เรื่องฟิตนะห์  (อ่าน 9732 ครั้ง)

มุสลิมอยากรู้

  • บุคคลทั่วไป
เรื่องฟิตนะห์
« เมื่อ: ธันวาคม 30, 2012, 11:35:15 am »
ไม่ทราบว่าการที่อาจารรย์พูดถึงคนอื่นโดยที่เจ้าตัวเค้าไม่อยู่ ไม่สามารถตอบโต้ได้ เป็นการนินทารึเปล่า เพราะช่วงนี้เห็นอาจารย์ว่าคนอื่นบ่อยมาก ถ้ามีความรู้สึกส่วนตัวกับใคร ควรจะโทรคุยแล้วคลียร์กันตรงๆ นะครับ เมื่อก่อนไม่เห็นอาจารย์เป็นแบบนี้ แล้วหะดีษที่บอกว่าท่านนบีหอมภรรยาบางคน แล้วไปนมาซโดยไม่อาบน้ำนมาซใหม่ เป็นหะดีษซอเฮี๊ยะนะครับ รายงานโดยอบูดาวูด และยังทีอีกหลายหะดีษที่ซอเฮี๊ยะ ที่บอกว่าโดนผู้หญิงแล้วไม่เสียน้ำละหมาด และเป็นหะดีษของบุคคอรีด้วย ช่วยรับผิดชอบคำพูดด้วย เพราะทุกสิ่งที่อาจารย์พูด ต้องไปตอบกับอัลลอฮฺนะครับ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : เรื่องฟิตนะห์
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 17, 2013, 12:11:24 pm »
อิมาม อิบนุ  หะญัร อัล-ฮัยฺตะมียฺ (ร.ฮ.) กล่าวไว้ใน “อัซ-ซะวาญิร อะนิกฺติร็อฟฺ อัล-กะบาอิร” เล่มที่ 2 หน้า 26 ว่า : “หลักเดิมในเรื่องการนินทานั้นคือ เป็นที่ต้องห้าม (อัล-หุ๊รมะฮฺ) และบางทีการนินทานั้นอาจจะเป็นสิ่งที่จำเป็น (วาญิบ) หรือเป็นที่อนุญาต (มุบาห์) เนื่องจากมีเป้าหมายที่ถูกต้องตามหลักการศาสนา ซึ่งจะไม่บรรลุถึงเป้าหมายนั้นได้เว้นเสียแต่ด้วยการนินทานั้น...”


การพูดถึงบุคคลที่สามด้วยสิ่งที่เขาไม่ชอบหากเขาได้ยินคำพูดนั้นถึงแม้ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นจริงตามที่พูดถึงย่อมถือเป็นการนินทา (อัล-ฆีบะฮฺ) แต่ถ้าพูดในสิ่งที่บุคคลที่สามมิได้เป็นจริงตามนั้นก็ถือว่าเป็นการใส่ร้ายป้ายสี (บุฮฺตาน) และตามทัศนะที่มีน้ำหนักในการยึดถือ (อัล-มุอฺตะมัด) คือไม่มีการกแยกในเรื่องการนินทาระหว่างกรณีที่การนินทานั้นเกิดขึ้นในขณะที่ผู้ถูกนินทาไม่อยู่ต่อหน้าหรือระหว่างกรณีที่ผู้ถูกนินทาอยู่ร่วมในที่นั้นด้วย (อ้างแล้ว 2/28)


และการนินทาก็มิได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องของลิ้นแต่ยังรวมถึงการพูดเป็นนัยแบบสองง่ามสองแง่ (อัต-ตะอฺรีฎ) หรือการกระทำหรือการบ่งชี้หรือการทำเป็นเครื่องหมายหรือการเขียน เช่น การที่ผู้แต่งหนังสือกล่าวถึงตัวบุคคลที่ถูกเจาะจงและตอบโต้หักล้างคำพูดของบุคคลผู้นั้นก็ถือเป็นการนินทาเช่นกัน ยกเว้นในกรณีที่มีเหตุหนึ่งเหตุใดจากเหตุ 6 ประการที่อนุญาตให้กล่าวนินทาได้ควบคู่มาด้วยสำหรับสิ่งที่ผู้แต่งหนังสือกล่าวถึงก็ถือว่าอนุญาต (อ้างแล้ว 2/30)



ดังนั้นคำถามที่ว่า : “ไม่ทราบว่าการที่อาจารย์พูดถึงคนอื่นโดยที่เจ้าตัวเค้าไม่อยู่ ไม่สามารถตอบโต้ได้เป็นการนินทาหรือเปล่า?” ก็ตอบได้ว่า เป็นการนินทาแน่นอน เพียงแต่การนินทานี้มีเหตุที่อนุโลมให้กระทำได้หรือไม่? และมีเป้าหมายที่ถูกต้องตามหลักการของศาสนามาอนุโลมหรือไม่?


