อยากรู้เกี่ยวกับอีหม่ามซาฟีอี  (อ่าน 9305 ครั้ง)

บิสมี

  • บุคคลทั่วไป
อยากรู้เกี่ยวกับอีหม่ามซาฟีอี
« เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2012, 03:35:20 pm »
อาจารย์ ค่ะ...ดิฉันรบกวนอาจารยืหน่อยนะค่ะ...คืออยากรู้เกี่ยวกับอีหม่ามซาฟีอีค่ะ...
คุณลักษณะผู้เรียนที่ดีของอีหม่ามซาฟีอีนั้นเป้นอย่างไร รบกวนอาจารย์หน่อยนะค่ะ...เพราะดิฉันกำลังสอนนักเรียน แล้วจะเทียบกับอีหม่ามอื่นๆ ไม่ได้ เพราะดิฉันไม่รู้เกี่ยวกับอีหม่ามซาฟีอีเลยค่ะ...

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : อยากรู้เกี่ยวกับอีหม่ามซาฟีอี
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 04, 2013, 06:17:58 pm »
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

อัล-อิมาม อบู อับดิลลาฮฺ มุฮัมมัด อิบนุ อิดรีส อัล-กุเราะชียฺ อัล-มุฏเฏาะลิบียฺ อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) คือนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของชาวอะหฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ท่านเริ่มแสวงหาความรู้ตั้งแต่เยาว์วัย คุณลักษณะการเป็นผู้เรียนรู้ที่ดีของท่านได้แก่

1) คลุกคลีกับเหล่านักปราชญ์ (คบกับบัณฑิต)

2) จดบันทึกทุกสิ่งที่เป็นเกร็ดความรู้และมีความสำคัญ (ลิขิต/ลิขนะ)

3) เวลาครูสอนก็ตั้งใจฟัง (สุติ) ไม่อายครูที่จะถาม

4) เน้นความรู้เกี่ยวกับภาษา บทกวี วรรณกรรมและประวัติศาสตร์เป็นอันดับแรก เมื่อเชี่ยวชาญในการใช้ภาษาที่ถูกหลักไวยากรณ์และนิรุกติศาสนตร์แล้วก็ย่อมมีความฉะฉานและแตกฉานในการเรียน เขียน อ่าน และทำความเข้าใจ

5) ท่องจำขึ้นใจและแม่นยำในการอ่านคัมภีร์แม่บท เช่น อัล-กุรอาน และ อัล-มุวัฏเฏาะอฺ ซึ่งเป็นตำราเอกในวิชาอัล-หะดีษที่รวบรวมโดย อิมาม มาลิก อิบนุ อะนัส (ร.ฎ.)

6) ศึกษาศาสตร์สำคัญที่ใช้วิเคราะห์ตัวบทของอัล-กุรอานและอัล-หะดีษคือวิชา อัล-ฟิกฮฺจนแตกฉานและช่ำชองตลอดจนแม่นในกฏของวิชา

7) รู้จักการบริหารเวลาให้เกิดประโยขน์สูงสุด เช่น ในยามค่ำคืนท่านจะแบ่งเวลาเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกจะเขียน ช่วงสองจะละหมาด และช่วงที่สามจะนอนหลับพักผ่อน

8) เคร่งครัดในศีลธรรม ห่างไกลอบายมุข มีคุณธรรมเป็นหลักยึด เช่น พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ไม่ประทุษร้ายผู้อื่น แสวงหาและบริโภคสิ่งที่หะล้าล มีความยำเกรงและเชื่อมั่นในพระผู้เป็นเจ้าทุกขณะ

9) ให้เกียรติและมีความเคารพต่อครูบาอาจารย์ ไม่ปิดกั้นตัวเองจากการแสวงหาความรู้จากผู้ที่ด้อยกว่าหรือมีความเห็นต่าง

10) ออกเดินทางสู่ดินแดนที่เป็นแหล่งของนักปราชญ์ ไม่ปิดโลกทัศน์ของตัวเอง


เรื่องประกอบ

1. ท่านอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) เป็นเด็กกำพร้า ยากจน เมื่อท่านถูกนำส่งไปเรียนอัล- กุรอานที่โรงเรียนเด็กเล็ก (มักตับ) ครอบครัวของท่านไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างครู ครูจึงสอนเด็กไม่เต็มที่

แต่ทุกครั้งที่ครูสอนสิ่งใดแก่เด็กๆ ท่านอิมาม (ร.ฮ.) ก็จดจำถ้อยคำที่ครูสอนเอาไว้จนขึ้นใจ เมื่อครูเลิกสอน ท่านอิมาม (ร.ฮ.) ก็นำเอาสิ่งที่จดจำมาสอนแก่เด็กๆ นั้นต่อ ครูก็เห็นและมองว่าท่าน อิมาม (ร.ฮ.) ถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กๆ ร่วมห้องได้มากยิ่งกว่าค่าจ้างที่ครูต้องการจากครอบครัวของท่านอิมาม (ร.ฮ.) เสียอีก ครูจึงไม่เอาค่าจ้าง ท่านอิมาม (ร.ฮ.) จึงเรียนอัล-กุรอานกับครู และท่องจำได้ทั้งหมดเล่มเมื่ออายุได้ 7 ปี (มะนากิบ อัล-อิมาม อัช-ชาฟิอียฺ ; อัร-รอซียฺ หน้า 9)


เมื่ออายุของท่านอิมาม (ร.ฮ.) ได้ 13 ปี ท่านอ่านอัล-กุรอานในมัสญิดหะรอม ผู้คนก็ร้องไห้กันระงมเมื่อฟังเสียงอันไพเราะของท่าน เมื่อท่านเห็นเช่นนั้นจึงไม่อ่านให้คนฟังอีก


