ชีริกหรือไม่ (ข้าพเจ้าละหมาด ชีริกหรือไม่ครับ)  (อ่าน 3916 ครั้ง)

armean

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 1
ข้าพเจ้าละหมาด ชีริกหรือไม่ครับ

เพราะลาเฮาลา วาลากูวาตาอิ้ลลาบิ้ลละ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

ต้องทำความเข้าใจถึงความหมายของประโยค อัล-เหาวฺเกาะละฮฺ (اَلْحَوْقَلَةُ) คือ

\"لاحولَ ولاقوةَإلابالله\"  เสียก่อนว่าหมายถึงอะไร? อิมาม อัฏ-เฏาะหาวียฺ (ร.ฮ.) ได้อธิบายความหมายของประโยคนี้ว่า

\"لاحِيْلَةَ لِأَحَدٍ , ولاحَرَكَةَ لِأَحَدٍ , ولاتَحَوُّلَ لِأحَدٍ عَنْ مَعْصِيَةِ اللهِ اِلا بِمَعُوْنَةِ الله ,
ولاَقُوَّةَلِأَحَدٍ على إِقَا مَةِ طاعةِ الله والَّثَبَاتِ عَلَيْهَا إلابتو فيقِ الله\"

“ไม่มีความสามารถในการประกอบภารกิจใดเลยสำหรับผู้หนึ่งผู้ใด และไม่มีการเคลื่อนใหวอันใดเลยสำหรับผู้หนึ่งผู้ใด และไม่มีการแปรเปลี่ยนจากการฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺสำหรับผู้ใดเลยนอกเสียจากเป็นไปด้วยการช่วยเหลือเกื้อหนุนของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และไม่มีพลังใดๆ เลยสำหรับผู้หนึ่งผู้ใดต่อการดำรงความภักดีต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) และมั่นคงอยู่บนการภักดีนั้น นอกเสียจากด้วยการเอื้ออำนวย (เตาวฺฟีก) ของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เท่านั้น”


นี่คือแก่นแท้ของความเป็นบ่าว (หะกีเกาะฮฺ อุบูดียะฮฺ) คือการที่บ่าวจะต้องมีความต้องการไปยังพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ในการคุ้มครองให้พ้นจากการกระทำสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนทั้งหลาย และในการเอื้ออำนวยสำหรับการภักดีทั้งหลาย ดังนั้นบ่าวย่อมมีความต้องการยังพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ในเรื่องทั้งสองคือในการระวังรักษาให้พ้นจากการฝ่าฝืน และความสามารถตลอดจนความมั่นคงต่อการภักดีทั้งหลาย (อิซฮารฺ อัล-อะกีดะฮฺ อัส-สุนนียะฮฺ ; ชัยคฺ อับดุลลอฮฺ อัล-ฮะเราะรียฺ หน้า 206)


ในหลักวิชาการตะเศาวฺวุฟ เรียกสภาวะทางจิตที่รับรู้ถึงการแยกระหว่างพระผู้ทรงสร้างและสิ่งที่ถูกสร้าง  ผู้ที่ถูกเคารพสักการะและผู้ที่เคารพสักการะว่า อัต-ตัฟริเกาะฮฺ (التَّفْرِقَةُ) และเรียกสภาวะทางจิตที่ทำให้การแยกข้างต้นนั้นหมดไปว่า อัล-ญัมอฺ (الجَمْعُ)


ซึ่งจริงๆ แล้วทั้งสภาวะที่แยกและและรวมนี้มีทั้งประเภทที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง มีทั้งที่ถูกสรรเสริญ (มะหฺมูด) และถูกตำหนิ (มัซมูม) และสภาวะทั้งสองของจิตจะถูกสรรเสริญทั้งคู่ก็ไม่ใช่จะถูกตำหนิทั้งคู่ก็ไม่ใช่ การรวม (อัล-ญัมอฺ) ที่ถูกต้องก็คือ การรวมระหว่างความมุ่งหมาย (อิรอดะฮฺ) และความต้องการ (อัฏ-เฏาะลับ) เป็นหนึ่งเดียวต่อสิ่งที่ถูกมุ่งหมายและถูกต้องการ (อัล-มุร็อด-อัล-มัฏลู๊บ) และนี่คือการรวมที่ถูกต้องและการแยกที่ถูกตำหนิ


