การไปทำฮัจย์ของภรรยาที่สามีเสียชีวิต  (อ่าน 7959 ครั้ง)

อิดริส

  • บุคคลทั่วไป
salam ท่านอาจารย์ มีสามี ภรรยาและลูกสาว จำนวน ๓ คน มีประสงค์ไปทำฮัจย์กับแซะซึ่งมีศักดิ์เป็นหลาน(ลูกของพี่ชายของสามี) พร้อมได้จ่ายเงินในการไปทำฮัจย์เรียบร้อยแล้ว ก่อนไปทำฮัจย์ ประมาณ ๑๐ วัน สามีได้เสียชีวิตลง ขอถามท่านอาจารย์ ดังนี้
๑ แซะซึ่งมีศักดิ์เป็นหลาน(ลูกของพี่ชายของสามี) เป็นมะเร็มของภรรยาผู้ตายหรือไม่ครับ
๒ อิดดะของภรรยาที่บอกว่า อย่าออกนอกบ้านยกเว้นจำเป็นนั้น จำนวน ๔ เดือน ๑๐ วัน ช่วยอธิบายด้วยครับ
๓ สรุปว่าภรรยาและลูกสาว จะไปทำฮัจย์ได้หรือไม่ เพราะมีท่านครูหลายท่าน ตอบไม่เหมือนกัน บางท่านว่าไม่ต้องไป บางท่านว่าไปได้ ขอความกระจ่างด้วยครับ
ขอให้ท่านอาจารย์มีสุขภาพที่ดี ญาซากัลลอฮ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : การไปทำฮัจย์ของภรรยาที่สามีเสียชีวิต
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 27, 2012, 10:26:45 am »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

1.   แซะฮฺซึ่งมีศักดิ์เป็นหลาน เพราะเป็นลูกของพี่ชายของสามีนั้นถือเป็นมะหฺร็อมของภรรยาผู้ตายหรือไม่? ประเด็นนี้น่าคิด เพราะผู้ตายเป็นอาแท้ๆ (น้องของพ่อ) ของแซะฮฺซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานชายแท้ๆ ของผู้ตาย ภรรยาของผู้ตายก็ย่อมมีศักดิ์เป็นอาสะใภ้ของแซะฮฺนั่นเอง แต่ทว่า อาสะใภ้ก็ไม่ใช่อาแท้ๆ (คือไม่ใช่น้องสาวของพ่อแซะฮฺ) หากแต่เป็นน้องสะใภ้ของพ่อแซะฮฺ


ดังนั้นระหว่างพ่อของแซะฮฺกับน้องสะใภ้ (คือภรรยาของน้องชายของพ่อแซะฮฺ) ก็ย่อมมิใช่มะฮฺร็อมระหว่างกันแล้ว สมมุติว่าพ่อของแซะฮฺจะแต่งงานกับน้องสะใภ้ที่กลายเป็นอดีตไปแล้ว (เพราะสามีเสียชีวิต) ก็ย่อมแต่งงานระหว่างกันได้เพราะน้องสะใภ้มิใช่มะหฺร็อมของพ่อแซะฮฺนั่นเอง (คือไม่ใช่น้องสาวแท้ๆ) อันนี้ชั้นนึงแล้วในกรณีของพ่อแซะฮฺกับน้องสะใภ้


พอมาดูชั้นถัดลงมาคือแซะฮฺ แซะฮฺมีศักดิ์เป็นหลานก็จริงอยู่ แต่ไม่ใช่หลานแท้ๆ ของอาสะใภ้ หากแต่เป็นลูกของพี่ชายสามี ดังนั้นถ้าสามีของอาสะใภ้เสียชีวิต แซะฮฺก็สามารถแต่งงานกับอาสะใภ้ได้ เพราะว่าอาสะใภ้ไม่ใช่น้องสาวแท้ๆ ของพ่อแซะฮฺ แต่เป็นเพียงน้องสะใภ้ของพ่อแซะฮฺเท่านั้น เมื่อไม่ใช่น้องสาวของพ่อตัวคืออาหญิงแท้ๆ ก็ย่อมมิใช่มะหฺร็อมระหว่างกัน


ดังนั้นแซะฮฺจึงไม่ใช่มะหฺร็อมของอาสะใภ้ ในกรณีของลูกสาวของอาสะใภ้ก็เช่นกัน มีศักดิ์เป็นลูกผู้น้องของแซะฮฺ ซึ่งมิใช่น้องสาวแท้ๆ ของแซะฮฺ ระหว่างสองคนนี้จึงแต่งงานกันได้ จึงไม่ใช่มะหฺร็อมระหว่างกัน ที่ไล่เรียงลำดับอย่างละเอียดนี้มิใช่เพื่อให้สับสน แต่มุ่งให้เกิดความชัดเจนในกรณีของผู้เป็นมะหฺร็อมระหว่างกัน ว่าใช่หรือไม่ใช่ ก็ขอให้ลองทบทวนไล่เรียงดูช้าๆ