แน่นอนก่อนที่ผมจะตัดสินใจพูดเรื่อง “สูตรนบี” และพาดพิงถึงอาจารย์ยูสุฟ พงษ์กาวีโดยออกชื่อเสียงเรียงนามแบบไม่อ้อมค้อมนั้น ผมได้ไตร่ตรองและพิจารณาเป็นอย่างดีแล้ว เพราะรู้แน่ชัดอยู่แก่ใจตนว่า เรื่องที่จะพูดถึงสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าข่ายเป็นการนินทา ไม่ว่าอาจารย์ยูสุฟจะอยู่ต่อหน้าผมหรือไม่ก็ตาม และแม้แต่จะอ้างว่าเป็นการนะศีหะฮฺด้วยความจริงใจ นั่นก็เป็นการเข้าข่าย “ประจาน” หรือ “ประณาม” มากกว่าการนะศีหะฮฺอยู่ดี ทุกกรณีเป็นความเสี่ยงและเปลืองตัวทั้งสิ้น เพราะพี่น้องที่นิยมชมชอบในตัวของอาจารย์ยูสุฟก็มีมากโข และพี่น้องที่ไม่ชอบในแนวทางผมก็มีเป็นจำนวนไม่น้อยหรืออาจจะมีมากกว่าคนที่นิยมในตัวอาจารย์ยูสุฟด้วยซ้ำไป


ดังนั้นก่อนที่ผมจะตัดสินใจในเรื่องนี้ ทุกกรณีที่ว่ามาอยู่ในห้วงความคิดของผมโดยตลอด เพราะอย่างไรเสียการพูดพาดพิงถึงบุคคลที่สามก็เป็นการนินทา เป็นการหมิ่นต่อหักกุ อาดัม ซึ่งรุนแรงยิ่งการทำซินา เป็นการกินเนื้อศพของพี่น้อง คำถามที่คุณถามผม นั่นเป็นคำถามแรกๆ ที่ผมตั้งคำถามกับตัวเองก่อนที่คุณจะถามผมเสียอีก และคำตอบของผมที่จะต้องรับผิดชอบและตอบต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ในเรื่องนี้ก็เช่นกัน


และนั่นก็เป็นทุกเรื่องสำหรับการพูดถึงบุคคลอื่นที่มิใช่เฉพาะอาจารย์ยูสุฟเท่านั้น เป็นทุกเรื่องทั้งเมื่อก่อนในช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นแบบนี้ทุกครั้งไป และนั่นก็เป็นสิ่งที่คุณอาจจะมองไม่เห็น แล้วสรุปว่า ผมเปลี่ยนไป เพราะเมื่อก่อนไม่เคยเห็นว่าผมเป็นแบบนี้ เปล่าเลย! ผมพูดถึงคนอื่นหรือว่าคนอื่นมาโดยตลอด มิใช่มาเป็นเอาบ่อยๆ เฉพาะในช่วงนี้


หากคุณไม่เชื่อก็ลองย้อนกลับไปฟังไฟล์เสียงเก่าๆ ที่ผมเคยพูดเอาไว้ คุณก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเนื้อหา ส่วนใหญ่ที่ผมพูดถึงเป็นเรื่องของคนอื่นเกือบทั้งสิ้น แม้กระทั่งบทความตอบโต้ในเวบไซด์ก็เป็นการเขียนพาดพิงบุคคลที่สามที่เจ้าตัวไม่ได้อยู่ด้วยและก็ไม่สามารถตอบโต้สิ่งที่ผมเขียนถึงบุคคลเหล่านั้น หรือแม้กระทั่งเข้ามาอ่านบทความของผมด้วยซ้ำไป และพวกเขาก็อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ามีมนุษย์เดินดินอย่างผมเขียนวิจารณ์และเขียนว่าพวกเขา มิหนำซ้ำปัญหาเกือบทุกข้อในคอลัมน์นี้ที่ผมเขียนตอบก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาของคนอื่น มิใช่ปัญหาของผมเลยด้วยซ้ำ


