دع ما يريبك إلى ما لا يريبك  (อ่าน 7214 ครั้ง)

aziz

  • บุคคลทั่วไป
دع ما يريبك إلى ما لا يريبك
« เมื่อ: มกราคม 01, 2013, 01:10:13 am »
دع ما يريبك إلى ما لا يريبكคำพูดข้างต้นสามารถนำมาเป็นหลักฐานในเรื่องของสิ่งต่างๆ ที่เราวิเคราะห์ว่าน่าจะเข้าข่ายผิดหลักศาสนาได้หรือไม่ครับ และผมได้รับฟังการบรรยายของ อ.อาลีทีผมให้เกียรติเป็นอย่างสูงที่ได้ไปบรรยายหลายที่ๆว่าหาก เป็นสิ่งที่ไม่มีหุก่มมาก่อนละสิ่งนั้นเป็นเรื่่องของมุอามาละห์ก็สามารถทำได้ใช้มั้ยครับ ผมจะยกตัวอย่างให้อาจารย์ได้เห็นภาพแล้วกันนะครับ
๑. การที่โต็ะครูหลายท่านเจิมรถให้กับผู้ที่มาขอ  ดังนั้นการเจิมรถและคนเจิมรถหุก่มไหนคครับ
๑. การที่เจ้าของตึกหรื่อบ้านที่เป็นชาวพุทธมาขอให้ที้งพระหลายรูป และขอให้จัดลาแบจากมัสยิดใกล้เคียงมาขอพรให้เป็นศิริมงคลหรือไล่ผีนั้นสามารถทำได้หรือไม่และจะอยู่ในหุก่มไหนครับ
+ บางครั้งผมอดคิดไม้ได้ว่าเพราะเหตุอันใดอาจารย์จึงตักเตือนคนทำผิดน้อยมาก ในทางกลับกันผมก็เห็นอาจารย์ต่อว่าพวกอาจารย์ที่ชอบฟัตวาเหมือนกับว่าคนพวกนี้ชอบความรุนแรงซึ่งอาจารย์ก็ทราบดีว่ากาารปฏิบัติของมุสลิมส่วนใหญ่ในบ้านเรามักจะออกไปในทางความเชื่อที่ผิดๆมากนะครับ แต่อาจารย์ก็ว่ามันเป็นเป็นมุอามาละห็ ดังนั้นผมยังคงสงสัยการนำเสนอและสรุปเรื่องราวศาสนาของอาจารย์อยู่ดี
สรุปตกลงสิ่งที่อัลเลาะห์บอกให้หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่เคลือบแคลง กลับกลายเป็นว่าเป็นมุอามะละห์ อินซานียะห์ไปได้อีกเหรอครับ  (ผมนับถืออาจารย์มากครับ) และคำว่า การอนุมัตินั้นชัดเจนแล้ว และสิ่งหารอมก็ชัดเจนแล้ว และจง่ออกห่างสิ่งที่เป็นข้อสังสัย (ถ้าผิดช่วยด้วยครับ) ก็คงไม่มีประโยชน์ใดๆเลยเหรอครับ
สุดท้ายนี้ช่วยตอบนะครับ (ปล. ผมชื่นชมอาจารย์ทุกๆการตอบคำถามแต่บางครั้งผมอดสงสัยไม่ได้ว่าเพราะเหตุที่บางครั้งมันก็ชัดเจนแล้วจากประมวลหลักฐานต่างๆ แต่อาจารย์ก็บอกว่ามันเป้นมุอามาละห์ ตราบใดที่มันยังไม่มีหุก่มมาบังคับ )

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : دع ما يريبك إلى ما لا يريبك
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 18, 2013, 06:20:54 pm »
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

แน่นอนครับ   นี่มิใช่เป็นเพียงคำพูด แต่เป็นหะดีษของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ที่รายงานโดยท่านอัล-หะสัน อิบนุ อะลี อิบนิ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.)  บันทึกโดย อัต-ติรมิซียฺ และ อัน-นะสาอียฺ และอัตติรมีซียฺกล่าวว่าเป็นหะดีษหะสันเศาะฮีหฺ  


เมื่อเป็นหะดีษของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่มีรายงานถูกต้องก็ย่อมเป็นหลักฐานทางศาสนาอยู่แล้ว  และเป็นหะดีษที่มีนักวิชาการนำมาตั้งเป็นกฎทางนิติศาสตร์ที่สำคัญ คือ การละทิ้งสิ่งที่คลุมเครือในข้อชี้ขาด และการเคร่งครัดต่อสิ่งอนุมัติที่มั่นใจ (ยะกีน) ตลอดจนยังถือเป็นหลักมูลฐานในเรื่องความอัล-วัรอฺ คือการหลีกห่างจากสิ่งที่คลุมเครือ (อัช-ชุบุฮาตฺ)


หะดีษบทนี้มีนัยและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับหะดีษสำคัญอีกบทหนึ่งคือ อัล-หะดีษที่รายงานโดย อัน-นุอฺมาน อิบนุ บะชีรฺ (ร.ฎ.) บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺและมุสลิม  นั่นคืออัล-หะดีษที่ว่า “แท้จริงสิ่งอนุมัตินั้นชัดเจน และแท้จริงสิ่งที่ต้องห้ามนั้นชัดเจน  และระหว่างมันทั้งสองมีสิ่งที่เป็นปัญหาไม่ชัดเจน (คลุมเครือ)”


