เรื่อง ลูกซินา (รายละเอียดเกี่ยวกับลูกซินา)  (อ่าน 23237 ครั้ง)

daris

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 1
1.อย่างไรถึงจะเรียกว่าลูกซินา บ้างคนว่า 3 เดือน แล้วถ้าทำซินาจริงแต่มาท้องหลังจากนิกะห์แล้วเรียกว่า ลูกซินาหรือไม่   2.ลูกซินาถ้าเป็นหญิงถือว่าไม่ใช่ลูกของพ่อไม่มีสิทธิรับมรดก พ่อเป็นวลีเวลานิกะห์ไม่ได้ สามารถแต่งงานกับพ่อได้ แล้วถ้าเป็น ชาย ฮูกุ่มเดียวกันหรือไม่ 3.การนิกะห์ลูกซินาต้องทำอย่างไร(
ขอละเอียด)   4 .อยากทราบว่าหญิงชายที่ทำการนิกะห์โดยที่ฝ่ายหญิงตั้งท้องนั้นสามารถแต่งกันได้โดยไม่ต้องบอกคนนิกะห์ใช่หรือไม่
5.ถ้าคนนิกะห์ให้ เขาไม่รู้ว่าฝ่ายหญิงท้องจะมีความผิดไหม
6.หลังจากที่ฝ่ายหญิงคลอดบุตรแล้วต้องทำการนิกะห์ใหม่หรือไม่
7.เด็กที่เกิดก่อนการนิกะห์ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรจะเป็นวลีได้หรือไม่เพราะถือว่าเป็นเด็กที่เกิดจากการทำซินา
8.พ่อแม่ทั้งสองฝ่ายรับรู้ว่าฝ่ายหญิงตั้งท้องแล้วทำการนิกะห์ให้ ถือว่าสมบูรณ์หรือไม่ ต้องมีการกำหนดไหมว่าต้องตั้งท้องกี่เดือนถึงกี่เดือนที่ไม่ถือว่าเกิดจากการทำซินา ช่วยอธิบายให้ละเอียดทีนะคะ กรุณาตอบกลับทางอีเมลส์ด้วยนะคะ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : เรื่อง ลูกซินา (รายละเอียดเกี่ยวกับลูกซินา)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 10, 2012, 09:42:36 pm »
คำตอบ الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

1. ลูกซินา ก็คือลูกของแม่ที่ทำซินา (ผิดประเวณี) กับชายอื่นที่มิใช่สามีของตน ถ้าทำซินาจริงแต่มาตั้งท้องหลังจากการนิกะหฺแล้ว ไม่เรียกว่าลูกซินา ยกเว้นนิกะห์กับชายคนหนึ่งแล้ว แต่ทำซินา (ผิดประเวณี) กับชายคนอื่นที่มิใช่สามีของตน ซึ่งหลังจากนิกะห์กับสามี (ชายคนแรก) ยังไม่มีเพศสัมพันธ์กัน หรือสามีไม่มีองคชาติ แล้วหญิงนั้นก็ทำซินากับชายอื่นที่มิใช่สามีของนางจนตั้งท้อง อย่างนี้เรียกว่า ลูกซินา


2. ลูกซินาที่เป็นผู้ชาย ถ้าพ่อทำการลิอาน ก็ไม่ถือว่าเป็นลูกพ่อ แต่เป็นลูกแม่ จึงไม่มีสิทธิรับมรดกจากพ่อ แต่มีสิทธิรับมรดกจากแม่ ส่วนการแต่งงานกับพ่อนั้นทำไม่ได้เพราะเป็นผู้ชายด้วยกัน และในการแต่งงานนั้นลูกผู้ชาย (ฝ่ายชาย) ไม่ต้องมีวะลียฺในการทำข้อตกลงนิกะฮฺแต่อย่างใด


3. ถ้าลูกซินาเป็นชายที่บรรลุศาสนภาวะ มีสติสัมปัชชัญญะสมบูรณ์ก็รับคำเสนอ (อีญาบ) จากผู้ทำการอักดุนนิกาห์ โดยกล่าวคำสนอง (เกาะบู้ล) ด้วยตัวเอง แต่ถ้าเป็นผู้หญิง (ฝ่ายหญิง-เจ้าสาว) ก็ให้ตั้งวะลียฺเพื่อทำการนิกาห์โดยวะลียฺ (ผู้ปกครองฝ่ายหญิง) นี้จะทำหน้าที่ในการอักดุนนิกาห์ให้แก่ฝ่ายหญิง  


