การทำเมาลิด  (อ่าน 21121 ครั้ง)

ยูโส้ป หาดใหญ่ใน

  • บุคคลทั่วไป
การทำเมาลิด
« เมื่อ: กันยายน 12, 2012, 06:15:46 pm »
ตามที่ท่าน อาลี ตอบว่าไม่มีการทำเมาลิดเนี่ย ท่านอาจารย์อาจจะไม่เจอที การที่เราไม่เจอเราอย่าพึงรีบด่วนตอบ เพราะมันจะทำให้กลายเป็นผู้ประฎิเสธซุนนะ การทำเมาลิดเนี่ยมีหลายรูปแบบ แต่เนื้อหา คือต้องการ ซุกร้อนลิลละ ที่ได้ส่งท่านศาสดามูหำหมัด ซ้อลลัลลอฮูอาลัยฮิวาซัลลัม การทำเมาลิดเนี่ยรูปแบบที่ว่า เช่น การซอดาเกาะ การเล่าชีวะประวัติ การถือศิลอด เพราะได้มีฮาดีส ซอเฮียะ ว่า เมือได้มีผูที่ได้ถามท่านรอซูล ว่าทำไมท่านถึงถือบวชวันนี้ ท่านรอซูลตอบว่า เพราะอัลเลาะฮ์ให้ฉันได้เกิดวันจันทร์ แสดงให้เห็นว่าท่านรอซูลรำลึกถึงวันที่ท่านเกิดมา เพื่อที่จะนำความสุขให้กับชาวโลก อย่างนี้เหรอที่จะไม่ให้เรารำลึกถึงท่ารอซูลในวันจันทร์ โดยรูปแบบการซอลาวัต เลียงอาหาร เล่าชีวประวัติของท่าน และยังมีฮาดีสอีกมากมาย เพราะฉะนั้นเราอย่าพึงรีบด่วนตัดสิน เหมือนนักปราชน์ได้กล่าวไว้ว่า ความรู้ของท่านรอซูลุลเลาะฮ์เหมือนน้ำในมหาสมุทร แค่เอามือจุ่มลงไป น้ำที่ติดมือมาคือครามรู้ที่ได้มา นั้นคือความรู้ที่ได้มา เพราะฉนั้นน้ำในมหาสมุทยังมีอีกเยอะ ไม่แห้งแม้แต่นิดเดียว เพราะฉะนั้นที่เราไม่รู้อย่าพึงริบด่วนไปตัดสิน เหมือนกับบางกลุ่ม

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : การทำเมาลิด
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 27, 2012, 09:24:19 am »
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

คุณยูโส้ปคงเข้าใจอะไรบางอย่างคลาดเคลื่อนไป เพราะคำว่า “ทำเมาลิด” อย่างที่นิยมกระทำกันในบ้านเรามีรูปแบบและพิธีกรรมเฉพาะเช่นเมื่อเราทำอิซีกุโบร์แล้วก็จะพ่วงด้วยการอ่านบทกวีที่เป็นประวัติของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จากหนังสือ บัรซันญียฺ แล้วก็เศาะละหฺวาต เป็นต้น นี่คือการทำเมาลิดอย่างที่รู้กัน  และสิ่งที่ผมมุ่งหมายในประเด็นที่ว่า ไม่มีการทำเมาลิดปรากฏในสุนนะฮฺของท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็คือการทำเมาลิดตามรูปแบบที่รู้กันและนิยมกระทำกันในบ้านเรานี่แหละ


ส่วนกรณีที่ว่าการทำเมาลิดในลักษณะเช่นนี้หรือการจัดงานเมาลิดินนบียฺตั้งแต่ระดับประเทศไปถึงระดับเมาลิดตำบลหรือตามบ้านว่าทำได้หรือไม่ กรณีนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งผมตอบไปแล้วในไฟล์เสียงและวิดีโอที่บันทึกภาพและเสียงในการอภิปรายร่วมกับอาจารย์ของโรงเรียนอีก 2 ท่าน ซึ่งถ้าฟังแล้วคิดตามอย่างตั้งใจก็จะรู้ว่าอะไรคือคำตอบที่น่าจะเป็นในเรื่องนี้


กรณีที่คุณยูโส๊ปท้วงติงมานั้นผมก็รับฟัง แต่ไม่ค่อยจะยินดีนักเพราะถ้าการทำเมาลิดตามรูปแบบและพิธีกรรมเฉพาะนั้นมีปรากฏในซุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ตรงๆ และชัดเจนเด็ดขาดที่เรียกว่าหลักฐานก็อฏฺอียฺ นักวิชาการรุ่นก่อนๆ ก็คงไม่มีความเห็นที่ต่างกันในเรื่องของการทำเมาลิดอย่างที่ว่านี้   และนักวิชาการที่เห็นด้วยกับการจัดงานเมาลิดีนนบียฺก็คงไม่เรียกการจัดงานเมาลิดินนบียฺว่าเป็นบิดอะฮฺหะสะนะฮฺกระมัง น่าจะเรียกและชี้ชัดไปเลยว่าเป็นสุนนะฮฺ ส่วนจะเป็นสุนนะฮฺประเภทใดก็ว่าไป


ส่วนที่คุณยูโส๊ปว่า การทำเมาลิดเนี่ยมีหลายรูปแบบก็ต้องถามว่า หลายรูปแบบที่ว่าและยกมานั้นมีอะไรบ้าง เพราะตัวอย่างที่ยกมา เช่น การทำเศาะดะเกาะฮฺ การเล่าชีวประวัติ การถือศีลอด ทั้งหมดเป็นส่วนประกอบในการทำเมาลิด ไม่ได้แยกเป็นเอกเทศและกลายเป็นรูปแบบหรือประเภทที่หลากหลายของการทำเมาลิด เพราะเวลาเราพูดถึงการทำเมาลิดก็จะมีเรื่องการพิธีกรรมที่ว่ามา มีการเลี้ยงอาหารซึ่งเป็นเศาะดะเกาะฮฺประเภทหนึ่ง ทั้งหมดรวมกันเป็นองค์ประกอบของการทำบุญเมาลิดนบียฺ


แต่ถ้าแยกองค์ประกอบเหล่านั้นออกมาเป็นเอกเทศ โดยทั่วไปแล้วไม่มีใครเขาถือกันว่าเป็นการทำเมาลิดนบียฺ เช่น ถือศีลอดวันจันทร์เพราะเป็นสุนนะฮฺซึ่งถึงแม้ว่าจะเกี่ยวกับวันที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เกิดก็ไม่มีผู้ใดเจตนาหรืออ้างว่าตนทำเมาลิดนบียฺด้วยการถือศีลอดในวันจันทร์ แต่ที่ถือเพราะเป็นสุนนะฮฺของท่านนบียฺ และในงานบุญเมาลิดนบียฺก็ไม่ได้จัดตรงวันจันทร์เพียงวันเดียว วันอื่นก็จัดกัน อ่านมุโลดนบีเสร็จก็ทานอาหารกินเหนียวกัน น้อยคนที่จะถือศีลอดในวันที่จัดงานบุญเมาลิดนบียฺ


การเศาะละหวาตก็เช่นกันเป็นองค์ประกอบที่มีอยู่ในการทำเมาลิดนบียฺ แต่เมื่อแยกออกมาเป็นเอกเทศ หรือรวมอยู่ในการประกอบศาสนกิจอื่นๆ ทั้งที่วาญิบต้องเศาะละหวาต เช่น ในการตะชะฮฺฮุดครั้งที่ 2 ในละหมาด (มาหยัง) และที่เป็นองค์ประกอบในรุก่นคุฏบะฮฺวันศุกร์ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ


หรือในการขอดุอาอฺทั่วไปที่มีสุนนะฮฺให้กล่าวเศาะละหวาต เป็นต้น เท่าที่รู้ไม่มีใครตั้งเจตนาหรือกล่าวอ้างว่าตนทำเมาลิดนบีนฺ แต่ที่กล่าวเศาะหวาตเพราะเป็นรุ่ก่นที่วาญิบหรือมีสุนนะฮฺให้กล่าว และเศาะละหวาตก็ไม่ได้ผูกพันอยู่กับวันจันทร์ซึ่งเป็นวันที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เกิดเพียงวันนั้นวันเดียว แต่ต้องเศาะละหวาตทุกวันอย่างน้อยก็ในการละหมาด 5 เวลา มิหนำซ้ำถ้าจะเศาะละหวาตมากๆ ก็มีหลักฐานระบุว่าให้กระทำในวันศุกร์มิใช่วันจันทร์