   คำว่า “ชัดเจน”  (بَيِّنٌ)  ในอัล-หะดีษบทนี้ หมายถึง สิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺและท่ารสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ระบุเป็นตัวบทเอาไว้หรือมีอิจญติมาอฺเห็นพ้องกันว่าเป็นสิ่งอนุมัติด้วยตัวของสิ่งนั้น หรือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามด้วยตัวของสิ่งนั้น


ส่วนคำว่า “มุชตะบิฮาตฺ”  ที่แปลว่า คล้ายคลึง คลับคล้ายคลับคลา  คือเป็นปัญหาไม่ชัดเจน อันเนื่องมาจากในเรื่องนั้นไม่มีความชัดเจนในข้อชี้ขาดว่าอนุมัติหรือต้องห้าม
   อิมามอัน-นะวะวียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า แท้จริงสิ่งต่างๆ นั้นมี 3 ประเภท

1) อนุมัติชัดเจน กล่าวคือ การเป็นที่อนุมัติของสิ่งนั้นไม่เป็นที่ซ่อนเร้นอำพราง เช่น การกินขนมปัง การพูด และการเดิน เป็นต้น

2) ต้องห้ามชัดเจน เช่น สุรา และการผิดประเวณี เป็นต้น

3) คลุมเครือ (มุชตะบิฮาตฺ) หมายถึงสิ่งนั้นไม่มีความชัดเจนว่าอนุมัติหรือต้องห้าม  เหตุนี้ผู้คนเป็นอันมากจึงไม่รู้ถึงข้อชี้ขาดของมันด้วยตัวบทหรือการกิยาสฺ ดังนั้นเมื่อสิ่งนั้นๆ สับสนอยู่ระหว่างการเป็นที่อนุมัติและการเป็นที่ต้องห้าม  และไม่มีตัวบท ไม่มีอิจญมาอฺ  มุจญ์ตะฮิดก็จะอิจญ์ติฮาดในสิ่งนั้น  แล้วนำสิ่งนั้นไปผนวกกับกรณีหนึ่งกรณีใดจาก 2 เรื่องนั้น ด้วยหลักฐานตามศาสบัญญัติ

(อัล-วาฟียฺ ชัรหุล อัรบะอีน อัน-นะวาวียะฮฺ หน้า 32-33)


ในกรณีของสิ่งที่คุลมเครือซึ่งไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นที่ต้องห้ามหรือเป็นที่อนุมัตินั้น  อิบนุ อัล-มุนซิร ได้แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ

1) สิ่งหนึ่งที่บุคคลรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นที่ต้องห้าม ต่อมาก็เกิดความสงสัยในสิ่งนั้นว่ามันยังคงเป็นที่อนุมัติอยู่หรือไม่ กรณีนี้ไม่อนุญาตให้ก้าวล่วงกระทำสิ่งนั้นนอกจากด้วยความยะกีน (มั่นใจ) เท่านั้น  เช่น แกะ 2 ตัว หนึ่งใน 2 ตัวนั้นกาฟิรฺเป็นผู้เชือด แล้วเกิดสงสัยว่าเป็นตัวไหนกันแน่


2) ตรงกันข้ามกับข้อแรกคือ รู้ว่าสิ่งนั้นหะล้าล แล้วสงสัยในการเป็นที่หะรอมของมัน เช่น ภรรยาที่สงสัยในการหย่าหรือการมีหะดีษที่ถูกสงสัยหลังจากมั่นใจว่ามีการอาบน้ำละหมาด กรณีนี้ไม่มีผลแต่อย่างใด


3) สิ่งหนึ่งที่สงสัยในการเป็นที่ต้องห้ามหรือการเป็นที่อนุมัติเสมอกัน ที่ดีที่สุดคือหลีกห่างจากสิ่งนั้นเสีย


ทั้ง 3 กรณีนี้แหล่ะที่ผูกพันกับอัล-หะดีษที่ว่า “จงละทิ้งสิ่งที่ท่านคลางแคลงสงสัยไปยังสิ่งที่ท่านไม่คลางแคลงสงสัย คือละทิ้งสิ่งที่คลุมเครือและให้ยึดมั่นในสิ่งที่มั่นใจและปลอดภัย ซึ่งเป็นคนละกรณีกับสิ่งที่อนุมัติ (หะล้าล) ชัดเจน และต้องห้าม (หะรอม) ชัดเจน เพราะทั้ง 2 เรื่องเป็นสิ่งที่เด็ดขาดด้วยตัวบทที่ชัดเจนทางศาสนาและไม่มีความคลุมเครือ  การคลางแคลงสงสัยในสิ่งที่ชัดเจนด้วยข้อชี้ขาดของตัวบททางศาสนาไม่ใช่เป็นความวัรอฺ  แต่เป็นการวิสว๊าสฺของชัยฏอน  


ดังนั้นการจะนำหะดีษ “จงละทิ้งสิ่งที่ท่านคลางแคลงสงสัย ไปยังสิ่งที่ท่านไม่คลางแคลงสงสัย”  มาวิเคราะห์สิ่งที่น่าจะเข้าข่ายว่าผิดหลักศาสนานั้นให้ใช้ในกรณีเฉพาะ “สิ่งคลุมเครือ” หรือ “สิ่งที่ไม่มีตัวบทชี้ขาดเอาไว้อย่างชัดเจน” หรือ “กรณีความสงสัยขัดแย้งกับสิ่งที่มั่นใจ”  ตามกฎนิติศาสตร์ที่ว่า اَلْيَقِينُ لايَزُوْلُ بِالشَّكِّ  (ความมั่นใจจะไม่หมดไปด้วยการสงสัย) เช่น มั่นใจว่าอาบน้ำละหมาดแล้ว ต่อมาก็สงสัยว่าเสียน้ำละหมาดหรือไม่ ก็ให้ถือว่ายังคงมีน้ำละหมาดอยู่ตามเดิม เป็นต้น