และการตั้ง วะลียฺนี้ให้ตั้งโดยฝ่ายหญิงเพียงฝ่ายเดียว เรียกว่า วะลียฺ เตาลียะฮฺ เช่น ฝ่ายหญิงกล่าวว่า ข้าพเจ้านางสาวเมย์ เตาลียะฮฺแต่งตั้งให้ท่านเป็นวะลียฺในการทำข้อตกลงนิกาห์ให้แก่ข้าพเจ้ากับนายอัลดุลลอฮฺ เป็นต้น แล้วผู้ได้รับการแต่งตั้งก็กล่าวคำรับ


อนึ่ง ในกรณีเช่นนี้ หากชายที่ถูกแต่งตั้งเป็นพ่อที่ให้กำเนิด (แต่มิใช่พ่อตามหลักศาสนา) และมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขของผู้เป็นวะลียฺก็จะเป็นการดี เพราะเป็นการรักษาเกียรติของฝ่ายหญิงและครอบครัว ทั้งนี้ผู้ที่เป็นพ่อผู้ให้กำเนิด (แต่มิใช่พ่อจริงๆ) ถือเป็นคนอื่นซึ่งมิใช่วะลียฺโดยตำแหน่งของฝ่ายหญิง (คือพ่อแท้ๆ ตามหลักการของศาสนา) จะเป็นวะลียฺในการทำข้อตกลงได้ก็ต่อเมื่อฝ่ายหญิง (เจ้าสาว) ยินยอมและทำการแต่งตั้งให้เป็นวะลียฺ เตาลียะฮฺ เท่านั้น


4. ถ้าชายและหญิงที่ตั้งท้องนั้นเป็นคู่ที่ทำซินากันก็สามารถแต่งงาน (นิกาห์) ได้ตามมัซฮับอัช- ชาฟิอียฺ ส่วนการบอกให้คนนิกะห์รับรู้นั้นเป็นเรื่องจำเป็นเพราะถ้าหากผู้ที่ทำการนิกาห์ให้ถือตามทัศนะของฝ่ายมาลิกียฺก็จะไม่ยอมทำการนิกาห์ให้เพราะใช้ไม่ได้ จึงต้องบอกให้เขารับรู้ความจริงในเรื่องนี้เพื่อมิให้เกิดปัญหาในภายหลัง


5. เหมือนข้อที่ 4 ตอนท้าย


6. ถ้าถือตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และ อัล-หะนะหียฺ (ซึ่งฝ่ายอัล-หะนะฟียฺ ถือว่าการนิกาห์ในกรณีใช้ได้แต่ห้ามร่วมหลับนอนระหว่างกันจนกว่าจะคลอดบุตรเสียก่อน) ก็ไม่ต้องทำการนิกาห์ใหม่แต่อย่างใด


7. ปฏิบัติตัวเหมือนเด็กปกติทั่วไป ลูกซินาเป็นคนดีได้ เพราะการเกิดมาเป็นลูกซินามิใช่ความผิดของเขา แต่เป็นความผิดของคน 2 คนที่ทำซินา และเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่มีครอบครัวที่ผ่านการนิกาห์อย่างถูกต้อง ตัวเขาก็ย่อมเป็นพ่อของเด็กและเป็นวะลียฺได้ เพราะเด็กนั้นเป็นลูกของเขาและเขาก็เป็นพ่อของเด็ก เนื่องจากผ่านการนิกาห์ที่ถูกต้องนั่นเอง


ส่วนการที่จะรู้ได้ว่าการตั้งท้องนั้นเกิดจากการซินาหรือไม่ก็เป็นสิ่งที่รู้ได้หลายวิธี เช่น หญิงที่ตั้งท้องนั้นยังไม่ได้นิกาห์กับชายใดเลย (คือไม่มีสามี) หรือหลังจากนิกาห์แล้วสามีไม่เคยร่วมหลับนอนด้วย หรือหญิงนั้นคลอดลูกในช่วงระยะเวลาที่น้อยกว่า 1 เดือน กับอีกกระพริบตานับตั้งแต่มีการร่วมหลับนอนกับสามีซึ่งเป็นระยะเวลาที่น้อยที่สุดของการตั้งครรภ์ หรือหญิงนั้นคลอดลูกในระยะเวลาที่นานกว่า 4 ปี นับแต่การร่วมหลับนอนกับสามี ซึ่งเป็นช่วงเวลามากที่สุดของระยะเวลาการตั้งครรภ์ หรือหญิงที่ตั้งครรภ์ยอมรับสารภาพ (อิกร็อรฺ) ว่าตนทำผิดประเวณีและเด็กในครรภ์มิใช่ลูกของสามี เป็นต้น

والله اعلم بالصواب