การเล่าชีวประวัติของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ซึ่งจริงๆ มิใช่เล่าแต่เป็นการอ่านบทกวีภาษาอาหรับที่บางทีคนอ่านเซียนทำนองมากกว่ารู้ความหมายของเนื้อหานั่นก็เป็นองค์ประกอบของการทำเมาลิดอย่างที่นิยมทำกันในบ้านเราและขาดมิได้เสียด้วย เพราะถ้าไม่มีขั้นตอนนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นการทำเมาลิดนบียฺ หากแต่เป็นเพียงการซิกรุลลอฮฺ (อีซีกุโบรฺ) และร่วมขอดุอาอฺในงานบุญนั้นเท่านั้น


แต่ถ้าแยกการเล่าหรือการเรียนรู้ประวัติของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ซึ่งมิใช่แค่ตอนเกิดที่เรียกว่าเมาลิด แต่รวมถึงอายุขัยของท่านทั้งหมดจนกระทั่งวะฟาตฺ เวลาแยกออกมาเป็นเอกเทศแล้วก็ไม่มีผู้ใดอ้างว่าตนทำเมาลิดนบียฺ เช่น เด็กฟัรฎูอีนอ่านตำราอัตชีวประวัติของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ของสมาคมคุรุสัมพันธ์ หรือครูที่สอนเล่าเรื่องเกี่ยวกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ให้เด็กฟังและจดจำก็ไม่มีใครเรียกการเล่าหรือการอ่านหนังสือนั้นว่าเป็นการทำเมาลิดนบีหรือกล่าวอ้างว่านั่นเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำเมาลิดนบียฺ เพราะการทำเมาลิดนบีมีรูปแบบเดียวอย่างที่รู้กัน และในรูปแบบเดียวนั้นก็มีองค์ประกอบที่ว่ามา


ซึ่งกรณีนี้แหล่ะที่ผมบอกว่าไม่มีปรากฏในสุนนะฮฺว่าท่านนบีทำรูปแบบที่มีองค์ประกอบรวมกันนั้นเอาไว้ ผมไม่ได้ปฏิเสธสุนนะฮฺในเรื่องการทำเศาะดะเกาะฮฺ การเลี้ยงอาหาร การเศาะละหวาต และการถือศีลอดในวันจันทร์ หรือแม้กระทั่งการขอบคุณอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่ให้นบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เกิดมาหรือการรำลึกถึงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ตลอดเวลาไม่ใช่เฉพาะวันจันทร์วันเดียว


และการสรุปของผมก็มิใช่เกิดจากความรีบด่วน ไม่ไตร่ตรองให้ถ้วนที่ เพราะสิ่งที่ผมสรุปว่าทำเมาลิดนบีได้หรือไม่ได้นั่นสำคัญกว่าไหนๆ และบทสรุปที่ว่านั้นก็เป็นผลลัพธ์จากการค้นคว้าตำราของนักวิชาการทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยซึ่งข้อมูลของฝ่ายนี้ถูกนำเสนอไว้ในการอภิปรายร่วม และฝ่ายที่ไม่เห้นด้วยและโจมตีการทำเมาลิดด้วยข้อหาที่รุนแรงซึ่งมีการนำเสนอข้อมูลของฝ่ายนี้ในการอภิปรายเช่นกัน


การหาข้อสรุปที่เป็นทางออกของปัญหาขัดแย้งในเรื่องนี้ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของการอภิปราย  เพราะสังคมสับสนและถกเถียงกันว่าทำได้หรือทำไม่ได้ ข้อสรุปในเรื่องนี้จึงก้าวผ่านประเด็นที่ว่า มีการทำเมาลิดหรือว่าไม่มี ซึ่งคุณยูโส้ปยังติดอยู่กับประเด็นนี้ แต่สำหรับข้อสรุปที่ได้จากการอภิปรายหรือการบรรยายในวาระอื่นๆ ของผมมันเลยจากประเด็นนี้ไปไกลแล้ว สำหรับตัวผมแล้ว ผมมิได้กลัวเฉพาะกรณีของการปฏิเสธสิ่งที่เป็นซุนนะฮฺ แล้วตัดสินว่าไม่ใช่สุนนะฮฺเท่านั้น แต่ผมกลัวกรณีของการกล่าวอ้างสิ่งที่เป็นบิดอะฮฺว่าเป็นสุนนะฮฺทั้งๆ ที่มิใช่สุนนะฮฺด้วยพอๆ กัน


ส่วนการที่คุณยูโส้ปอ้างในข้อความตอนท้ายถึงความรู้ของท่านรสุล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่มีมากมายดั่งน้ำในมหาสมุทรนั้นข้อนั้นเป็นเรื่องต้องยอมรับโดยดุษฎีและไร้ข้อกังขา ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความรู้ของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) แต่ปัญหาอยู่ที่ความรู้ของคนธรรมดาๆ อย่างผมกับคุณยูโส้ปมากกว่าว่าเอามือจุ่มลงไปแล้วได้น้ำติดมือมามากน้อยเพียงใด


ถ้าคุณยูโส้ปกล่าวหาว่าผมรีบด่วนไปตัดสินว่าไม่มีการทำเมาลิดเพราะไม่เจอหลักฐานอย่างที่คุณยูโส้ปเจอและแถมบอกว่ามีหะดีษอย่างมากมายในเรื่องการทำเมาลิด คุณยูโส้ปก็ย่อมไม่ต่างอะไรจากผม เพราะคุณยูโส้ปก็รีบด่วนตัดสินเช่นกัน และการตัดสินของคุณยูโส้ปก็เป็นการตัดสินตัวผมโดยตรงว่าอาจจะกลายเป็นผู้ปฏิเสธสุนนะฮฺ วัลอิยาซุบิลลาฮฺ


ส่วนคำตอบของผมที่ตัดสินว่าไม่มีการทำเมาลิดตามรูปแบบและพิธีกรรมที่นิยมกระทำกันในบ้านเรานั่นก็ไม่ใช่เป็นการตัดสินของผมที่มุ่งเป้าไปยังตัวคุณยูโส้ป เพราะคุณยูโส้ปเพิ่งเข้ามาตั้งกระทู้ในเรื่องนี้หลังจากที่ผมตอบไปก่อนนมนานกาเลแล้วเป็นไหนๆ ในขณะที่ผมตอบเรื่องนี้ไม่มีคุณยูโส้ปอยู่ในห้วงความคิดของผมเลย คุณยูโส้ปต่างหากที่ตัดสินผมหลังจากฟังคำตอบนั้นแล้ว


ซึ่งแน่นอนชื่อเว็บไซด์นี้ก็ย่อมอยู่ในห้วงความคิดของคุณขณะที่คุณเข้ามาพิมพ์กระทู้นี้ ผมจึงมั่นใจว่าผมไม่ได้ตัดสินคุณยูโส้ปอย่างแน่นอน ส่วนการตอบของผมที่ว่าไม่มีการทำเมาลิดนบียฺอย่างที่ทำกันในบ้านเราตามหลักฐานตรงๆ ที่พูดถึงเรื่องการทำเมาลิดด้วยรูปแบบที่ว่านั้น อาจจะถูกหรือผิดก็ได้ ถูกก็เพราะไม่เจอที่  ผิดก็เพราะมีหลักฐานตรงๆ ระบุไว้ว่าเป็นสุนนะฮฺอย่างชัดเจนให้ทำเมาลิดนบียฺตามรูปแบบที่ว่า แต่เพราะความรู้น้อยและรีบด่วนของผมเองจึงตอบไปว่าไม่มีการทำเมาลิดอย่างที่ทำกัน


ซึ่งถ้าคุณยูโส้ปเจอแล้วก็ช่วยนำมาเสนอให้ทราบทีว่ามีหะดีษอย่างมากมายระบุให้เราทำเมาลิดนบีฯ และขอย้ำว่า หะดีษที่ระบุถึงเรื่องการเศาะละหวาต การทำเศาะดะเกาะฮฺ การเลี้ยงอาหาร การเรียนรู้เรื่องราวของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) นั้น หรือหะดีษเรื่องมีสุนนะฮิให้ถือศีลอดในวันจันทร์นั้น หะดีษทั้งหมดในเรื่องนี้ทุกฝ่ายยอมรับเหมือนกันหมด ไม่มีผู้ใดปฏิเสธ


