กุรบาน ซะกาต  (อ่าน 5742 ครั้ง)

กุรบาน ซะกาต

  • บุคคลทั่วไป
กุรบาน ซะกาต
« เมื่อ: ตุลาคม 27, 2012, 10:36:15 pm »
มีอาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวว่าเนื้อที่เชือดทำกุรบานนั้นคนกาฟีรสามารถรับประทานได้  เพราะขนาดซะกาต คนที่เลื่อมใสในศาสนาอิสลาม(มุอัลลัฟ) แค่เลื่อมใสแต่เป็นกาฟีรก็สามารถกิน(รับ)ได้ มันเป็นยังไงกันแน่

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : กุรบาน ซะกาต
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 17, 2013, 10:26:21 am »
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

กรณีของเนื้อที่เชือดกุรบาน (อุฏหิยะฮฺ) ว่าคนกาฟิรสามารถรับประทานได้หรือไม่ได้นั้นเป็นทัศนะของนักวิชาการที่มีความเห็นต่างกัน ฝ่ายที่มีทัศนะว่าไม่ได้ เช่น นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺก็มีความเห็นต่างกัน เช่น อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) มีทัศนะว่าถ้าเป็นเนื้อกุรบานวาญิบก็ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นกุรบานสุนนะฮฺก็ว่าได้ ส่วนนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺรุ่นหลัง (มุตะอัคคิรีน) ชี้ขาดว่าไม่ได้ทั้ง 2


กรณี ส่วนฝ่ายที่ว่าเนื้อกุรบานสามารถให้คนกาฟิรรับประทานได้ก็มีทัศนะว่า ถ้าหากเป็นกาฟิร ซิมมียฺ (ยิว-คริสเตียนในรัฐอิสลาม) ก็ได้แต่มักรูฮฺ บ้างก็ว่า ถ้ากาฟิรซิมมียฺกินเนื้อกุรบานที่ปรุงสุกแล้วพร้อมกับชาวมุสลิมก็ถือว่าได้


ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องของทัศนะที่ไม่มีตัวบทจากอัล-กุรอานและสุนนะฮฺระบุชี้ขาดว่าได้หรือไม่ได้ ดังนั้น ถ้าถือตามทัศนะของนักวิชาการฝ่ายที่ว่าไม่ได้ก็ไม่อนุญาตให้มุสลิมนำเนื้อกุรบานไปให้คนกาฟิรรับประทาน แต่ถ้าถือตามทัศนะของนักวิชาการฝ่ายที่ว่าได้ ก็สามารถนำเนื้อกุรบานไปให้แก่คนกาฟิรรับประทานได้ ถืออย่างไรก็ปฏิบัติตามนั้นไม่ควรเอาเรื่องนี้ซึ่งเป็นเพียงทัศนะของนักวิชาการมาถกเถียงกัน


ส่วนกรณีของบุคคลที่มีสิทธิ์รับซะกาตหนึ่งในแปดจำพวกคือ “อัล-มุอัลละฟะฮฺ กุลูบุฮุม” นั้น นักวิชาการแบ่งประเภทเอาไว้ทั้งที่เป็นกาฟิรและมุสลิม กล่าวคือ

1) บุคคลที่มุ่งหวังการเข้ารับอิสลามของเขาหรือกลุ่มชนของเขาด้วยการมอบซะกาตแก่พวกเขา เช่น กรณีของศ็อฟวาน อิบนุ อุมัยยะฮฺ เป็นต้น


2)  บุคคลที่ความร้ายกาจของเขาเป็นที่หวั่นเกรงและถูกมุ่งหวังว่าด้วยการมอบซะกาตให้แก่เขา เขาผู้นั้นและกลุ่มชนของผู้นั้นจะยุติความร้ายกาจต่ออิสลามและมุสลิม

ดังกรณีที่ อิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) รายงานว่า  มีคนกลุ่มหนึ่งได้มาหาท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) หากว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) มอบส่วนหนึ่งจากซะกาตให้แก่พวกเขา พวกเขาก็เยินยออิสลามและกล่าวว่า : นี่เป็นศาสนาที่ดีงาม และหากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ปฏิเสธที่จะให้แก่พวกเขา พวกเขาก็ตำหนิและติเตียน
(ตัฟสีร อัฎ-เฎาะบะรียฺ 14/313)


3)  บุคคลที่เข้ารับอิสลามใหม่ๆ ซะกาตถูกมอบหมายให้แก่เขาเพื่อเป็นการช่วยเหลือให้เขามั่นคงในอิสลาม ดังกรณีของอิมาม อัซ-ซุฮฺรียฺ (ร.ฮ.) ถูกถามว่า “อัล-มุอัลละฟะฮฺ กุลูบุฮุม” คือใคร? ท่านกล่าวว่า “คือผู้เข้ารับอิสลามจากยะฮูดียฺและนัศรอนียฺ มีผู้กล่าวขึ้นว่า “ถึงแม้ว่าเขาผู้นั้นจะร่ำรวยกระนั้นหรือ? ท่านตอบว่า “ถึงแม้ว่าเขาผู้นั้นจะร่ำรวยก็ตาม

(ตัฟสีร อัฏ-เฏาะบะรียฺ 14/314 , อัล-มุศ็อนฺนัฟฺ ของ อิบนุ อบี ชัยบะฮฺ 3/223) และอัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ (ร.ฮ.) ก็กล่าวเช่นกันว่า “พวกเขาคือบรรดาผู้ที่เข้ารับอิสลาม” (อัล-อิกลีล ; อัสสุยูฏียฺ หน้า 119)