นี่แหล่ะคือแบบของผมคือพูดและเขียนถึงเรื่องของคนอื่น เป็นแบบที่แทบจะไม่ได้พูดหรือเขียนเรื่องของตัวเองเอาเสียเลย และก็เป็นแบบนี้มานานแล้วก่อนหน้านี้ มิใช่เพิ่งจะมาเป็นแบบนี้เฉพาะช่วงนี้อย่างที่คุณว่า เพียงแต่คุณอาจจะมองไม่เห็นเท่านั้น เหตุที่คุณมองไม่เห็นแบบของผมอย่างที่เคยเป็นมาก่อน แล้วเพิ่งจะมามองเห็นเอาในตอนช่วงนี้ ผมคงไม่ต้องตอบว่ามันมีสาเหตุมาจากอะไร? ลองตรองดูแล้วก็จะได้คำตอบ ซึ่งคำตอบมันก็ซ่อนอยู่ในสิ่งที่คุณเขียนมาในคำถามตอนท้ายเกี่ยวกับหะดีษเรื่องกระทบผู้หญิงนั่นเอง พิจารณาให้ดีในสิ่งที่คุณเขียน สิ่งที่ซ่อนอยู่ก็จะเผยออกมา!


ข้อเสนอของคุณที่ว่า “ถ้ามีความรู้สึกส่วนตัวกับใคร ควรจะโทรคุยแล้วเคลียร์กันตรงๆ นะครับ” ข้อเสนอที่ว่านี้ไม่ได้พ้นไปจากการไตร่ตรองและการขบคิดของผมก่อนการตัดสินใจพูดถึงบุคคลที่สามอย่างอาจารย์ยูสุฟเช่นกัน และเบอร์โทรศัพท์ของอาจารย์ยูสุฟก็คงไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินกว่าการแสวงหา เพราะอาจารย์ยูสุฟกับผมก็มิใช่ใครอื่น เคยร่วมอภิปรายด้วยกัน และเป็นเพื่อนเรียนไคโรกันมาก่อน


แต่ทำไมผมถึงเลือกเสี่ยงที่จะพูดถึงสูตรนบีของอาจารย์ยูสุฟผ่านสื่อแทนที่จะหาเบอร์โทรแล้วเคลียร์กันตรงๆ เหตุสำคัญก็คือนี่ไม่ใช่เรื่องความรู้สึกส่วนตัว ไม่ใช่ปัญหาส่วนตัวระหว่างผมกับอาจารย์ยูสุฟ แน่นอนถ้านี่เป็นเพียงเรื่องความรู้สึกหรือปัญหาส่วนตัว การพูดคุยทางโทรศัพท์หรือพูดกันสองต่อสองระหว่างผมกับอาจารย์ยูสุฟตัวเป็นๆ ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ผมจำต้องกระทำหรือไม่ก็สงบปากสงบคำไม่พูดถึงเลยก็ได้


แล้วทำไมผมถึงต้องเอาตัวของผมเข้าไปแลกกับความเสี่ยงในเรื่องนี้ โดยพูดผ่านสื่อ (ไฟล์เสียง) และเทปบันทึกภาพ (VDO) ลงเวบไซด์นี้และยูทูบ เพราะผมมั่นใจหรืออย่างน้อยก็เชื่อว่า อาจารย์ยูสุฟต้องดูและฟังสิ่งที่ผมพูดถึง หรือไม่ก็ต้องมีคนที่ดูและฟังนำไปบอกกับอาจารย์ยูสุฟให้รู้ว่าผมพูดถึง “สูตรนบี” ในทำนองใด


กรณีของอาจารย์ยูสุฟจะรับรู้หรือไม่และจะเลิกใช้วาทะกรรม “สูตรนบี” ตามที่ผมเสนอแกมขอร้องหรือไม่ ผมอาจจะประเมินผิดก็ได้ แต่สิ่งที่ใหญ่ไปกว่านั้นก็คือ วาทะกรรม “สูตรนบี” กลายเป็นเรื่องที่รับรู้และนิยมใช้กันจนแพร่หลายไปแล้วในสังคมมุสลิมขณะนี้ เป้าหมายของผมจึงไม่ใช่สิ่งที่พุ่งเป้าไปยังอาจารย์ยูสุฟเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ยังได้พุ่งเป้าไปยังพี่น้องที่หลงนิยมเห็นดีเห็นชอบไปกับวาทะกรรมสูตรนบีนั้นด้วย นั่นคือสิ่งที่ผมได้ตัดสินใจภายหลังจากพิจารณาแล้วว่ามีสาเหตุที่นักวิชาการระบุเอาไว้ว่า เป็นกรณียกเว้นที่อนุโลมให้พูดหรือเขียนพาดพิงถึงบุคคลที่สามได้ นั่นคือ “การเตือนให้พี่น้องมุสลิมระวังเรื่องที่มีผลร้ายและการตักเตือนพวกเขา