แต่หะดีษตรงๆ ที่ระบุว่าการทำเมาลิดตามรูปแบบที่ทำกันเป็นสุนนะฮฺ หะดีษเช่นนี้แหล่ะที่ต้องการและขอเพียงบทเดียวเท่านั้นก็เกินพอ ยกตัวอย่างเช่น มีหะดีษสักหนึ่งมั้ยที่รายงานจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ว่า “ผู้ใดรำลึกถึงวันเกิดของฉันด้วยความยินดี แล้วผู้นั้นก็ขอบคุณอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ด้วยการทำเมาลิดให้แก่ฉัน โดยร่วมกันอ่านชีวประวัติของฉันและร่วมยืนเศาะละหวาตให้แก่ฉันตลอดจนเลี้ยงอาหารเป็นทานแก่บรรดาผู้มาร่วมการทำเมาลิดนั้น ผู้นั้นจะได้รับผลบุญเท่ากับภูเขาอุฮุดและได้รับชะฟาอะฮฺจากฉันในวันกิยามะฮฺ หะดีษทำนองนี้แหล่ะที่อยากได้ อยากเจอใจจะขาด


ถ้ามีก็ขอความกรุณานำมาบอกที จะได้พูดรณรงค์กันโดยไม่ต้องเหนื่อยล้ากับการหาข้อสรุปที่ยังเอาแน่ไม่ได้ว่าถูกหรือผิด เอาเป็นว่าผมจะรอคุณยูโส้ปอย่างใจเย็นก็แล้วกัน แต่ถ้าคุณยูโส้ปหาหลักฐานตรงๆ ที่ระบุรูปแบบตามสุนนะฮฺในการทำเมาลิดนบีอย่างที่ทำกันในบ้านเราไม่เจอก็ไม่เป็นไร


เพราะอย่างไรเสียผมก็สรุปไปแล้วว่าทำเมาลิดหรือจัดงานเมาลิดได้หรือไม่ได้ คนกลุ่มหนึ่งตัดสินผมไปแล้วว่าผมเป็นพวกทำบิดอะฮฺ และพูดจาสนับสนุนให้คนทำบิดอะฮฺ ซึ่งนั่นก็คงไม่มีอะไรเลวร้ายมากไปกว่านั้นอีกแล้ว ถ้าหากจะมีคนเช่นคุณยูโส้ปตัดสินผมในทางกลับกันว่า ผมเป็นพวกที่ปฏิเสธสุนนะฮฺเพราะการทำเมาลิดนั้นมีในสุนนะฮฺแต่ก็ดันรีบด่วนไปตัดสินว่าไม่มีการทำเมาลิดในสุนนะฮฺ ไม่เจอหลักฐานแล้วดันไปบอกว่าไม่มี! เอา...เอางัยเอากันแล่งกันให้หร๋อย!

وبالله التوفيق والهداية

ยูโส้ป หาดใหญ่ใน

  • บุคคลทั่วไป
การทำเมาลิด (ถามต่อจากครั้งก่อน)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กันยายน 28, 2012, 11:29:49 pm »
ผู้ริเริ่มทำเมาลิดโดยฉลองแสดงความยินดีกับวันประสูตของท่านนบีมุหัมมัด(ซ.ล.) คือตัวของท่านนบีมุหัมมัด ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เอง ท่านอิมามมุสลิมได้รายงานจากท่านอบีเกาะตาดะฮ์ว่า

سئل رسول الله صلى الله عليه وسلم عن صوم يوم الإثنين فقال : ذلك يوم ولدت فيه وأنزل على

\"ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์(ซ.ล.)ถูกถามเกี่ยวกับการถือศีลอดในวันจันทร์ ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์(ซ.ล.)กล่าวตอบว่า \"ดังกล่าวนั้น (เพราะเป็น ) วันที่ฉันเกิด และ(อัลกุรอาน)ถูกประทานลงมาแก่ฉัน\" รายงายโดยท่าน มุสลิมแสดงให้เห็นว่าท่านรำลึกถึงวันที่ท่านเกิด ในฮาดีสนั้แสดงให้ได้เห็นว่า มีทั้งฮูกุ่ม มีทั้งอิลละ เมือไม่ฮูกุ่ม ไม่ มีอิลละ ฮูกุ่มก็คือถือบวชในวันจันทร์ อิลละก็คือ เพือรำลึกนึงถึงวันที่ท่านได้ประสูติ นี่แหละจึงแสดงให้เห็นว่าการจัดงานเมาลิดมีทั้งซุนนะ เกาลีหย๊ะ และ ซุนหนะเฟียะลีหย๊ะ การทำเมาลิดเนี่ยรูปแบบที่ว่า เช่น การซอดาเกาะ การเล่าชีวะประวัติ การถือศิลอด ตกลงการจัดเมาลิดรูปแบที่ว่าแสดงให้เห็นได้เลยทันทีว่า มีทั้งซุนนะเกาลีหยะ และซุนหนะเฟียลีหย๊ะ นี่เหรอที่เป็นบิดอะ ที่บางกลุ่มต่างรุมกันประนาม เช่น การซอดาเกาะ การเล่าชีวะประวัติ การถือศิลอด การซอลาวาต แม้แต่ อบูลาฮับ วันที่ท่านนบีมูหำหมัด ซอลลัลลอฮูอาลัยฮีวาซัลลัม ได้เกิดมานั้น อบูลาฮับ ยังดีใจ จึงได้ปล่อยทาส ชื่อ สุไหวบะ อัสสะลามีหย๊ะ เป็นเหตุให้ อบูลาฮับ ได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษทุกๆคืนวันจัทร์ คนที่ไม่ทำเมาลิด ความคิดผนนะ เลวกว่าอบูลาฮับเสียอีก เพราะอบูลาฮับมันยังรำลึกนึงถึงท่านบนีได้เกิดมา นี่เหรอที่ท่านอาลี บอกว่าไม่มีที่ท่านนบีไม่ได้รำลึกถึงวันที่ท่านประสูติ เช่นการซอลาวัต อัลลอฮฺ   กล่าวว่า
إِنَّ اللَّهَ وَمَلائِكَتَهُ يُصَلُّونَ عَلَى النَّبِيِّ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا صَلُّوا عَلَيْهِ وَسَلِّمُوا تَسْلِيمًا
 
“แท้จริงอัลลอฮฺและมะลาอิกะฮฺของพระองค์ศอลาวาตให้แก่นบี โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงศอลาวาตและสลามแก่เขา(นบี)เถิด”
 ท่าน อิมามอัศสะยูฏีย์  ได้กล่าวไว้ในหนังสือ  อัลหาวีย์  ลิลฟาตาวา  โดยตั้งหัวข้อบทที่ว่าด้วยเรื่อง \"หุสนุลมักซิด ฟี อะมะลิลเมาลิด\" (เป้าหมายที่ดี  ในการทำเมาลิดนบี)  ว่า \" ได้การมีตั้งคำคำถามขึ้น มาเกี่ยวกับการทำเมาลิดนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมในเดือนรอบิอุลเอาวัล  ว่า  อะไรคือหุกุ่มของเมาลิดนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมตามหลักการของศาสนา?  มันเป็นสิ่งที่ถูกสรรเสริญหรือเป็นสิ่งที่ถูกตำหนิ ?  ผู้กระทำจะได้รับผลบุญหรือไม่ ?    คำตอบก็คือ   ตามทัศนะของฉัน คือ รากฐานเดิมจากการทำเมาลิดนั้น  หมายถึง การที่บรรดาผู้คนรวมตัวกัน  และก็มีการอ่านอายะฮ์ที่ง่ายๆ จากอัลกุรอาน   มีการเล่าบรรดาหะดิษที่รายงานเกี่ยวกับการริเริ่มภาระกิจของท่านนบีและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเกิดของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)จากบรรดาสัญลักษณ์ ต่างๆ  และมีการหยิบยื่นอาหารเพื่อพวกเขาจะได้รับประทานกัน  แล้วพวกเขาก็แยกย้ายกันไปโดยไม่ได้เพิ่มมากไปกว่าสิ่งดังกล่าว  มันเป็นการกระทำขึ้นมาใหม่ที่ดี  ซึ่งผู้ที่กระทำจะได้รับผลบุญ  เพราะมันเป็นการให้เกียตริท่านนบี(ซ.ล.)  และเป็นการแสดงออกซึ่งความดีใจในการประสูติอันมีเกียรติของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม   ดู  หนังสือ  อัลหาวีย์  ลิลฟะตาวา  เล่ม 1  หน้า 221 - 222  ดารุลฟิกรฺ
มีรายงานจากท่าน อับดุลเลาะฮฺ บิน อัมรุบนิลอาศ ท่านได้ยินท่านนบี  กล่าวว่า
فَإِنَّهُ مَنْ صَلَّى عَلَيَّ صَلَاةً صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ بِهَا عَشْرًا
“ใครที่ศอลาวาตให้แก่ฉันเพียงครั้งเดียว อัลลอฮฺจะสรรเสริญให้แก่เขา 10 ครั้ง”
 