นิยามของการรวมที่ถูกต้องก็คือการขจัดการแยกที่ถูกตำหนินี้ให้หมดสิ้นไปจากสภาวะของจิตขณะทำอิบาดะฮฺ ส่วนการรวมที่ทำให้การแยกระหว่างพระผู้อภิบาล (อัร-ร็อบฺบ์) และบ่าว ระหว่าง พระผู้ทรงสร้างและผู้ที่ถูกสร้างให้หมดไป คือไม่มีการแยกระหว่างเกาะดีมฺ (ผู้ที่มาแต่เดิม) และมุหฺดิษ (สิ่งที่เป็นของใหม่ซึ่งถูกสร้าง) การรวมที่ว่านี้ถือเป็นโมฆะอันเป็นที่สุด


การแยกดังกล่าวนั่นแหละคือสิ่งที่ถูกต้อง และผู้ที่มีสภาวะทางจิตในการแยกนี้คือ ชาวอิสลาม , อีมาน และอิหฺสาน เช่นเดียวกับพวกที่รวมดังกล่าวนั้นแล คือพวกที่ออกนอกแนวทางและปฏิเสธ เพราะอัล-กุรอานกล่าวถึงสภาวะทางจิตทั้งสองนี้ในประโยคที่ว่า  (الحمدلله رب العا لمين) คือ อัลลอฮฺทรงเป็นผู้ทรงสร้าง (ร็อบฺบ์) และมีสิ่งที่ถูกสร้างคือ โลกทั้งผอง (อัล-อาละมีน) และประโยคที่ว่า (إياك نَعْبُدُ وإياك نستعين)


ท่อนแรกเป็นการแยกว่าเราเป็นบ่าวที่ทำอิบาดะฮฺ และอัลลอฮฺเท่านั้นที่ถูกเคารพสักการะ ท่อนที่สองคือการรวม คือเราต้องขอความช่วยเหลือเฉพาะพระองค์เท่านั้น กล่าวคือ การกระทำทั้งหมดของเราไม่ว่าจะเป็นการภักดีหรือการได้รับการคุ้มครองจากสิ่งที่ฝ่าฝืนล้วนแล้วแต่เป็นไปด้วยการช่วยเหลือและการเอื้ออำนวยของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่มีต่อเรา มิใช่เป็นไปด้วยความสามารถหรือพลังของเราเอง


หากเข้าใจดีแล้ว ก็ย่อมได้ข้อสรุปว่า ข้าพเจ้าละหมาดซึ่งเป็นการภักดี หรือข้าพเจ้าไม่ละหมาดซึ่งเป็นการฝ่าฝืน ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นไปด้วยการเอื้ออำนวยของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) คือ “บิลลาฮฺ” ทั้งสิ้น


แล้วจะเป็นชิรฺก์ได้อย่างไร หากการตั้งเจตนาว่าข้าพเจ้าจะละหมาดเป็นชิรฺก์แล้วไซร้ ก็ต้องถือเป็นชิรฺก์เหมือนกันหมด ไม่ใช่แค่ข้าพเจ้าละหมาดแต่รวมถึงข้าพเจ้าถือศีลอด ข้าพเจ้าจ่ายซะกาต ข้าพเจ้าเชือดกุรบาน ข้าพเจ้าอาบน้ำละหมาด ข้าพเจ้ากิน นอน ฯลฯ เพราะทั้งหมดอัลลอฮฺทรงกระทำทั้งสิ้นตามคำกล่าวอ้างที่ว่านั้น และถ้าถือเอาอย่างที่ว่ามาก็ไม่ใช่เฉพาะข้าพเจ้าละหมาดเท่านั้นที่เป็นชิรฺก์


ที่ถามมาโดยบอกว่าคุณถามหรือท่านถามก็ไม่ใช่คุณถามแต่อัลลอฮฺถาม และที่ผมตอบนี้ก็ไม่ใช่ผมตอบแต่เป็นอัลลอฮฺตอบ เพราะถ้าผมตอบก็เป็นชิรฺก์แล้วเช่นกันตามคำกล่าวอ้างนั้น ซึ่งในที่สุดก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าความเลอะเทอะและออกนอกแนวทางที่ถูกต้อง


จึงขอเตือนด้วยความจริงใจว่า หลักชะรีอะฮฺไม่ได้ขัดกับหลักหะกีเกาะฮฺในวิชาตะเศาวฺวุฟที่ถูกต้องแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ผิดเพี้ยนและทำให้ขัดกันก็คือทฤษฎีที่แอบแฝงเข้ามาในวิชาตะเศาวฺวุฟจนทำให้เลอะเทอะนั่นเอง ขอให้ระวังทฤษฎีในทำนองนี้!

والله ولي التوفيق