ที่ผมว่าแต่ต้นว่าประเด็นนี้น่าคิดก็เพราะโดยจารีตประเพณีของบ้านเราลำดับศักดิ์ของญาตินั้นอาจจะถือว่าเป็นหลานหรืออา แต่ถ้าไล่เรียงกันจริงๆ หลานที่ห้ามแต่งงานด้วยทางศาสนาคือ ลูกของลูกแท้ๆ ลูกของพี่ชายหรือน้องชายแท้ๆ และลูกของพี่สาวหรือน้องสาวแท้ๆ คำว่าแท้ๆ ก็หมายถึง ร่วมพ่อร่วมแม่ หรือร่วมพ่อ หรือร่วมแม่ เป็นต้น และลุง  + ป้า + อา + น้า ที่ห้ามแต่งงานด้วยทางศาสนาและเป็นมะหฺร็อมนั้น คือพี่ชายหรือน้องชายแท้ๆ ของพ่อตัว และพี่สาวหรือน้องสาวแท้ๆ ของพ่อตัว และพี่สาวหรือน้องสาวแท้ๆ ของแม่ตัว และพี่ชายหรือน้องชายแท้ๆ ของแม่ตัว ว่าง่ายๆ ก็คือ พี่น้องของพ่อแม่ทั้งหญิงและชาย พี่น้องของแม่ทั้งหญิงและชายนั่นเอง



2.   หญิงที่สามีตายโดยที่นางมิได้ตั้งครรภ์อยู่ในเวลานั้น ช่วงระยะเวลาการครองตน (อิดดะฮฺ) ของนางก็คือ 4 เดือน 10 วัน (ตามปฏิทินจันทรคติอิสลาม) ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวศาสนากำหนดให้นางไว้ทุกข์แก่สามีที่เสียชีวิต (อิหฺดาด) คือห้ามแต่งตัวประดับความงาม การใช้ของหอม การสวมใส่เสื้อผ้าสีฉูดฉาดสวยงาม การย้อม การใส่ยาทาตา และการใส่เครื่องประดับจำพวกทองคำ เงิน หรืออื่นๆ


และในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจำเป็นที่นางจะต้องประจำอยู่ภายในบ้านของนางที่ถือครองอิดดะฮฺ และจะต้องไม่ออกจากบ้านยกเว้นเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น เช่น ออกไปซื้อหาอาหาร หรือกรณีต้องการขายทรัพย์สินบางอย่างเพื่อนำมาใช้สอยในการดำรงชีพเมื่อไม่มีบุคคลอื่นทำแทน เป็นต้น (อัล-ฟิกฮุล มันฮะญียฺ 4/162 , 163 , 164)


นักวิชาการทั้ง 4 มัซฮับมีความเห็นตรงกันในกรณีที่มีความจำเป็นหรืออุปสรรคเกิดขึ้นก็อนุญาตให้ออกจากบ้านได้ แต่ในกรณีที่ไม่มีความจำเป็นนั้น ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺถือว่าเป็นที่ต้องห้ามโดยสิ้นเชิงที่นางจะออกจากบ้าน ส่วนมัซฮับอัล-หะนะฟียฺ ระบุว่าไม่ให้ออกจากบ้านในกรณีที่ไม่มีความจำเป็นในยามค่ำคืน แต่ไม่เป็นอะไรในการออกจากบ้านในเวลากลางวันในการทำธุระของนาง สอดคล้องกับมัซฮับมาลิกียฺและหัมบะลียฺที่อนุญาตให้ออกจากบ้านได้ในเวลากลางวันเพื่อทำธุระของนาง  (อัล-ฟิกฮุลลิสลามี่ยฺ ว่า อะดิลละตุฮฺ ; ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซซุหัยลียฺ 7/654 – 656 โดยสรุป)


คำว่า จำเป็นหรือมีอุปสรรคซึ่งไม่ต้องห้ามสำหรับนางที่จะออกจากบ้านก็เช่นกลัวบ้านจะพังหรือจมน้ำหรือศัตรูหรือขโมยหรือไม่มีเงินค่าเช่าบ้านจะจ่ายให้แก่เจ้าของบ้านที่ให้เช่า เป็นต้น ส่วนอุปสรรคก็เช่น ไม่มีคนทำหน้าที่แทนในการซื้อหาอาหาร หรือเป็นพนักงานประจำที่ต้นสังกัดไม่อนุญาตให้ลาหยุดอยู่กับบ้านในช่วงครองตน เป็นต้น


3.   กรณีของลูกสาวของภรรยาผู้เสียชีวิตนั้นไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ถ้าหากว่านางจะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่านางต้องมีมะหฺร็อมหรือมีสามีของนางหรือมีเพื่อนผู้หญิงที่ไว้วางใจได้หลายคนร่วมเดินทางไปด้วย ปัญหาอยู่ที่ผู้เป็นแม่ คือภรรยาของผู้ตายซึ่งสามีเสียชีวิตลงก่อนไปทำฮัจญ์ 10 วัน เพราะนางจำเป็นต้องครองตนและประจำอยู่ในบ้านที่นางครองตนจนกว่าจะครบระยะเวลา 4 เดือน 10 วัน


