รบกวนถามอาจารย์หน่อยนะคะ (อาชีพนักเขียนนวนิยาย)  (อ่าน 3818 ครั้ง)

เด็กหลงทาง

  • บุคคลทั่วไป
 salam รบกวนถามอาจารย์หน่อยนะคะ
 อยากสอบถามว่าการทำอาชีพเป็นนักเขียนนวนิยาย บาปมั้ยคะ
 เป็นนวนิยายรักธรรมดา ไม่ใช่เเนวอิโรติคที่มีการบรรยายเรื่องเพศอย่างโจ่งครึ้ม
 พอทราบมาบ้างว่าเป็นการกระทำที่ไร้สาระ เเต่ถ้าเหนียตเพื่อหาปัจจัยยังชีพจะเข้าข่ายบาปมั้ย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 14, 2013, 11:46:16 pm โดย อ.อาลี เสือสมิง »

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: รบกวนถามอาจารย์หน่อยนะคะ (อาชีพนักเขียนนวนิยาย)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มิถุนายน 14, 2013, 11:45:29 pm »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

“นวนิยาย” เป็นเรื่องยาวที่แต่งขึ้นเป็นแบบร้อยแก้วจากชีวิตจริง นิทานพื้นเมือง จินตนาการ หรือประสบการณ์ เป็นต้น นวนิยายเป็นงานเขียนอย่างหนึ่งในประเภทของวรรณกรรม เมื่อเป็นงานเขียนและมีผลงานส่งให้สำนักพิมพ์และมีคนอ่าน ผู้เขียนก็ย่อมได้รับค่าตอบแทนจากงานเขียนหรือผลงานของตน


งานเขียนจึงเป็นอาชีพแขนงหนึ่งที่โดยพื้นฐานแล้วเป็นสิ่งอนุญาตให้กระทำได้ (มุบาห์) ตามหลักการของศาสนา ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าเนื้อหาของ นวนิยายนั้นจะต้องไม่มีเนื้อหาที่ขัดต่อหลักคำสอนของศาสนา เช่น สอดแทรกคติความเชื่อบางอย่างที่ค้านกับหลักศรัทธาและโน้มน้าวให้ผู้อ่านเกิดความสับสนหรือเกิดมิจฉาทิฐิ เป็นต้น  เนื้อหาจะต้องเป็นเรื่องที่อยู่บนพื้นฐานของความจริง แม้เป็นจินตนาการของผู้เขียนก็ต้องเป็นจินตนาการในเชิงสร้างสรรค์ สอดแทรกสาระและคติสอนใจ


กรณีที่ทราบมาว่าการเขียนนวนิยายหรือการอ่านเป็นการกระทำที่ไร้สาระนั้นขึ้นอยู่กับเนื้อหาของเรื่องเป็นหลัก หากอ่านหรือเขียนแล้วก่อเกิดประโยชน์และสิ่งที่ดีทั้งแก่ตัวผู้เขียนและผู้อ่านก็ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ไร้สาระ คำว่า “สาระ” ก็คือ แก่น , เนื้อแท้ที่แข็ง ซึ่งเรียกว่า “แก่นสาร” สาระ ยังหมายถึงส่วนสำคัญ หรือข้อใหญ่ใจความ หรือถ้อยคำที่ก่อเกิดประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง


เมื่อเกรงว่าการเขียนนวนิยายจะเป็นสิ่งไร้สาระ ก็จงทำให้เนื้อหาของนวนิยายที่เขียนมีสาระและมีแก่นสาร แม้เป็นนวนิยายรักประโลมโลกก็สามารถเขียนให้มีสาระและแก่นสารได้เช่นกัน ฉะนั้นลำพังการเขียนนวนิยายเพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่มีคุณสมบัติหรือเข้าข่ายลักษณะว่าเป็นที่ต้องห้ามตามหลักศาสนบัญญัติ ต่อเมื่อว่าได้พิจารณาเนื้อหาและถ้อยคำที่เขียนแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องห้ามหรือไม่

والله ولي التوفيق