ส่วนสิ่งที่ชัดเจนว่าเป็นที่ต้องห้าม เช่น การดื่มสุรา การเล่นการพนัน การทำซินา และสิ่งที่ชัดเจนว่าเป็นที่อนุมัติ เช่น น้ำดื่ม การกินผลไม้ การร่วมหลับนอนกับภรรยาในช่วงปลอดรอบเดือน การสร้างมัสยิด เป็นต้น  จะนำเอาหะดีษข้างต้นมาใช้วิคราะห์ไม่ได้ เพราะการวิเคราะห์จะกระทำได้เฉพาะในกรณีที่ไม่มีตัวบทชี้ขาดอย่างชัดเจน  และเมื่อชัดเจนแล้วจะมาตั้งข้อสงสัยได้อย่างไรเล่า  


มิหนำซ้ำการตั้งข้อสงสัยในสิ่งที่ชัดเจนเด็ดขาดด้วยตัวบทแล้ว เช่น สงสัยว่าละหมาด 5 เวลาเป็นวาญิบหรือไม่ หรือสงสัยว่าการดื่มสุราเป็นที่อนุมัติหรือไม่  การตั้งข้อสงสัยอย่างนี้ไม่มีมูลให้สงสัยตั้งแต่แรกอยู่แล้ว  และหลักการของศาสนาที่ว่าด้วยอัล-หะลาล วัล-หะรอม นั้นถูกนำมาใช้ในทุกเรื่องที่เป็นโครงสร้างของศาสนา คือ อัล-อะกีดะฮฺ (หลักความเชื่อ) และ อัช-ชะรีอะฮฺ (หลักนิติธรรมอิสลาม) ซึ่งแบ่งเป็น 2 หมวดใหญ่คือ อัล-อิบาดะฮฺ (พิธีกรรมทางศาสนา, ศาสนกิจ) และอัล-มุอามะลาต (การมีปฏิสัมพันธ์และการทำธุรกรรม)


ในประเด็นของ อัล-อะกีดะฮฺนั้นยกตัวอย่างเช่น การใช้ไสยศาสตร์ (อัส-สิหฺร์) เป็นที่ต้องห้าม การใช้ยาหรือการรักษาจากหมอเป็นสิ่งที่อนุมัติ การใช้อัล-กุรอานหรือพระนามอันไพจิตรหรือคุณลักษณะอันสูงส่งของอัลลอฮฺตามเงื่อนไขในการ “รุกยะฮฺ” เป็นที่อนุมัติ แต่การอ่านถ้อยคำที่ไม่รู้ความหมายในการ “รุกยะฮฺ” เป็นที่ต้องห้าม


การล้างและเช็ดรถให้สะอาดและทาน้ำยาเคลือบเป็นสิ่งที่อนุมัติ  การเจิมรถตามที่นิยมกระทำกันโดยเชื่อว่าการเจิมรถนั้นให้คุณให้โทษด้วยตัวของมันเองเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะในกรณีของสิ่งต้องห้ามที่ยกตัวอย่างมาเป็นการตั้งภาคี (ชิรก์) หรือเป็นสิ่งที่จะนำไปสู่การตั้งภาคี จึงถือเป็นสิ่งต้องห้าม


ในประเด็นของ อัล-อิบาดะฮฺ ก็เช่น การละหมาดของหญิงที่มีรอบเดือนเป็นที่ต้องห้าม การละหมาดของหญิงที่มีอิสติหาเฎาะฮฺเป็นที่อนุมัติ


การถือศีลอดของผู้มีญุนุบเป็นที่อนุมัติ  การอ่านอัล-กุรอานของผู้มีหะดัษใหญ่โดยไม่มีเหตุผ่อนผันถือเป็นสิ่งต้องห้าม  แต่การอ่านถ้อยคำจากอัล-กุรอานโดยมุ่งหมายเป็นดุอาอฺหรือซิกุลลอฮฺสำหรับผู้มีหะดัษใหญ่เป็นที่อนุมัติ เป็นต้น



ส่วนประเด็นของอัล-มุอามะลาตก็เช่น การซื้อขายที่ครบเงื่อนไขตามที่ศาสนากำหนดเป็นที่อนุมัติ  การกินดอกเบี้ยเป็นที่ต้องห้าม  การขายสินค้าจำพวกน้ำผลไม้เป็นที่อนุมัติ แต่การขายสุราหรือน้ำเมาเป็นที่ต้องห้าม  การสวมใส่ผ้าไหมและทองคำเป็นเครื่องประดับเป็นที่ต้องห้ามสำหรับผู้ชาย แต่การสวมใส่ผ้าไหมและทองคำเป็นเครื่องประดับสำหรับผู้หญิงเป็นที่อนุมัติ


การนิกะห์กับหญิงที่มิใช่มะหฺร็อมเป็นที่อนุมัติ แต่การนิกาห์กับหญิงที่เป็นมะหฺร็อมเป็นที่ต้องห้าม การรับประทานเนื้อของสุกรเป็นที่ต้องห้าม การรับประทานเนื้อปลาเป็นที่อนุมัติ การกล่าวบทกวีเพื่อปลุกจิตศรัทธาเป็นที่อนุมัติ แต่การกล่าวบทกวีที่มีเนื้อหาปลุกเร้าทางเพศเป็นที่ต้องห้าม  การใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อแสวงหาความรู้และสิ่งที่มีประยชน์เป็นที่อนุม้ติ แต่การใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อเข้าดูเว็บโป้เปลือยเป็นที่ต้องห้าม  เป็นต้น