        นี่ถือว่าเป็นการได้กำไรอย่างมากมายเลยจากการศอลาวาตให้แก่ท่านร่อซูล ในทุกๆ 1 ครั้ง เขาจะได้รับการสรรเสริญกลับมาทั้งหมดจากชั้นฟ้าและแผ่นดิน แล้วมันจะดีแค่ไหนที่พระองค์อัลลอฮฺ   จะสรรเสริญให้แก่เราถึง 10 ครั้ง
เพราะเหตุนี้ในวันนั้เราจึงรำลึกนึกถึงท่านโดยร่วมกันซอลาวต ให้มากกว่าวันอื่น เป็นพิเศษ
โดยมีในบันทึกของอิหม่ามติรมีซีย์ รายงานโดยอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด ท่านร่อซูล   ได้กล่าวว่า
أَوْلَى النَّاسِ بِي يَوْمَ الْقِيَامَةِ أَكْثَرُهُمْ عَلَيَّ صَلَاةً
“คนที่ดีที่สุดสำหรับฉันในวันกิยามะห์นั้นคือ ผู้ที่ให้ศอลาวาตแก่ฉันอย่างมากมาย”
ท่าน อัมรุบนิลอาซ ยังรายงานอีกว่า ท่านนบี  กล่าวว่า
من صلّى عليّ واحدة صلى الله عليه بها عشرا
“ใครที่ศอลาวาตให้แก่ฉัน 1 ครั้ง อัลลอฮฺจะสรรเสริญให้แก่เขา 10 ครั้ง”
ส่วนคำตอบของท่านอาลีนั้นที่ว่าไม่มีเมาลิดนั้น ท่านอาลีไปเห็นการทำเมาลิดยังไงผมก็ไม่ทราบ ท่านอาลีก็เลยบอกว่าไมีมี ผมไม่โทษหรอก ถึงยังไงผิดพลาดประการใดขอให้ท่านช่วยชี้แนะด้วย ถ้าบิดอะ หรือไม่มีตรงไหน รบกวนช่วยบอกด้วยครับ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : การทำเมาลิด (ถามต่อจากครั้งก่อน)
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: ตุลาคม 15, 2012, 08:57:15 am »
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله
محمد بن عبد الله المصطفى بشرى عيسى ودعوة ابراهيم الخليل
خاتم الأنبياء والمرسلين المبعوث رحمة للعا لمين وعلى آله الطاهرين وصحابته أجمعين أمابعد
فالسلام عليكم ورحمة الله وبركاته
   
ถึงคุณยูโส๊ป หาดใหญ่ใน

คุณยูโส๊ปอ้างอัล-หะดีษเรื่องการถือศีลอดวันจันทร์ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่บันทึกโดยอิมามมุสลิมและสรุปว่า

อ้างถึง
“การจัดงานเมาลิดมีทั้งสุนนะฮฺ เกาวฺลียะฮฺ และสุนนะฮฺ ฟิอฺลียะฮฺ” พร้อมกับอ้างเรื่องของอบูละฮับและระบุว่า “คนที่ไม่ทำเมาลิด ความคิดผมนะเลวกว่าอบูละฮับเสียอีก เพราะอบูละฮับมันยังรำลึกถึงท่านนบีได้เกิดมา” และย้ำว่า “นี่เหรอ ที่ท่านอาลีบอกว่าไม่มีที่ท่านนบีไม่ได้รำลึกถึงวันที่ท่านประสูติ”


คุณยูโส๊ปเข้าใจผิดในเรื่องนี้  เพราะสิ่งที่ผมบอกไม่ใช่เรื่องที่ว่า ท่านนบีไม่ได้รำลึกถึงวันที่ท่านถือกำเนิด แต่สิ่งที่ผมบอกก็คือการจัดงานเมาลิดในรูปแบบที่บ้านเรากระทำ เป็นสิ่งที่ไม่พบในสุนนะฮฺอย่างชัดเจนและเป็นหลักฐานตรงๆ ในเรื่องนี้


เพราะถ้าปรากฏมีหลักฐานเรื่องเมาลิดตรงๆ และชัดเจน นักวิชาการในอดีตก็คงไม่มีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องนี้ และถ้าอัล-หะดีษที่บันทึกโดยอิมามมุสลิมเป็นหลักฐานที่ชี้ชัดและเด็ดขาดว่าการจัดงานเมาลิดเป็นสุนนะฮฺ ทั้งในฐานะหลักฐานสุนนะฮฺเกาวฺลียะฮฺและฟิอฺลียะฮฺ เหตุไฉนประเด็นเรื่องการทำเมาลิดจึงเป็นสิ่งที่นักวิชาการในอดีตซึ่งเห็นด้วยว่าอนุญาตให้จัดงานเมาลิดนบีได้จึงกล่าวว่า เป็นบิดอะฮฺที่ดี (บิดอะฮฺหะสะนะฮฺ)


เช่น อิมาม อัสสุยูฏียฺ (ร.ฮ.) กล่าวไว้ในประโยคที่คุณยูโส๊ปยกมาจากตำรา อัล-หาวียฺ ลิลฟะตาวา เล่มที่ 1 หน้า 222 บรรทัดบนสุดท้ายของหน้าว่า  ذلك هُوَمِنَ الْبِدَعِ الْحَسَنَةِ ...  ซึ่งคุณยูโส๊ปแปลว่า “มันเป็นการกระทำขึ้นใหม่ที่ดี” ด้วยเล่า? และอิมาม อัส-สุยูฏียฺ (ร.ฎ.) ก็กล่าวต่อมาหลังจากประโยคที่คุณยูโส๊ปยกมาและไม่นำมาอ้างประกอบคือประโยคที่ว่า

وأَوَّلُ مَنْ أَحدَثَ فِعْلَ ذَلِكَ صاحِبُ أَرْبِلَ الملِكُ المظَفَّرُ أبوسعيد كوكبرى بن زين الدين علي بن بكتكين
“และบุคคลแรกที่กระทำการกระทำดังกล่าวขึ้นใหม่คือ เจ้าครองนคร อัรฺบิลฺ (เมืองหนึ่งทางตอนเหนือของอิรัก) อัล-มะลิก อัล-มุซ็อฟฺฟัรฺ อบูสะอีด กู๊กบะรียฺ อิบนุ ซัยนิดดีน อะลี อิบนิ บุ๊กตะกีน...”


ซึ่งอิมามอัสสุยูฏียฺ (ร.ฮ.) อ้างถึงตำราของอิบนุ กะษีร ว่า กษัตริย์ผู้นี้เสียชีวิตขณะปิดล้อมพวกฝรั่ง (ครูเสด) ที่เมืองอักก้า (ในปาเลสไตน์) เมื่อปีฮ.ศ. 630

(อัล-หาวียฺ ลิลฟะตาวา เล่มที่ 1 หน้า 22 เรื่อง หุสนุ๊ล มักศิด ฟี อะมะลิลเมาลิด)


หากว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) คือผู้ที่ริเริ่มทำเมาลิดโยถือศีลอดในวันจันทร์ตามที่คุณยูโส๊ปจั่วหัวเรื่องเอาไว้ในประโยคแรก ทำไมอิมามอัส-สุยูฏียฺ (ร.ฮ.) จึงกล่าวว่า คนแรกที่จัดงานเมาลิดคือ กษัตริย์เมืองอัรบิลฺซึ่งเพิ่งจะเกิดขึ้นหลังจากนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) วะฟาตไปแล้วถึง 600 ปีเศษ คุณยูโส๊ปที่เคารพกรุณาช่วยอธิบายที


และหากการจัดงานเมาลิดเป็นสุนนะฮฺเกาลียะฮฺและฟิอฺลียะฮฺ ทำไมอิมามอัส-สุยูฏียฺ (ร.ฮ.) จึงกล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาบิดอะฮฺที่ดี


ต่อมาในหน้าที่ 223 เล่มเดียวกัน อิมามอัส-สุยูฏียฺ (ร.ฮ.) ก็ตอบโต้อัช-ชัยคฺ ตาญุดดีน อุมัร อิบนุ อะลี อัล-ลัคมียฺ อัส-สะกันดะรียฺ ที่รู้จักกันว่า อัล-ฟากิฮานียฺ นักวิชาการมาลิกียะฮฺรุ่นหลังที่อ้างว่า การทำเมาลิดเป็นบิดอะฮฺที่ถูกตำหนิ (บิดอะฮฺมัซฺมูมะฮฺ) ในตำราของอัลฟากิฮานียฺที่ชื่อ “อัล-เมาวฺริด ฟิล กะลาม อะลา อะมะลิลเมาลิด” เพราะอะไรหรือ? เพราะนักวิชาการ 2 ท่านนี้มีความเห็นต่างกัน คนแรกว่า บิดอะฮฺ หะสะนะฮฺ คนหลังว่า บิดอะฮฺ มัซฺมูมะฮฺ


ต่อมาในหน้า 226 เล่มเดียวกัน อิมามอัส-สุยูฏียฺ (ร.ฮ.) ก็กล่าวถึงอิมามอบูอับดิลลาฮิ อัล-ห๊าจฺญ์ ซึ่งแต่งตำราที่ชื่อ “อัล-มัดค็อลฺ อะลา อะมะลิล เมาลิด” และแสดงความชื่นชมต่อเจ้าของตำราเล่มนี้ โดยถ่ายทอดเนื้อหามาประกอบส่วนหนึ่งคือ

فصل في المولد: ومن جملة ما أحدثوه من البدع مع اعتقادهم أن ذلك من أكبر العبادات وإظهار الشعائر ما يفعلونه في شهر ربيع الأول من المولد...

