คนกับมัสยิด  (อ่าน 7709 ครั้ง)

อิดริส

  • บุคคลทั่วไป
คนกับมัสยิด
« เมื่อ: ธันวาคม 24, 2012, 02:13:55 pm »
alam ท่านอาจารย์ ผมมีปัญหาอยากถามท่านอาจารย์ ดังนี้
๑ เกี่ยวกับคนกับมัสยิดว่า มีข้อปฏิบัติอะไรบ้างที่ทำได้ ทำไม่ได้ อะไรทำแล้ว เป็นฮาลาล เป็นฮารอม เป็นมักโกระ เช่น การพูดคุยในมัสยิดว่ามีขอบเขตเพียงใด พูดเฉพาะเรื่องของอีบาดัตอย่างเดียว เรื่องการบริหารจัดการของมัสยิดอย่างเดียวหรือ พูดเรื่องการเมืองทั้งในช่วงหาเสียงเลือกตั้งหรือเมื่อได้ตำแหน่งแล้ว ไม่ว่าการเมืองระดับใด หากว่าคณะกรรมการมัสยิดห้ามพูดหาเสียงการเมืองในมัสยิดจะทำได้หรือไม่ ช่วยอธิบายพร้อมอ้างถึงการคีลัฟของนักวิชาการด้วย
๒ การนอน การกินอาหารในมัสยิด มีฮูกมว่าอย่างไรบ้าง
๓ ผมเคยอ่านพบว่า ท่านซัยยิดินาอุมัรอัลฟารูก เคยบอกให้ประชาชนของท่านกลับไปบ้านหลังจากที่ละหมาดมักริบที่มัสยิดแล้ว ถ้าหากเป็นเรื่องจริงช่วยอธิบายด้วย
ขอให้ท่านอาจารย์มีสุขภาพที่แข็งแรง มีพลังอีหม่านที่มั่นคง เป็นแรงบันดาลใจให้กับพวกเราชาวอลุสซุนนะวัลยามาอะต่อไปอีกนาน อามีน ยาซากัลลอฮ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : คนกับมัสยิด
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 18, 2013, 06:10:27 pm »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

1) การพูดคุยในมัสยิดด้วยสิ่งที่ดีไม่เป็นที่ต้องห้าม และไม่เป็นที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) แม้กระทั่งหากว่าการพูดคุยในสิ่งที่ดีนั้นจะนำไปสู่การหัวเราะของบางคนที่ร่วมคุยก็ตาม  เพราะมีหะดีษของท่านญิบิร อิบนุ สะมุเราะฮฺ (ร.ฎ.) เล่าว่า ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จะไม่ลุกขึ้นจากที่ละหมาดของท่าน  ซึ่งท่านได้ละหมาดศุบหิในที่นั้นจนกระทั่งตะวันขึ้น  เมื่อตะวันขึ้นท่านก็ลุกขึ้น  ท่านญาบิรกล่าวว่า พวกเขา (บรรดาเศาะหาบะฮฺ) กำลังพูดคุยกันอยู่และพวกเขาก็เริ่มในเรื่องของคนยุคก่อนอิสลาม (ญาฮิลียะฮฺ) และพวกเขาก็หัวเราะและท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็ยิ้ม” (รายงานโดยมุสลิม)  


ท่านอิหมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า อนุญาตให้พูดคุยด้วยเรื่องคำพูดที่อนุญาต (มุบาห์) ในมัสยิด  และเรื่องทางโลกและเรื่องอื่นๆ ที่อนุญาต ถึงแม้ว่าจะเกิดการหัวเราะในการพูดนั้น  ตราบใดที่เรื่องซึ่งพูดคุยกันนั้นเป็นที่อนุญาต (อัล-ฟิกฮุล วาฎิหฺ มินัล กิตาบ วัส-สุนนะฮฺ ดร.มุฮัมหมัด บักร์ อิสมาอีล เล่มที่ 1 หน้า 368)


   ดังนั้นการพูดคุยในมัสยิดจึงเป็นสิ่งที่อนุญาตให้กระทำโดยมีเงื่อนไขว่า เรื่องที่พูดคุยกันนั้นเป็นเรื่องทั่วๆ ไปที่ศาสนาอนุญาต  การพูดคุยในเรื่องศาสนา การสอนหนังสือ การประชุมหารือของคณะกรรมการมัสยิดภายในมัสยิดจึงเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ แต่จะต้องไม่ส่งเสียงดังรบกวนผู้ประกอบศาสนกิจในมัสยิด  


