กล่าวลักษณะนี้ทำให้เกิดการหย่าหรือไม่ครับ  (อ่าน 3160 ครั้ง)

นายร้อนใจ

  • บุคคลทั่วไป
อัสลามุอะลัยกุมวะรอฮ์มะตุลลอฮ์วะบะรอกาตุฮ์

อาจารย์ครับ ถ้าหากสามีและภรรยาที่เพิ่งแต่งงานใหม่ โดยทั้งคู่มีลักษณะการใช้ชีวิตที่ต่างกัน โดยฝ่ายชายค่อนข้างจะเคร่งครัดในศาสนามากกว่าฝ่ายหญิง และมีสไตล์การใช้ชีวิต รสนิยมการแต่งตัว ฯลฯ ที่แตกต่างกันพอสมควร จึงทำให้เกิดการไม่ลงตัวและโต้เถียงกันบ่อย  และบ่อยครั้งที่สามีนึกถึงผู้หญิงที่เคยรู้จักคนก่อน(แต่ไม่ได้แต่งงานกัน) ทำให้รู้สึกว่าคิดผิดหรือเปล่าที่มาแต่งงานกับภรรยาคนปัจจุบัน โดยในการทะเลาะกันบางครั้ง สามีได้มีการมีการกล่าวประโยคต่าง ๆ ดังนี้ อยากทราบว่าทำให้เกิดการหย่าหรือไม่ครับ? คือ

1)\"ถ้าเธอจะไม่เอาฉันก็ไม่เป็นไร\" , \"ถ้าเธอจะเอาคนคื่นก็ไม่เป็นไร\" (โดยเป็นการพูดลอยๆ ลักษณะน้อยใจ)
2)\"หย่ากันเถอะ\" (พูดทำนองอุทานครับ  แต่ในใจยังไม่แน่ใจว่า ในขณะที่พูดนั้นเจตนาหย่าหรือไม่?)
3)ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ว่า \"ขอพระองค์ทรงให้ทางออกระหว่างฉันกับ....(ระบุชื่อภรรยา)\" (คือ ประมาณว่า ขอให้พระองค์ทรงชี้ทางว่า ควรจะหย่าหรือไม่ หรือขอให้ราบรื่นในการใช้ชีวิตร่วมกันต่อไปครับ)
4)เนียตว่าอยากจะหย่า (ทั้งในปัจจุบันและอนาคต แต่ไม่ได้กล่าวเป็นคำพูดใดๆ)

รบกวนอาจารย์ช่วยไขข้อข้องใจและทางออกหน่อยครับ  และถ้าหากว่าเป็นการหย่าจะต้องทำอย่างไรครับ และขออาจารย์ช่วยให้ข้อคิดข้อแนะนะนำแก่สามีภรรยาใหม่คู่นี้หน่อยครับ เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงเพื่อให้ชีวิตคู่มีความราบรื่นครับ

ขออัลลอฮ์ทรงตอบแทนความดีงามให้กับอาจารย์อาลีอย่างมากมายครับ

วัสลามุอะลัยกุม

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : กล่าวลักษณะนี้ทำให้เกิดการหย่าหรือไม่ครับ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 04, 2012, 10:47:44 pm »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

ในกรณีของสำนวนตัวอย่างในข้อที่ 1 และข้อที่ 2 นั้นถือเป็นสำนวนที่คลุมเครือไม่เด็ดขาด (กินายะฮฺ) เพราะสามารถตีความเป็นอย่างอื่นที่มิใช่การหย่า (เฏาะล๊าก) ได้ เมื่อกล่าววาจาด้วยสำนวนในข้อที่ 1 และข้อที่ 2 ออกมาก็ยังไม่ถือว่าการหย่าเป็นผล (คือไม่ตก) ยกเว้นเมื่อมีเจตนา (นียะฮฺ) ว่าเป็นการหย่าเท่านั้น การหย่าถึงจะเป็นผล ถ้าไม่มีเจตนาก็ถือว่าไม่เป็นผล


ส่วนข้อที่ 3 นั้นไม่ถือเป็นสำนวนที่เกี่ยวข้องกับการหย่าแต่อย่างใด จึงไม่มีผลเพราะเป็นเพียงคำขอ ดุอาอฺในเชิงอิสติคอเราะฮฺเท่านั้น


ส่วนข้อที่ 4 นั้นเป็นเพียงเจตนาหรือมีความคิดว่าจะหย่าแต่ไม่ได้เปล่งวาจาออกมาก็ถือว่าไม่มีผลในการหย่าแต่อย่างใด เพราะการหย่าตามศาสนบัญญัติอาศัยการเปล่งวาจาเป็นข้อพิจารณาที่ชี้ขาด ในกรณีที่ 4 นี้จึงถือว่ายังไม่มีผลใดๆ ในการหย่าเพราะถึงแม้จะมีเจตนาอยู่ในใจก็ยังไม่ได้เปล่งวาจาใดๆ ออกมานั่นเอง


ฉะนั้นหากพิจารณาแล้วว่าไม่มีทางเลี่ยงแล้วในการที่จะต้องหย่า ก็ให้สามีเปล่งวาจาด้วยสำนวนที่ชัดเจนว่า ฉันหย่าเธอ 1 เฏาะลาก ก็ถือว่าเป็นผลแล้วตามหลักการจะมีเจตนาในใจว่าหย่าหรือไม่ก็ตาม


ส่วนคำแนะนำนั้นคงไม่มีอะไรมากไปกว่า การคิดไตร่ตรองและทบทวนให้จงหนักถึงผลพวงของการหย่าที่จะเกิดขึ้นว่าเป็นทางเลือกสุดท้ายแล้วหรือยัง หากหย่าไปแล้วอนาคตจะเป็นเช่นใด มีผลกระทบมากน้อยเพียงใดสำหรับสองฝ่าย การแต่งงานและมีชีวิตคู่เป็นเรื่องของการยอมรับและการทำความเข้าใจระหว่างกัน ไม่มีเรื่องใดที่จะราบรื่นไปเสียทั้งหมด และไม่มีเรื่องใดที่จะแย่ไปเสียทั้งหมดเช่นกัน


การปรับตัวเพื่อให้เข้ากันได้เป็นสิ่งสำคัญ และต้องใช้เวลา และความอดทน การกระทบกระทั่ง การไม่ลงตัวระหว่างผู้ใช้ชีวิตคู่ที่มีความแตกต่างกันในเรื่องการปฏิบัติตัวเป็นเรื่องปกติสามัญเหมือนลิ้นกับฟัน ลิ้นอ่อน ฟันแข็งและมีคม แต่ลิ้นกับฟันก็อยู่ด้วยกันได้ ช่วยส่งเสริมและเติมเต็มระหว่างกันได้ การหย่าจึงเป็นทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น


หากสามารถรอมชอมและปรับปรุงความสัมพันธ์ให้เป็นไปโดยดีแล้วก็ขอให้ทำเถิด อินชาอัลลอฮฺ หากทั้งคู่ตั้งใจดีแล้ว พระองค์จะทรงประทานทางออกที่ดีให้

والله ولي التوفيق