   “บทย่อยว่าด้วยเมาลิด : และส่วนหนึ่งจากประมวลสิ่งที่พวกเขาได้กระทำมันขึ้นใหม่จากบรรดาบิดอะฮฺพร้อกับความเชื่อของพวกเขาว่าสิ่งดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งจากศาสนกิจที่ยิ่งใหญ่และเป็นการแสดงสัญลัดษณ์ทางศาสนาให้ปรากฏคือสิ่งที่พวกเขาจะกระทำมันในเดือนเราะบีอุลเอาวัลจากเมาลิด”  (หน้า 226 เล่มเดียกัน)


อิมามอัส-สุยูฏียฺ (ร.ฮ.) สรุปเนื้อหาที่อิบนุ อัล-ห๊าจฺญ์ กล่าวว่า อิมาม อิบนุ อัล-ห๊าจฺญ์ ชื่นชมสิ่งที่ปรากฏในงานเมาลิดจากการแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาให้ปรากฏและการขอบคุณ แต่ตำหนิสิ่งที่รวมอยู่ในงานเมาลิดจากเรื่องต้องห้ามและสิ่งไม่ดีทั้งหลาย


ประเด็นของเรายังคงอยู่ในเรื่องที่ว่าอิมาม อิบนะ อัล-ห๊าจฺญ์ ก็ระบุชัดเจนว่า การจัดงานเมาลิดในกรณีที่ปลอดจากสิ่งต้องห้ามและสิ่งไม่ดีถือเป็นบิดอะฮฺเช่นกัน ต่อมาในหน้า 229 เล่มเดียวกัน อิมามอัส-สุยูฏียฺ (ร.ฮ.) อ้างถึงคำตอบของชัยคุลอิสลาม อัล-หาฟิซฺ อบุลฟัฏล์ อะหฺมัด อิบนุ หะญัร ถึงเรื่องการทำเมาลิด ซึ่งตอบว่า

أَصْلُ عَمَلِ الْمولدِ بِدْعَةٌ لم تُنْقَلْ عَنْ أَحَدٍ مِنَ السَّلَفِ الصَّالِحِ مِنَ الْقُرُوْنِ الْثَلَاثَةِ ، ولكنها مع ذلك قَدِاشْتَمَلَتْ على مَحَاسِنَ وضِدِّهَا ، فَمَنْ تَحَرّى في عَمَلِهَاالْمَحَاسِنَ وتَجَنَّبَ ضِدَّهَا كان بدعةً حَسَنَةً وَإِلَّافَلَا...

   “หลักเดิมของการทำเมาลิดนั้นเป็นบิดอะฮฺที่ไม่เคยถูกถ่ายทอดมาจากผู้ใดจากชนรุ่นสะลัฟ ศอลิหฺจากศตวรรษทั้งสาม แต่ทว่าการเป็นบิดอะฮฺพร้อมกับสิ่งดังกล่าวนั้น แน่นอนมันได้ประมวลถึงสิ่งดีๆ หลายอย่างและสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งดีๆ นั้น

ฉะนั้นผู้ใดมุ่งเลือกเอาเฉพาะสิ่งดีๆ ในการทำบิดอะฮฺนั้น และหลีกห่างสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งดีๆ นั้น การทำเมาลิดก็ย่อมเป็นบิดอะฮฺที่ดี และหากไม่เป็นเช่นที่ว่ามาก็ไม่ใช่ (บิดอะฮฺที่ดี).....”


หากว่าการทำเมาลิดเป็นสุนนะฮฺที่ชัดเจนเด็ดขาดเพราะมีหลักฐานทั้งสุนนะฮฺ เกาลียะฮฺ และฟิอฺลียะฮฺ อย่างที่คุณยูโส๊ปว่ามา เหตุไฉนท่านชัยคุลอิสลาม อิบนุ หะญัร (ร.ฮ.) จึงตอบเช่นนั้น


โปรดอย่าลืมว่า เรากำลังพูดถึงประเด็นที่ว่าการทำเมาลิดนบีเป็นบิดอะฮฺ เราไม่ได้พูดถึงกรณีว่ามีหลักฐานประกอบเกี่ยวกับการรำลึกถึงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) การให้ความสำคัญและยกย่องถึงวันเกิดของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) การทำเศาะดะเกาะฮฺ การเศาะละหวาต และการเล่าประวัติของท่าน เพราะเมื่อเรายอมรับว่าการทำเมาลิดเป็นบิดอะฮฺ คือไม่มีในสมัยท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และยุคสะลัฟศอลิหฺ ก็ไม่ได้หมายความว่าประเด็นเรื่องนี้จบอยู่เพียงนั้น คือ การเป็นบิดอะฮฺ


หากแต่ต้องวิเคราะห์ต่อไปว่า บิดอะฮฺที่ว่านั้นเป็นบิดอะฮฺประเภทใด เป็นบิดอะฮฺทางศาสนา (บิดอะฮฺชัรอียะฮฺ) หรือเป็นบิดอะฮฺทางภาษา (บิดอะฮฺ ลุเฆาะวียะฮฺ) โดยยึดหลักที่ว่า ทุกๆ สิ่งที่ไม่มีในสมัยนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) หรือทุกๆ สิ่งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่ได้ทำหรือไม่มีในสมัยชาวสะลัฟ ศอลิหฺ จะต้องเป็นบิดอะฮฺทางศาสนาที่หลงผิด (บิดอะฮฺ เฎาะลาละฮฺ) เสมอไป


เพราะทุกสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนนั้น เรียกว่า บิดอะฮฺ คือเป็นของที่ถูกทำขึ้นใหม่ตามหลักภาษาทั้งสิ้น เช่น คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต การจัดงานน้ำชาการกุศล การจัดทำรายการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ทั้งหมดเรียกว่าบิดอะฮฺทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าเป็นบิดอะฮฺอะไร หรือเป็นบิดอะฮฺประเภทใด ระหว่างบิดอะฮฺทางศาสนา และบิดอะฮฺทางภาษา หรือว่าเป็นบิดอะฮฺดีนียะฮฺ (อุตริกรรมในศาสนา) หรือว่าเป็นบิดอะฮฺทางโลก (บิดอะฮฺดุนยะวียะฮฺ) ที่อยู่ในหมวดมุอามะล๊าต


ซึ่งเรื่องนี้ผมและอาจารย์อีก 2 ท่านที่ร่วมอภิปรายได้วิเคราะห์ไว้แล้ว ถ้าคุณยูโซ๊ปฟังรายละเอียดทั้งหมดของเนื้อหาที่อภิปรายก็จะรู้คำตอบว่ามีข้อสรุปเช่นใดในกรณีนี้


ดังนั้น แนวทางและมุมมองของผมในเรื่องการทำเมาลิดนบีจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ยอมรับว่า การทำเมาลิดนบี เป็นบิดอะฮฺก่อนในเบื้องต้น ซึ่งไม่ได้ค้านกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และทัศนะของนักวิชาการในฝ่ายที่ว่าอนุญาตให้ทำเมาลิดนบีได้ เพราะนักวิชาการฝ่ายนี้ก็ยอมรับว่าเป็นบิดอะฮฺเช่นกัน คือเป็นบิดอะฮฺที่ดี (บิดอะฮฺหะสะนะฮฺ) ไม่ได้ยืนยันในเบื้องแรกว่าเป็นสุนนะฮฺเกาลียะฮฺและฟิอฺลียะฮฺแบบหัวชนฝา


แล้วต่อมาก็พิจารณาเนื้อหาของการทำเมาลิดตลอดจนเป้าหมายของการทำเมาลิดว่ามีหลักฐานแวดล้อมมาสนับสนุนให้กระทำได้หรือไม่ คำพูดของผมที่ยืนยันว่าการทำเมาลิดตามรูปแบบที่กระทำกันในบ้านเราไม่มีในสุนนะฮฺที่ชัดเจนและตรงๆ ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่ได้ค้านกับคำฟัตวาของชัยคุลอิสลาม อิบนุ หะญัร (ร.ฮ.) เลยแม้แต่น้อย


และสอดคล้องกับคำกล่าวของชัยคฺ อะลี มะหฺฟู๊ซฺ ในตำรา อัล-อิบดาอฺ ฟี มะฎ็อรฺ อัล-อิบติดาอฺ หน้า 251 ที่ว่า

وَلَانِزَاعَ في أَنَّهَا مِنَ الْبِدَعِ ، إِنَّمَاالنِّزَاعُ في حُسْنِهَا وَقُبْحِهَا...
   “และไม่มีข้อถกเถียงในประเด็นที่ว่า แท้จริงบรรดาเมาลิด (อัล-มะวาลิด) นั้นเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาบิดอะฮฺ อันที่จริงการถกเถียงนั้นอยู่ในกรณีว่าดีและน่าเกลียดท่านั้น...”