 เช่น การวิจารณ์คุณสมบัติของผู้รายงานอัล-หะดีษ บรรดาผู้เป็นพยาน บรรดาผู้แต่งตำรา และบรรดาผู้เสนอตัวสำหรับการตอบปัญหาศาสนาหรือการอ่านทั้งทีไม่มีคุณสมบัติอันเหมาะสมหรือเป็นไปพร้อมกับการกระทำผิดต่อหลักบัญญัติของศาสนาหรืออุตริกรรมโดยที่พวกเขาเรียกร้องไปสู่สิ่งดังกล่าว” (อัช-ชะวาญิรฺฯ อ้างแล้ว 2/26)


และเนื้อหาที่ผมพูดถึงก็เป็นเรื่องวาทะกรรม “สูตรนบี” ที่มีอาจารย์ยุสุฟเป็นเจ้าของวาทะกรรม ผมไม่ได้พูเรื่องส่วนตัวหรือก้าวล่วงเกินไปกว่านั้น แน่นอนเรื่องทั้งหมดที่ผมพูดหรือเขียน ผมต้องรับผิดชอบและต้องไปตอบกับพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ขอร้องให้ผมช่วยรับผิดชอบคำพูดนั้นก็ตาม!



การที่วาทะกรรม “สูตรนบี” ขจรขจายไปทั่วสังคมมุสลิมเพราะมีสื่อทีวีผ่านดาวเทียมเป็นแหล่งเผยแพร่และมีพี่น้องมุสลิมเป็นจำนวนมิใช่น้อยที่เห็นดีเห็นงามไปกับวาทะกรรมที่มีผลข้างเคียงในเชิงลบต่อการทำความเข้าที่ถูกต้องในหลักการของศาสนาและแนวทางของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺซึ่งมีองค์ความรู้มากมายเกินกว่าที่จะจำกัดอยู่เฉพาะวาทะกรรมนั้น และนำไปสู่การใช้วาทะกรรมนี้ในการตัดสินความถูกผิด นรก สวรรค์ นั่นเป็นฟิตนะฮฺในสังคมมุสลิมที่แท้จริง! และเป็นไปในวงกว้างที่การพูดคุยทางโทรศัพท์โดยตรงย่อมไม่เพียงพอในการสื่อถึงบรรดาพี่น้องมุสลิมโดยรวม


หากอาจารย์ยูสุฟผู้เป็นเจ้าของวาทะกรรมนี้ตระหนักอย่างที่ผมตระหนักและยุติที่จะใช้วาทะกรรมนี้ ผลข้างเคียงที่ลุกลามออกไปในวงกว้างนั้นเล่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบและใครกันเล่าที่จะต้องไปตอบกับพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่ปล่อยให้ฟิตนะฮฺของวาทะกรรมนี้กลายเป็นสูตรสำเร็จในการตัดสินชี้ขาดหมู่พี่น้องศรัทธาด้วยกันเอง!


ส่วนอัล-หะดีษในเรื่องการกระทบผู้หญิงนั้นถึงแม้ผมไม่ได้พูดถึงในไฟล์เสียงและ VDO เรื่องสูตรนบี แต่เป็นเรื่องที่อาจารย์อับดุลลอฮฺ และเยาะ หยิบยกมาประกอบคำบรรยาย เรื่องนี้อธิบายแทนอาจารย์อับดุลลอฮฺได้ กล่าวคือ บรรดาหะดีษที่เศาะฮีหฺที่อิมามอัล-บุคอรียฺและมุสลิมรายงานในเรื่องนี้ เช่น หะดีษที่ท่านหญิงอิชะฮฺ (ร.ฎ.) นอนขวางท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และกิบละฮฺแล้วท่านก็สะกิดขาของท่านหญิงเมื่อต้องการจะสุหฺญูด หรือหะดีษที่ระบุว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ละหมาดโดยอุ้มท่านหญิงอุมามะฮฺ (ร.ฎ.) ถึงแม้ว่าจะเป็นหะดีษเศาะฮีหฺแต่ก็มีนัยที่ตีความได้


และสำนวนของหะดีษก็ไม่ได้บ่งชี้อย่างเด็ดขาดว่ากระทบผู้หญิงไม่เสียน้ำละหมาด เพราะถ้าบ่งชี้เด็ดขาดและไม่สามารถตีความได้ นักวิชาการก็คงเห็นพ้องเป็นมติและไม่มีทัศนะอธิบายเรื่องนี้มากถึง 7 ทัศนะ