นักวิชาการได้กำหนดหลักนิติศาสตร์ที่สำคัญว่า   اَلأَصْلُ فِي الْأَشْيَاءِالْإِبَاحَةُ “หลักเดิมในสิ่งทั้งหลายคือการอนุมัติ”  ดร.ยูสุฟ อัล-ก็อรฎอวียฺ อธิบายกฎข้อนี้ว่า “สิ่งที่เป็นหลักมูลฐานแรกซึ่งอิสลามรับรองเอาไว้คือ  


แท้จริงหลักเดิมในสิ่งที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงสร้างจากสรรพสิ่งและคุณประโยชน์คือ การอนุมัติและอนุญาติ (อิบาหะฮฺ) ไม่มีสิ่งที่ต้องห้าม (หะรอม) นอกเสียจากสิ่งที่มีตัวบทที่ถูกต้องชัดเจนระบุจากผู้วางบัญญัติ (อัซ-ซาริอฺ) ว่าสิ่งนั้นเป็นที่ต้องห้าม  ดังนั้นเมื่อปรากฏว่ามีตัวบทที่ถูกต้อง (เช่นบรรดาหะดีษเฎาะอีฟ) หรือตัวบทนั้นไม่ชัดเจนในนัยบ่งชี้ถึงการเป็นที่ต้องห้าม เรื่องนั้นก็ยังคงอยู่บนหลักเดิมของการอนุมัติ”
(อัล-หะลาล วัล-หะรอม หน้า 20)


ดร.ยูสุฟ อัล-ก็อรฎอวียฺ ยังกล่าวอีกว่า “แท้จริงหลักเดิมของการอนุมัตินั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสรรพสิ่งและสิ่งที่มีตัวตนทั้งหลายเท่านั้น แต่ยังได้รวมถึงการกระทำและการดำเนินการต่างๆ ซึ่งมิใช่เป็นเรื่องของอิบาดะฮฺ คือสิ่งที่เราเรียกมันว่า อัล-อาดาตฺ (จารีต) หรือ อัล-มุอามะลาต (การมีปฏิสัมพันธ์ – การทำธุรกรรม)”


ดังนั้นหลักเดิมใน อัล-อาดาตฺ หรือ อัล-มุอามะลาตก็คือไม่มีการบัญญัติห้ามและไม่มีการกำหนดเงื่อนไข ยกเว้นสิ่งที่ผู้วางบัญญัติ (อัช-ชาริอฺ) ได้ห้ามสิ่งนั้นและบังคับให้ถือตามนั้น...สิ่งนี้แตกต่างจากเรื่องอิบาดะฮฺ เพราะอิบาดะฮฺเป็นเรื่องของศาสนาล้วนๆ ซึ่งจะไม่ถูกยึดเอานอกจากผ่านการวะฮียฺเท่านั้น  


และในเรื่องอิบาดะฮฺมีหะดีษที่เศาะฮีหฺรายงานมาว่า “ผู้ใดอุตริกระทำขึ้นใหม่ในการกิจของเรา สิ่งซึ่งมิใช่ส่วนหนึ่งจากการกิจของเรา นั่นก็ถูกโต้กลับ (ไปยังผู้กระทำอุตริกรรมนั้น) รายงานพ้องกันโดย อัล-บุคอรียฺและมุสลิม  


และนั่นคือเนื้อแท้ของศาสนาซึ่งแสดงออกมาใน 2 เรื่อง คือจะไม่ถูกอิบาดะฮฺนอกเสียจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เท่านั้น และพระองค์จะไม่ถูกอิบาดะฮฺนอกเสียจากด้วยสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติเอาไว้  ดังนั้นผู้ใดอุตริการทำอิบาดะฮฺเอาเอง (ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม) นั่นคือความหลงผิดที่ถูกโต้กลับไปหาผู้นั้น เพราะผู้วางบัญญัติคือผู้เดียวเท่านั้นที่มีสิทธิในการกำหนดการทำอิบาดะฮฺต่างๆ ซึ่งจะถูกสร้างความใกล้ชิดไปยังพระองค์ด้วยการทำอิบาดะฮฺนั้น


ส่วนเรื่องของ “อัล-อาดาตฺ” หรือ อัล-มุอามะลาตฺ นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผู้วางบัญญัติเป็นผู้เริ่มกำหนดเอาไว้ แต่มนุษย์คือผู้ที่กำหนดมันขึ้น และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันด้วยสิ่งนั้น ผู้วางบัญญัติมาในฐานะผู้แก้ไข ปรับปรุง และขัดเกลาสิ่งเหล่านั้นให้ถูกต้อง ตลอดจนให้การรับรองในบางครั้ง สำหรับสิ่งที่ปลอดจากความเสียหายและอันตราย (อ้างแล้ว หน้า 22)


ชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ กล่าวว่า “แท้จริงการดำเนินการของบ่าวทั้งคำพูดและการกระทำนั้นมี 2 ชนิด