ถามว่าอนุญาตให้นางออกจากบ้านเพื่อเดินทางไปทำฮัจญ์หรือไม่? คำตอบคือ ไม่อนุญาตให้นางออกจากบ้านเพื่อเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในขณะที่นางยังอยู่ในช่วงระยะเวลาการครองตน (อิดดะฮฺ) เพราะการครองตน (อิดดะฮฺ) เป็นสิ่งที่วาญิบเหนือนางทันทีที่สามีเสียชีวิต แต่การประกอบพิธีฮัจญ์เป็นวาญิบที่อนุญาตให้ล่าช้า (อัต-ตะรอคียฺ) ในการปฏิบัติได้ในทัศนะของอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และอิมามมุฮัมมัด อิบนุ อัล-หะสัน (ร.ฮ.) (กิตาบ อัล-อีฎอหฺ ฟี มะนาสิกิล ฮัจญ์ วัล-อุมเราะฮฺ ; อัน-นะวาวียฺ 104)


และการเสียชีวิตของสามีเกิดขึ้นก่อนการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งหมายความว่า ยังไม่มีการเริ่มต้นประกอบพิธีฮัจญ์ด้วยการครอง อิหฺร็อมแต่อย่างใด


ดังนั้น เมื่อนักวิชาการระบุว่า “หากนางครองอิหฺร็อมภายหลังสามีเฏาะลากนางหรือสามีเสียชีวิตโดยมีการยินยอมจากสามี (ให้นางไปทำฮัจญ์) ก่อนหน้านั้น หรือไม่มีการยินยอมให้ทำฮัจญ์หรืออุมเราะฮฺหรือทั้งสองก็ห้ามมิให้นางออกจากบ้าน ไม่ว่านางจะกลัวการพลาดโอกาสในการประกอบพิธีฮัจญ์หรือไม่ก็ตาม เพราะการยินยอมก่อนการครองอหฺร็อมเป็นโมฆะไปแล้วด้วยการหย่าหรือการเสียชีวิตของสามีในกรณีที่มีการหย่าหรือการเสียชีวิตของสามีในกรณีที่มีการยินยอม และเป็นเพราะไม่มีการยินยอมเกิดขึ้นในกรณีที่สอง” (มุฆนียฺ อัล-มุหฺต๊าจฺญ์ ; อัล-เคาะฏีบ อัช-ชิรฺบีนียฺ เล่มที่ 5/109)


เมื่อนักวิชาการระบุเช่นนี้ ในกรณีที่ยังไม่มีการครองอิหฺร็อมของนางเกิดขึ้นเพราะนางยังไม่ได้เดินทางก็ย่อมสมควรยิ่งในการไม่อนุญาตให้นางเดินทางไประกอบพิธีฮัจญ์ขณะยังอยู่ในช่วงการครองตน ซึ่งการไม่อนุญาตให้เดินทางนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่เป็นฟัรฎูก็ตาม เป็นความเห็นที่สอดคล้องกับข้อชี้ขาดในมัซฮับอัล-หะนะฟียฺ (อัล-ฟิกฮุลอิสลามี่ยฺ ว่า อะดิลละตุฮู ; ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซ-วุหัยลียฺ 7/654)


และชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) ก็ถูกถามว่า สตรีคนหนึ่งตั้งใจจะไปประกอบพิธีฮัจญ์ตัวนางและสามีของนาง ต่อมาสามีของนางเสียชีวิตลงในเดือนชะอฺบาน อนุญาตให้นางไปประกอบพิธีฮัจญ์หรือไม่ ท่านตอบว่า : ไม่มีสิทธิ์สำหรับนางในการที่นางจะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในช่วงการครองตน (อิดดะฮฺ) อันเนื่องมาจากการเสียชีวิต (ของสามี) ในมัซฮับของอิมามทั้ง  4 ท่าน” (ฟะตะวา อันนิสาอฺ ; อิบนุตัยมียะฮฺ หน้า 276 อ้างจาก มัจญ์มูอฺ อัล-ฟะตาวา 34/29)



จึงสรุปได้ว่า กรณีของแม่ (ภรรยาของผู้ตาย) นั้นไม่อนุญาตให้นางเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในช่วงระหว่างการครองตน (อิดดะฮฺ) ของนาง ดังนั้นก็ให้นางเลื่อนการประกอบพิธีฮัจญ์ออกไปก่อน ซึ่งทางแซะฮฺก็คงจะคืนเงินค่าใช้จ่ายให้หรือจะเอายังไง จะจองเอาไว้ก่อนก็ต้องคุยกับแซะฮฺดู ส่วนลูกสาวนั้นถ้าจะไปเลยก็ไปได้ถ้ามีเงื่อนไขที่กล่าวมา แต่ถ้าจะรอไปพร้อมกับคุณแม่ในฮัจญ์ปีต่อๆ ไปก็ลองคุยกันดูครับ

والله أعلم بالصواب