หมายความว่า เรื่องการเป็นบิดอะฮฺนั้นไม่ต้องเถียงกัน แต่เป็นบิดอะฮฺที่ดี (บิดอะฮฺ หะสะนะฮฺ) หรือเป็นบิดอะฮฺที่น่าเกลียด (บิดอะฮฺ เกาะบีหะฮฺ) ตรงนี้แหล่ะที่เขาเถียงกัน


กรณีของอัล-หะดีษที่บันทึกโดยอิมามมุสลิม เรื่องการถือศีลอดวันจันทร์นั้น หากถือเอาคำตอบของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ว่าเป็นอิลละฮฺ (เหตุผล) ของข้อชี้ขาดในการเป็นสุนนะฮฺว่าด้วยการถือศีลอดวันจันทร์ เพราะมีเหตุผลเพื่อรำลึกนึกถึงวันที่ท่านถือกำเนิดก็ไม่ผิดหรอก เนื่องจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ระบุเอาไว้เป็นอิลละฮฺ (เหตุผล) เช่นนั้น และไม่มีผู้ใดปฏิเสธว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ถือกำเนิดวันจันทร์


แต่เมื่อถือเช่นนั้นแล้วก็ต้องถืออิลละฮฺ (เหตุผล) ที่ระบุมาในเรื่องอื่นด้วย เพราะในอัล-หะดีษระบุอีกว่า

قال ذَاكَ يَوْمٌ وُلِدْتُ فِيهِ  وَيَوْمٌ بُعِثْتُ  أَوْ أُنْزِلَ عَلَيَّ فِيهِ
   “ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า : “นั่นนะคือวันที่ฉันถือกำเนิดในวันนั้น และคือวันที่ฉันถูกแต่งตั้งหรือ (อัลกุรอาน) ถูกประทานลงมาเหนือฉันในวันนั้น” (เศาะฮีหฺ มุสลิม บิชัรหินฺ นะวาวียฺ เล่มที่ 8 หน้า 51)


ส่วนตัวบทของอัล-หะดีษที่คุณยูโส๊ปยกมานั้น อยู่ในหน้า 52 ทั้งสองตัวบทรายงานจากท่านอบูเกาะตาดะฮฺ อัล-อันศอรียฺ (ร.ฎ.) และมีรายงานจากเมาลาของท่านอุสามะฮฺ อิบนุ ซัยดฺ (ร.ฎ.) ซึ่งระบุว่า “แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยถือศีลอดวันจันทร์และวันพฤหัสฯ และท่านถูกถามถึงสิ่งดังกล่าว ท่านกล่าวว่า

إِنَّ أَعْمَالَ الْعِبَادِ تُعْرَضُ يَوْمَ الإثْنَيْنِ وَيَوْمَ الْخَمِيسِ
   “แท้จริงบรรดาการประพฤติของปวงบ่าวจะถูกนำเสนอในวันจันทร์และวันพฤหัสฯ” (เอาวฺนุ้ล มะอฺบู๊ด ชัรหุ สุนัน อบีดาวุด เล่มที่ 7 หน้า 100-109 บทที่ 59 เรื่องการถือศีลอดวันจันทร์และวันพฤหัสฯ หะดีษเลขที่ 2419)


ในอัล-หะดีษทั้งหมดที่กล่าวมา มีนัยที่เป็นอิลละฮฺ (เหตุผล) รวมกัน 3 เรื่อง คือการกำเนิดของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) การแต่งตั้งหรือประทานอัลกุรอานให้แก่ท่าน และการที่อะมั้ลของปวงบ่าวจะถูกนำเสนอ ซึ่ง 2 เรื่องแรกอิมาม อัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) อ้างคำกล่าวของอัล-กอฎียฺ อิยาฏ (ร.ฮ.)


ถึงกรณีริวายะฮฺของท่านชุอฺบะฮฺ ที่รายงานด้วยสำนวนกำกวม (วะฮัม) ว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ถูกถามถึงการถือศีลอดในวันจันทร์และวันพฤหัสฯ และระบุในทำนองว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เกิดและได้รับการแต่งตั้งในวันพฤหัสฯ ด้วยว่า

وَيُحْتَمَلُ صِحَّةُ رِوَايَةِ شُعْبَةَ وَيَرْ جِعُ الْوصْفُ بِالْوِلَادَةِ وَالإنْزَالِ إلى الإثنينِ دُوْنَ الخميسِ...
   “และความถูกต้องของริวายะฮฺของชุอฺบะฮฺนั้นจะถูกตีความได้ และการให้คุณลักษณะด้วยการเกิดและการประทาน (อัล-กุรอาน) ลงมานั้นย้อนกลับไปยังวันจันทร์โดยไม่ใช่วันพฤหัสฯ” (เศาะฮีหฺ มุสลิม อ้างแล้ว 8/52)


คำว่า الْوصْفُ بِ   ก็คือ อิลละฮฺ (เหตุผล) ในวิชาอุศูลุลฟิกฮฺ ฉะนั้น การถือศีลอดสุนนะฮฺวันจันทร์จึงเป็นหลักพื้นฐานในข้อชี้ขาด (อัศลุล หุกม์) ส่วนเหตุผล (อิลละฮฺ) ก็คือ การเกิดและการแต่งตั้งหรือการประทานอัล-กุรอาน ไม่ใช่อย่างที่คุณยูโส๊ปกล่าวว่า “ฮุก่มก็คือถือบวชในวันจันทร์ อิลละฮฺก็คือเพื่อรำลึกนึกถึงวันที่ท่านได้ประสูติ”  กล่าวง่ายๆ ก็คือ ทำไมท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงถือศีลอดวันจันทร์ เหตุผล เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เกิดวันจันทร์  ได้รับการแต่งตั้งในวันจันทร์นั่นเอง


ส่วนที่บอกว่าเพื่อรำลึกนั้น นักวิชาการเขาเรียก อัล-อีมาอฺ  ( الْإيْمَاءُ )  ซึ่งเป็นหนึ่งในสองชนิดของตัวบทที่ปรากฏชัด (อันนัศฺ อัช-ซอฮิรฺ) อันเป็นคนละประเภทกับตัวบทที่เด็ดขาด (อันนัศฺ อัล-กอฏิอฺ) เพราะอัล-หะดีษในเศาะฮีหฺมุสลิมใช้สำนวนว่า ذَاكَ ซึ่งเป็นอิสมุลอิชาเราะฮฺ


ในขณะที่หะดีษสำนวนที่สองใช้ว่า  فِيْهِ وُلِدْتُ  ซึ่งเป็นการบอกให้รู้ (อัต-ตัมบีฮฺ) โดยอาศัยกรณีแวดล้อม (เกาะรีนะฮฺ) บ่งถึงสิ่งดังกล่าว เช่นการที่หุก่มตกอยู่ในตำแหน่งการตอบ (ญะว๊าบ) หรือหุก่มนั้นมีการบอกลักษณะ (อัล-วัศฟ์) ควบคู่มาด้วย


ตัวบทแบบนี้นักอุศูลุลฟิกฮฺเขาเรียกว่า ตัวบทซึ่งบ่งถึงความเป็นเหตุผลโดยใช้แนวทางอัล-อีมาอฺ (คือบ่งชี้เป็นนัย) ส่วนหะดีษในสุนัน อบีดาวูดนั้น ก็เป้นตัวบทที่ปรากฏชัดเช่นกัน (อันนัศฺ อัซ-ซอฮิร) แต่เป็นชนิดที่ 1 เพราะใช้บุพบทหรือพยัญชนะที่บ่งถึงการให้เหตุผล (หุรูฟ อัต-ตะอฺลีล) คือ  إنّ  นั่นเอง