1)   อิบาดาตฺ ที่ศาสนาของพวกเขาจะดีได้ด้วยการทำอิบาดาตฺเหล่านั้น


2)   อาดาตฺ (จารีต) ที่พวกเขามีความต้องการไปยังอาดาตฺเหล่านั้นในดุนยาของพวกเขา


ดังนั้นด้วยการสำรวจถึงหลักมูลฐานของชะรีอะฮฺเราก็รู้ได้ว่า แท้จริงบรรดาอิบาดาตฺเหล่านั้น จะไม่มีการยืนยันคำสั่งให้กระทำอิบาดาตฺเหล่านั้นนอกเสียจากด้วยบัญญัติของศาสนา  


ส่วนเรื่องของบรรดาอาดาตฺนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์กระทำเป็นจารีตในดุนยาของพวกเขาจากสิ่งที่พวกเขามีความต้องการไปยังสิ่งนั้น หลักเดิมในเรื่องนี้คือไม่มีการห้าม และส่วนหนึ่งจากเรื่องนี้จะไม่ถูกห้ามยกเว้นสิ่งที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงห้ามสิ่งนั้นเอาไว้เท่านั้น  


สิ่งดังกล่าวเป็นเพราะว่าคำสั่งใช้ (อัล-อัมรฺ) และคำสั่งห้าม (อัน-นะฮฺยฺ) ทั้งสองคือการบัญญัติของอัลลอฮฺ และการอิบาดะฮฺนั้นจำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ถูกสั่งใช้ให้กระทำ   ฉะนั้นสิ่งใดที่ไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นสิ่งที่ถูกใช้ให้กระทำแล้วจะถูกตัดสินว่าสิ่งนั้นเป็นที่ต้องห้ามได้อย่างไร?


เพราะเหตุนี้จึงปรากฏว่า อิมามอะหฺมัดและบรรดานักนิติศาสตร์ฝ่ายอะฮฺลุลหะดีษได้กล่าวว่า “แท้จริงหลักเดิมในบรรดาเรื่องอิบาดะฮฺคือการยุติกับตัวบท จะไม่มีการบัญญัติเรื่องอิบาดะฮฺนอกจากสิ่งที่อัลลอฮฺทรงบัญญัติสิ่งนั้น หาไม่แล้วเราก็จะเข้าอยู่ภายใต้นัยของพระดำรัสที่ว่า

أَمْ لَهُمْ شُرَكَاءُ شَرَعُوا لَهُم مِّنَ الدِّينِ مَا لَمْ يَأْذَن بِهِ اللَّـهُ

“หรือว่าสำหรับพวกเขามีบรรดาหุ้นส่วนที่บรรดาหุ้นส่วนนั้นบัญญัติส่วนหนึ่งจากศาสนาให้แก่พวกเขา อันเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺมิได้ทรงอนุมัติให้แต่อย่างใด” (อัช-ชูรอ : 21)


และเรื่องของบรรดาอาดาตฺ (มุอามะลาตฺ) นั้น หลักเดิมในเรื่องนี้คือ อัล-อัฟวุ (ผ่อนปรน) ดังนั้นส่วนหนึ่งจากอาดาตฺจะไม่ถูกห้ามยกเว้นสิ่งที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงบัญญัติห้ามสิ่งนั้นเอาไว้  หาไม่แล้วเราย่อมเข้าอยู่ภายใต้นัยของพระดำรัสที่ว่า

قُلْ أَرَأَيْتُم مَّا أَنزَلَ اللَّـهُ لَكُم مِّن رِّزْقٍ فَجَعَلْتُم مِّنْهُ حَرَامًا وَحَلَالًا

“จงกล่าวเถิด พวกท่านจงบอกให้ฉันทราบที  ถึงสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานลงมาให้แก่พวกท่านจากปัจจัยยังชีพ  แล้วพวกท่านก็ทำให้ส่วนหนึ่งจากมันเป็นที่ต้องห้ามหรือเป็นที่อนุมัติ” (ยูนุส : 59)


และนี่คือกฎเกณฑ์ที่ยิ่งใหญ่และมีประโยชน์ และเมื่อปรากฏเป็นเช่นนั้นเราจึงกล่าวว่า  การซื้อขาย, การยกให้, การเช่าหรือจ้าง หรืออื่นๆ จากบรรดาอาดาตฺ ซึ่งมนุษย์มีความต้องการไปยังอาดาตฺเหล่านั้นในการดำรงชีวิตของพวกเขา  (เช่น การกิน การดื่ม การสวมใส่เครื่องนุ่งห่ม)


ดังนั้นหลักชะรีอะฮฺจึงได้นำเอาบรรดามารยาทที่งดงามมาใช้ในบรรดาอาดาตฺเหล่านี้  
และชะรีอะฮฺก็บัญญัติห้ามส่วนหนึ่งจากมันอันเป็นสิ่งที่มีความเสียหายในสิ่งนั้น และถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น (วาญิบ) ในส่วนของสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากสิ่งนั้น  และถือว่าสิ่งที่ไม่บังควรจากสิ่งเหล่านั้น  และถือว่าสิ่งที่มีสิทธิประโยชน์ที่มีน้ำหนักในบรรดาอาดาตฺชนิดต่างๆ ขนาดปริมาณและลักษณะของมันว่าเป็นสิ่งที่ดี (มุสตะหับ)


เมื่อปรากฏเป็นเช่นที่ว่ามา ผู้คนจึงทำการซื้อขายและจัดจ้างอย่างไรก็ได้ตามที่พวกเขาประสงค์  ตราบใดที่ชะรีอะฮฺมิได้บัญญัติห้ามเอาไว้  ในทำนองนั้นพวกเขาจะกินจะดื่มอย่างไรก็ได้ตามที่พวกเขาประสงค์ตราบใดที่ชะรีอะฮฺมิได้บัญญัติห้ามเอาไว้  


