผ้าลินิน


แต่ที่น่าจะเป็นก็คือ คำว่า มัศละหะฮฺ (مَصْلَحَة) มากกว่า คำว่า มัศละหะฮฺ ตามหลักภาษาหมายถึง สิ่งที่ส่งผลดี หรือ สิ่งที่ก่อให้เกิดความเหมาะสม หรือสิ่งที่มนุษย์ใช้สิ่งนั้นจากบรรดาพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองหรือแก่กลุ่มชนของตน มีรูปพหูพจน์ว่า มะศอลิหฺ (مَصَا لِحُ) โดยปริยาย คำว่า “มัศละหะฮฺ” มีความหมายว่า “สิทธิประโยชน์” ตรงกันข้ามกับคำว่า มัฟสะดะฮฺ (مَفْسَدَةٌ) ที่รูปพหูพจน์ว่า มะฟาสิด (مَفَا سِدُ) มีความหมายว่า “สิ่งที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย” หรือ “สิ่งที่เสื่อมทราม”


โดยหลักนิติศาสตร์อิสลามคำนึงถึงสิทธิประโยชน์และตราบัญญัติหลักนิติธรรมขึ้นมาโดยมีเป้าหมายในการปกป้องสิทธิประโยชน์ และปัดป้องสิ่งที่ทำลายสิทธิประโยชน์ของมนุษยชาติทั้งในเชิงปัจเจกบุคคล เรียกว่า สิทธิประโยชน์ส่วนบุคคล (اَلْمَصْلَحَةُ الْفَرْدِيَّةُ) อัล-มัศละหะฮฺ อัล-ฟัรดียะฮฺ และในเชิงสังคมส่วนรวม (اَلْمَصْلَحَةُ الْإ جْتِمَا عِيَّة) อัล-มัศละหะฮฺ อัล-อิจญติมาอียะฮฺ


ทั้งนี้การตราบัญญัติหลักนิติธรรมอิสลามจะคำนึงถึงสิทธิประโยชน์และปัดป้องสิ่งที่เป็นเหตุในการลิดรอนสิทธิประโยชน์เสมอ (ริอายะฮฺ อัล-มะศอลิหฺ –ดัรอุล มะฟาสิด) กล่าวคือ ทุกสิ่งที่มีบัญญัติทางศาสนาที่ตราไว้จะนำมาซึ่งสิทธิประโยชน์เสมอ และสิ่งที่มีศาสนบัญญัติเรียกร้องให้กระทำจะเป็นสิ่งที่ทำให้สิทธิประโยชน์นั้นเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในปัจจุบันหรือในอนาคต


และทุกสิ่งที่ศาสนาบัญญัติห้ามเอาไว้ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่ประมวลความเสียหายและเป็นภัยจึงได้บัญญัติห้ามและเรียกร้องให้ละทิ้งสิ่งดังกล่าว และส่วนหนึ่งจากบรรดาสิทธิประโยชน์ (อัล-มะศอลิหฺ) ที่นักนิติศาสตร์อิสลามแบ่งระดับเอาไว้มี 3 ประเภทคือ

1. อัล-มะศอลิหฺ อัฏ-เฏาะรูรียะฮฺ (اَلْمَصَا لْحُ الضَّرُوْرِيَّةُ) คือ สิ่งที่วิถีการดำเนินเป็นชีวิตและมนุษย์ทั้งในเชิงศาสนาและในทางโลก ขึ้นอยู่กับสิ่งนั้นโดยที่หากสิ่ง นั้นบกพร่องหรือสูญเสียไป การดำรงชีวิตในโลกนี้ของมนุษย์ก็จะเกิดความบกพร่อง เป็นผลทำให้ความเสื่อมทรามแพร่หลาย สูญเสีย ความบรมสุขและทำให้ถูกลงทัณฑ์ในโลกหน้า สิทธิประโยชน์ที่มีความจำเป็นในขั้นอุกฤษ์มี 5 ประการ คือ ศาสนา ชีวิต สติปัญญา เชื้อสายโลหิต และทรัพย์สิน


สิทธิประโยชน์ทั้ง 5 ประการนี้ถือเป็นสิ่งจำเป็นในขั้นสูงสุดหรืออุกกฤษ์ เรียกว่านิติธรรมอิสลามจะมีเป้าหมายในการดำรง รักษา พิทักษ์ และสนับสนุนส่งเสริมหลัก 5 ประการ และถือว่าการลิดรอนหรือละเมิดต่อหลัก 5 ประการนี้เป็นโทษร้ายแรงและเป็นอาชญากรรม เหตุนี้ในนิติศาสตร์อิสลามจึงตราบัญญัติบทลงโทษที่รุนแรงในกรณีมีการละเมิดต่อหลัก 5 ประการดังกล่าว เช่น ประหารชีวิต (กิศ็อศ) เฆี่ยน ขว้างจนตาย เนรเทศ และการตัดมือ เป็นต้น


2. อัล-หาญิยาตฺ (اَلْحَا جِيَّاتُ) หมายถึง สิทธิประโยชน์ซึ่งมนุษย์มีความต้องการเพื่อให้เกิดความสะดวกและขจัดความลำบากออกไปจากการดำเนินชีวิต ซึ่งในหลักนิติธรรมอิสลามได้ตราบัญญัติเพื่อเป็นการดำรงรักษาสิทธิประโยชน์ข้อนี้เอาไว้ เช่น มีข้ออนุโลมให้ละหมาดย่อ-รวมในการเดินทางไกล การอนุญาตให้ไม่ต้องถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนสำหรับคนป่วยและผู้เดินทาง การนั่งละหมาดสำหรับผู้ที่ไม่สามารถยืนได้ การที่ไม่ต้องชดใช้การละหมาด (เกาะฎออฺ) สำหรับสตรีที่มีรอบเดือน การเช็ดรองเท้าหุ้มข้อในการอาบน้ำละหมาด เป็นต้น


ในด้านของจารีต เช่น อนุญาตให้ล่าสัตว์ การแสวงหาปัจจัยยังชีพและการบริโภคสิ่งที่ดี และในด้านธุรกรรม เช่น การอนุญาตให้มีการทำข้อตกลงในเชิงธุรกรรมต่างๆ เช่น การซื้อขาย การเช่า การค้ำประกัน เป็นต้น


3. อัต-ตะหฺสินาตฺ หรือ อัล-กะมาลียาตฺ (اَلْتَحْسِيْنَاتُ أوألْكَمَالِيَّاتُ) หมายถึง บรรดาสิทธิประโยชน์ที่มีจริยธรรม คุณธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีเป็นตัวกำหนด เช่น เรื่องการทำเฏาะฮาเราะฮฺ การปกปิดอวัยวะพึงสวงนในการละหมาด การห้ามซื้อขายสิ่งที่สกปรกและเป็นมลทิน การห้ามบริโภคสิ่งที่น่ารังเกียจ และการห้ามประทุษร้ายต่อศพ หรือการห้ามสังหารเด็ก สตรี พระสงฆ์ ในการทำสงคราม เป็นต้น


นอกจากนี้บรรดานักนิติศาสตร์อิสลามยังได้แบ่งประเภทของ มะศอลิหฺ เอาไว้อีกหลายประเภท เช่น  อัล-กอฏอียะฮฺ , อัซ-ซอนนียะฮฺ , อัล-วะฮฺมียะฮฺ เป็นต้น ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมาก หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมก็สามารถค้นคว้าได้จากตำรับตำราที่เขียนเกี่ยวกับนิติศาสตร์อิสลามได้ครับ

والله ولي التوفيق
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 22, 2015, 11:34:36 pm โดย admin »