ท่านอิมาม (ร.ฮ.) มีความยากจนมาก มารดาของท่านจึงไม่มีเงินที่จะให้แก่ท่านเพื่อซื้อกระดาษ ท่านจึงใช้กระดูกของสัตว์ที่สะอาดนำมาล้างและจดบันทึก จนเมื่อท่อนกระดูกไม่มีที่ว่างให้เขียนได้อีก ท่านก็จะโยนกระดูกนั้นลงในไห


นอกจากนี้ท่านจะออกไปเก็บเศษกระเบื้อง หนังกลอง ทางอินทผลัม และกระดูกอูฐเพื่อนำไปใช้เป็นวัสดุในการเขียนและจดบันทึกอัล-หะดีษ เมื่อเขียนจนหมดแล้วท่านก็ใส่วัสดุดังกล่าวลงในไห จนกระทั่งที่บ้านมารดาของท่านมีไหอยู่หลายใบ


ท่านอิมาม (ร.ฮ.) ออกจากนครมักกะฮฺไปอาศัยอยู่กับเผ่าฮุซัยลฺเพื่อเรียนรู้ภาษาอาหรับ บทกวี และเรื่องราวของชาวอาหรับ ท่านใช้เวลาศึกษาศาสตร์ทางภาษาอาหรับเป็นเวลา 20 ปี


ต่อมาท่านได้มุ่งหน้าสู่นครมะดีนะฮฺ เพื่อศึกษาวิชานิติศาสตร์และสรรพวิทยากับท่านอิมาม มาลิก อิบนุ อะนัส (ร.ฎ.) ท่านติดตามอิมามมาลิก (ร.ฎ.) เสมือนเป็นเงาจนอิมามมาลิก (ร.ฎ.) เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 179 ก่อนหน้านั้น


เมื่อครั้งที่อยู่ ณ นครมักกะฮฺ ท่านศึกษากับเหล่านักวิชาการฟิกฮฺและนักหะดีษ เช่น สุฟยาน อิบนุ อุยัยฺนะฮฺ , มุสลิม อิบนุ คอลิด อัซ-ซันญียฺ , สะอีด อิบนุ สาลิม , ดาวูด อิบนุ อับดิรเราะหฺมาน และ อับดุลมะญีด อิบนุ อับดิลอะซีซฺ เป็นต้น


จนกระทั่งเมื่อมีอายุได้ 15 ปี มุสลิม อิบนุ คอลิด (ร.ฮ.) อาจารย์ของท่านก็อนุญาตให้ท่านอิมาม (ร.ฎ.) ทำการฟัตวา (ตอบปัญหาศาสนา) ได้ แต่กระนั้นท่านก็มุ่งที่จะแสวงหาความรู้อย่างมากจึงออกเดินทางไปยังนครมะดีนะฮฺเพื่อศึกษากับอิมามมาลิก อิบนุ อะนัส (ร.ฎ.) และนักปราชญ์อีกหลายท่านของนครมะดีนะฮฺ


เมื่อท่านอิมามมาลิก (ร.ฎ.) เสียชีวิต ท่านอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฎ.) จึงเดินทางไปยังเมืองยะมัน ท่านรับตำแหน่งเป็นผู้ปกครองเมื่องนัจญ์ร็อนอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาก็เกิดเรื่องกล่าวหาว่าท่านสมคบกับพวกชีอะฮฺจึงถูกนำตัวมาพร้อมกับพวกเหล่านั้นยังนครแบกแดด ราชธานีของเคาะลีฟะฮฺฮารูน อัร-เราะชีด แต่ด้วยการช่วยเหลือของอิมามมุฮัมมัด อิบนุ อัล-หะสัน อัช-ชัยบานียฺ (ร.ฮ.) ท่านก็รอดพ้นจากข้อกล่าวหานั้น


ต่อมาท่านก็ศึกษาวิชาฟิกฮฺของชาวอิรักกับ อิมามมุฮัมมัด อิบนุ อัล-หะสัน (ร.ฮ.) บุคคลทั้งสองเป็นทั้งสหาย ศิษย์ และอาจารย์ มีการอภิปรายถกเถียงข้อปัญหาแลกเปลี่ยนระหว่างกันเสมอ


นอกจากนี้ท่านอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ยังได้ศึกษากับบรรดานักปราชญ์ของอิรักอีกหลายท่าน เช่น ท่านวะกีอฺ อิบนุ อัล-ญัรรอหฺ , ท่านอับดุลวะฮฺฮ๊าบ อิบนุ อับดิลมะญีด อัษ-ษะเกาะฟียฺ เป็นต้น


เรื่องราวการแสวงหาความรู้ของท่านอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฎ.) ยังมีอีกมาก แต่เท่าที่เล่ามาจะเห็นได้ว่า ท่านอิมาม (ร.ฎ.) เป็นผู้เรียนมาก มีครูบาอาจารย์มาก ท่องดินแดนเพื่อแสวงหาความรู้ก็มากที่  แม้ร่ำเรียนจนถึงขั้นเป็นผู้ตอบปัญหาศาสนา (ฟัตวา) ได้แล้ว ก็ไม่เคยหยุดอยู่เพียงแค่นั้น แต่รักในการแสวงหาความรู้เป็นชีวิตจิตใจ


ทั้งหมดจึงเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาคุณสมบัติของผู้เรียนที่ดี ซึ่งท่านอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฎ.) ได้แสดงเป็นแบบฉบับเอาไว้ ขอพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงตอบแทนสิ่งที่ท่านอิมาม (ร.ฎ.) ได้ขวนขวายเอาไว้เพื่อประชาคมมุสลิมโดยรวมทุกประการเทอญ

والله ولي التو فيق