ยิ่งไปกว่านั้น เหตุผล (อิลละฮฺ) ในอัล-หะดีษของอิมามมุสลิมนั้นถือเป็นอิลละฮฺกอศิเราะฮฺ (เหตุผลที่จำกัดเฉพาะ) หมายถึงเหตุผลที่ไม่เลยออกจากตำแหน่งที่เหตุผลนั้นปรากฏมีอยู่ ไม่ว่าเหตุผลนั้นจะถูกกำหนดเป็นตัวบท (อิลละฮฺ มันศูเศาะฮฺ) หรือว่าเป็นเหตุผลที่ถูกวิเคราะห์ออกมา (อิลละฮฺ มุสตัมบะเฏาะฮฺ) ก็ตาม


เพราะในวันจันทร์ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ถือกำเนิด ถูกแต่งตั้ง ถูกประทานอัล-กุรอานลงมาให้แก่ท่าน เป็นเหตุผลเฉพาะของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่คนอื่นไม่เกี่ยวข้องด้วย


ส่วนในอัล-หะดีษของสุนัน อบีดาวูดนั้น เป็นอิลละฮฺ มุตะอัดดียะฮฺ คือเลยออกจากตำแหน่งที่มีอิลละฮฺปรากฏอยู่ไปยังคนอื่นด้วยเหตุใช้สำนวนว่า إِنَّ أَعْمَالَ  الْعِبَادِ และการถือศีลอดในวันจันทร์และวันพฤหัสฯ ที่มีข้อชี้ขาด (หุกม์) ว่าเป็นสุนนะฮฺนั้น เพราะมีสุนนะฮฺ ฟิอฺลียะฮฺ คือการกระทำของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เป็นหลักพื้นฐานอยู่แล้วดังมีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) และท่านหญิงหัฟเศาะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า

كان رسول الله صلى الله عليه وسلم يَصُوْمُ الْإِثْنَيْنِ وَالْخَمِيْسَ
   “ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยถือศีลอดวันจันทร์และวันพฤหัสฯ” (บันทึกโดย อัน-นะสาอียฺ)


และอัล-หะดีษที่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) รายงานว่า
كان رسول الله صلى الله عليه وسلم يَتَحَرّى صَوْمَ الْإِثْنَيْنِ وَالْخَمِيْسِ
   “ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) มักจะเลือกถือศีลอดวันจันทร์และวันพฤหัสฯ (อย่างจริงจัง)” (บันทึกโดย อัต-ติรมีซียฺ เป็นหะดีษหะสัน และอิมาม อะห์มัดในมุสนัด 24509)


และอัลหะดีษที่รายงานโดยอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) จากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ว่า “บรรดาอะมัลทั้งหลายจะถูกนำเสนอในวันจันทร์และวันพฤหัสฯ ดังนั้นฉันจึงชอบที่อะมัลของฉันจะถูกนำเสนอในสภาพที่ฉันถือศีลอด” (บันทึกโดย อัต-ติรมีซียฺ (747) เป็นหะดีษหะสัน)(ดู นุซฮะตุ้ลมุตตะกีน ชัรหุริยาฎิศศอลิหีน หน้า 470 บทที่ 229)


ฉนั้น คำพูดของคุณยูโส๊ปที่ว่า ในฮาดีษนั้นแสดงให้เห็นว่ามีทั้งฮูก่ม มีทั้งอิลละฮฺ เมื่อไม่(มี) ฮุก่ม (ก็) ไม่มีอิลละฮฺ” เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเพราะข้อชี้ขาด (หุกม์) ในการเป็นสุนนะฮฺให้ถือศีลอดวันจันทร์นั้นมีตัวบท (นัศฺ กอฏิอฺ) จากการกระทำเป็นประจำของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) คือสุนนะฮฺ ฟิอฺลียะฮฺอยู่แล้ว ซึ่งตัวบทนั้นไม่มีการระบุถึงอิลละฮฺด้วยซ้ำไป  


และตัวบทที่เป็นสุนนะฮฺเกาวฺลียะฮฺและมีอิลละฮฺมุตะอัดดียะฮฺก็คือ อัล-หะดีษที่พูดถึงเรื่องการที่อะมัลจะถูกนำเสนอในวันจันทร์และวันพฤหัสฯ


ส่วนการให้เหตุผลด้วยอิลละฮฺ กอศิเราะฮฺ ในอัล-หะดีษที่รายงานโดยอิมามมุสลิมเรื่องการถือศีลอดวันจันทร์ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) นั้นส่งผลทำให้มุกัลลัฟรู้ถึงการที่หุก่มนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของประเด็นที่เกี่ยวกับอัล-มัศละหะฮฺและสอดคล้องกับหิกมะฮฺ จิตใจของมุ่กัลลัฟก็จะโน้มเอียงไปยังการยอมรับหุ่ก่มและการให้เหตุผล (อัต-ตะอฺลีล) ก็เป็นปัจจัยกระตุ้นให้น้อมนำปฏิบัติตาม


และการรู้ถึงความจำกัดของหู่ก่มเฉพาะตำแหน่งของตัวบทและการไม่มีหุก่มนั้นจากประเด็นอื่นถือเป็นคุณประโยชน์ (ฟะวาอิด) ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด


(อัล-มุสตัศฟา มิน อิลมิลอุศูล ; อิมาม อัล-เฆาะซาลียฺ 2/98 , หาชิยะฮฺ อะลา ชัรหิล ญะล้าล อัล-มะหัลลียฺ อะลา ญัมอิล ญะวามิอฺ อิมาม อิบนุ อัส-สุบกียฺ , อัล-บันนานียฺ 2/200 , ชัรหุ อัล-อะฎุด อะลา มุคตะศ็อรฺ อัล-มุนตะฮา 2/218 , อัล-อิหฺกาม ฟี อุศูลิลอะหฺกามฺ ; อัล-อามิดียฺ 3/20)


ดังนั้น การที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ถือกำเนิดในวันจันทร์ ได้รับการแต่งตั้ง และอัลกุรอานถูกประทานลงมาให้แก่ท่าน (คือเรี่มประทานลงมาให้แก่ท่านในวันจันทร์ ที่ 17 เดือนเราะมะฎอน – ดู นุซฮะตุลมุตตะกีน หน้า 470 - ) จึงเป็นอิลละฮฺ (เหตุผล) ประเภทกิศิเราะฮฺ


ซึ่งอิมามมาลิก (ร.ฮ.) นักวิชาการฝ่ายอัช-ฟิอียฺ , อัล-หะนาบิละฮฺ และนักวิชาการฟิกฮฺส่วนมากรวมถึงนักมุตกัลลิมีน จะระบุว่า การให้เหตุผล (อัต-ตะลฺลีล) ด้วยอิลละฮฺกอศิเราะฮฺเป็นสิ่งที่ใช้ได้ แต่ต้องไม่ได้เป็นไปเพื่อการกิยาส ก็สอดคล้องกับฝ่ายอัล-หะนะฟียะฮฺ เพราะได้ข้อสรุปตรงกันว่า การกิยาสจะเกิดขึ้นจริงได้ด้วยอิลละฮฺ มุตะอัดดียะฮฺ มิใช่อิลละฮิ กอศิเราะฮฺ

(อุศูลุลฟิกฮฺ อัล-อิสลามียฺ ; ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซ-ซุหัยลียฺ 1/657-658)


ส่วนการให้เหตุผลว่า เพื่อรำลึกถึงวันและเหตุการณ์ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) นั้นมิใช่ อิลละฮฺ อย่างที่คุณยูโส๊ปว่ามา แต่เป็น หิกมะฮฺ (วิทยปัญญา) ซึ่งปวงปราชญ์นักอุศูลุลฟิกฮฺยืนยันว่า ห้ามการให้เหตุผลด้วยหิกมะฮฺโดยไร้เงื่อนไข ไม่ว่าหิกมะฮฺนั้นจะซ่อนเร้นหรือชัดเจน แน่นอนหรือไม่แน่นอนก็ตาม (อ้างแล้ว 1/650) ซึ่งการวิเคราะห์เช่นนี้ไม่ได้ขัดต่อคำกล่าวของนักอุศูลุลฟิกฮฺที่ว่า

 أَنَّ الحُكْمَ يدُورُ معَ عِلَّتِهِ لامع حكمته وُجُوداً وَعَدَماً
   “แท้จริงการหุก่ม (ข้อชี้ขาด) นั้นจะวนเวียนอยู่พร้อมกับเหตุผลของมันหาใช่พร้อมกับหิกมะฮฺของมันในการมีหรือไม่มี”