4)  กลุ่มชนที่เป็นบุคคลชั้นสูงและเป็นผู้นำของชาวมุสลิมซึ่งมีกลุ่มชนกาฟิรเป็นบุคคลชั้นสูงอยู่ร่วมด้วย เมื่อชาวมุสลิมถูกมอบซะกาตให้ก็หวังว่าบุคลลชั้นสูงที่เป็นกาฟิรนั้นจะเข้ารับอิสลาม ดังกรณีที่ท่านอบูบักร (ร.ฎ.) มอบซะกาตแก่ อะดียฺ อิบนุ หาติม และอัซ-ซะบัรฺก็อน อิบนุ บัดฺร์ (ตัฟสีร อัล-มะน๊าร 1/574-577)


5)  กลุ่มผู้นำที่มีศรัทธาอ่อนแอจากชาวมุสลิมแต่เป็นที่เชื่อฟังในกลุ่มชนของพวกเขา โดยมุ่งหวังว่าเมื่อให้ซะกาตแก่พวกเขาแล้ว พวกเขาก็จะมีความมั่นคงในศรัทธา ดังกรณีที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) มอบส่วนหนึ่งจากสินสงครามของพวกฮะวาซินฺ แก่พลเมืองมักกะฮฺที่เข้ารับอิสลามหลังการพิชิตนครมักกะฮฺ เป็นต้น


ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแต่เข้าอยู่ในนัยกว้างๆ ของคำว่า “อัล-มุอัลละฟะฮฺ กุลูบุฮุม” ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นชนกาฟิรหรือมุสลิมก็ตาม (ฟิกฮุซซะกาต ; ดร.ยูสุฟ อัล-ก็อรฎอวียฺ เล่มที่ 2 หน้า 636-638)


แต่ท่านอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า “อัล-มุอัลละฟะฮฺ กุลูบุฮุม” คือผู้ที่เข้ารับอิสลามแล้ว และเศาะดะเกาะฮฺ (ซะกาต) จะไม่ถูกมอบให้แก่ผู้ตั้งภาคีที่มีความเลื่อมใสต่ออิสลาม (แต่ยังไม่เข้ารับอิสลาม)


ส่วนกรณีที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยให้แก่มุชริกีนที่เลื่อมใสบางคนในปีสงครามหุนัยนฺนั้นเป็นการให้จากสินสงคราม (อัล-ฟัยอฺ) และเป็นทรัพย์สินของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) โดยเฉพาะ


ท่านอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) อาศัยหลักฐานที่ว่า พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงกำหนดเศาะดะเกาะฮฺ (ซะกาตฺ) ของมุสลิมให้ถูกย้อนกลับคืนในหมู่ของชาวมุสลิมตามที่พระองค์ออกชื่อเอาไว้ (แปดประเภท) ไม่ใช่ให้ถูกย้อนกลับไปหาคนที่ถือศาสนาต่างจากชาวมุสลิม


ทั้งนี้อาศัยหะดีษของท่านมุอ๊าซฺ (ร.ฎ.) ที่รายงานว่า “(ซะกาตฺ) จะถูกเก็บเอาจากบรรดาคนร่ำรวยของพวกเขา (มุสลิม) และ (ซะกาต) จะถูกย้อนกลับไปหาคนยากจนของพวกเขา (มุสลิม)” (อัล-อุมม์ 2/61)


ดังนั้น หากถือตามทัศนะของนักวิชาการฝ่ายที่อธิบายว่า “อัล-มุอัลละฟะฮฺ กุลูบุฮุม” ในอายะฮฺซะกาตมีความหมายครอบคลุมทั้งมุสลิมและชนกาฟิรที่เลื่อมใสอิสลามซึ่งหวังว่าเขาจะเข้ารับอิสลามเมื่อได้รับซะกาต ก็สามารถให้ซะกาตแก่พวกเขาได้


แต่ถ้าถือตามทัศนะที่อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) วิเคราะห์เอาไว้ ก็ไม่อนุญาตให้นำทรัพย์ซะกาตมอบให้แก่ชนกาฟิรที่ยังไม่ได้เข้ารับอิสลาม ถึงแม้จะมีความเลื่อมใสก็ตาม แต่ให้มอบสิ่งที่เป็นทาน (เศาะดะเกาะฮฺ) ที่ไม่ใช่ซะกาตหรือส่วนหนึ่งจากสินสงครามแก่พวกเขาในกรณีที่พิจารณาแล้วว่าเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายมุสลิม


ซึ่งคำกล่าวของอาจารย์ท่านนั้นเป็นการเทียบแบบกิยาสฺเอาละวียฺตามทัศนะของนักวิชาการที่อธิบายนัยของคำ “อัล-มุอัลละฟะฮฺฯ” ว่ารวมถึงชนกาฟิรด้วย กล่าวคือ “เมื่อชนกาฟิรที่อยู่ในข่ายของนัยกว้างตามถ้อยคำดังกล่าว ยังสามารถรับซะกาตได้ กรณีของเนื้อกุรบานก็ย่อมสมควรยิ่งกว่า” ซึ่งการเทียบแบบนี้ก็มีมูลว่าถูกต้อง


เพียงแต่ไม่นำพาต่อสิ่งที่อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) วิเคราะห์เอาไว้ซึ่งมีน้ำหนักเสียด้วยในเรื่องหลักฐาน  การไม่นำพาและไม่อธิบายให้ครบถ้วนจึงก่อให้เกิดปัญหาสับสนและข้องใจแทนที่จะป็นการตอบเพื่อคลี่คลายปัญหาคาใจก็กลับกลายเป็นการสร้างปัญหาแบบตอบไม่เคลียร์ไปในที่สุด

والله اعلم بالصواب