ส่วนเรื่องการเมืองนั้นก็ให้พิจารณาถึงเนื้อหาเป็นหลัก หากเป็นเพียงการแนะนำตัวผู้สมัครหรือเป็นการนำเสนอนโยบายของพรรคก็ไม่น่าจะเป็นที่ต้องห้าม แต่ถ้าเป็นการพูดโจมตีฝ่ายตรงกันข้ามก็ถือว่าเป็นที่ต้องห้าม  ในกรณีที่คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดมีมติหรือออกเป็นระเบียบห้ามพูดหาเสียงทางการเมืองนั้น ก็ย่อมสามารถกระทำได้ เพราะถือเป็นอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลและบริหารมัสยิดของคณะกรรมการโดยตรงอยู่แล้ว


2- อนุญาติให้ผู้ชายนอนในมัสยิดได้โดยไม่ถือเป็นสิ่งน่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) แต่อย่างใด เพราะอะฮฺลุศศุฟฟะฮฺ ก็เคยนอนในมัสยิดของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  และบรรดาคณะตัวแทนซึ่งมุ่งหน้ามาสู่นครมะดีนะฮฺเพื่อเข้ารับอิสลามก็เคยนอนในมัสยิดของท่านนบีเช่นกัน  ดังมีรายงานในเศาะฮีหฺอัล-บุคอรียฺและมุสลิม จากท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ว่า  “ฉันเคยนอนหลับในมัสยิดโดยที่ฉันเป็นวัยหนุ่มที่ยังโสด”  ซึ่งเป็นทัศนะของมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺและกลุ่มหนึ่งจากบรรดานักวิชาการฟิกฮฺ เช่น ท่านอะฏออฺ, อิบนุ อัล-มุสัยยิบฺ และท่านอัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ  เป็นต้น


แต่นักวิชาการฟิกฮฺบางท่านกำหนดเงื่อนไขสำหรับการอนุญาตให้นอนในมัสญิดโดยไม่เป็นที่มักรูฮฺว่าต้องเป็นการนอนเพื่อที่จะได้ละหมาด เพราะท่าน อิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) กล่าวว่า “พวกท่านอย่าได้ยึดเอามัสญิดเป็นที่นอน” และมีรายงานจากอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) เพิ่มเติมว่า “หากว่าท่านจะนอนเพื่อทำการละหมาดก็ไม่เป็นอะไร”


อิมามมาลิก (ร.ฎ.) กล่าวว่า “ไม่เป็นอะไรด้วยสิ่งดังกล่าวสำหรับบรรดาคนต่างถิ่น และฉันไม่เห็นว่าสิ่งดังกล่าวจะเป็นที่อนุญาตสำหรับคนที่ประจำท้องถิ่น\"


อิมามอะหฺมัด (ร.ฎ.) และอิสหาก (ร.ฎ.) กล่าวว่า  ถ้าหากเป็นผู้เดินทางหรือที่คล้ายกันก็ไม่เป็นอะไร แต่ถ้าจะมายึดเอามัสยิดเป็นที่นอนงีบเวลากลางวันและค้างแรมก็ไม่ได้
อัล-บัยฮะกียฺ กล่าวไว้ใน “อัสสุนัน อับกุบรอ” ว่า  และเราได้รายงานจากอิบนุ มัสอูด, อิบนุ อับบาส, มุญาฮิด, สะอีด อิบนุ ญุบัยรฺ ถึงสิ่งที่บ่งชี้ว่าพวกเขารังเกียจการนอนในมัสยิด อัล-บัยฮะกียฺ กล่าวว่า   ดูเหมือนว่าพวกเขาจะถือว่าเป็นการดีกว่าสำหรับผู้ที่มีที่พักว่าอย่าได้มุ่งมานอนในมัสยิด  (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 2 หน้า 188)


3- อนุญาตให้กินและดื่มในมัสยิดได้โดยไม่ถือว่าเป็นมักรูฮฺแต่อย่างใด  เพราะอะฮฺลุศศุฟฟะฮฺเคยกินอาหารในมัสยิดของนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  และเป็นเพราะว่าการกินอาหารในมัสยิดเป็นการกระทำที่มิได้ส่งผลเสียต่อสถานะอันมีเกียรติของมัสยิด  ยกเว้นในกรณีที่อาหารนั้นเป็นสิ่งที่มักรูฮฺในการรับประทาน เช่น กระเทียม หัวหอม (ดิบ) เป็นต้น  และจำเป็นที่ผู้รับประทานอาหารในมัสยิดจะต้องระวังจากการทำให้พรมหรือพื้นของมัสยิดเลอะเทอะ


อย่างไรก็ตามนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺบางคนก็ถือว่าเป็นมักรูฮฺสำหรับการกินอาหารในมัสยิด (อัล-ฟิกฮุลวาฎิหฺ อ้างแล้ว 1/376)


4- ส่วนเรื่องของท่านอุมัร (ร.ฎ.) บอกให้ประชาชนกลับไปบ้านหลังจากการละหมาดมัฆริบนั้นยังไม่พบเรื่องนี้ครับ

ขออัลลอฮฺทรงตอบรับดุอา
والله اعلم بالصواب