(ถึงแม้ว่าบางส่วนของสิ่งดังกล่าวอาจจะเป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริมให้กระทำ (มุสตะหับ) หรือเป็นสิ่งที่ไม่บังควร (มักรูฮฺ) ก็ตาม)  และตราบใดที่หลักชะรีอะฮฺมิได้กำหนดขอบเขตอันใดในสิ่งดังกล่าว พวกเขาก็ยังคงอยู่ในสิ่งนั้นตามหลักเดิมที่เปิดกว้างเอาไว้

(อัล-เกาะวาอิด อันนูรอนียะฮฺ อัล-ฟิกฮียะฮฺ ; อิบนุ ตัยมียะฮฺ หน้า 112-113)


นี่คือหลักการที่ผมยึดถือและใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมุสลิม และหลักการที่จำแนกระหว่างอิบาดาตฺกับมุอามะลาตฺนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผมคิดขึ้นเอาเอง


ส่วนที่คุณ aziz เขียนมาว่า “หากเป็นสิ่งที่ไม่มีหุก่มมาก่อนและสิ่งนั้นเป็นเรื่องมุอามะลาห์ก็สามารถทำได้ใช่มั๊ยครับ”  จริงๆ แล้วคุณ aziz ตั้งประเด็นผิด เพราะที่ถูกต้องคือ “เรื่องใดที่เป็นมุอามะละฮฺนั้น หลักเดิมคือเป็นที่อนุญาตจนกว่าจะมีตัวบทที่ถูกต้องชัดเจนมาระบุห้ามเอาไว้  ส่วนเรื่องอิบาดะฮฺนั้นหลักเดิมคือเป็นสิ่งที่ต้องห้ามจนกว่าจะมีตัวบทที่ถูกต้องชัดเจนมาระบุสั่งใช้เอาไว้”  


   กรณีการไม่มีตัวบทชี้ขาดหรือหุก่มมาก่อนมิใช่ตัวที่จะมากำหนดว่าสิ่งนั้นเป็นมุอามะละฮฺเสมอไป  เพราะบางทีหากสิ่งนั้นเป็นเรื่องของอิบาดะฮฺการไม่มีคำสั่งกำหนดให้กระทำโดยตัวบทที่ถูกต้องก็กระทำมิได้เช่นกัน  การเชื่อหรือศรัทธาต่อสิ่งหนึ่งที่ไม่มีตัวบทหลักฐานจากอัล-กุรอานและสุนนะฮฺมายืนยันรับรองนั่นก็ไม่ใช่ตัวกำหนดว่าการเชื่อหรือศรัทธานั้นเป็นเรื่องของอุอามะละฮฺที่สามารถนำมายึดถือและปฏิบัติตามความเชื่อนั้นได้  เพราะกรณีนี้เป็นเรื่องของหลักศรัทธา (อัล-อะกีดะฮฺ) ไม่ใช่เรื่องของมุอามะละฮฺแต่อย่างใด  


   ซึ่งทั้งสองเรื่องที่คุณยกตัวอย่างมามิใช่เป็นการล้างรถหรือทำสีรถหรือปะผุซึ่งเป็นมุอามะละฮฺ  และมิใช่อิบาดะฮฺ  แต่เป็นเรื่องของอะกีดะฮฺ ซึ่งไม่มีตัวบทใดๆ หุก่มให้มุสลิมทำการเจิมรถ  มิหนำซ้ำเมื่อการเจิมรถเป็นเรื่องของความเชื่อของคนต่างศาสนิกก็เป็นสิ่งที่ต้องห้ามสำหรับมุสลิมที่จะทำการเจิมรถ เพราะถ้าหากเชื่อว่าการเจิมรถ (ซึ่งหะรอมอยู่แล้วในกรณีเลียนแบบ)  ให้คุณให้โทษต่อเจ้าของรถ  นั่นก็จะกลายเป็นการตั้งภาคี (ซิรก์) สิ่งใดที่นำไปสู่การตั้งภาคี  สิ่งนั้นก็เป็นการตั้งภาคีไปด้วย  


ในกรณีที่สองก็ไม่ใช่เรื่องคนต่างศาสนาทำอาหารหะลาลให้ชาวมุสลิมรับประทานซึ่งเป็นเรื่องมุอามะละฮฺ  แต่เป็นเรื่องของความเชื่อ (หลักอะกีดะฮฺ) ที่มุสลิมจะไปขอให้เกิดความมีสิริมงคล (บะเราะกะฮฺ) แก่ผู้ที่ปฏิเสธศรัทธาไม่ได้เพราะเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม)


อีกทั้งกรณีที่ยกตัวอย่างมาถึงแม้ว่าจะนำมาจัดอยู่ในหมวดมุอามะละฮฺก็ตาม  แต่ในกรณีดังกล่าวมีตัวบทระบุห้ามมาแล้ว  คือ \"ทุกสิ่งที่นำไปสู่ชิรก์ สิ่งนั้นก็ถือเป็นชิกร์ไปด้วย\" หรือ \"ทุกสิ่งที่นำพาไปสู่สิ่งต้องห้ามสิ่งนั้นก็เป็นที่ต้องห้ามไปด้วย\" ตามกฎนิติศาสตร์ที่ว่า سَدًّاللِدَّرَائِعِ  คือการปิดหนทางที่จะนำไปสู่ความเสียหาย  