ส่วนหะดีษที่นักวิชาการฝ่ายที่มีความเห็นว่ากระทบผู้หญิงไม่เสียน้ำละหมาดในทุกกรณีอาศัยเป็นหลักฐานนั้น เป็นหะดีษที่รายงานโดย หะบีบ อิบนุ อบีษาบิต จากอุรวะฮฺ จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : “แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยจุมพิตภรรยาบางคนของท่าน ต่อมาท่านก็ออกไปยังการละหมาด และท่านไม่ได้อาบน้ำละหมาดแต่อย่างใด”


หะดีษบทนี้เป็นหะดีษเฎาะอีฟโดยการเห็นพ้องของบรรดานักท่องจำหะดีษ ส่วนหนึ่งคือ สุฟยาน อัษ-เษาวฺรียฺ , ยะหฺยา อิบนุ สะอีด อัล-ก็อฏฏ็อน , อะหฺมัด อิบนุ หัมบัล , อบู ดาวูด , อบูบักร อัน-นัยสะบูรียฺ , อบุลหะสัน อัด-ดาเราะกุฏนียฺ และอัล-บัยฮะกียฺ เป็นต้น


อิมามอบูดาวูดก็รายงานหะดีษนี้แต่ท่านถือว่าหะดีษอ่อน (เฎาะอีฟ) เพราะ หะบีบผู้นี้ผิดพลาดจากการรายงานในเรื่องการจุมพิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในขณะที่ท่านถือศีลอดไปเป็นการจุมพิตในเรื่องการมีน้ำละหมาด


และอิมามอบูดาวูด (ร.ฮ.) ก็ยังกล่าวอีกด้วยว่า : มีรายงานจากสุฟยาน อัษเษาวฺรียฺ ว่า : หะบีบไม่ได้เล่าหะดีษแก่เรายกเว้นเล่าจากอุรวะฮฺ อัล-มุซะนียฺ คือไม่ได้เล่าจากอุรวะฮฺ อิบนุ อัซฺซุบัยรฺ และอุรวะฮฺ อัล-มุซะนียฺเป็นบุคคลนิรนาม (มัจฺญ์ฮู้ล)


อันที่จริงสิ่งที่ถูกต้องจากหะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ก็คือ “แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยจุมพิตในสภาพที่ท่านถือศีลอด” อีกบทหนึ่งรายงานจากอบูเราวฺกิน จากอิบรอฮีม อัต-ตัยมียฺ จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยจุมพิตภายหลังการอาบน้ำละหมาด ต่อมาท่านก็ไม่ได้กลับไปอาบน้ำละหมาดใหม่”


อัล-หะดีษบทนี้ ผู้รายงานคือ อบูเราวฺกินนั้นอ่อน (เฎาะอีฟ) ตามที่ยะหฺยา อิบนุ มะอีนและนักวิชาการท่านอื่นระบุเอาไว้ และอิบรอฮีม อัต-ตัยมียฺ ก็ไม่เคยรับฟังหะดีษจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ซึ่งผู้ที่ระบุเช่นนี้ก็คือ อบูดาวูดและบรรดานักท่องจำหะดีษท่านอื่นๆ ซึ่งอัล-บะฮฺกียฺเล่าเอาไว้จากพวกเขาหล่านั้น หะดีษบทนี้จึงเป็นหะดีษเฎาะอีฟมุรสัล (กิตาบ อัล-มัจญูมูอฺ ชัรหุล มุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 2 หน้า 35-37)


เมื่อนักวิชาอัล-หะดีษผู้สันทัดกรณีและเชี่ยวชาญในการตรวจสายรายงานและสถานภาพของผู้รายงานเขาระบุว่า หะดีษทั้งสองบทเฎาะอีฟ ซึ่งก็แสดงว่าไม่เศาะฮีหฺ แล้วคุณ “มุสลิมอยากรู้” จะว่าอย่างไรล่ะ ผมกับอาจารย์อับดุลลอฮฺไม่ได้ว่าเอาเองโดยพลการหรือเดาซุ่มเสียหน่อย ขอให้คุณช่วยรับผิดชอบคำพูดด้วย เพราะทุกสิ่งที่คุณว่ามา คุณก็ต้องไปตอบกับพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เช่นกัน!

والله الهادى إلى سواءالسبيل