คือ หุก่มนั้นจะมีโดยที่อิลละฮฺนั้นมี และหุก่มจะไม่มีโดยที่อิลละฮฺนั้นไม่มี เพราะอิลละฮฺในอัล-หะดีษของอิมามมุสลิมคือการเกิดและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และในอัล-หะดีษของท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) เป็นเรื่องของการที่อะมัลถูกนำเสนอและนบีท่านก็ชอบให้อะมัลของท่านถูกนำเสนอในสภาพที่ถือศีลอดในวันจันทร์และวันพฤหัสฯ ซึ่งเป็นอิลละฮฺ มุตะอัดดียะฮฺดังที่กล่าวมา  


ส่วนการรำลึกหรือเพื่อให้รำลำถึงเหตุการณ์สำคัญนั้นเป็นเพียงหิกมะฮฺซึ่งแตกต่างจากอิลละฮฺ (เหตุผล) และสะบับ (สาเหตุ) ในวิชาอุศูลุลฟิกฮฺ



กรณีของอบูละฮับนั้น ผมเองก็ยกบทกวีของอัล-หาฟิซฺ ชัมสุดดีน อิบนุ นาศิริดดีน อัด-ดิมัชกียฺ ที่ระบุไว้ในตำราของท่านที่ชื่อ เมาวฺริด อัศ-ศอดียฺ ฟี เมาลิด อัล-ฮาดียฺ ที่เริ่มว่า

إذا كـــان هذا كافرا جاء ذمه  ،   وثبت يداه في الجحيم مخـــــلدا

และจบลงด้วยประโยคที่ว่า
فما الظن بالعبد الذي طول عمره   ،    بأحمد مسرورا ومات موحــــدا


ซึ่งผมได้นำบทกวีและเรื่องของอบูละฮับมาประกอบประเด็นที่ว่า การรำลึกถึงด้วยความดีใจในการถือกำเนิดของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เป็นสิ่งที่สนับสนุนว่าการทำเมาลิดด้วยเป้าหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่กระทำได้ในการอภิปรายร่วมของผม


แต่ก็เป็นคนละประเด็นกับกรณีที่ว่าการทำเมาลิดเป็นสิ่งที่มีหรือไม่ในสุนนะฮฺนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ซึ่งประเด็นนี้แหล่ะที่คุณยูโส๊ปติดใจและวิภาษผม ทั้งๆ ที่ผมบอกไปแล้วว่า สำหรับผมมันเลยจากประเด็นนี้ไปแล้ว และยืนยันว่า บทสรุปในการอภิปรายสำคัญกว่า


คุณยูโส๊ปก็ยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องเศาะละหฺวาต แล้วก็ยกทั้งอัล-กุรอาน และสุนนะฮฺว่าด้วยเรื่องเศาะละหฺวาต ซึ่งผมก็อธิบายไปแล้ว ส่วนที่คุณยูโส๊ปถามว่า ผมไปเห็นการทำเมาลิดยังไงนั้น คุณยูโส๊ปก็ไม่เข้าใจเรื่องอยู่ดี เพราะคุณยูโส๊ปไม่แยกประเด็นให้ละเอียด ไม่มีนิยาม (ตะอฺรีฟ) คำว่า การจัดงานเมาลิดว่าคืออะไร การรำลึกถึงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) การเศาะละหฺวาต การอ่านประวัติของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และการทำเศาะดะเกาะฮฺ นั่นเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อนำเอามารวมเป็นรูปแบบเฉพาะแล้ว นั่นแหล่ะเขาเรียกว่าการทำเมาลิด หรือจัดงานเมาลิด


ดูคำตอบของอิมาม อัส-สุยูฏียฺ (ร.ฮ.) ในหนังสือ อัล-หาวียฺ ลิล ฟะตาวา อีกครั้ง ที่คุณยกมานั่นแหล่ะ อิมาม อัส-สุยูฏียฺ (ร.ฮ.) ท่านให้นิยาม (ตะอฺรีฟ) เอาไว้ สำคัญอยู่แต่ว่าสังเกตุเห็นหรือไม่เท่านั้น



ประเด็นสุดท้าย คือความคิดของคุณยูโส๊ปที่ว่า “คนที่ไม่ทำเมาลิด เลวกว่าอบูละฮับเสียอีก เพราะอบูละฮับมันยังรำลึกถึงท่านนบีได้เกิดมา”


สุบหานัลลอฮฺ! อบูละฮับเป็นชาวนรกตลอดกาล คุณยูโส๊ป! คนที่ไม่มีอีมานอย่างอบูละฮับจะดีกว่าคนที่มีอีมานได้อย่างไร? อบูละฮับรักน้องชายที่ตายจากไปคือ อับดุลลอฮฺ และดีใจที่ได้หลานชายชื่อ “มุฮัมมัด” แต่ความรักนั้นไร้ศรัทธา เมื่อหลานชายที่ชื่อ “มุฮัมมัด” กลายเป็นรสูลของอัลลอฮฺ ผู้ปฏิเสธย่อมไม่เท่าเทียมกับผู้ศรัทธา

أَفَمَن كَانَ مُؤْمِنًا كَمَن كَانَ فَاسِقًا  لَّا يَسْتَوُونَ (السجدة ١٨

 لَا يَسْتَوِي أَصْحَابُ النَّارِ وَأَصْحَابُ الْجَنَّةِ (الحشر ٢٠

أَفَمَن يَمْشِي مُكِبًّا عَلَىٰ وَجْهِهِ أَهْدَىٰ أَمَّن يَمْشِي سَوِيًّا عَلَىٰ صِرَاطٍ مُّسْتَقِيمٍ (الملك ٢٢


ต่อให้เรื่องของอบูละฮับที่ได้รับการลดหย่อนผ่อมโทษในทุกคืนวันจันทร์ เพราะดีใจที่ได้หลานชายและปล่อยทาสหญิงที่ชื่อ ษุวัยยะฮฺเป็นเรื่องจริงก็ตามเถอะ อบูละฮับก็คือชาวนรกด้วยตัวบทที่เด็ดขาด และปฏิเสธไม่ได้ เพราะถ้าปฏิเสธก็มุรตัด วัลอิยาซุบิลลาฮฺ


ส่วนการไม่ได้ทำเมาลิดของผู้ศรัทธา ซึ่งคำว่าผู้ศรัทธาก็คือผู้ที่เชื่อนบี รักนบี และปฏิบัติตามสุนนะฮฺของนบี และเขาก็หลีกห่างจากสิ่งที่นักวิชาการขัดแย้งกันว่าเป็นบิดอะฮฺหรือไม่


แล้วเขาก็ไม่ทำสิ่งนั้นเพราะนักวิชาการเถียงกัน และเลือกกระทำสิ่งที่เป็นสุนนะฮฺที่ชัดเจนซึ่งไม่มีข้อถกเถียงกัน โดยที่ฟัรฎูของเขาไม่ได้บกพร่อง แล้วเราจะคิดได้อย่างไรว่าคนที่ปฏิบัติตนเช่นนั้นเลวกว่าอบูละฮับเพียงแค่การที่เขามิได้ทำเมาลิดนบี ซึ่งไม่มีผู้ใดระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งจากอิบาดะฮฺที่เป็นฟัรฎู เช่น อัรกานุลอิสลามทั้ง 5 ประการ


จริงอยู่คนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำเมาลิดเพราะถือว่าเป็นบิดอะฮฺทางศาสนา แต่บิดอะฮฺที่ว่านี้ก็ไม่ใช่บิดอะฮฺมุ่กัฟฟิเราะฮฺ ที่ทำให้ตกศาสนา และคนที่เห็นด้วยกับการทำเมาลิดเพราะเขาถือว่าทำได้และสมควรทำ แต่การทำเมาลิดก็ไม่ใช่ฟัรฎู ซึ่งเป็นเรื่องวาญิบที่ไม่ทำแล้วจะเกิดโทษ ทั้งสองฝ่ายคือผู้ศรัทธา ไม่มีฝ่ายไหนเป็นกาฟิรหรือตกศาสนา


และทั้งสองฝ่ายก็ย่อมดีกว่าอบูละฮับอย่างแน่นอน การคิดว่าคนที่ไม่ทำเมาลิดเลวกว่าอบูละฮับจึงเป็นสิ่งที่คุณยูโส๊ปต้องทบทวนและละเลิกความคิดเช่นนั้นเสีย เพราะสุ่มเสี่ยงกันในเรื่องอะกีดะฮฺ นี่แหล่ะคือสิ่งที่ผมขอชี้แนะแก่คุณยูโส๊ปตามที่ขอมา

والله ﻣﺴﺌﻮل أن يهدينا جميعاإلى سواءالسبيل
والسلام عليكم ورحمة الله وبركاته متحركة

อาลี เสือสมิง
บ้านป่า สวนหลวง  บางกอก