กระนั้นถ้าบุคคลไม่รู้แน่ชัดถึงตัวบทดังกล่าวที่ระบุห้ามและเกิดความสับสนว่าทำได้หรือไม่ บุคคลผู้นั้นก็สามารถอาศัยอัล-หะดีษต้นเรื่องมากำหนดท่าทีของตนได้ในกรณีนี้  เพราะความสับสนเป็นผลมาจาการไม่รู้ถึงตัวบทที่แน่ชัดว่าอนุมัติหรือต้องห้ามนั่นเอง


ส่วนกรณีที่คุณอดคิดไม่ได้ว่าเพราะเหตุใดผมจึงตักเตือนคนทำผิดน้อยมาก  แต่กลับเป็นว่าผมชอบต่อว่าพวกอาจารย์ที่ชอบฟัตวาเหมือนกับว่าพวกเขาชอบความรุนแรง ข้อนี้ผมคงไม่สามารถห้ามไม่ให้คุณคิดเช่นนั้นได้  แต่ลองกลับไปฟังไฟล์เสียงของผมในเว็บไซต์นี้ดูอีกที  บางทีคุณอาจจะมีความคิดเหมือนคุณ “มุสลิมอย่างรู้” ที่ตำหนิว่าผมชอบว่าคนอื่นอยู่บ่อยๆ ก็เป็นได้  


และไม่ใช่ว่าทุกเรื่องที่เป็นความเชื่อผิดๆ ผมจะต้องบอกว่ามันเป็นมุอามะละฮฺทุกครั้งไป  ที่สำคัญการไปกล่าวหาว่าการปฏิบัติของมุสลิมส่วนใหญ่ในบ้านเราว่า “มักจะออกไปในทางความเชื่อผิดๆ” นั้นถือเป็นอคติ (سُوْءُالظَّنِّ)  ซึ่งเป็นที่ต้องห้าม  



และเหตุที่ผมต่อว่าอาจารย์เหล่านั้นก็เพราะพวกเขาไม่ตะเศาวุ๊รในสิ่งที่ถูกถามเสียก่อนว่ามันคืออะไร เพราะมีหลักการระบุว่า  اَلْحُكْمُ عَلَى الشَّئِ فَرْعٌ عَنْ تَصَوُّرِهِ “การชี้ขาดต่อสิ่งนั้นๆ เป็นแขนงที่เกิดจากการจินตภาพถึงสิ่งนั้น”  และในบางครั้งพวกเขาก็ตะเศาวฺวุ๊รผิดเรื่องผิดประเด็น เช่นไม่วิเคราะห์เสียก่อนว่าเรื่องที่ถามมาอยู่ในหมวดอะกีดะฮฺหรืออิบาดะฮฺหรือมุอามะละฮฺ  


เมื่อตะเศาวฺวุ๊รผิดการตัดสินชี้ขาดในปัญหานั้นๆ ก็พาลผิดไปด้วย  ผลที่ตามมาก็คือ คนที่ฟังคำตอบก็เลยเข้าใจผิดตามไปด้วย  ปัญหาก็เลยบานปลายอย่างที่เป็นอยู่  ลองคิดดูว่า  หากนั่นเป็นการตอบปัญหาในเรื่องหะลาลและหะรอม ผลจะเป็นเช่นใด



อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮฺ) รายงานไว้ในตำรา อัล-อุมม์ ของท่าน จาก อัลกอฎียฺ อบู ยูสุฟ สหายของอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) ว่าฉันทันบรรดาคณาจารย์ผู้ทรงความรู้ของพวกเราหลายคน  พวกเขารังเกียจการฟัตวา คือการที่พวกเขาจะกล่าวว่า “สิ่งนี้หะลาล และสิ่งนี้หะรอม  ยกเว้นสิ่งที่ปรากฏมีอยู่ในกิตาบุลลอฮฺอย่างชัดเจนโดยไม่ต้องอธิบายใดๆ”  



อิบนุ อัส-สาอิบ ได้เล่าให้เราฟังจาก อัร-เราะบีอฺ อิบนุ ค็อยษัม (ซึ่งเป็นตาบิอีนผู้ประเสริฐ) ว่าเขากล่าวว่า “พวกท่านพึงระวังการที่บุคคลกล่าวว่า แท้จริงอัลลอฮฺทรงอนุมัติสิ่งนี้หรือพอพระทัยต่อสิ่งนี้  และพระองค์ก็จะตรัสกับผู้นั้นว่า ข้าไม่ได้อนุมัติสิ่งนี้และไม่เคยพอใจต่อมันเลย!  หรือการที่เขาผู้นั้นกล่าวว่า แท้จริงอัลลอฮฺทรงบัญญัติห้ามสิ่งนี้ แล้วพระองค์ก็จะตรัสกับผู้นั้นว่า เจ้าโกหก! ข้าไม่เคยบัญญัติว่าสิ่งนี้เป็นที่ต้องห้ามและข้าก็ไม่เคยห้ามกระทำมันเสียหน่อย!”  



