ลูกซีนาหรือเปล่า  (อ่าน 8189 ครั้ง)

ไฟซอน

  • บุคคลทั่วไป
ลูกซีนาหรือเปล่า
« เมื่อ: มีนาคม 10, 2013, 11:03:09 pm »
คนที่ทำการนิกะห์ขณะที่รู้ว่าตั้งท้องแล้ว1เดือน(คือไปทำซินามาแล้วก็ท้อง)อยากถามลูกที่เกิดมาก็ถือว่าเป็นลูกซินาใช่ไหมครับ แล้วเมื่อเด็กเกิดมาแล้ว พอโตเป็นสาว พ่อคนนี้จะเป็นวลีในการนิกะหฺให้ลูกสาวได้หรือไม่ หากไม่ได้ใครคือวลีของลูกซินาครับ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: ลูกซีนาหรือเปล่า
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 10, 2013, 12:24:14 am »
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า ภายหลังการนิกะฮฺอย่างถูกต้องแล้ว นับตั้งแต่การอักดุน-นิกาหฺหรือนับตั้งแต่การร่วมหลับนอนของสามีภรรยาคู่นี้ ภรรยาได้ตั้งครรภ์ต่อมาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน กับอีก 2 ชั่วครู่ (กระพริบตา) หรือไม่ หากว่าระยะเวลาการตั้งครรภ์ของนางอยู่ในระยะเวลาดังกล่าว (ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงในกรณีนี้เพราะฝ่ายหญิงเพิ่งตั้งครรภ์ได้ 1 เดือน ขณะทำการอักดุน-นิกาหฺ) หรือมากกว่า ฝ่ายสามีก็สามารถอ้างว่าบุตรที่เกิดมานั้นเป็นบุตรที่สืบเชื้อสายโลหิตของตนหรือเป็นลูกของตนจริงๆ


นี่เป็นทัศนะของอิมามอัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ (ร.ฮ.) ซึ่งมีความเห็นว่า เด็กที่เกิดมาจะถูกอ้างเชื้อสายโลหิต (นะสับ) ไปยังพ่อที่กระทำซินา และอิบนุ อัล-กอยยิม (ร.ฮ.) กล่าวว่า การอนุมาน (กิยาส) ที่ถูกต้องชี้ขาดว่าเป็นเช่นนี้ เพราะพ่อ (สามีของหญิงที่ตั้งครรภ์) เป็นหนึ่งในสองคนที่ทำซินา และเด็กที่เกิดมานั้นเมื่อถูกผนวกเข้ากับฝ่ายแม่ของเด็กและถูกอ้างเชื้อสายไปยังนางโดยเด็กนั้นจะรับมรดกจากนางและนางจะรับมรดกจากเด็กนั้น


ตลอดจนมีการยืนยันเชื้อสายโลหิต (ษุบุต อัน-นะสับ) ระหว่างเด็กนั้นกับบรรดาญาติใกล้ชิดของแม่เด็กทั้งๆ ที่แม่ของเด็กทำซินา และตั้งท้องเด็กนั้น เด็กผู้นั้นมีขึ้นจากน้ำอสุจิของคนทำซินา 2 คน ซึ่งทั้งสองร่วมกันในการมีขึ้นของเด็กในครรภ์แล้วทั้งสองก็เห็นตรงกันว่าเด็กนั้นเป็นลูกของบุคคลทั้สอง ฉะนั้นอะไรเล่าที่เป็นข้อห้ามในการผนวกเด็กนั้นกับพ่อของเด็ก (ในการรับเป็นบุตร) เมื่อไม่มีคนอื่นจากพ่อของเด็กกล่าวอ้างว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน และนี่เป็นการอนุมาน (กิยาส) ล้วนๆ


และอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ก็กล่าวเอาไว้ในคำกล่าว อัล-เกาะดีมของท่าน (อะหฺสะนุล กะลาม ฟิลฟะตาวา วัล-อะหฺกาม ; ชัยคฺอะฏียะฮฺ ศ็อกร์ เล่มที่ 6 ภาคที่ 30 หน้า 576) ดังนั้น ถึงแม้ว่าในขณะที่ทำนิกาหฺหญิงตั้งครรภ์กับฝ่ายชายที่ทำซินาระหว่างกันแต่เมื่อนางตั้งครรภ์ต่อมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือนกับอีก 2 ชั่วครู่ (2 กระพริบตา) นับจากการอักดุน-นิกาหฺ หรือการร่วมหลับนอนหลังการนิกาหฺ เมื่อเด็กนั้นเกิดมาเป็นผู้หญิง (หรือเป็นผู้ชายก็ตาม) แล้วฝ่ายชาย (พ่อ) กล่าวอ้างว่าเด็กที่เกิดนั้นเป็นบุตรของตน เด็กนั้นก็ถูกอ้างเชื้อสายไปยังพ่อของเด็กได้ตามทัศนะที่กล่าวมาข้างต้น พ่อของเด็กก็คือวะลียฺเมื่อเด็กซึ่งเป็นหญิงนั้นโตขึ้นและจะแต่งงาน กรณีนี้เป็นทางออกในเรื่องนี้ ซึ่งมีทัศนะของนักวิชาการรองรับถึงแม้ว่าจะเป็นทัศนะส่วนน้อยก็ตาม ทั้งนี้เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาในภายหน้า



ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซ-ซุหัยลียฺ กล่าวว่า : เป็นที่อนุมัติ (หะล้าล) โดยการเห็นพ้อง (อิตติฟาก) สำหรับชายที่ทำซินาในการที่ชายที่ทำซินานั้นจะแต่งงานกับหญิงที่ชายนั่นทำซินาด้วย ดังนั้นหากว่าหญิงนั้นมาพร้อมกับบุตร (คลอดลูก) ภายหลังผ่านเวลา (การตั้งครรภ์) ได้ 6 เดือน นับจากเวลาของการอักดุน-นิกาหฺนาง การสืบเชื้อสาย (นะสับ) ของเด็กนั้นก็เป็นที่ยืนยันว่ามาจากชาย (ที่ทำซินานั้น) และหากนางมาพร้อมกับบุตร (คลอดลูก) ในช่วงเวลาที่น้อยกว่า 6 เดือนนับจากเวลาของการอักดุน-นิกาหฺ การสืบเชื้อสาย (นะสับ) ของเด็กนั้นก็ไม่เป็นที่ยืนยันว่ามาจากชายนั้น  ยกเว้นเมื่อชายนั้นกล่าว : แท้จริงเด็กนั้นเกิดจากตน และเขาไม่ได้พูดอย่างชัดเจนว่าเด็กนั้นเกิดจากการทำซินา


ดังนั้นด้วยการยืนยัน (อิกรอรฺ) นี้ การสืบเชื้อสายของเด็กจากชายนั้นก็เป็นที่ยืนยันเนื่องจากอาจตีความได้ว่ามีการอักดุน-นิกาหฺมาก่อนหรือมีการร่วมหลับนอนแบบคุลมเครือ (วะฏียฺ ชุบฮะฮฺ) เพื่อเป็นการแบกรับสภาพของมุสลิมบนความดีและเพื่อปกปิดรักษาเกียรติยศเอาไว้ (อัล-ฟิกฮุลอิสลามียฺ ว่า อะดิลละตุฮู ; ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซ-ซุหัยลียฺ เล่มที่ 7 หน้า 148)


อย่างไรก็ตาม กรณีที่เป็นทางออกนี้เป็นการพิจารณาระยะเวลาในการตั้งครรภ์และการกล่าวอ้างของฝ่ายชายว่าบุตรนั้นเกิดจากตนเท่านั้นโดยไม่พิจารณาเหตุอื่นๆ มาประกอบ เช่น การร่วมหลับนอนแบบคลุมเครือ (วะฏียฺ ชุบฮะฮฺ) เพราะโดยข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันว่าหญิงนั้นตั้งครรภ์ได้ 1 เดือน แล้วในขณะที่มีการอักดุน-นิกาหฺ ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่มีการอักดุน-นิกาหฺใดๆ แม้กระทั่งการอักดุน-นิกาหฺที่เป็นโมฆะเกิดขึ้น แต่ที่ถือว่าเป็นทางออกในการพิจารณาว่าชายที่ทำซินานั้นสามารถรับรองบุตรด้วยการกล่าวอ้างและระยะเวลาการตั้งครรภ์ไม่น้อยกว่า 6 เดือนเศษก็เพราะเป็นการถือตามทัศนะของอิมามอัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ และอิบนุอัล-กอยยิม ในการเปิดช่องเพื่อเป็นทางออก


แต่ถ้าถือตามปวงปราชญ์ก็ต้องถือว่าเด็กนั้นเกิดจากการซินาที่มิใช่การร่วมหลับนอนที่คลุมเครือ (วะฏียฺ ชุบฮะฮฺ) ซึ่งไม่มีการยืนยันการสืบเชื้อสายโลหิตจากทางฝ่ายชาย (ที่ทำซินา) มีแต่การสืบเชื้อสายโลหิตจากฝ่ายแม่ของเด็กเท่านั้น ดังนั้นเมื่อถือตามทัศนะของปวงปราชญ์ชายผู้นี้ก็ไม่ใช่วะลียฺของเด็กผู้หญิงที่เกิดจากการซินาซึ่งโตขึ้นและจะแต่งงาน เพราะชายผู้นี้ไม่ใช่พ่อตามบัญญัติศาสนา (ชัรอียฺ) ของเด็กผู้หญิงจึงถือว่าเด็กผู้หญิงคนนี้ไม่มีวะลียฺก็จำเป็นต้องตั้งวะลียฺในการอักดุนนิกาหฺ


ทั้งนี้หากพิจารณาตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ แต่ถ้าตามมัซอับหะนะฟียฺหากเด็กผู้หญิงคนนี้โตจนถึงวัยที่บรรลุวุฒิภาวะแล้วก็สามารถมอบหมายให้บุคคลทำหน้าที่อักดุนนิกาหฺแทนตนได้ หรือถ้าถือตามมัซฮับมาลีกียฺก็อนุญาตให้ตั้งญาติฝ่ายแม่ของตนเป็นวะลียฺได้ ก็สุดแล้วแต่ว่าจะเลือกทัศนะใด

والله اعلم بالصواب