และบรรดาสหายของพวกเราบางคนได้เล่าให้เราฟังจากอิบรอฮีม อัน-นัคเคาะอียฺ (ตาบีอีนรุ่นอาวุโสที่นครอัล-กูฟะฮฺ)  ว่าเขาได้เล่าจากบรรดาสหายของเขาว่า “พวกเขานั้น เมื่อพวกเขาจะฟัตวาสิ่งหนึ่งหรือห้ามจากสิ่งนั้น พวกเขาก็กล่าวว่า สิ่งนี้เป็นมักรูฮฺ และสิ่งนี้ไม่เป็นอะไร  ส่วนกรณีการที่พวกเราจะกล่าวว่า สิ่งนี้หะลาล และสิ่งนี้หะรอม กรณีนี้ช่างเป็นเรื่องใหญ่โตยิ่งนัก  (อัล-อุมม์ 7/317)



ชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ กล่าวว่า “แท้จริงบรรดาชาวสะลัฟนั้นพวกเขาจะไม่เอื้อนเอ่ยคำว่า “หะรอม” นอกเสียจากต่อสิ่งที่การเป็นสิ่งหะรอมของสิ่งนั้นถูกรู้แน่ชัดโดยเด็ดขาดเท่านั้น (อัล-หะลาล วัล-หะรอม อ้างแล้ว หน้า 25)  



ดังนั้นหากอาจารย์เหล่านั้นอ้างว่าตนถือในแนวทางของสะลัฟศอลิหฺ ไฉนจึงไม่คำนึงถึงแนวทางของชาวสะลัฟศอลิหฺในเรื่องนี้อย่างที่ควรจะเป็นเล่า! และการหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่คลุมเครือ (มุชตะบิฮาตฺ) นั้นย่อมมีประโยชน์อย่างแน่นอน  แต่มิใช่หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่หะลาลซึ่งชัดเจนเด็ดขาดด้วยตัวบท หรือเพียงแค่สมควรจะหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่หะรอมซึ่งชัดเจนเด็ดขาดด้วยตัวบท


เพราะการหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่หะลาลชัดเจนไม่ใช่สิ่งที่ศาสนบัญญัติให้เรากระทำ  เมื่อหะลาลโดยชัดเจนแล้วจะหลีกเลี่ยงทำไม  และเพราะสิ่งที่หะรอมโดยชัดเจนก็มิใช่เพียงแค่สมควรหลีกเลี่ยงแต่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงโดยสิ้นเชิง ยกเว้นในภาวะจำเป็นอย่างอุกฤษณ์เท่านั้น (เฎาะรูรอตฺ)  
   


และความชัดเจนที่ว่านี้ขึ้นอยู่กับตัวบทและนัยที่เด็ดขาดของตัวบทในการบ่งชี้ว่าสิ่งนั้นหะลาลหรือสิ่งนั้นหะรอม  ความชัดเจนไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเห็นของบุคคล  ถึงแม้ว่าความเห็นหรือทัศนะของบุคคลที่เป็นนักวิชาการจะสามารถถูกนำมาอ้างอิงประกอบการวิเคราะห์ปัญหาในบางเรื่องได้  แต่นั่นก็ไม่ใช่ตัวบทที่เป็นหลักฐานเด็ดขาดทางศาสนาในการกำหนดเรื่องหะลาลและหะรอมอย่างเด็ดขาดไปด้วย  


และการที่นักวิชาการเหล่านั้นบอกว่าชัดเจนเพราะประมวลจากหลักฐานแล้วนั่นก็เป็นเพียงความเห็นหรือทัศนะของพวกเขา  ซึ่งมิได้หมายความว่าเราจำเป็นต้องยอมรับโดยสิ้นเชิงโดยคัดค้านไม่ได้หรือจะตั้งข้อสังเกตุต่อกระบวนการวิเคราะห์หลักฐานว่าสอดคล้องกับหลักวิชาการหรือไม่สอดคล้องไม้ได้  เพราะในความเป็นจริงแล้วการอ้างว่าชัดเจนของพวกเขาเป็นเพียงการวิเคราะห์ตัวบทไม่ใช่เป็นตัวบททางศาสนา
   


สุดท้ายคุณ ก็ยังตั้งประเด็นของเรื่องผิดอยู่ดี ผมไม่ได้ตั้งประเด็นว่าเรื่องที่ว่ามา “เป็นมุอามะละฮฺ ตราบใดที่ไม่มีหุก่มมาบังคับ” แต่ประเด็นของผมที่อาศัยหลักคิดของนักวิชาการที่ระบุไว้ คือ “เรื่องมุอามะละฮฺนั้นหลักเดิมของมันคืออนุมัติให้กระทำได้ (อัล-อิบาหะฮฺ) ตราบใดที่ไม่มีตัวบทที่ชัดเจนถูกต้องมาระบุห้ามสิ่งนั้น” ซึ่งต้องย้ำว่าผมไม่ได้คิดหลักเกณฑ์ข้อนี้ขึ้นมาเอง  แต่นี่เป็นสิ่งที่นักวิชาการในระดับมุจญ์ตะฮิดได้กำหนดเอาไว้  เพื่อแยกแยะว่าอะไรคือหลักมูลฐานเดิมของเรื่องมุอามะละอฺ



และเหตุที่ผมต้องอธิบายเสียยืดยาวขนาดนี้ก็ไม่ใช่เป็นเพราะอะไรเลย นอกเสียจากเป็นเพราะคุณให้เกียรติผม ผมจึงถือเป็นเกียรติที่จะได้คลายความสงสัยของคุณที่มีต่อการนำเสนอและสรุปเรื่องราวทางศาสนาของผม  แต่ถ้าหากว่าเรื่องไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง คือความสงสัยของคุณไม่ได้คลายลง ผมก็คงทำหน้าที่ได้เพียงแค่นี้ครับ! และเมื่อคุณสงสัยในหลักคิดของผมก็จงละทิ้งมันไปยังหลักคิดที่คุณมั่นใจเถิด!

والله ﻣﺴﺌﻮل أن يهدينا جميعاإلى سواءالسبيل